Art & CultureFeaturesSocietyWritings

จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์
ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง, ชวิน ชองกูเลีย

จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ

คำนำ

งานหนังสือ หมายถึง งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้งที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กรุงเทพฯ โดยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ส่วนงานมหกรรมหนังสือระดับชาติจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี

ฉบับที่ 1

ถึง: งานหนังสือ หนทางช่วยให้รอด
จาก: สำนักพิมพ์

“งานหนังสือใหญ่ที่กรุงเทพฯ คือความอยู่รอดของสำนักพิมพ์”

ประโยคสั้นๆ แสนเรียบง่ายและจริงใจของ ‘บอย ณัฐกร วุฒิชัยพรกุล’ เจ้าของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กอย่าง Words Wonder สามารถทำให้คนฟังอย่างฉันเข้าใจถึงความสำคัญของงานหนังสือที่มีต่อสำนักพิมพ์ได้ในทันที แต่ก็ก่อให้เกิดข้อสงสัยตามมานับไม่ถ้วนว่า

งานหนังสือสำคัญกับการทำธุรกิจของสำนักพิมพ์ขนาดนั้นเชียวหรือ…

อย่างไรก็ตาม หากจะข้ามไปเล่าถึงความสำคัญของงานหนังสือในมุมมองของสำนักพิมพ์เลยก็อาจจะทำได้ยาก เพราะฉะนั้นฉันอาจขอย้อนถอยหลังกลับสักเล็กน้อย

เอาเป็นว่าเรามาเริ่มต้นกันที่จุดนี้ดีกว่า…

.

จุดเริ่มต้นของสำนักพิมพ์ Words Wonder

จากคำบอกเล่าของคุณบอย สำนักพิมพ์ Words Wonder ถือกำเนิดขึ้นจากความชอบอ่านและความหลงใหลในเรื่องราวแฟนตาซีเหนือจินตนาการของตัวเขาเอง โดยขณะที่ได้ศึกษาอยู่ต่างประเทศ เขาได้พบเจอกับหนังสือดีๆ เยอะแยะมากมายที่ไม่มีขายในเมืองไทย จึงตัดสินใจนำสิ่งที่ตนชอบมาทำเป็นธุรกิจ

ทั้งนี้คุณบอยตั้งใจว่า เขาจะเลือกสรรนวนิยายแนวแฟนตาซีจากนักเขียนชื่อดังระดับโลกมาแปลและเผยแพร่สู่สายตาคนไทย ไม่ว่าจะเป็นผลงานจาก เออร์ซูล่า เค. เลอ กิน (Ursula K. Le Guin) ผู้เขียนหนังสือชุดเรื่อง A Wizard of Earthsea, นีล เกแมน (Neil Gaiman) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Graveyard Book, หรือไดอาน่า วินน์ โจนส์ (Diana Wynne Jones) ผู้เขียนหนังสือชุดเรื่อง Howl’s Moving Castle เพื่อให้นักอ่านไทยผู้หลงรักในกลิ่นอายของแฟนตาซีมีโอกาสสัมผัสความวิเศษจากเนื้อหาแสนสนุกเหล่านี้ ดังเช่นที่คุณบอยได้สัมผัส

“ผมคิดว่าถ้าเราทำหนังสือที่ดีที่เราชอบ เราภูมิใจกับมัน ก็จะมีคนที่รักมันเหมือนกัน แล้วก็หวังว่าคนที่รักมันจะมากพอให้เราอยู่ได้”

ดูเหมือนว่า คุณบอยจะทำได้ตามที่หวังแล้ว เพราะทุกวันนี้ Words Wonder เองก็เป็นสำนักพิมพ์ที่เป็นพูดถึงกันในหมู่คนอ่านนวนิยายแฟนตาซี อีกทั้งยังมีแฟนคลับที่คอยติดตามหนังสือออกใหม่อย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะชื่นชอบในงานที่ทำอยู่มากเพียงใด คุณบอยก็ไม่ปฏิเสธว่าการทำธุรกิจสำนักพิมพ์เป็น ‘งานยาก’ ที่ต้องใช้ทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ในการก่อร่างสร้างตัวอย่างมาก

