FeaturesSocietyWritings

AD เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดในสื่อไทย มาไกลพอแล้วหรือยัง ?

เขียน : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร

ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ

หากลองหลับตาดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง สิ่งที่เห็นตรงหน้าตรงหน้าคงเป็นสีดำ มืดสนิท ได้ยินเพียงเสียงตัวละครพูดคุยกัน แต่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักแสดงบนจอกำลังแสดงสีหน้า ขยับตัวยังไง หรือกำลังจะเกิดอะไรในช่วงไคลแม็กซ์

นั่นทำให้ฉันที่ใช้การดูหนังเพื่อผ่อนคลายอยู่บ่อยๆ สงสัยว่า คนตาบอดเขาดูหนังกันอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่านางเอกทำหน้าแบบไหนตอนพระเอกคุกเข่าขอแต่งงาน จะร้องไห้ไหมหากหมาที่แอบวิ่งตามคนร้ายถูกรถชน กระทั่งจะตามทันเนื้อเรื่องในหนังที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร

ฉันจึงตัดสินใจไปพูดคุยกับหลายคนเพื่อหาคำตอบ

ประสบการณ์ดูหนังของคนตาบอด

‘เฟิร์ส’ กีรติ ยั่งยืน ชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการจัดการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาพิการทางการเห็น ซึ่งจอประสาทตาเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เล่าประสบการณ์การดูหนังในโลกของเขาให้ฟัง ทำให้ฉันเข้าใจมากขึ้นว่าสำหรับคนตาบอดนั้น นอกจากวิธีการดูหนังที่ต่างกันแล้ว การจะเข้าถึงสื่อบันเทิงได้นั้น ช่างมีเงื่อนไขมากมายที่คนทั่วไปอาจนึกไม่ถึง

ในตอนเด็ก ความบันเทิงหลักของเฟิร์ส คือการโทรผ่านสายด่วน 1414 ของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยไป ‘ฟัง’ นิยาย ซึ่งมีมากมายหลายหมวด ทั้งประวัติศาสตร์ ภาษา ปรัชญา และศาสนา นอกจากนั้น เขายังได้ฟังหนังและการ์ตูนผ่านโทรทัศน์บ้างตามประสาเด็ก

“ส่วนใหญ่ที่เข้าถึงได้มากที่สุดจะเป็นนิยาย เว็บไซต์เด็กดีอย่างนี้ คืออะไรก็ได้ แค่เป็นนิยาย เพราะมันไม่มีภาพ เป็นตัวอักษรให้เราจินตนาการ คนตาบอดส่วนใหญ่ค่อนข้างแฮปปี้กับการฟังนิยาย”

แต่ในปัจจุบัน เฟิร์สบอกว่าเขามี AD เป็นตัวช่วย “เดี๋ยวนี้ดูหนังมันมี AD (Audio Description หรือ เสียงบรรยายภาพ) เข้ามาเพิ่มการบรรยายแล้ว แต่ไม่ได้มีทุกเรื่อง บางเรื่องที่ยังไม่มี ก็อาศัยการฟังจากบทสนทนา แล้วคาดเดาว่ามันจะไปยังไงต่อ แต่บางฉาก อย่างในหนังแอคชั่น หรือช่วงที่มีเพลงประกอบนานๆ ก็จะไม่เข้าใจนัก” เฟิร์สบอก

เสียงบรรยายภาพทำให้นักศึกษาคนนี้ฟังหนังรู้เรื่องมากกว่าเดิม “อาจจะไม่ได้บรรยายแบบ…ชายคนหนึ่งเดินมา ใส่สูทสีขาว กระดุมสีดำ รองเท้าหนัง ขนาดนั้น แต่มันพอทำให้เรารู้ว่าตัวละครมีบุคลิกยังไง มีข้อมูลที่เพียงพอให้เราดูหนังเข้าใจแล้ว”

(รุจน์มองฟ้าลั่น พยักหน้า สีหน้าเห็นใจ)

ขอบคุณภาพจาก ThaiPBS

เพราะเฟิร์สเป็นเด็กกิจกรรม จึงไม่ได้ดูหนังบ่อย จะเลือกดูแค่เรื่องที่เป็นกระแสหรือสนใจจริงๆ อย่างเรื่องล่าสุดคือ ‘ธี่หยด 2’ ซึ่งยังไม่มีเสียงบรรยายภาพให้กับคนตาบอด


