ArticlesSocietyWritings

บุหรี่ไฟฟ้ากับมารยาทที่หายไป: ทำไมเราถึงเจอคนสูบบุหรี่ (ไฟฟ้า) ในที่สาธารณะบ่อยขึ้น

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย

ช่วงสายวันงานมงคลวันหนึ่ง ในห้องประชุมใหญ่ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการรถสาธารณะ ในขณะที่ผู้คนทยอยออกไปทำบุญกันข้างนอก ตัวผมที่ยังคงนั่งอยู่ข้างในสัมผัสได้ถึงกลิ่นหวานแปลกๆ ในห้องประชุม

ผมหันไปพบกับบุหรี่ไฟฟ้าในมือของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งยืนสูบอย่างสบายใจต่อหน้าข้าราชการชั้นผู้น้อย ทุกคนปฏิบัติตัวราวกับทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ ยกเว้นแต่เพียงตัวผมที่นั่งสูดควันอยู่ข้างหลัง

เพราะความนิ่งเฉยของผู้คนหมู่มากในสถานการณ์นั้น สุดท้ายผมเองก็ได้เพียงแค่เก็บข้อข้องใจจำนวนมหาศาลและภาพความประทับใจนั้นไว้

ในกระแสสังคมปัจจุบัน แม้จะมีการถกเถียงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นโทษ การเปรียบเทียบผลข้างเคียง หรือแม้แต่สถานะทางกฎหมายของมัน ประเด็นเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกประเด็นหนึ่งที่ตีคู่ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพียงแต่อาจไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักและอาจกลายเป็นความชินชาไปแล้ว ก็คือการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ ‘สาธารณะ’

ปัญหาเรื่องการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่จริงแล้วก็เป็นปัญหาที่อยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่เกี่ยงว่าเป็นบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า แต่สำหรับผู้เขียน ปัญหาเหล่านี้ถูกพบบ่อยขึ้นนับตั้งแต่บุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายในประเทศไทย และด้วยประสบการณ์ส่วนตัว กลิ่นส่วนใหญ่ที่ลอยมาก็ไม่ใช่กลิ่นเหม็นไหม้แบบเดิม แต่เป็นกลิ่นหวานต่างๆ ที่บาดจมูกจนต้องหันไปมองต้นลม

หากมีใครสักคนจุดบุหรี่มวนขึ้นมาในห้องประชุมซึ่งเป็นสถานที่ปิด เชื่อว่าทุกคนคงมองด้วยชุดความคิดแบบเดียวกันว่า “ใครเขาสูบบุหรี่ในที่ปิดแบบนี้?” ทว่าเมื่อเปลี่ยนจากบุหรี่มวนเป็นบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะยังเป็นเหตุการณ์แบบเดิม แต่ผลลัพธ์กลับต่างไป ทั้งที่จริงๆ แล้ว บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้สร้างโทษให้คนรอบข้างน้อยไปกว่าบุหรี่มวนเลย

แล้วทำไมผู้คนบางส่วนถึงสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างไม่รู้สึกผิดนะ…?

ไม่มีการเผาไหม้ (แต่ยังมีไอระเหยนะ)

มองอย่างผิวเผินที่สุด สิ่งที่น่าจะทำให้ผู้คนกล้าสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ปิดได้ก็คงเป็นเพราะมันไม่มีควัน แต่ถูกเรียกว่าไอน้ำ

ข้อแตกต่างที่ชัดที่สุดระหว่างบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนคือ บุหรี่มวนนั้นมีการเผาไหม้ด้วยไฟจริงๆ แต่บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีการเผาไหม้ เนื่องจากเมื่อสูบเข้าไป ระบบการทำงานจะเป็นการให้ความร้อนกับน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่ผู้สูบใส่ไว้ และเมื่อร้อน น้ำยาบุหรี่ก็จะกลายเป็นไอน้ำที่ผู้สูบพ่นออกมานั่นเอง

ด้วยเซนส์นี้ จึงมีชุดความเข้าใจที่ผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีควันพิษออกมาโดยชัดเจน จึงสูบที่ไหนก็ได้ ต่างกับการสูบบุหรี่มวนที่สามารถเข้าใจได้ว่าต้องทำในที่โล่งแจ้ง ไม่งั้นก็คงไม่ต่างจากการรมควันตัวเองเท่าไร

บุหรี่ไฟฟ้า ที่แม้จะบอกว่ามันไม่ใช่ควันพิษโดยชัดเจน หากแต่เป็น ‘ไอน้ำ’ ที่ฟังดูอันตรายน้อยกว่า แต่ในไอน้ำที่เห็นนั้น มันมีแค่ไอน้ำธรรมดา ไม่มีอะไรเจือปนอยู่จริงหรือ?