“ถ้าทำหนังสือนะ คุณขายก๋วยเตี๋ยวรวยกว่า เดือนหนึ่งคืนทุนแล้วนะ” คุณบอยพูดปนเสียงหัวเราะ ซึ่งทำให้ฉันอดหัวเราะตามไปด้วยไม่ได้ “ถ้าขายหนังสืออย่างผม กว่าจะขอลิขสิทธิ์มา ผ่านกระบวนการแปล การจัดหน้า การทำปก เอาไปขาย ถ้าไปขายตามร้านหนังสือมันต้องผ่านสายส่งก่อน กว่าจะได้เงินจากการขายก็ต้องรออีกประมาณ 3-4 เดือน เหมือนเราต้องลงทุนหลักแสนแต่ขายแค่ทีละหลักร้อย”

ฉันว่าสิ่งที่คุณบอยเล่านี้อาจเป็นความจริงที่น่าตกใจสำหรับใครหลายๆ คน เพราะตามกระบวนการการขายหนังสือแล้ว หากสำนักพิมพ์ต้องการให้หนังสือของพวกเขาได้วางขายตามร้านหนังสือทั่วไป ส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาสายส่ง ผู้เป็นตัวกลางในการนำส่งหนังสือจากสำนักพิมพ์ไปวางขายตามร้านหนังสือ โดยทางสายส่งจะคิดราคา 40-45% จากราคาปกหนังสือที่ขายออก และจะคืนเงินที่ได้รับจากการขายกลับไปให้กับสำนักพิมพ์ภายหลังจากนั้นประมาณ 3-4 เดือน 

นอกจากนี้ อย่างที่ฉันเคยเล่าให้ฟังในบทนำของซีรีส์บรรณ (บัน) ลือโลกว่า ธุรกิจหนังสือยังเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะแม้แต่เจ้าของสำนักพิมพ์เองก็ไม่สามารถบอกได้ว่า หนังสือที่เขาผลิตออกมาจะขายได้มากน้อยเท่าไร ดังนั้นถ้าหากไปวางขายตามร้านหนังสือเพียงอย่างเดียว แล้วขายได้เพียงเดือนละ 3 เล่ม สำนักพิมพ์อาจไม่เหลือเงินทุนมากพอมาหมุนเวียนค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องแบกรับ 

แสดงว่าถ้าหากสำนักพิมพ์พึ่งพาการวางขายหน้าร้านหนังสือเพียงทางเดียว พวกเขาแทบจะไม่มีโอกาสรอดในวงการนี้เลยด้วยซ้ำ ยกเว้นเพียงแต่ว่าหนังสือที่พวกเขาผลิตจะเป็นหนังสือที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนสามารถทำกำไรให้พวกเขาได้แม้จะต้องหักค่าจ้างสายส่งก็ตาม ซึ่งไม่ว่าใครก็คงจะรู้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว หนังสือที่จะพาให้สำนักพิมพ์พุ่งทะยานไปถึงจุดนั้นได้ ก็มีอยู่ไม่กี่เล่มเท่านั้น…

ในเมื่อพึ่งพาร้านหนังสือไม่ได้ งานหนังสือจึงกลายเป็นหนทางรอดที่สำคัญที่สุดของสำนักพิมพ์

“เราลดราคาหนังสือจากปก 10-15% ให้ลูกค้า เรายังได้ 85% ก็คือเยอะกว่าขายผ่านสายส่ง แล้วลูกค้าก็ยังได้ซื้อหนังสือในราคาที่ถูกลงด้วย มันก็เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป” คุณบอยเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน

“สำนักพิมพ์เล็กต้องการการออกบูธจากศูนย์สิริกิติ์เยอะมากเลยนะ เพราะว่ามันคือเงินสดที่เข้ามาที่เขาโดยตรง” คุณบอยเล่าต่อไป “สมมติผมจ่ายค่าโรงพิมพ์ไป 3 แสน ผมไปขายหนังสือผ่านสายส่ง อีก 3-4 เดือน ได้มา 40,000 มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน แต่ถ้าเราไปขายที่งานหนังสือได้ เราก็จะได้รับเงินจากการขายได้โดยไม่ต้องรอ ทุกคนจะเห็นว่าทำไมหนังสือมันมาออกใหม่ช่วงงานหนังสือเยอะ เพราะเขาติดเงินกับโรงพิมพ์ไว้ก่อน”