“ปัญหาอย่างหนึ่งตอนดูแบบไม่มีคำอธิบายคือ ตอนที่ตัวละครพูดแรกๆ ก็ต้องจำให้ได้ว่านี่คือเสียงใคร เพื่อที่ว่ารอบต่อไปที่เขาพูดจะได้แบบ อ๋อ โอเค” ส่วนใหญ่เขาจึงเลือกรับชมหนังที่สร้างมาจากนิยาย จึงพอจะรู้เนื้อเรื่องมาก่อน แต่ถ้าดูแล้วยังไม่เข้าใจก็จะฟังสปอยล์โดยให้โทรศัพท์อ่านให้ฟัง

สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เสียงบรรยายภาพ หรือ Audio Description (AD) ที่เฟิร์สกล่าวถึง คือเสียงบรรยายที่เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อบรรยายรายละเอียดที่สำคัญของภาพ โดยจะเพิ่มการบรรยายเสียงในช่วงที่ไม่มีการสนทนา เช่น บรรยายการแสดงอากัปกิริยา สีหน้า การเคลื่อนย้ายวัตถุ รวมถึงบรรยากาศโดยรอบ ที่คนพิการทางสายตาอาจไม่เข้าใจด้วยบทบรรยายปกติ

ตัวอย่าง Audio Description

ขอบคุณคลิปจาก ThaiPBS

บริการเสียงบรรยายภาพนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

Audio Description ในประเทศไทย

เพื่อให้เข้าใจ AD มากขึ้น ฉันจึงไปขอความรู้จาก กุลนารี เสือโรจน์ หรือ ‘อาจารย์บ๊วย’ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องสื่อเพื่อคนพิการ

อาจารย์เล่าว่า บริการเพื่อการเข้าถึงสื่อสำหรับคนพิการนั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนพิการทางการมองเห็น มีเสียงบรรยายภาพ (AD) และสำหรับกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน มี ล่ามภาษามือ (Sign Language) และคำบรรยายแทนเสียง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ  Open Caption (OC) และ Close Caption (CC) โดยการทำงานของ OC และ CC คล้ายคลึงกัน คือเป็นคำบรรยายที่รวมเสียงพูด และเสียงประกอบในสื่อ ต่างกันตรงที่ CC สามารถซ่อนแล้วเลือกเปิด-ปิดตอนใช้งานได้ ส่วน OC คำบรรยายจะติดมากับตัวเนื้อหาเลย เผื่อเครื่องเล่นของผู้รับสารไม่มีฟังก์ชันแสดง

ส่วน subtitle หรือ ซับไตเติล ที่หลายคนคงรู้จักกันนั้นเป็นการแปลงเสียงจากวิดีโอมาเป็นข้อความ  เพื่อบรรยายคำพูดของตัวละคร โดยออกมาเป็นข้อความตรงกับเสียงที่พูดทุกคำ ซึ่ง CC และ OC ต่างกับซับไตเติลตรงที่ แม้จะถอดข้อความมาเช่นเดียวกัน แต่มีการบรรยายถึงสิ่งที่ไม่ใช่คำพูดแต่มีความสำคัญต่อเนื้อหาอื่นเข้ามาด้วย เช่น เสียงดนตรี เสียงปืน เสียงหัวเราะ เสียงปรบมือ ซึ่งสามารถช่วยให้คนพิการเข้าใจมากกว่าเดิม

ในส่วนของบริการเพื่อผู้พิการทางการเห็น อย่าง AD หรือ Audio Discription นั้น อาจารย์บ๊วยอธิบายว่า ในประเทศไทยได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี 2556-2557 เนื่องจาก พระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ปี 2551 กำหนดให้คนทุกกลุ่มต้องสามารถเข้าถึงสื่อได้ ดังนั้น ในปี 2559 กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) จึงเตรียมที่จะออกประกาศเรื่อง ‘การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์’ ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ต้องให้บริการ AD ในรายการประเภทข่าวสารและสาระประโยชน์ แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีการประกาศใช้จริง เพราะในช่วงก่อนหน้านั้นไม่มีองค์ความรู้เรื่องนี้ในไทยเลย ในปี 2561 กสทช. จึงประกาศเลื่อนการบังคับใช้ออกไป ส่งผลให้บริการเพียงอย่างเดียวที่คนพิการและคนทั่วไปรู้จักและเข้าถึงได้จึงมีแค่ภาษามือเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้น กสทช. ก็พัฒนาคำบรรยายแทนเสียง (OC และ CC) กับเสียงคำบรรยายภาพ (AD) มาโดยตลอด โดยได้ประสานกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทำเป็นคู่มือเพื่ออบรมทางสถานีโทรทัศน์ให้เข้าใจและสามารถผลิตบริการเพื่อคนพิการเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง

