เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
นี่สินะที่เรียกว่า ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’
ความเงียบก่อตัวขึ้นในกองบรรณาธิการเล็กๆ ของเรา หลังสิ้นคำถามของฉันว่า “มีใครรู้จักศูนย์วิจัยข้าวไหม” แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ‘รู้จัก’ อยู่เล็กน้อย แต่ความเงียบก็ได้ตอบคำถามแล้วว่า ‘ไม่มีใครรู้จักเลย’
หากคุณรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก ศูนย์วิจัยข้าวก็อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด เพราะพวกเขาเหล่านั้นทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อรักษาเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพไว้ และส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีขึ้น โดยศูนย์วิจัยข้าวจะตั้งกระจายอยู่ตามแหล่งปลูกข้าวทั่วประเทศทั้งหมด 27 ศูนย์
ฉันเองเคยเข้าไปฟังบรรยายที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีสมัยเรียนมัธยมปลาย ได้เห็นทั้งแปลงปลูกข้าว รวมถึงขั้นตอนการวิจัย การใช้เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ ก่อนจะพบว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นหน่วยงานสำคัญที่ฉันอาจมองข้ามไป เพราะแม้จะเคยได้ยินชื่ออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้รู้รายละเอียดอื่นใดนอกเสียจาก ‘วิจัยข้าว’ ตามชื่อ จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับศูนย์วิจัยข้าวแห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเล็กๆ แต่วิจัยข้าวเพื่อเกษตรกรหลากพื้นที่กัน
อาจเป็นเพราะคุ้นเคยกับแวดล้อมแถวบ้านที่มีท้องนาขนาบสองข้างทาง ทิวทัศน์ที่เป็นเหมือนสวรรค์สายยาวบนถนนผิวดวงจันทร์ เช่นเดียวกัน ระหว่างทางไป ‘ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี’ ถนนทั้งสายก็แทบจะรายล้อมไปด้วยทุ่งนา บ้างก็เป็นทุ่งรวงทอง บ้างก็เหลือแต่ผืนดินเหนียวที่ว่างเปล่า
เมื่อเห็นภาพภายในศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแปลงนาสำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเต็มไปด้วยฟางข้าวแห้งๆ และอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นถนนมาก ไม่เหมือนแปลงนาของชาวนาที่อยู่ติดถนน
ฉันจึงสงสัย…เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น
.
“เราเป็นศูนย์เดียวจากทั้งประเทศที่ทำข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำ” เป็นคำตอบที่บอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีจาก ‘พี่อดุลย์ – อดุลย์ อินทรประเสริฐ’ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญการ ผู้ที่ทำงานด้านนี้มากว่า 20 ปี
เครื่องหมายคำถามล่องลอยอยู่ในความคิดเต็มไปหมด ข้าวน้ำลึก ข้าวขึ้นน้ำคืออะไร แต่ก่อนที่ฉันจะเอ่ยถามออกไป พี่อดุลย์ก็อธิบายให้ฟัง ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่แรก เราคงคุยกันไม่รู้เรื่องไปตลอด 2 ชั่วโมงที่เหลือ
วิชาเมล็ดพันธุ์ข้าว 101
ก่อนอื่นก่อนใด อยากให้ผู้อ่านลองจินตนาการภาพ ‘แอ่งกระทะ’ ที่มีความสูง-ต่ำของพื้นที่ต่างกันขึ้นมาก่อน
พี่อดุลย์อธิบายว่า ‘นิเวศ’ หรือพื้นที่อันสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของข้าวนั้นต่างกันไป หากข้าวที่อยู่ปากกระทะจะต้นสั้น แต่ให้ผลผลิตเร็ว ส่วนข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำที่ศูนย์นี้เชี่ยวชาญจะอยู่ก้นกระทะ เป็นข้าวที่ต้นสูง โตช้า ให้ผลผลิตช้า แต่เหมาะกับพื้นที่ที่มักจะเกิดน้ำท่วม