ในเว็บไซต์ร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าแห่งหนึ่งได้ระบุไว้ว่า “แม้ลักษณะของควันจากบุหรี่ไฟฟ้าพอตอาจดูเหมือน ‘กลุ่มไอน้ำ’ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากควันที่ออกจากเครื่องบุหรี่ไฟฟ้านั้นคือ ‘ละอองหรือหมอกทางเคมี’ ที่มีอนุภาคขนาดเล็กของนิโคติน โลหะ และสารอันตรายที่ผสมผสานอยู่ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าสกัดเข้มข้นแทนที่”

เมื่อแม้แต่ร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าเองยังมีงานเขียนที่บ่งบอกถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ก็คงหมายความว่ามันเองก็ไม่ได้ปลอดภัยขนาดนั้น

เข้าใจผิด คิดว่าไม่มีภัย

หมอกทางเคมีจากประเด็นก่อนหน้าได้นำมาสู่คำถามข้อต่อไปว่า สิ่งที่เหมือนกลุ่มไอน้ำนั้นให้โทษอะไรกับผู้คนรอบข้างบ้าง?

หากบุหรี่มวนมีใบยาสูบเป็นหัวใจหลัก หัวใจหลักของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีหลากรูปแบบให้เลือก และมีผลต่อกลิ่นบาดจมูกนี้ก็คือ น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า

ข้อมูลทั้งจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เช่น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบ 3 อย่างหลักๆ ด้วยกันได้แก่ นิโคติน โพรไพลีนไกลคอล กลีเซอรีน สารแต่งกลิ่น

นอกจากนี้ยังมีสารอื่นๆ ประกอบอยู่ด้วยเช่น สารหนู โลหะหนัก เบนซีน

ส่วนประกอบอย่างแรกคือสารอันเป็นหัวใจสำคัญของบุหรี่อย่าง นิโคติน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเสพติดหลังจากได้รับสาร

ต่อมาคือ โพรไพลีนและกลีเซอรีน ทั้งคู่เป็นของเหลวหนืดที่ถูกผสมกันเพื่อสร้างไอระเหยที่พ่นออกมาจากบุหรี่ไฟฟ้า แม้เมื่อสัมผัสตัวสารไปจะไม่มีผลกระทบอะไร แต่เมื่อถูกใช้ร่วมกันจะทำให้เกิดอาการไอ หลอดลมตีบ

สิ่งสำคัญสิ่งสุดท้ายที่ถูกใช้คือ สารแต่งกลิ่น แบบเดียวกับที่ใช้ในอาหารทั่วไป สารนี้จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นรสที่แตกต่างกัน

ส่วนกลุ่มไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้า หรือไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้านั้น พบว่ามีขนาดเล็กกว่าควันบุหรี่มวน รวมถึงยังเล็กกว่าควันฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลให้สามารถเข้าไปในปอดได้ลึกกว่าจนมันเข้าไปจับกับเนื้อเยื่อปอด นำไปสู่การซึมเข้ากระแสเลือดได้เร็วและทำให้ระบบการทำงานของหัวใจและปอดแย่ลงจนอาจเสียชีวิตไวขึ้นได้

เมื่อปี 2565 มีการตีพิมพ์ผลวิจัยจากสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับผลสำรวจการติดตามนักเรียนมัธยมปลายที่ได้รับไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าจากคนในบ้านหลังเดียวกันตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2562 ค้นพบว่าคนกลุ่มนี้มีอาการหลอดเลือดอักเสบเพิ่มขึ้นและมีอาการหายใจลำบากขึ้น

จะเห็นได้ว่าแม้บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่สร้างควันเหมือนกับบุหรี่มวน แต่ก็ยังมีผลแทรกซ้อนอื่นอยู่ทั้งขนาดที่เล็กกว่าจนสามารถเข้าไปในร่างกายได้ลึกกว่า และต่อให้ผู้สูดไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าอาจไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงโรคบางโรคที่ผู้สูบอย่างเช่น โรคปอดอักเสบรุนแรงที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า (E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury : EVALI) แต่ในประเด็นเรื่องควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสองนั้น ผู้สูดก็ยังต้องรับความเสี่ยงเผชิญปัญหาสุขภาพทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเหมือนกับควันบุหรี่มือสองอยู่ดี