เมื่อฉันทำหน้าทำตาตกใจ คุณบอยก็หัวเราะเสียงดังพร้อมพูดย้ำอีกครั้งว่า “ส่วนมากเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะโรงพิมพ์อนุญาตให้สำนักพิมพ์เอาหนังสือที่เพิ่งพิมพ์เสร็จไปขายก่อน โดยที่ติดเงินไว้กับโรงพิมพ์ไว้ได้ประมาณ 45–60 วัน สำนักพิมพ์บางที่เลยบอกให้โรงพิมพ์พิมพ์หนังสือปกใหม่มาเลย เดี๋ยวขายที่งานหนังสือเสร็จแล้วค่อยเอาไปจ่ายคืน”

ฉันเองก็คงเหมือนกับใครหลายๆ คนที่อาจสงสัยว่า แล้วทำไมสำนักพิมพ์จะต้องลงทุนติดเงินโรงพิมพ์เพื่อตีพิมพ์หนังสือปกใหม่  ในเมื่อสำนักพิมพ์ก็สามารถขายหนังสือเรื่องเก่าๆ ที่เหลือค้างไปก่อนก็ได้ ซึ่งคุณบอยอธิบายถึงเหตุผลสำคัญในการออกหนังสือปกใหม่ไว้ว่า

“การออกหนังสือปกใหม่มันสำคัญต่อสำนักพิมพ์อยู่แล้ว เพราะหนังสือไม่ใช่ยาสีฟัน ที่พอใช้หมดแล้วคุณก็จะมาซื้อไปใช้ซ้ำ ถ้าคุณมาซื้อเล่มนี้ไปแล้ว คุณจะมาซื้อเล่มเดิมซ้ำอีกไหมล่ะ ก็ไม่มาซื้อถูกไหม เราก็ต้องมีเล่มใหม่มาให้ลูกค้าซื้ออยู่เสมอ”

อาจสรุปได้ง่ายๆ ว่า ถ้าหากสำนักพิมพ์ไม่ยอมออกหนังสือปกใหม่ ก็เปรียบเสมือนการตัดช่องทางหารายได้ของพวกเขาเอง เพราะเขาไม่มี ‘สินค้าตัวเลือก’ ใหม่ๆ ให้กับลูกค้านั่นเอง

ดังนั้นการติดเงินไว้กับทางโรงพิมพ์เพื่อออกหนังสือปกใหม่มาวางขายในงานหนังสือ ก็อาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่สำนักพิมพ์จะทำได้ เพราะถ้าหากหนังสือปกใหม่สามารถทำกำไรจากงานหนังสือได้จริง พวกเขาก็จะสามารถนำเงินตรงนั้นกลับไปคืนโรงพิมพ์ได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังสามารถนำไป ‘โปะ’ ค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ได้อีกด้วยเช่นกัน

“สำนักพิมพ์ที่ติดตัวแดงมาตลอดทั้งปีสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้จากงานหนังสือก็มีนะ ถ้าไม่มีงานหนังสือ สำนักพิมพ์หลายๆ ที่อาจจะอยู่ไม่ได้เลย” คุณบอยพูดด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียด “ผมก็มองว่าผมอยู่ยากนะถ้าไม่มีงานหนังสือ”

สำหรับสำนักพิมพ์แล้ว งานหนังสือเป็นทั้งความหวังและความอยู่รอด ไม่ต่างอะไรจากโอเอซิสกลางทะเลทรายเลยจริงๆ สินะ

ฉบับที่ 2

ถึง: งานหนังสือ ที่พึ่งพายามไร้รัฐ
จาก: ผู้จัดงานหนังสือ

“งานหนังสือมันก็คือวิธีการรอดในวงการนี้นี่แหละ เพราะมันเป็นงานที่ทำเงินได้มากที่สุดแล้ว”

คุณบอยพูดเมื่อฉันถามถึงความสำคัญของงานหนังสือในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในผู้จัดงาน

ไม่ใช่เพียงบทบาทของการเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เท่านั้น เพราะคุณบอยยังมีตำแหน่งเป็นอุปนายกสมาคมฝ่ายในประเทศ ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (The Publishers and Booksellers Association of Thailand : PUBAT) ด้วยเช่นกัน ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ นี้เป็นองค์กรเอกชนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการขายหนังสือ โดยสิ่งที่นับว่าเป็นหน้าที่ใหญ่ที่มีคนจับตามองมากที่สุดของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็คงหนีไม่พ้นการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งเป็นงานหนังสือ 2 งานใหญ่ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ยังรวมถึงงานหนังสือที่จังหวัดอื่นๆ ด้วย เช่น งานมหกรรมหนังสือภาคใต้ จัดขึ้นที่หาดใหญ่, เชียงใหม่บุ๊คแฟร์ หรือเทศกาลงานหนังสือจันทบุรี