ข้อจำกัดเรื่องนิเวศของเกษตรกรบางราย ทำให้จำเป็นต้องปลูกข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำ ที่เป็น ‘ข้าวนาปี’ คือทำได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น โดยหว่านเมล็ดในช่วงฤดูฝน และปล่อยให้ ‘เทวดาเลี้ยง’ กล่าวคือ เมื่อหว่านไปแล้ว พอต้นอ่อนโผล่พ้นดิน ก็พึ่งเพียงโชคชะตาฟ้ากำหนดว่าจะให้ฝนตกหรือแดดออกเท่านั้น ไม่ต้องประคบประหงมมากเท่า ‘ข้าวนาปรัง’ หรือข้าวต้นสั้น ที่ใช้เวลาปลูกน้อยกว่า และปลูกได้ปีละ 2-3 ครั้ง
นิเวศที่เหมาะกับการปลูกข้าวนาปีและนาปรัง
อีกทั้งข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำยังจัดอยู่ในประเภท ‘ข้าวไวแสง’ คือข้าวที่จะสะสมอาหารในช่วงที่แสงของวันสั้น (ช่วงฤดูหนาว) ซึ่งมีเพียงปีละช่วงเท่านั้น เมื่อสะสมอาหารจนออกรวงก็จะเก็บเกี่ยวได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงปลูกได้เพียงปีละครั้งนั่นเอง
เกิดเป็นข้าวน้ำลึกก็น่าน้อยใจอยู่เหมือนกัน พี่อดุลย์อธิบายเพิ่มว่า แถบนี้ถ้าเลือกได้เกษตรกรก็ไม่ทำข้าวน้ำลึกกันหรอก เพราะให้ผลผลิตน้อย และขายได้ราคาต่ำ เพียงแต่บางพื้นที่มันมีข้อจำกัดเรื่องระบบชลประทานจึงจำเป็นต้องทำ
“ถ้าเกิดน้ำมี คลองมี เขาก็ปลูกข้าวนาปรังกันหมดแล้ว แต่บางที่คลองน้ำไม่มี หน้าแล้งก็แล้ง เขาถึงต้องหว่านข้าวนาปี ถ้าเกิดมีระบบชลประทานเข้าไปหา มี ‘คลองไส้ไก่’ (ร่องน้ำในที่นา) รับรองได้ ไม่มีใครทำข้าวนาปีหรอก”
FUN FACT: ข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำ นอกจากจะจัดเป็นข้าวนาปี และข้าวไวแสงแล้ว ยังจัดเป็นข้าวพื้นเมืองอีกด้วย
.
สถานการณ์ของเมล็ดพันธุ์ข้าวในปัจจุบัน
แม้ว่าข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำจะไม่เป็นที่นิยมปลูกนัก แต่ก็ยังจำเป็นสำหรับ ‘พื้นที่จำเพาะ’ บางแห่ง ซึ่งแม้ดูเหมือนเป็นพื้นที่ส่วนน้อย ทว่าเมื่อเทียบกับจำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ศูนย์ผลิตได้ ก็เรียกได้ว่า ‘ขาดแคลน’ เมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ
“เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพมันขาดแคลน ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรมีอยู่นั้นไม่มีคุณภาพ เราเคยสำรวจเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บไว้ใช้เอง พบว่ามีทั้งสิ่งเจือปน ข้าวแดง (ข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดง ซึ่งจะถูกคัดออก) และข้าวพันธุ์อื่นปนในปริมาณที่เกินมาตรฐานเยอะมาก ซึ่งถือว่าทำเป็นเมล็ดพันธุ์ไม่ได้
“แหล่งผลิตที่มีคุณภาพก็มีน้อย ทำให้ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพจริงๆ อีกทั้งคนก็ไม่ค่อยทำพันธุ์ขายเหมือนข้าวนาปรัง…แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีนั้นมีน้อย กลายเป็นว่าศูนย์เราเลยผลิตข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำเพียงที่เดียว”
อีกเหตุผลที่ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำขาดแคลนสำหรับเกษตรกรคือ ‘ใช้เมล็ดพันธุ์เยอะ (เกินไป)’ เกือบ 2 เท่า ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องหว่านเผื่อข้าวไม่งอก หรือโดนหนูกิน ซึ่งบางกรณี หากหว่านรอบแรกแล้วไม่งอก ก็ต้องหว่านใหม่ไปเรื่อยๆ เกษตรกรบางรายต้องหว่านถึง 4 รอบ จึงเป็นเหตุให้ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเกินความจำเป็น
FUN FACT: ข้าวหอมมะลิที่เรารับประทานเป็นข้าวนาปีที่ขายได้ราคาดี เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ก็ปลูกได้แค่ในพื้นที่จำเพาะบางแห่งเท่านั้น เช่น จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดแถบภาคอีสานเกือบทั้งหมด หากพื้นที่ไหนปลูกไม่ได้ ก็อาจต้องนำข้าวน้ำลึกไปปลูกแทน
.