สาธารณะที่ไม่ได้แปลว่าจะทำอะไรก็ได้

ประเด็นสำคัญนอกจากผลกระทบต่อสุขภาพ ก็คือความรับผิดชอบต่อส่วนรวมของผู้สูบ

คำว่าสาธารณะในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ระบุความหมายไว้ว่า ‘สาธารณะ  ว. เพื่อประชาชนทั่วไป เช่น สวนสาธารณะ โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ, ทั่วไป’

อันที่จริง ปัญหาเรื่องการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคม แต่สามารถพบเห็นได้ตั้งแต่ในช่วงที่ยังมีแค่บุหรี่มวน อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของผู้เขียนกลับรู้สึกว่าในปัจจุบันมีปัญหานี้มากขึ้น และมักเกิดขึ้นกับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าผู้สูบบุหรี่มวนเสียอีก

หลายครั้งที่เดินอยู่บนท้องถนน เมื่อเจอผู้สูบบุหรี่มวน เขาอาจมีท่าทีที่หลบซ่อนและปลีกตัวออกจากผู้อื่น แต่กลับกัน ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าบางคนไม่ได้มีท่าทีเหล่านั้น แต่กลับสูบอย่างเปิดเผยแม้ตรงนั้นจะเป็นที่สาธารณะและมีคนอื่นอยู่รอบข้าง จากประสบการณ์เคยพบตั้งแต่คนที่นั่งรอรถที่ป้ายรถเมล์จนถึงวิทยากรที่มา Workshop ในกิจกรรมให้อาจารย์แต่กลับสูบบุหรี่และพ่นควันใส่หน้านักศึกษากลางคณะ

แล้วแบบนี้ คนเหล่านั้นรู้ตัวหรือไม่ว่านอกจากพวกเขาจะกำลังทำร้ายคนอื่นทางอ้อมอยู่แล้ว เขาก็กำลังทำผิดกฎหมายอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม บางครั้งคำว่าสาธารณะก็ถูกนำมาอ้างจากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ในการสูบเช่นกันในฐานะที่ผู้สูบก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่านั่นเองไม่ได้ช่วยเพิ่มความบริสุทธิ์ให้ผู้ที่ใช้ข้ออ้างนี้เลย

ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 ได้ระบุถึงสถานที่สาธารณะที่มีการกำหนดให้เป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ด้วยหลายแห่งเช่น อาคารจอดรถ (ข้อ 4.3.2.6) รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถสามล้อรับจ้างหรือรถตุ๊กตุ๊ก (ข้อ 4.4.1.3) แม้กระทั่งป้ายรถเมล์ (ข้อ 4.4.2.2) ซึ่งตัวอย่างที่ยกมานั้นล้วนเป็นสถานที่ที่สามารถพบคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้เป็นประจำในโลกแห่งความจริง

จริงๆ มันผิดกฎหมายด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว

มาถึงตรงนี้ก็ยังคงมีอีกข้ออ้างหนึ่งที่ผู้เขียนเคยได้ยิน นั่นก็คือ “ก็สูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่บุหรี่มวน”

ก็คงถูกต้องที่มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ต่อให้อ้างเหตุผลนี้ออกมา สุดท้ายก็คงต้องกลับไปที่กฎหมายของบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรงซึ่งมัดตัวผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าได้แน่นที่สุด (แม้หน้างานจริงจะถูกละเลยจนลืมก็ตาม)

ในปัจจุบันที่บุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายอย่างรวดเร็วและพบเห็นได้ทั่วไปอย่างเปิดเผยจนลืมตัว สิ่งหนึ่งที่ยังคงประจักษ์อยู่ก็คือกฎหมายประเทศไทยที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้น ‘ผิดกฎหมายอย่างกำกวม’

ที่ต้องบอกว่าผิดกฎหมายอย่างกำกวมนั้นเป็นเพราะว่าในปัจจุบัน ไม่มีข้อกฎหมายข้อใดที่ระบุให้การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้านั้นถือเป็นความผิดโดยตรง แต่ในขณะเดียวกันยังคงมีข้อกฎหมายข้ออื่นที่ระบุความผิดอื่นซึ่งอาจถูกนำมาใช้เอาผิดผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าได้จากพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 246