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณบอยเข้ามาเป็นสมาชิกในสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เกิดขึ้นจากความต้องการที่อยากเห็นสำนักพิมพ์ Words Wonder มีบูธในงานหนังสือเป็นของตัวเอง เพราะการจะมาออกบูธที่งานหนังสือได้ จำเป็นจะต้องสมัครสมาชิกกับทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เสียก่อน

“คนที่สมัครมาเป็นสมาชิกของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ 90% คือเขาอยากมาออกงานหนังสือ ต้องเข้าใจว่าผมมีสำนักพิมพ์เล็กๆ แล้วมีความฝันว่าเราอยากมีบูธเป็นของตัวเอง มันเป็นความฝันเลยนะ มันเหมือนเรามีที่ทางของตัวเองที่ลูกค้าจะมาคุยกับเราได้” คุณบอยพูดถึงความฝันเล็กๆ ของเขาด้วยรอยยิ้ม

นอกเหนือจากหน้าที่ในการจัดงานหนังสือทั่วประเทศแล้ว อีกหนึ่งผลงานที่สำคัญของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็คือการจัดงาน Bangkok Rights Fair ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายลิขสิทธิ์กันระหว่างสำนักพิมพ์ในไทยและสำนักพิมพ์ต่างชาติ โดยการซื้อขายลิขสิทธิ์นี้จะช่วยให้งานเขียนของคนไทยมีโอกาสได้รับการเผยแพร่สู่สายตาคนต่างชาติเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับทั้งนักเขียนไทย นักแปลไทย สำนักพิมพ์ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับหนังสือด้วย

เรียกได้ว่าเป็นงานหนังสือสำหรับเหล่าคนทำหนังสือโดยเฉพาะเลยล่ะ

“ถ้าหากเป็นงานหนังสือที่ต่างประเทศ งานแบบนี้จะเป็นส่วนหลักเลย” คุณบอยอธิบายถึงงานหนังสือของต่างประเทศว่า งานหนังสือที่โด่งดังและมีชื่อเสียงอย่าง Frankfurt Book Fair (ประเทศเยอรมัน) หรือ London Book Fair (ประเทศอังกฤษ) จะเป็นงานที่ช่วยกระตุ้นให้คนทำหนังสือมีโอกาสได้พบปะกัน เพื่อพูดคุยติดต่อซื้อขายลิขสิทธิ์กันเสียมากกว่า ต่างจากงานหนังสือเป็นพื้นที่สำหรับให้สำนักพิมพ์ได้มีโอกาสขายหนังสือให้กับคนอ่านโดยตรง ซึ่งเป็นรูปแบบงานที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกันมากกว่า

งาน Frankfurt Trade Fair ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี
ภาพจาก Google Street View โดย EDITION-TZ TKump (edition-tz)

ถ้าหากในต่างประเทศไม่มีงานหนังสือ แล้วผู้คนในประเทศนั้นๆ เขาจะซื้อหนังสือกันที่ไหนกันนะ…

“คนส่วนใหญ่ที่นั่นเขาซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือกันครับ ตอนเรียนอยู่เมืองนอก ผมไปที่ไหนก็เห็นร้านหนังสือเต็มไปหมด ถนนบางเส้นมีร้านหนังสือตั้ง 3 ร้าน แต่นี่ร้านหนังสือมันขายไม่ได้ มันต้องทำโปรโมชัน ต้องมาพึ่งพางานหนังสือ ถ้ารอแต่เงินจากสายส่งก็ไม่พอกิน” ฉันพยักหน้าเห็นด้วยประโยคดังกล่าว เพราะเมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทยแล้ว ถ้าหากไม่นับร้านหนังสือในห้างสรรพสินค้าที่เป็นร้านเครือข่าย ร้านหนังสืออิสระในเมืองไทยก็ลดจำนวนน้อยลงไปทุกที แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีร้านหนังสืออิสระตั้งเรียงกันอยู่บนถนนเส้นใดเส้นหนึ่ง