แล้วศูนย์ทำอย่างไรกับสถานการณ์เช่นนี้
คงเป็นไปได้ยากที่ศูนย์วิจัยข้าวแห่งนี้จะแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีตามที่เกษตรกรต้องการ เพราะการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับจำหน่ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งปัจจัยเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ และระยะเวลาในการผลิตที่ทำได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยข้าวแห่งนี้ก็มีแผนสำหรับอนาคต จังหวะนี้เองที่พี่อดุลย์แนะนำให้รู้จักกับ ‘พี่ยุ้ย – น้ำผึ้ง มูลพฤกษ์’ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ
“อีกหน่อยพี่ยุ้ยจะรวบรวมข้อมูลพันธุ์ข้าวของศูนย์เราที่กระจายไปแต่ละที่ เพราะก่อนหน้านี้ทำไม่ละเอียดพอ หากเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง เราจะรู้ว่าเมล็ดพันธุ์ของศูนย์กระจายไปไหนบ้าง แสดงว่าที่นั่นสภาพนิเวศไม่ปกติ ต้องเป็นนิเวศน้ำลึกที่ปลูกข้าวพันธุ์อื่นไม่ได้ จึงต้องเอาข้าวเราไปปลูก”
หากเก็บข้อมูลนิเวศที่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากศูนย์ได้ ก็จะสามารถคำนวณตัวเลขได้ว่า ศูนย์ต้องวางแผนผลิตเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าใด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรทุกพื้นที่ในประเทศ
FUN FACT: ข้าวน้ำลึกเป็นข้าวพื้นแข็ง (เนื้อข้าวกระด้างและต้องใช้น้ำในการหุงมากกว่าปกติ) จึงไม่ค่อยนิยมนำไปหุงรับประทานกัน เดิมทีมักขายได้ในราคาไม่สูงนัก แต่รอบล่าสุดพบว่าบางเจ้าได้ราคาขายต่อเกวียนสูงกว่าข้าวพื้นนุ่ม (เช่น ข้าวหอมมะลิที่เรารับประทานกัน) เนื่องจากโรงงานแปรรูปที่ต้องการแป้งจากข้าวหันมาให้ความสนใจมากขึ้น เพราะเมล็ดข้าวพื้นแข็งมีความคงที่มากกว่า กล่าวคือเมล็ดข้าวจากแต่ละแหล่งมีคุณภาพไม่ต่างกันมาก และไม่ต้องปรับเครื่องทุกครั้งเหมือนข้าวพื้นนุ่ม
.
พีระมิดแห่งเมล็ดพันธุ์ข้าว
ช่วงที่ฉันไปศูนย์วิจัยข้าว เป็นช่วงที่เขาเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ทำให้ทุ่งนาที่ควรจะเหลืองอร่ามกลายเป็นสีเหลืองจาง เพราะเต็มไปด้วยเศษต้นข้าวที่ถูกเก็บเกี่ยวเมล็ดไปจนหมด และกำลังแห้งเป็นฟางไปตามเวลา
คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ แล้วเมล็ดข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จะเดินทางไปไหนต่อนะ
ภาพรถบรรทุกข้าวคันใหญ่ที่วิ่งอยู่ตามถนนแถบท้องนาโผล่ขึ้นมาในความคิด โดยปกติ เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวเสร็จ เมล็ดข้าวหลายเกวียนก็จะถูกนำไปขายที่โรงสีข้าว ทว่าข้อมูลจากพี่ๆ บอกว่าที่ศูนย์วิจัยข้าวต่างออกไป
เมื่อเป้าประสงค์หลักคือ ‘ทำเมล็ดพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ์’ ด้วยเหตุนี้ข้าวจากแปลงนาของศูนย์จะถูกนำไปคัดเมล็ดต่อ โดยที่ศูนย์จะรับผิดชอบการคัดเมล็ดข้าว 2 ชั้นพันธุ์ คือ ชั้นพันธุ์คัด และชั้นพันธุ์หลัก
พีระมิดของชั้นพันธุ์ข้าว
อันดับแรก เรียกได้ว่าเป็นยอดสูงสุดของพีระมิด เพราะเป็นข้าวที่บริสุทธิ์ที่สุด นั่นคือ ‘ข้าวพันธุ์คัด’ หรือข้าวที่ผ่านการคัดแบบละเอียด (ยิบ) เป็นการเฟ้นหาต้นข้าวที่สมบูรณ์แบบที่สุดในผืนนาหลายสิบไร่ เพื่อเก็บเมล็ดไว้ใช้เองในศูนย์