ที่ระบุว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ ซึ่งของที่รู้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 242 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ส่วนมาตรา 242 ที่ถูกยกขึ้นมานั้นระบุว่า “ผู้ใดนําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร มีโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ริบของนั้นทันที

สรุปแล้ว ในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นสิ่งของห้ามนำเข้าในประเทศไทยอยู่ ความผิดจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อผู้สูบได้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว หากผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างตำรวจมีความจริงจังมากขึ้น การใช้หรือมีบุหรี่ไฟฟ้าอยู่กับตัวในประเทศไทยจะไม่เหลือโอกาสอะไรให้หลบเลี่ยงความผิดได้เลย

เพราะเป็นเด็ก จึงถูกหลอก?

ความตระหนักรู้ถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้ารวมถึงความไม่เข้าใจในสถานที่สาธารณะก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ แต่เมื่อย้อนคิดดูอีกครั้ง กลุ่มตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันก็อาจมีผลให้เกิดการกระทำเหล่านั้นมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันปัญหาหนึ่งของบุหรี่ไฟฟ้าคือการเจาะกลุ่มตลาดที่อายุน้อยลง ทำให้สามารถพบเห็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นเยาวชนได้มากขึ้น สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่ภายนอกดูเป็นมิตรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสีที่ดูสดใสขึ้น ลายการ์ตูนที่ดูอ่อนโยน ไปจนถึงเรื่องกลิ่นที่ไม่ได้เหม็นเหมือนบุหรี่มวน

นอกจากนี้ แม้หัวข้อก่อนหน้าจะระบุว่าในปัจจุบันการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมายประเทศไทย หรือต่อให้มันถูกกฎหมายเหมือนกับบุหรี่มวน เยาวชนก็ยังเป็นบุคคลกลุ่มที่อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์พอที่จะซื้อบุหรี่มวนได้อยู่ดี แต่ในความเป็นจริง คงยากที่จะปฏิเสธว่าตอนนี้บุหรี่ไฟฟ้ากลับสามารถซื้อขายได้อย่างง่ายดายในแอปพลิเคชันขายของออนไลน์ อีกทั้งมีราคาที่ถูกจนไม่น่าเชื่อจนเราก็เห็นโพสต์คนทำท่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้ค่านิยมของบุหรี่ไฟฟ้าถูกมองในด้านดีขึ้นไปโดยปริยาย

ประเด็นดังกล่าวยังไม่รวมถึงค่านิยมในช่วงเวลาหนึ่งที่เคยมีการมองว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน โดยมีผลวิจัยมารองรับ แม้สุดท้ายผลวิจัยเหล่านั้นจะถูกยอมรับว่าผู้วิจัยมีอคติและผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้งานวิจัยเหล่านั้นไม่ถูกยอมรับในวงการวิชาการอีก แต่ถึงจะมีการแก้ข่าวว่าผลวิจัยจะเชื่อถือไม่ได้ แต่ผู้รับสารเองก็ได้ซึมซับความรู้ชุดเดิมที่ไม่ถูกแก้ไขไปแล้ว

สุดท้าย เมื่อบุหรี่ไฟฟ้ามีภายนอกที่ดูสดใสขึ้นและสามารถเข้าถึงได้ง่ายแค่การกดหน้าจอไม่กี่ครั้ง ก็ไม่แปลกนักที่เยาวชนจะเอื้อมถึงยาเสพติดชิ้นนี้ได้และกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ผิดกับข้อมูลโทษของบุหรี่ไฟฟ้าที่อาจจะไม่เคยถูกอัลกอริทึมเลือกให้ไปอยู่ในหน้า Feed ในโลกโซเชียลของพวกเขาเลยด้วยซ้ำ

.

จริงอยู่ที่บางครั้งจำเป็นต้องยกเรื่องกฎหมายมาอ้างอิงเมื่อมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ตราบใดที่ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้มีจุดยืนที่อยากให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด ผู้เขียนมองว่าในปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าในต่างประเทศบางแห่งเองก็เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเหมือนกับบุหรี่มวน และในปัจจุบันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงแม้ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามันยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังต้องพึ่งพาอยู่รวมถึงภาครัฐเองก็มีรายได้จากภาษีบุหรี่เช่นกัน