“ถ้าประเทศไทยมีร้านหนังสือเต็มบ้านเต็มเมือง ผมว่าไม่ต้องมีงานหนังสือเลยนะ” คุณบอยพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะเพิ่งบอกว่างานหนังสือเป็นหนทางความอยู่รอดของเขาก็ตาม “เพราะเราจะขายหนังสือได้โดยที่ไม่ต้องมาออกบูธออกงาน สมมติว่ารัฐบาลสนับสนุนคนอ่านหนังสือจนการอ่านเฟื่องฟู เราไม่ต้องมีงานหนังสือมาลดแลกแจกแถมอะไรแบบนี้หรอก เพราะว่าคนซื้อหนังสือจากร้านหนังสือได้ทุกวันอยู่แล้ว”

แต่เมื่อฉันลองถามถึงการสนับสนุนการอ่านจากทางภาครัฐ คุณบอยก็ส่ายศีรษะไปมาพร้อมเล่าว่า แม้แต่วิธีการช่วยเหลือที่ง่ายที่สุดอย่างการช่วยจ่ายค่าบูธสำหรับจัดงานหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ ทางรัฐบาลก็ไม่เคยมอบเงินสนับสนุนในส่วนนี้แม้สักครั้ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือในทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการมอบเงินซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดต่างๆ หรือช่วยสนับสนุนให้เกิดการอ่านเพิ่มขึ้น

“ผมจะพูดอีกครั้งว่า รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหานี้นะ รัฐบาลมีบทบาทสำคัญตั้งแต่เริ่มการปลูกฝังการอ่านเลย แต่เขาไม่ค่อยทำกัน รู้ไหมว่าเพราะอะไร” คุณบอยถามพร้อมเสียงหัวเราะ

“มันต้องลงทุนเยอะ” ฉันตอบด้วยความไม่มั่นใจ

“มันไม่ต้องลงทุนเยอะเลยครับ” ดูเหมือนว่าคุณบอยจะผิดหวังกับคำตอบของฉันเล็กน้อย “สร้างทางด่วนยังลงทุนเยอะกว่าเลย ทำไมเขาถึงเลือกสร้างทางด่วน…” เขาเว้นวรรคให้เวลาฉันคิดเล็กน้อยก่อนจะฉันจะส่ายหัวไปมาเพราะไม่รู้คำตอบ คุณบอยจึงพูดคำใบ้เพิ่มให้เล็กน้อยว่า “เพราะถ้าสร้างทางด่วน คนเขาเห็นเลยว่าสร้างทางด่วน”

“อ๋อ แต่หนังสือมันต้องใช้เวลา” ฉันนึกออกทันที

“ใช่ ถ้าคุณไปสร้างรถไฟฟ้าหรือสร้างทางด่วน คุณเห็นเลยนะว่ามีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น ใช้หาเสียงได้เลย แต่ถ้าคุณมาลงทุนกับหนังสือ มันเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น มันจับต้องยาก ถึงมันเป็นสติปัญญาของคนในประเทศ แต่มันใช้หาเสียงยาก เขาเลยกลัวที่จะไม่ได้รับการเลือกตั้ง”

            สำหรับทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แล้ว งานหนังสือก็คงเป็นวิธีรอดของเหล่าสมาชิกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ฉบับที่ 3

ถึง: งานหนังสือ ผู้ทำลาย
จาก: ร้านหนังสืออิสระ

“งานหนังสือมันกลายเป็นธุรกิจไปแล้ว”

            ‘เลิศ บุญเลิศ คณาธนสาร’ พูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล แม้ว่าเรื่องที่เขากำลังพูดถึงอยู่จะเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับอาชีพของเขาก็ตาม เพราะในฐานะเจ้าของร้านหนังสืออิสระ House of Commons หรือ HOC แล้ว งานหนังสือเปรียบเสมือนก้างชิ้นใหญ่สำหรับการดำเนินธุรกิจจริงๆ

            แม้ว่า HOC จะเป็นร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กๆ ไม่ได้เห็นโดดเด่นสะดุดตามากนัก แต่ด้วยที่ตั้งที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ตรงบริเวณเชิงสะพานพิทยเสถียร ถนนเจริญกรุง ย่านตลาดน้อย ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของชาวต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่มีเด็กนักเรียน รวมถึงชาวออฟฟิศเดินขวักไขว่ ทำให้ร้าน HOC กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของเหล่าผู้คนแถวนั้นไปโดยปริยาย