“ชั้นพันธุ์คัด คือเราผลิตไว้ใช้เองในศูนย์ จะไม่ได้เกี่ยวแบบทั่วไป แต่ต้องเก็บจากต้น และ ‘ตก’ (เก็บ) ทั้งรวงออกมา โดยรวงนี้ต้องมีลักษณะของคอรวง เมล็ด รวมทั้งต้นและใบ เป็นไปตามลักษณะพันธุ์ดั้งเดิมทุกประการ พอจะใช้ในการผลิตครั้งถัดไปก็เอามา ‘ดำ’ (ปลูก) หนึ่งรวงต่อหนึ่งแถว และพันธุ์คัดจะไม่ได้จำหน่ายให้ใครเลย เราจะใช้แค่ในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์กับงานทดลองเท่านั้น เพราะจะได้พันธุ์ที่ถูกต้องจริงๆ ซึ่งมันทำยาก”
รองลงมา คือ ‘ชั้นพันธุ์หลัก’ ซึ่งบริสุทธิ์น้อยกว่าชั้นพันธุ์คัด โดยเมล็ดพันธุ์ส่วนนี้จะส่งให้กับบางกลุ่มเท่านั้น เช่น หน่วยงานราชการที่ทำหนังสือขอเมล็ดพันธุ์กับกรมการข้าว และ ‘ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว’ ที่ต้องการนำไปขยายพันธุ์ต่อ รวมถึง ‘ศูนย์ข้าวชุมชน’ ที่ศูนย์วิจัยข้าวสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และลงพื้นที่ไปให้ความรู้
โครงสร้างและความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านเมล็ดพันธุ์ข้าว
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ชั้นพันธุ์ที่บริสุทธิ์น้อยลง และอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบด้านการผลิตของศูนย์วิจัยข้าว นั่นคือ ‘ชั้นพันธุ์ขยาย’ และ ‘ชั้นพันธุ์จำหน่าย’ ซึ่งส่วนมากจะผลิตที่ศูนย์เมล็ดฯ และศูนย์ข้าวชุมชน แต่ก็มักจะไม่เป็นไปตามเกณฑ์การซื้อที่ศูนย์วิจัยข้าวตั้งไว้ ท้ายที่สุดจึงจำต้องขายทอดโรงสีไปเสีย
อย่างไรก็ดี ด้วยความชำนาญของศูนย์วิจัยข้าว ทำให้ศูนย์เมล็ดฯ ในพื้นที่จำเพาะมักจะส่งตัวอย่างเมล็ดพันธุ์มาให้ศูนย์วิจัยข้าวคัดแยกชั้นพันธุ์ให้ โดยวัดจากเกณฑ์ความบริสุทธิ์ตามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ของกรมการข้าวนั่นเอง
FUN FACT: แม้ว่าศูนย์เมล็ดฯ จะมีจำนวนมากกว่าศูนย์วิจัยข้าว แต่ศูนย์เมล็ดฯ ที่รองรับเมล็ดพันธุ์ข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำไปขยายต่อนั้นแทบจะไม่มี อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุที่ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับพื้นที่จำเพาะนั้นขาดแคลน และยากจะเพิ่มจำนวนเหมือนพันธุ์ข้าวนาปรัง
.
จากไร่สู่แล็บ
และแล้วก็ถึงเวลาที่พี่อดุลย์จะส่งไม้ต่อให้พี่ยุ้ยอธิบายว่า ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ข้าวมันวัดกันอย่างไร แต่เพื่อจะให้ฉันเข้าใจแบบเห็นภาพ พี่ยุ้ยจึงนำทางไปยังห้องปฏิบัติการสำหรับคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว
เราเดินไปตามทางแคบๆ ภายในตัวอาคารหลังเดียวกัน บทสนทนาเพียงไม่กี่ถาม-ตอบ ช่วยให้ทางเดินที่ออกจะสลัวไปหน่อยนี้ดูน่าเดินขึ้นมา เพียงไม่นานพี่ยุ้ยก็หยุดอยู่หน้าประตูไม้บานหนึ่ง ก่อนจะเคาะประตูแล้วเปิดเข้าไป