“มธ. เป็นตัวนำร่องในการทดลองผลิต AD ก่อน หลังจากนั้นสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ต้องกลับไปทำเอง” อาจารย์เล่า 

ในปี 2563 กสทช. ออกประกาศฉบับที่ 3 ซึ่งกำหนดให้ทุกสถานีต้องจัดให้มีบริการล่ามภาษามือ คำบรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายภาพ ในเวลาออกอากาศรวมกันอย่างน้อยวันละ 60 นาที “เมื่อเทียบสัดส่วน 1 ชั่วโมงต่อ 1 วันถือว่าน้อยมาก แล้วเวลาที่ (ช่องโทรทัศน์) จัดฉายคือหลังเที่ยงคืน คนเขาหลับกันหมดแล้ว”

อาจารย์บ๊วยบอกว่า คนพิการรับชมภาพยนตร์ทางสตรีมมิ่งอื่น เช่น Netflix อยู่บ้างแล้ว เพราะต้องการดูรายการที่ทันสมัย แต่สื่อหลักกลับฉายซ้ำแต่รายการเดิมและฉายในเวลาหลังเที่ยงคืน “ปัญหามันก็งูกินหาง เพราะมันไม่ควรคิดว่าทำไปแล้วไม่มีคนใช้ พอไม่มีคนใช้ ก็ไม่ทำ แต่มันควรจะคิดว่าทำอย่างไรให้คนรับรู้” อาจารย์บ๊วยบอก

คนทั่วไปสามารถรับชมโทรทัศน์ได้ทุกรายการในทุกเวลา แต่สำหรับคนพิการที่ต้องการประสบการณ์รับข้อมูล ทั้งข่าวสารและความบันเทิงที่สมบูรณ์แล้ว เขาจะได้รับแค่ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น

อาจารย์บอกว่า AD ในไทยมีข้อจำกัดหลายแง่มุม สิ่งแรกคือ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการผลิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญจากมุมมองของผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์ เนื่องจากการทำ AD มีหลายขั้นตอนในการผลิต ทั้งกระบวนการก่อนผลิต การเขียนบท การออกแบบเสียง การบรรยายเสียงลงในงาน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างมาก อีกทั้งยังมีการตรวจสอบงานหลังจากการบันทึกเสียง ซึ่งต้องส่งให้คนตาบอดส่งประเมินกลับมา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการทางการเห็น 

เบื้องหลังการผลิต Audio Description

ขอบคุณคลิปจาก ThaiPBS

“ที่อังกฤษ มีบริษัท (ที่รับผลิต) AD ของเอกชนจำนวนมาก องค์ความรู้มันเลยกระจาย เท่ากับว่าเรามีตัวเลือกเยอะ ราคามันก็ต่ำลงในท้องตลาด แต่ของไทย คนที่มีองค์ความรู้เรื่องนี้ ทำสิ่งเหล่านี้ได้แบบถูกต้องมีน้อย”

นอกจากนี้ เมื่อกสทช. มีมาตรฐานที่กำหนดไว้ ผู้ผลิตต้องส่งตรวจคุณภาพทุกชิ้นงาน และต้องสรุปผลคุณภาพในช่วงปลายปี จึงต้องทำตามเกณฑ์ที่กำหนด หากองค์กรไม่ได้ตั้งแผนกภายในบริษัทเพื่อผลิต AD เอง ค่าใช้จ่ายที่ไปจ้างบริษัทภายนอกผลิตให้ก็จะสูงมาก ตามหลักอุปสงค์ อุปทาน

ทั้งนี้ แม้จะมีพ.ร.บ. ออกมาให้สถานีผลิตสื่อที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ ทว่ากสทช. ยังคงไม่มีนโยบายสนับสนุนเงินทุนในการสร้างสื่อเหล่านั้น ผู้ประกอบการจึงได้ออกมาเรียกร้องให้กสทช.ให้เงินสนับสนุน แต่กสทช. กลับแก้ไขด้วยการกำหนดจำนวนชั่วโมงการฉายสื่อที่ผู้พิการสามารถเข้าถึง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถลดกำลังการผลิตแทน คือขั้นต่ำแค่ 1 ชั่วโมงต่อวันแทน