            ในวันที่ฉันได้มีโอกาสไปเยือนสถานที่แห่งนั้น ฉันก็ตื่นตาตื่นใจกับจำนวนลูกค้าที่นั่งอัดแน่นอยู่ภายในร้าน เพราะฉันเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าร้านหนังสืออิสระเล็กๆ จะมีลูกค้ามากหน้าหลายตาเช่นนี้

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีลูกค้ามาอุดหนุนทั้งเครื่องดื่ม ขนม หรือหนังสือมากเท่าใด คุณเลิศเจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้ก็ยังคงยืนยันอยู่เช่นเดิมว่า งานหนังสือที่ใช้เวลาจัดขึ้นเพียง 20 กว่าวันต่อปีส่งผลกระทบในทางลบกับธุรกิจร้านหนังสืออิสระ

            ‘ความสามารถในการลดราคา’ ของสำนักพิมพ์ที่มีเหนือกว่าร้านหนังสืออิสระ ส่งผลให้งานหนังสือที่เปรียบเสมือน ‘งานลดราคาหนังสือ’ สามารถดึงดูดใจให้คนอ่านเข้าไปเลือกซื้อหนังสือได้ง่ายกว่า ดังนั้นตลอด 20 กว่าวันที่มีการจัดงานหนังสือขึ้น รายได้ของร้านหนังสืออิสระก็มีโอกาสที่จะลดลงจนน่าใจหาย

            แม้แต่ฉันเองก็คงพูดได้เต็มปากว่า ฉันเป็นหนึ่งในคนที่รอคอยการไปซื้อหนังสือจากงานหนังสือมากกว่าจะซื้อผ่านร้านหนังสืออิสระโดยตรง เพราะด้วยโปรโมชันลดราคาที่มากกว่าเช่นกัน

            “อย่างที่บอกไปว่างานหนังสือมันกลายเป็นธุรกิจไปแล้ว เพราะพอคนจัดงานไปประมูลที่มา เขาก็มาขายบูธให้กับสำนักพิมพ์ทั่วๆ ไป” คุณเลิศอธิบายถึงภาพลักษณ์ของงานหนังสือที่กลายเป็นงานลดราคาหนังสือในปัจจุบัน “พอมันกลายเป็นธุรกิจ แสดงว่ามันมีต้นทุน สำนักพิมพ์ที่เขาไปเช่าบูธมาแล้ว เขาก็อยากมีรายได้มาจ่ายค่าบูธ เขาก็เลยต้องทำโปรโมชันลดราคาหนังสือ…” คุณเลิศหยุดคิดไปสักพักก่อนจะพูดต่อไปว่า “จริงๆ แล้ว คนจัดงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายวงการหนังสือนี้เหมือนกัน”

            แต่ฉันก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่า งานหนังสือนั้นจัดขึ้นเพียง 20 กว่าวันต่อปีเท่านั้น ถ้าหากเทียบกับร้านหนังสืออิสระที่สามารถเปิดร้านขายได้ตลอดทั้งปีแล้ว งานหนังสือจะส่งผลกระทบต่อร้านหนังสือได้มากมายขนาดนั้นเชียวหรือ

            เจ้าของร้าน HOC อีกคนหนึ่ง ซึ่งเธอไม่ประสงค์จะแสดงตัวตน ได้ช่วยออกความเห็นในส่วนนี้ว่า “เราต้องมาดูก่อนว่ากระทบมากหรือไม่มากเนี่ยมองจากมุมไหน ถ้าพูดถึงงานหนังสือเนี่ย มันมีกระแสมากกว่า แล้วสำนักพิมพ์ก็ลดราคามากกว่า สำนักพิมพ์ลดราคาหนังสือให้ผู้บริโภคโดยตรงมากกว่าลดให้ร้านหนังสืออิสระอีกเด้อ!” เธอขึ้นเสียงดังจนฉันอดตกใจไม่ได้ “คือเขาขายงานเดียว 10 วัน 20 วัน อาจจะได้มากกว่าที่ขาย 3-6 เดือนของร้านหนังสือบางร้านด้วยซ้ำ”

            ทางคุณเลิศช่วยขยายความให้เห็นภาพว่า หนึ่งในวิธีการซื้อหนังสือเข้าร้านก็คือการซื้อผ่านสำนักพิมพ์นั้นๆ โดยตรง ไม่ต้องผ่านสายส่ง ซึ่งถ้าหากทางร้านหนังสือตั้งใจจะซื้อขาด หรือก็คือการซื้อโดยที่ไม่สามารถส่งคืนให้กับทางสำนักพิมพ์ได้ในกรณีที่ขายหนังสือไม่หมด ซึ่งทางสำนักพิมพ์ก็จะมีการกำหนดจำนวนเล่มขั้นต่ำไว้ ว่าถ้าหากซื้อขาดจำนวนเล่มมาก ก็จะได้รับส่วนลดมากตาม