พี่ยุ้ยแนะนำให้รู้จักกับ ‘พี่แก้ว – แก้วตา จันทรัตน์’ คนงานทดลองการเกษตร เจ้าของห้องปฏิบัติการที่ไม่ได้ดูหรูหรานัก แต่ก็มีอุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็น ทั้งเครื่องทำความสะอาดเมล็ดข้าว ที่จะใช้ลมเป่าเอาสิ่งเจือปนออกจากตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ รวมถึงเครื่องวัดความชื้นข้าว และเครื่องกะเทาะเมล็ด อย่างไรก็ตาม เจ้าเครื่องสุดท้ายนี้แทบจะไม่ถูกใช้งาน เพราะความชำนาญของพี่แก้วเป็นเหตุ
พี่แก้ว และกล่องทดสอบความงอก ในห้องปฏิบัติการ
พี่แก้วหยิบถุงกระดาษสีน้ำตาลที่บรรจุตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าว 1 กิโลกรัมออกมา ก่อนจะเทส่วนหนึ่งลงบนโต๊ะ เพื่อสาธิตการคัดเมล็ดให้ดู
“นี่ อันนี้ข้าวแดง” พี่แก้วพูด ก่อนจะลงมือกะเทาะ (แกะ) เปลือกที่หุ้มเมล็ดไว้ออก เผยให้เห็นเมล็ดข้าวสีแดงทั้งเข้มและใส อันเป็นตัวแปรหนึ่งที่ชี้ถึงความบริสุทธิ์ของข้าว ภายใต้เปลือกสีเหลืองที่เหมือนกันทั้งกอง ชนิดที่ฉันเองก็แยกความต่างไม่ออกเลยด้วยซ้ำ พี่แก้วกลับมองปราดเดียวแล้วสามารถบอกได้ ราวกลับมองทะลุเปลือกสีเหลืองไปได้อย่างไรอย่างนั้น
พี่แก้วกำลังสาธิตการคัดข้าวแดง
ความชำนาญและสายตาอันแหลมคมของพี่แก้วยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในกองนั้นไม่ได้มีเพียงเมล็ดข้าวแดงเท่านั้น แต่ยังมี ‘ข้าวปน’ หรือข้าวสายพันธุ์อื่นที่ปนมาในกลุ่มตัวอย่าง แม้จะมีขนาดต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่สามารถเล็ดลอดสายตาของพี่แก้วไปได้ เพราะขั้นตอนการคัดเมล็ดแบบนี้ต้องผ่านตาของพี่แก้วจนแทบจะเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว เมื่อรู้เช่นนี้ คำถามที่ว่า พี่ทำได้ไง ก็หมดโอกาสแวบเข้ามาในหัวของฉัน
ข้าวแดงและข้าวปนถูกคัดออกจากเมล็ดพันธุ์ที่ส่งมาตรวจและคัดชั้นพันธุ์
ดูเหมือนพี่แก้วจะเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่งเท่าไร บทบาทหน้าที่การบรรยายขั้นตอนตรงหน้าจึงตกเป็นของพี่ยุ้ยไปโดยปริยาย พี่ยุ้ยเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนสรุปผลการคัดเมล็ดว่า
“พี่แก้วจะนั่งดูทีละเมล็ดแบบนี้ แล้วนับว่ามีจำนวนเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นปน และข้าวแดงปนกี่เมล็ด แต่บางทีถ้าเยอะมากจนไม่ผ่านมาตรฐานชั้นพันธุ์จำหน่ายก็จะหยุดคัดไป…อย่างศูนย์ข้าวชุมชนที่เราสนับสนุนให้เขาผลิตให้ผ่านมาตรฐานนั้น ก็พบว่าผ่านน้อยมากๆ”
ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์จากศูนย์ข้าวชุมชน
ที่ริมโต๊ะติดกับหน้าต่างมีกล่องสี่เหลี่ยมพลาสติกขาวขุ่นตั้งกองกันเป็นระเบียบ เมื่อเปิดดูภายในพบว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 100 เมล็ด สำหรับ ‘ทดสอบความงอก’ เพื่อวัดประสิทธิภาพความงอกของตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าว พี่แก้วบอกว่าที่ใช้จำนวนเมล็ดเท่านั้นเพื่อให้แทนค่าร้อยละได้เลย เช่น งอก 80 ต้น แปลว่า ค่าความงอกก็จะอยู่ที่ร้อยละ 80 นั่นเอง
เมล็ดข้าวที่ใส่กล่องเพื่อทดสอบความงอก
เมื่อดูตามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว (Rice Seed Standard) ของกรมการข้าว ในจำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าว 1 กิโลกรัม เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัดจะต้องไม่พบทั้งข้าวแดงและข้าวปนเลย ในขณะที่ชั้นพันธุ์หลักจะต้องไม่พบข้าวแดง และพบข้าวปนได้เพียง 1 เมล็ดเท่านั้น รวมถึงต้องมีค่าความงอกเกินร้อยละ 80 อีกด้วย
