เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์
ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง
“บรรณ (บัน) ลือโลก”
เสียงอื้ออึงถึงปัญหาจากวงการหนังสือที่น้อยคนนักจะได้ยิน
คำนำ
บันลือ ก. เปล่งเสียงดังก้อง เช่น บันลือสีหนาท.
บรรณ น. หนังสือ (ส. ปรฺณ; ป. ปณฺณ).
บรรณโลก (แบบ) น. วงการหนังสือ.
บรรณ (บัน) ลือโลก ซีรีส์งานเขียนที่จะนำเสนอภาพปัญหาของวงการหนังสือ ผ่านคำบอกเล่าของเหล่าผู้คนในแวดวงดังกล่าว เพื่อค้นหาคำตอบว่าทำไมวงการหนังสือไทยถึงไม่ไปไหนเสียที
บทนำ
ในการตัดสินใจซื้อหนังสือสักเล่ม ชื่อหนังสือมักจะเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตาฉัน และชื่ออย่าง ‘จินตนาการไม่รู้จบ’ ก็ทำให้ฉันจำต้องหยุดชะงักอยู่หน้าชั้นวางหนังสืออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อีกทั้งยังดูเหมือนว่าเจ้างูสีขาวดำสองตัวบนหน้าปกกำลังร้องตะโกนเรียกชื่อของฉันอย่างไรอย่างนั้น
จินตนาการของฉันก็ช่างไม่รู้จบเสียจริง…
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อรู้สึกได้ถึงแรงดึงดูดอันแปลกประหลาดแล้ว ฉันจึงอดไม่ได้ที่จะเอื้อมมือไปหยิบหนังสือเล่มดังกล่าวลงมาดูใกล้ๆ ก่อนจะพลิกไปอ่านคำโปรยบนปกหลัง
“มีประตูไปสู่อาณาจักรแห่งจินตนาการมากมายหลายบานนัก เจ้าหนู ยังมีหนังสือวิเศษอื่นๆ อีกมากมายเหลือเกิน คนส่วนใหญ่อ่านผ่านไปโดยไม่สังเกตเห็น มันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนอ่านหนังสือเล่มนั้นต่างหาก”
นายโคเรแอนเดอร์ เจ้าของร้านขายหนังสือ คาร์ล คอมราด โคเรแอนเดอร์
กล่าวกับบาสเตียน บัลธาซาร์ บูกซ์
เพียงแค่คำโปรยปกหลังก็สามารถเอาชนะใจคนอ่านอย่างฉันได้อยู่หมัดเสียแล้ว ฉันยิ้มออกมาด้วยความตื่นเต้นและยินดี ราวกับเพิ่งได้รับตั๋วเดินทางสู่โลกใบใหม่ไปสู่อาณาจักรจินตนาการอันไร้ขอบเขต
ทว่าเมื่อสายตาเลื่อนลงมาถึงเลขท้ายสามตัวบนหลังปกแล้ว รอยยิ้มของฉันก็ค่อยๆ เลือนหายไป
445 บาท… ค่าผ่านทางของประตูวิเศษบานนี้แพงเอาเรื่องเหมือนกันนะ
ฉันหายใจเข้าออกช้าๆ ใช้เวลาคิดพิจารณาตัดสินใจว่าการเดินทางสู่ดินแดนแห่งนี้มีค่ามากพอแก่การหยิบธนบัตรสีม่วงในกระเป๋ามาจ่ายหรือไม่
เอาเถอะ ก็แค่การนำกระดาษแผ่นบางๆ สีม่วง มาแลกเปลี่ยนกับกระดาษปึกหนาๆ มันจะยากเย็นสักเท่าไรกันเชียว ไม่ว่าจะคิดอย่างไรก็คุ้มค่า ฉันตอกย้ำความคิดของตัวเองอย่างหนักแน่นก่อนจะหยิบเงินขึ้นมาจ่ายด้วยสีหน้าเหยเก แม้ว่าเบื้องลึกภายในจิตใจจะได้รับการสนองความสุขสมอยู่ก็ตาม
ช่างเป็นความสุขบนความเจ็บปวดที่แสนสวยงามเสียเหลือเกิน