            “แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ประมาณ 20-25% ของราคาซื้อที่สำนักพิมพ์กำหนดไว้ ซึ่งถ้าไปเปรียบเทียบดูกับงานหนังสือ บางทีเวลาเขามาออกบูธโปรโมชัน คนอ่านซื้อแค่ 3-4 เล่มก็ได้ส่วนลด 20-25% แล้ว แต่กับร้านหนังสืออิสระต้องซื้อทีตั้งเยอะกว่าจะได้ส่วนลดเท่านั้น”

            เจ้าของร้านคนที่ 2 ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “คนในสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ส่วนใหญ่ก็มาจากสำนักพิมพ์ เขาเลยขาดมิติหรือมุมมองของการเป็นร้านหนังสืออิสระ ไม่ใช่ว่าเขาจะเอาตัวเขารอด เขาก็รู้ถึงปัญหาของเรา แต่เขาก็ไม่เข้าใจมันอย่างแท้จริง”

           อย่างไรก็ตาม เจ้าของร้าน HOC ทั้งสองต่างก็เข้าใจความยากลำบากและความบีบคั้นของสำนักพิมพ์เช่นกัน เพราะงานหนังสือก็เปรียบเสมือนตัวกำหนดเวลาในการออกหนังสือปกใหม่ อย่างที่ฉันได้เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าการออกหนังสือปกใหม่ เป็นดังโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ ยิ่งออกปกใหม่ได้มากก็ยิ่งมีโอกาสมาก 

            แต่ในอีกทางหนึ่ง การจะออกหนังสือปกใหม่ 1 เล่ม ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านกระบวนการการทำหนังสืออีกมากมายหลายขั้นตอน ดังนั้นหากสำนักพิมพ์ต้องการออกหนังสือปกใหม่จำนวนมากให้ทันงานหนังสือที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นปีและท้ายปี พวกเขาจะต้องทำงานหนักมากในการทำหนังสือแต่ละเล่ม

            “คือช่วงใกล้ๆ งานหนังสือนะ งานของสำนักพิมพ์จะแน่นมากๆ แล้วปีหนึ่งมันจัดงาน 2 ครั้ง แค่นี้เขาก็ไม่มีเวลาไปคิดถึงอะไรอย่างอื่นแล้ว” เจ้าของร้านกล่าวเสริม “จริงๆ แล้วงานสัปดาห์หนังสือมันไม่ได้ทำลายแค่ตัวเรานะ แต่มันทำลายตัวเขาด้วย”

            ท้ายที่สุดแล้ว เจ้าของร้าน HOC ก็ยังเห็นถึงข้อดีของงานหนังสืออยู่ เพราะเธอเองก็เป็นนักอ่านที่เติบโตมากับงานหนังสือเช่นกัน ทว่าเธอต้องการให้มีการนั่งพูดคุยกันระหว่างสำนักพิมพ์ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และร้านหนังสืออิสระ ว่าจะมีวิธีใดที่จะทำให้ยังสามารถจัดงานหนังสือต่อไปได้ โดยไม่กระทบกับร้านหนังสืออิสระ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาก็คือ…

            “สุดท้ายก็แก้ไม่ได้” เธอว่า “คือเขาหาทางออกให้เราไม่ได้ เราก็ไม่ได้บอกเขาว่าอย่าจัดงานหนังสือหรือให้ยกเลิกไป แต่เขาจะวางตำแหน่งของเราไว้ตรงไหนของวงการนี้ คือถ้าเป็นภาคธุรกิจ เขาก็คงเอาทุกฝ่ายมารวมหัวกันแล้วพูดคุย แต่เนื่องจากมันเป็นผลประโยชน์ แล้วจำนวนสำนักพิมพ์มันเยอะ พอจัดครั้งหนึ่ง เงินมันก็ได้เป็นกอบเป็นกำ แล้วทีนี้ใครมันจะอยากเสียผลประโยชน์ ใช่ไหมล่ะ”

            สำหรับร้านหนังสืออิสระแล้ว งานหนังสือก็คงไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่เพื่อนร่วมวงการสร้างขึ้นเพื่อทำลายเพื่อนร่วมวงการกันเอง

            ป.ล. ทั้งนี้ คุณเลิศระบุว่า HOC ไม่ร่วมออกบูธที่งานหนังสือ เพราะต้องการแสดงจุดยืนว่าทางร้าน HOC ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบของงานหนังสือในปัจจุบัน และไม่ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ก่อให้เกิดปัญหาในวงการหนังสือ

.