สำหรับชั้นพันธุ์ต่ำสุดอย่างชั้นพันธุ์จำหน่าย ในจำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าว 500 กรัม สามารถพบข้าวแดงได้ไม่เกิน 5 เมล็ด และพบข้าวปนได้ไม่เกิน 15 เมล็ด
พี่ยุ้ยกำลังกางตารางมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว
“ถ้าเป็นศูนย์วิจัยข้าวอื่นส่งมาตรวจก็จะตั้งเกณฑ์ไว้ที่ชั้นพันธ์ุหลัก แต่ถ้าศูนย์เมล็ดฯ ส่งมาตรวจที่ศูนย์เรา ก็อาจไม่ต้องตั้งเกณฑ์ถึงชั้นพันธุ์หลัก ส่วนใหญ่มักจะเลือกว่าให้เราคัดเป็นชั้นพันธุ์ขยายหรือชั้นพันธุ์จำหน่าย…แล้วแต่แหล่งที่ส่งมาตรวจด้วย อย่างศูนย์เมล็ดฯ หรือศูนย์ข้าวชุมชน แค่เกณฑ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย บางทีก็ค่อนข้างยากแล้ว” พี่ยุ้ยอธิบายเสริม
ตารางมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว (Rice Seed Standard)
อ้างอิงข้อมูลจากกรมการข้าว
พี่อดุลย์ที่เพิ่งเดินเข้ามาสมทบ ยื่นตารางบันทึกการคัดพันธุ์ข้าวให้ดู ฉันยืนทำความเข้าใจอยู่สักพัก ก่อนพบว่าแทบทุกแหล่งที่ส่งเข้ามาตรวจหรือคัดพันธุ์ที่นี่ อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ผ่านชั้นพันธุ์จำหน่ายจริงๆ
พี่ยุ้ย พี่แก้ว และพี่อดุลย์ (จากซ้ายไปขวา) กำลังอธิบายและสาธิตการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว
“เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพมันขาดแคลน ที่ชาวบ้านใช้อยู่มันไม่มีคุณภาพ ขนาดแปลงที่ศูนย์นำเมล็ดพันธุ์ไปส่งเสริมยังไม่ค่อยผ่านเลย และไม่มีหน่วยงานที่รับพันธุ์ข้าวน้ำลึกไปทำชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่ายต่อ เพราะใช้ได้แค่ในพื้นที่จำเพาะ มันเลยขายลำบากด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมถึงขาดแคลนเมล็ดพันธุ์”
พี่อดุลย์ย้ำถึงสถานการณ์ของเมล็ดพันธุ์ข้าวน้ำลึกอีกครั้ง พร้อมยื่นตลับข้าวที่แยกข้าวปน ข้าวแดง และสิ่งเจือปนมาให้ดู นอกจากนี้ยังพบว่ามีเมล็ดพันธุ์ที่เริ่ม ‘กลาย’ (กลายพันธุ์) เช่น บางเมล็ดก็ไม่ถึงขั้นเป็นข้าวแดง แต่เป็นสีส้ม บางเมล็ดใสครึ่ง ดำครึ่งก็มี
ตลับที่แสดงให้เห็นความต่างของเมล็ดข้าวแต่ละแบบ
FUN FACT: เกษตรกรมักช่วยเหลือกัน เช่น เห็นว่านาแปลงไหนดูดี ข้าวออกรวงเหลืองสวย ดูมีน้ำหนัก ไม่ค่อยมีข้าวแดง พอถึงวันเกี่ยวข้าวก็จะไปรองข้าวจากรถเกี่ยวเพื่อซื้อมาปลูกต่อในรอบถัดไป และให้ราคาค่าเหนื่อยสูงกว่าโรงสีเล็กน้อย ด้วยเหตุนี้ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรปลูกนั้นไม่บริสุทธิ์ตั้งแต่ต้น เพราะมันแค่มีข้าวแดงน้อยกว่านาแปลงอื่น แต่ไม่ได้น้อยกว่ามาตรฐานชั้นพันธุ์จำหน่าย
.
ศูนย์วิจัยข้าว ความน่าเชื่อถือ และเครื่องไม้เครื่องมือ (เท่า) ที่มี
แดดเปรี้ยงสาดตรงลงมาที่ฉันและพี่อดุลย์ตลอดทาง แม้จะมีต้นไม้ปลูกอยู่ทั้งสองฝั่ง แต่ในเวลาเช่นนี้ก็ไม่ได้ช่วยกำบังแดดเท่าไรนัก เรากำลังเดินไปที่โกดังของศูนย์วิจัยข้าว พี่อดุลย์เกริ่นให้ฟังว่าหลังจากที่เกี่ยวข้าวแล้ว กระบวนการต่อไปคือนำเมล็ดข้าวมาจัดการกันต่อที่โกดัง