ฉันเชื่อว่า คนที่อ่านหนังสือโดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านตัวยงหรือนักอ่านทั่วไป เราต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ด้วยกัน และถึงแม้จะกล่าวว่า การจ่ายเงินซื้อหนังสือ ก็ไม่ต่างจากการนำกระดาษแผ่นไปแลกกระดาษปึก แต่ถ้าคนอ่านไม่รู้ว่าหนังสือนั้นสามารถมอบคุณค่าอะไรกลับคืนมาได้บ้าง การจะนำกระดาษแผ่นบางๆ ที่มีมูลค่าแน่ชัดบนโลกทุนนิยมไปแลกมา ก็คงเป็นเรื่องยากต่อการตัดสินใจ
ในหลายๆ ครั้ง ฉันเองก็ต้องยอมทำใจบอกลาเหล่าบานประตูวิเศษที่รอคอยอยู่ตรงหน้า เพียงเพราะฉันไม่มีเงินมากพอจะซื้อตั๋วผ่านทางได้ และดูเหมือนว่าโอกาสที่จะได้ก้าวข้ามธรณีประตูไปพบกับโลกใบใหม่ๆ ก็ลดน้อยลงไปทุกทีแล้ว
ใครก็รู้ว่าหนังสือราคาแพงขึ้น แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าคนอ่านก็เป็นส่วนหนึ่งของ ‘วงจรอุบาทว์ทางราคา’ ที่ส่งผลให้หนังสือแพงขึ้นด้วยเช่นกัน
มั่วหรือเปล่า มันเป็นไปได้ด้วยหรือที่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างคนอ่าน จะเข้าไปเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของวงจรนี้ได้
หากใครยังไม่เชื่อ ลองมาหาคำตอบผ่านการซื้อหนังสือของฉันดีกว่า
ย้อนกลับไปตอนที่ฉันยืนตัดสินใจอยู่หน้าชั้นวางหนังสือ ถ้าในตอนนั้นฉันยอมตัดใจไม่ซื้อหนังสือเล่มดังกล่าว ยอมโบกมือบอกลาประตูวิเศษที่จะพาให้ฉันได้พบกับเพื่อนใหม่ยอดนักอ่านอย่าง บาสเตียน บัลธาซาร์ บูกซ์ พร้อมทั้งตัดโอกาสที่ตัวเองจะได้ท่องโลกกว้าง ณ อาณาจักรจินตนาการไปอย่างน่าเสียดาย ภาพเหตุการณ์คงกลับตาลปัตรกลายเป็นดังนี้
ภาพของฉันกำลังยืนถอนหายใจอยู่ในร้านหนังสือ ใช้เวลาคิดพิจารณาตัดสินใจว่า การเดินทางสู่ดินแดนแห่งนี้มีค่ามากพอแก่การหยิบธนบัตรสีม่วงในกระเป๋ามาจ่ายหรือไม่
เอาเถอะ เงิน 500 บาทเอาไปซื้อข้าวกินได้ตั้งหลายมื้อ ถึงอย่างไรอิ่มท้องก็สำคัญกว่าอิ่มใจ ฉันตอกย้ำความคิดของตัวเองอย่างหนักแน่นก่อนจะวางหนังสือเรื่องจินตนาการไม่รู้จบกลับลงบนชั้นวางด้วยสีหน้าหม่นหมอง แม้ว่าเบื้องลึกภายในสมองจะบอกว่าฉันทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็ตาม
จังหวะนั้นแหละ…
จังหวะที่ฉันวางหนังสือลงบนชั้นวาง จังหวะที่ฉันหันหลังให้ประตูวิเศษ มันเป็นจังหวะเดียวกับที่ฉันก้าวเท้าเข้าไปอยู่ในวังวนอุบาทว์ของราคาหนังสือแล้ว
การที่คนอ่านยอมปล่อยมือจากหนังสือเล่มที่อยากได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เปรียบเสมือนแรงสั่นสะเทือนที่กระทบต่อสำนักพิมพ์ผู้ผลิตหนังสือเล่มดังกล่าวขึ้นมาโดยตรง เพราะนั่นหมายความว่า…