แม้จากประสบการณ์ส่วนตัวผู้เขียนจะพบผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะมากกว่าบุหรี่มวนแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผู้ที่สูบบุหรี่มวนในที่สาธารณะเลย ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่จะแก้ไขได้ตรงประเด็นจริงๆ นอกจากการรณรงค์อย่างในปัจจุบัน คือการใช้กฎหมายจับกุมผู้สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะที่ห้ามสูบอย่างจริงจัง มากกว่าการปล่อยให้ผู้สูบเคยชินกับการทำผิดกฎหมายจนอาจลืมตัว (และบางครั้งตำรวจก็อาจเป็นผู้กระทำเองเสียด้วยซ้ำ) และเข้มงวดตรวจสอบช่องทางซื้อขายออนไลน์มากขึ้นเพื่อลดโอกาสเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน รวมถึงภาคประชาชนเองก็ไม่ควรนิ่งเฉยต่อผู้ที่กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นทางอ้อมเหล่านั้นเช่นกัน

อ้างอิง

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (2563). กลยุทธ์การตลาดบุหรี่ ไล่ล่าวัยรุ่นเป็นฐานลูกค้าใหม่.
https://www.ashthailand.or.th/news/detail/576/07/3

ราชกิจจานุเบกษา (2561). ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561.
http://www.rh12.moph.go.th/wp-content/uploads/2019/03/2019-03-11.340-แจ้งการมีผลบังคับใช้-ประกาศกระทรวงสาธาร.pdf

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (2566). บุหรี่ไฟฟ้า อันตราย..แม้ไร้ควัน.

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/electronic-cigarettes-are-dangerous-even-though-they-are-smokeless/

โรงพยาบาลกรุงเทพ (ม.ป.ป.). บุหรี่ไฟฟ้า (ELECTRIC CIGARETTE).
https://www.bangkokhospital.com/content/electric-cigarette

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (2566). งานวิจัยจากประเทศอังกฤษ จะสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่างานวิจัยจากประเทศอื่น 2 เท่า.

https://www.trc.or.th/th/ข่าวสาร/ข่าวเผยแพร่/press-release-ศจย/750-งานวิจัยจากประเทศอังกฤษ-จะสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่างานวิจัยจากประเทศอื่น-2-เท่า.html

สำนักข่าว Hfocus (2565). งานวิจัยอเมริกา เผย สูดควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสองเสี่ยงหลอดลมอักเสบเพิ่มถึง 3 เท่า.
https://www.hfocus.org/content/2022/01/24167

สำนักข่าว Hfocus (2567). หมออดิศักดิ์ ชี้ไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง อันตรายต่อปอด หัวใจ และสมองเด็ก
https://www.hfocus.org/content/2024/08/31312

BBC News ไทย (2566). ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าตำรวจไทยเจอต้องทำอย่างไร.
https://www.bbc.com/thai/articles/cz90py4lj61o

Pod Samurai (2566). ความอันตรายของพอต (Pod) และวิธีเลิกสูบ.
https://podsamurai.shop/พอตอันตรายไหม/

Pod Samurai (2566). รวมกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า (พร้อมคำพิพากษา).
https://podsamurai.shop/กฎหมาย-บุหรี่ไฟฟ้า/

The Coverage (2567). ไขปม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ กับปริศนาทางออก แม้มีกฎหมายคุมเข้ม ทำไมการระบาดกลับเข้มยิ่งกว่า.
https://www.thecoverage.info/news/content/6898

The MATTER (2565). ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย? ทำความเข้าใจกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในไทย.
https://thematter.co/quick-bite/electric-cigarette-law/173321

The MATTER (2566). พอดของเล่น เมื่อบุหรี่ไฟฟ้ากำลังตีตลาดเยาวชนด้วยความน่ารัก สรุปเสวนา ‘การตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า’.
https://thematter.co/brief/210504/210504

Thorax (2564). Secondhand nicotine vaping at home and respiratory symptoms in young adults.
https://thorax.bmj.com/content/77/7/663

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
3
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Articles

Articles

ลอยกระทงถึงไม่ได้อะไร แต่ฉันก็ยังอยากลอยอยู่ดี

เรื่องและภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง “วันเพ็ญเดือน 12 น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง…” เพลงคุ้นหูที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่จำความได้ จะทีวีหรือวิทยุทำนองก็เล่นซ้ำวนไปไม่อาจหลีกหนี ฉันจำได้เสมอเมื่อวันนี้เวียนมาถึง แม่ของฉันจะมีกิจวัตรที่เธอทำอยู่ทุกปี ...

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

Articles

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save