ฉันมองเห็นลานตากข้าวตั้งแต่ไกล ผ้าลานสำหรับตากข้าวสีฟ้าถูกวางรองไว้ที่พื้น และกองเมล็ดข้าวที่ไม่สูงนักราว 6 กอง พร้อมด้วยคนงานมีอายุจำนวน 5 คน ที่ช่วยกันดึงแผ่นไม้เพื่อเกลี่ยข้าวให้กระจายไปทั่วผ้าลาน แม้จะรู้ว่านี่คือวิธีการตากข้าวที่มักพบเห็นได้ตามข้างทางแถบทุ่งนา แต่ก็ไม่คิดว่าที่ศูนย์วิจัยข้าวจะยังใช้วิธีเช่นนี้อยู่
กลุ่มคนงานมีอายุกำลังช่วยกันตากข้าวที่เก็บเกี่ยวมา ด้วยวิธีแบบโบราณ
“ที่เขากำลังทำอยู่คือการตากข้าวแบบโบราณ จริงๆ เราเป็นศูนย์วิจัยข้าวที่ควรจะนำเทคโนโลยีไปถ่ายทอดให้ชาวบ้าน แต่เพราะไม่มีอุปกรณ์ทุ่นแรง ไปดูงานเขามาแต่กลับทำได้เท่านี้ มันน่าเชื่อถือไหม…ถ้าเกิดผลิตเยอะมันก็ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อทุ่นแรงคน แล้วคนที่ยังทำอยู่ก็มีแต่คนแก่ คนรุ่นใหม่เขาไม่ทำหรอก”
พี่อดุลย์เล่าให้ฟังถึงความเป็นจริงของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า พร้อมกับตั้งคำถามที่ฉันไม่รู้จะตอบกลับอย่างไร เลยได้แต่พยักหน้าและยิ้มแห้งไปหนึ่งที
เราเลี้ยวเข้าไปดูโกดัง หรือ ‘โรงคัดพันธุ์’ ที่เพิ่งสร้างเมื่อประมาณ 6 ปีก่อน หน้าประตูมีเรือสีส้มวางซ้อนกันอยู่ 4 ลำ และเรือสีแดงอีก 1 ลำ ที่ดูเหมือนจะใหญ่กว่าเล็กน้อย ใช้สำหรับลงแปลงนา ทั้งการหว่านปุ๋ย พ่นยา หรือเก็บตัวอย่างข้าว ในช่วงน้ำขึ้นก็ต้องทำบนเรือนี่แหละ
เรือสำหรับลงพื้นที่ในแปลงนาของศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี
ภายในโรงคัดพันธุ์มีเครื่องมืออยู่ 2 เครื่อง เครื่องแรกคือ ‘เครื่องบรรจุข้าว’ ลงกระสอบก่อนจะนำไปวิจัย เจ้าเครื่องนี้มีขนาดใหญ่ (มาก) หน้าที่ของเครื่องคือคัดเมล็ดข้าวดีออกจากสิ่งเจือปนต่างๆ ก่อนจะไหลมารวมกัน พี่คนงานคนหนึ่งเดินเข้ามาสาธิตให้ดูอย่างชำนาญ ทั้งดึงโซ่เพื่อกันเมล็ดข้าวไว้ไม่ให้ไหลลงมาที่แท่นชั่ง กำหนดปริมาณที่ต้องการ ก่อนจะรูดโซ่อีกครั้งเพื่อปล่อยเมล็ดข้าวลงมาใส่กระสอบ และดึงโซ่เพื่อกันข้าวไว้อีกครั้งในตอนสุดท้าย พี่คนงานเล่าว่าตอนมาแรกๆ เครื่องก็มีรวนบ้าง แต่พอใช้ไปสักพักระบบก็เริ่มทำงานคงที่
เครื่องบรรจุข้าว
พี่คนงานกำลังดูเมล็ดพันธุ์ดีที่คัดสิ่งเจือปนออกแล้ว ผ่านช่องเล็กๆ ที่เปิดได้
พี่คนงานกำลังรูดโซ่เพื่อสาธิตการบรรจุข้าวใส่กระสอบ
ถัดมาอีกเครื่องหนึ่งคือ ‘เครื่องอบข้าว’ มีลักษณะเป็นทรงกระบอกสูงงง (จนต้องเงยหน้ามอง) เจ้าเครื่องนี้ใช้ลดความชื้นในเมล็ดข้าว เหมือนกับการตากข้าวที่ลานเมื่อครู่ โดยสามารถอบได้ทีละหลายตัน เว้นแต่ช่วงนี้ที่แดดแรงและฝนไม่ตก ทางศูนย์จึงใช้วิธีตากข้าวแบบโบราณแทน เพื่อลดต้นทุนทั้งจากไฟฟ้าและน้ำมัน แต่เจ้าเครื่องนี้ถ้าไม่ค่อยได้ใช้ ก็มักจะมีหนูหรือนกเข้าไปทำรัง ทำให้เครื่องใช้งานได้ติดๆ ขัดๆ จนต้องรอซ่อม…เหมือนที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้
เครื่องอบข้าว
พี่อดุลย์ ขณะพาชมเครื่องไม้เครื่องมือ ในโรงคัดพันธุ์
FUN FACT: เราสามารถใช้โดรนสำหรับการเกษตรแทนการใช้เรือได้ เช่น ใช้โดรนพ่นยา หรือหว่านปุ๋ย น่าเสียดายที่ศูนย์วิจัยข้าวแห่งนี้ยังไม่มีเครื่องมือดังกล่าว
.