หนังสือของเขาขายไม่ออก…
ความจริงที่ไม่มีเจ้าของสำนักพิมพ์คนใดอยากได้ยิน
หากหนังสือเรื่องดังกล่าวขายไม่ออก แสดงว่าโอกาสของการทำกำไรก็น้อยลงเรื่อยๆ หรือบางทีอาจถึงขั้นขาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนมากนัก การขายหนังสือไม่ออกสักเรื่องหนึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการมีโรคร้าย ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการรักษาด้วย ‘การขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า’ จากหนังสือปกใหม่หรือหนังสือออกใหม่เล่มต่อไป ก็จะทำให้บาดแผลนั้นลุกลามอย่างไร้จุดสิ้นสุด
แต่ในทางกลับกัน ถ้าหนังสือปกใหม่ของสำนักพิมพ์ทำยอดขายได้มากเพียงพอ ทางสำนักพิมพ์ก็จะสามารถนำรายได้และกำไรจากการขายหนังสือปกใหม่นั้นมา ‘โปะ’ ยอดติดลบของหนังสือเล่มเก่าที่ขายไม่ออกได้
ขายปกเดิมไม่ออก ขาดทุน ต้องพึ่งพาปกใหม่
ปกใหม่ขายดี ได้ไปต่อ
ปกใหม่ขายไม่ได้ ขาดทุนต่อ
อย่างไรก็ตาม การจะออกหนังสือปกใหม่นั้นไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด เพราะเมื่อทางสำนักพิมพ์มีรอยแผลจากความล้มเหลวในการขายหนังสือปกเดิมอยู่ พวกเขาต้องหาหนทางแก้ไขไม่ให้เกิดรอยซ้ำเดิม โดยวิธีหนึ่งที่อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดก็คือการลดจำนวนการผลิตหนังสือปกใหม่ลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขายหนังสือไม่หมดอีกครั้ง
ขายได้น้อย ก็ผลิตน้อย
ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดี ทว่าการตัดสินใจเช่นนี้ของทางสำนักพิมพ์ก็ส่งผลให้ราคาหนังสือต่อเล่มมีราคาสูงขึ้นตามกลไกของราคาค่าจัดพิมพ์ ที่จำนวนเล่มในการสั่งพิมพ์แปรผกผันต่อราคาการจัดพิมพ์
ยิ่งพิมพ์น้อย ราคาต่อเล่มจะยิ่งสูงขึ้น
ดังนั้น เมื่อราคาต่อเล่มสูงขึ้น ทางสำนักพิมพ์ก็จำเป็นต้องตั้งราคาขายหนังสือสูงขึ้นตามต้นทุนด้วย
เมื่อราคาในการผลิตต่อเล่มสูง ราคาขายจะยิ่งแพง
เมื่อราคาแพง คนอ่านก็ไม่ซื้อ
และเมื่อคนอ่านยอมตัดใจไม่ซื้อหนังสือเล่มที่ตัวเองชื่นชอบด้วยเหตุผลว่าราคาหนังสือแพงนั้นเปรียบเสมือนการสร้างบาดแผลให้กับสำนักพิมพ์… อีกครั้ง
แล้ววงจรนี้ก็จะหมุนเวียนต่อไปอย่างไม่รู้จบ
อันที่จริงแล้ว ปัญหาวงจรราคาหนังสือนี้เป็นเพียงปัญหาบนบานประตูเท่านั้น เพราะเมื่อใดที่เราก้าวเท้าข้ามประตูบานนี้เข้าไปด้านใน ดินแดนมหัศจรรย์ที่รออยู่อาจเป็นเพียงอาณาจักรรกร้างว่างเปล่าก็เป็นได้
พบกับปัญหาแรกของวงการหนังสือได้ในวันที่ 18 ตุลาคม
เจอกันวัน ‘โลกหน้า’