            จดหมายฉบับที่ 1 ถึงงานหนังสือ ผู้เป็นหนทางรอดสำหรับสำนักพิมพ์…

เพราะเป็นพื้นที่ที่สำนักพิมพ์จะได้รับเงินจากคนอ่านโดยตรงโดยไม่ผ่านการหักราคาจากสายส่ง

            จดหมายฉบับที่ 2 ถึงงานหนังสือ ผู้เป็นที่พึ่งพายามไร้รัฐสำหรับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ…

เพราะไร้แรงสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ ผู้คนในวงการจึงต้องหันมาช่วยเหลือกันเอง งานหนังสือจึงเป็นทางรอดเดียวที่จะช่วยพาให้เหล่าสมาชิกอยู่ครบถ้วนไปตลอดรอดฝั่งได้ แม้ว่าจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดก็ตาม

            จดหมายฉบับที่ 3 ถึงงานหนังสือ ผู้ทำลายสำหรับร้านหนังสืออิสระ…

เพราะงานหนังสือทำให้รายได้ของร้านหนังสืออิสระหดหาย แล้วถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ร้านหนังสืออิสระจะสามารถกัดฟันอดทนอยู่ต่อไปได้อีกนานเท่าไรกัน

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Articles

Metal Gear Solid V: รุ่งอรุณสุดท้ายของราชาแห่ง Konami

เรื่องและภาพประกอบ: สิทธิเดช สายพัทลุง เกมซีรีส์ Metal Gear หรือ Metal Gear Solid (MGS) คือชื่อที่เรียกได้ว่าเป็นเกมที่ทำเงินได้มากที่สุดของบริษัทเกมจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง ‘Konami’ ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยเกมตู้หยอดเหรียญ ซึ่ง ...

Articles

บรรณ (บัน) ลือโลก

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง “บรรณ (บัน) ลือโลก”เสียงอื้ออึงถึงปัญหาจากวงการหนังสือที่น้อยคนนักจะได้ยิน คำนำ บันลือ ก. เปล่งเสียงดังก้อง เช่น ...

Articles

Dandadan การผสานกันอย่างลงตัวของไสยศาสตร์และเรื่องล้ำยุคจากต่างดาว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยเนื้อหาของ ‘Dandadan’ สิ่งลี้ลับนั้นอยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน จนก่อเกิดความเชื่อมากมายไปทั่วโลก ตั้งแต่ภูตผี ปีศาจ สัตว์ประหลาด ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตต่างดาว ซึ่งบางอย่างยังคงไม่ได้รับการพิสูจน์ทราบในปัจจุบัน ...

Writings

Concord เจ๊งเพราะ woke หรือแค่ไม่ตอบโจทย์ผู้เล่น

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง แมลงวันเพศเมียมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 29 วันหรือประมาณหนึ่งเดือน  แม้จะรู้สึกว่าช่วงชีวิตของมันนั้นช่างแสนสั้น คงยังไม่สั้นเท่ากับช่วงชีวิตของเกม Concord ที่มีอายุขัยตั้งแต่เปิดขายเพียงแค่ 14 วันหรือเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ...

Writings

Am I OK? สามสิบก็ยังไม่สายที่จะ ‘รู้ตัว’

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ คุณคิดว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นเพียงเพื่อนกันจริงไหม  เมื่อภาพเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสองสาวกำลังนอนหันหน้าเข้าหากันบนเตียง และดูเหมือนกำลังคุยเรื่องที่ชวนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กันอยู่ พร้อมเรื่องย่อว่า ‘เพื่อนรัก’ สองคนที่สนิทกันมาเกือบทั้งชีวิตกำลังต้องแยกย้ายกันไปเติบโต เพราะเธอคนหนึ่งต้องไปทำงานอีกซีกโลก ในขณะที่อีกคนเพิ่ง ‘รู้ตัว’ ว่าอาจเป็นเลสเบียนในวัย 32 ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save