ปัญหาที่ต้องเผชิญกันไป
ฉันคิดไว้ก่อนว่าเมื่อเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ มันก็มักจะ ‘พูดยาก’ เสมอ ก่อนจะหาจังหวะถามถึงเรื่องงบประมาณการวิจัยสำหรับการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว เพราะเข้าใจว่างบประมาณของทุกส่วนมาจากกรมการข้าวเพียงแหล่งเดียว
ทว่าแท้จริงแล้ว งบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนานั้นมาจากหลายแหล่ง ทั้งงบรายปีจากกรมการข้าว และงบสำหรับโครงการวิจัยจากภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)
คำถามคือ มันเพียงพอสำหรับทุกกลุ่มในศูนย์จริงไหม
“สำหรับกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ ถ้าไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่อำนวยความสะดวก เราก็ผลิตได้น้อย เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเข้ามาแทนกำลังคน ถ้าเกิดเรายังทำแบบเดิม เช่น ตากข้าวแบบโบราณ แค่ฝนตกมาก็ตากไม่ได้แล้ว ข้าวที่เก็บเกี่ยวมา ถ้าไม่ตากก็เสียหาย ทำเป็นเมล็ดพันธุ์ไม่ได้อีก” พี่อดุลย์ตอบถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากงบประมาณสนับสนุนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอ
พี่อดุลย์ตรวจดูเมล็ดพันธุ์ข้าวดีที่ไหลลงกระสอบแล้ว
นอกจากเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่แก้ได้ยากเช่นกันคือเรื่องบุคลากร เพราะบางตำแหน่งในศูนย์วิจัยข้าวอาศัยแค่ความรู้อย่างเดียวไม่พอ หากแต่ต้องมีประสบการณ์ที่มากพอด้วย
อย่างตำแหน่งของพี่แก้วที่ใกล้เกษียณแล้ว ก็หาคนมาแทนยาก เพราะไม่ใช่แค่มีความรู้ แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ และความชำนาญอย่างมาก พี่อดุลย์อธิบายเพิ่มเติมว่า
“ตอนนี้ศูนย์ขาดคน ที่เห็นพี่แก้วทำคนเดียวก็เพราะการรันคนในระบบราชการมันต่างจากเอกชนที่หาคนมาเปลี่ยนง่ายกว่า ตอนนี้เหลืออีกปีกว่าๆ ต่อให้คนเก่งยังไงก็ฝึกไม่ทัน แล้วสายตาคนเรามันไม่เท่ากันหรอก ถ้าให้พี่ไปดูก็พอดูออก แต่ไม่แม่น ในขณะที่พี่แก้วไม่ต้องกะเทาะดูก็รู้ว่าข้างในเป็นเมล็ดข้าวแดง”
ปัญหาหลายๆ เรื่องในศูนย์วิจัยข้าวจึงจำเป็นต้องรอ ทั้งเงิน คน และเวลา จนกว่าระบบราชการไทยจะตอบรับคำขอเหล่านั้น
FUN FACT: บุคลากรใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งในห้องปฏิบัติการ ส่วนมากมักอยู่ไม่เกิน 2 ปี แล้วขอย้ายหรือขอเลื่อนตำแหน่งไป ด้วยความที่ลักษณะงานเป็นกิจวัตรแบบเดิมๆ ทำให้หาคนมาทำยาก
.
ฉันและพี่อดุลย์พูดคุยถึงปัญหาดังกล่าวระหว่างเดินกลับเข้าตัวอาคารเดิมที่เราจากมา ก่อนจะกล่าวลากันอย่างง่ายๆ และพี่อดุลย์ก็เดินกลับไปยังห้องทำงานตามทางเดินอันมืดสลัวอีกครั้ง
ตลอดระยะเวลาราว 2 ชั่วโมง ตั้งแต่ที่ห้องทำงานของพี่อดุลย์และพี่ยุ้ย ห้องแล็บของพี่แก้ว ไปจนถึงโรงคัดพันธุ์ สมองของฉันก็ยังไม่ได้หยุดรับข้อมูลชุดใหม่เลย แม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและใกล้ตัวอย่างบอกไม่ถูก
หากลองจินตนาการว่าศูนย์วิจัยข้าวหายไป ถนนผิวดวงจันทร์แถวบ้านก็คงไร้ซึ่งทิวทัศน์ของแปลงข้าวเขียวชอุ่ม เพราะคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ลดลงเรื่อยๆ หรือพื้นที่จำเพาะบางแห่งอาจต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นหรือทำบ่อปลาแทน เพราะไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวน้ำลึกให้ปลูกอีกต่อไป และแม้แต่ข้าวหรือเส้นในจานอาหารอาจค่อยๆ น้อยลง เพราะการปลูกข้าวต้องลงทุนสูง และควบคุมคุณภาพได้ยาก
แต่เหตุการณ์ที่จินตนาการไว้คงไม่เกิดขึ้น หากเราและรัฐให้การสนับสนุนและเห็นคุณค่าของคนวิจัยข้าวเหล่านี้ ให้มากเท่าที่ควรจะเป็น
แม้ว่าใครหลายคนอาจไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของศูนย์วิจัยข้าวเลย หรืออาจเคยได้ยินเป็นครั้งแรก แต่ฉันก็หวังว่าเมื่อคุณอ่านงานเขียนชิ้นนี้จบ เราน่าจะเห็นภาพความสำคัญของศูนย์วิจัยข้าวคล้ายกันมากขึ้นนะ : )
ขอขอบคุณบุคลากรและสถานที่ที่มอบความรู้ด้วยความจริงใจในครั้งนี้
ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี
41 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี 25150
โทร 037-271232
อีเมล pcr_rrc@rice.mail.go.th