นอกจากภาครัฐ การตระหนักรู้หรือทัศนคติของผู้ประกอบการ ในเรื่องการให้ความสำคัญต่อคนพิการก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน “ถ้าเราไม่ตระหนักว่ามันสำคัญ เราก็ทำแค่ตามกฎหมายกำหนด แต่ถ้าเรามองว่ามันสำคัญ เราก็อาจจะทำมากขึ้น ไม่ได้มองว่ามันคือค่าใช้จ่ายส่วนเกิน”

เพราะในฐานะผู้ผลิต อาจารย์บอกว่า “ต้องตระหนักว่าผู้รับสารไม่ได้มีแค่คนที่คุณมองว่าเป็น ‘ลูกค้า’ ที่จะลงทุนโฆษณาอย่างเดียว แต่ควรจะมองทุกคนในฐานะ ‘พลเมือง’ ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข่าวสารข้อมูลเหมือนคนทั่วไป” 

นอกจากนี้ อาจารย์บอกว่า ประเทศไทยยังเป็นมือใหม่ในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตสื่อเพื่อคนพิการ “ที่ไทยทำมาเกือบ 10 ปี เราทำด้วยแรงงานคนหมดเลย” ขณะที่ในต่างประเทศมีเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้การใส่เสียงบรรยายภาพอัตโนมัติทำให้การผลิตสะดวกขึ้น “ตอนเราไปดูงานที่นิวซีแลนด์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ใช้เทคโนโลยีมานานแล้ว หรือตอนที่เราไปเรียนต่อที่อังกฤษ ก็เห็นว่ามีการเอาเทคโนโลยีมาใช้ผสมกับคน”

ในไทยเพิ่งจะเริ่มมีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยในการเขียนบทเสียงบรรยายภาพ คือ  ‘โวหาร’ โดยบริษัทกล่องดินสอ องค์กรที่มีเป้าหมายหลักในการทำให้คนพิการได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ‘มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม’ ที่ได้รับทุนในการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ถึงอย่างนั้น แอปโวหารก็ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย และยังไม่ได้ปล่อยไปในตลาด เพราะต้องใช้เวลาอย่างมากในการทดลองและพัฒนา “เราได้คุยกับมูลนิธิด้วยกันฯ และ สสส. ว่าจะมีการจัดฝึกอบรม ก็อยากจะให้แอปตัวนี้มาช่วยซัพพอร์ต ให้แอปกับคนช่วยกันเขียน และสอนคนให้รู้จักแอปไปด้วย พอแอปพร้อม คนพร้อม มันน่าจะช่วยเพิ่มปริมาณ AD ในท้องตลาดมากขึ้น” อาจารย์กล่าว พร้อมบอกว่า แม้จะยังไม่สมบูรณ์และจะต้องเรียนรู้และพัฒนาไปอีก แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เริ่มมีการพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว และน่าจะเป็นทางออกหนึ่งสำหรับการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการผลิต AD ในอนาคต

AD กับสื่อบันเทิงไทย

“(สื่อสำหรับคนพิการ) ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันมีแค่ล่ามภาษามือในข่าวหรือในสารคดี เพราะ AD ยังใหม่กว่ามากในแง่ขององค์ความรู้” อาจารย์เล่าว่า โควตา 1 ชั่วโมงนี้มักจะถูกใช้ไปกับรายการข่าว สารคดี และรายการธรรมะ เพราะผู้ประกอบการมองว่าเป็นสาระที่ควรรู้ ขณะที่รายการบันเทิงจะไม่ค่อยมีบริการเสียงบรรยายภาพ ส่วนมากเป็นคำบรรยายแทนเสียงมากกว่า “บางทีกฎหมายกำหนดให้รีรันได้ ก็เอารายการเดิมมาทำ AD แล้วก็ออกอากาศวนจนครบเวลาที่กำหนด” อาจารย์กล่าว

นอกจากนี้ อาจารย์ยังมองว่ากฎหมายที่ประกาศโดยกสทช. อาจจะตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน เพราะพฤติกรรมของคนพิการในยุคสื่อใหม่ไม่ค่อยได้รับชมโทรทัศน์แล้ว และหันมาเสพสื่อทางออนไลน์หรือสตรีมมิ่งมากขึ้น แต่กสทช. ตอนนี้ยังกำกับดูแลอยู่แค่รายการที่ออกอากาศอยู่ในสื่อดั้งเดิม ไม่ได้ควบคุมไปถึงสื่อออนไลน์

แต่เพราะคนพิการทางการมองเห็นก็ต้องการความบันเทิงในชีวิต นอกเหนือจากแค่ข้อมูลข่าวสาร เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไป มูลนิธิด้วยกันฯ จึงได้พัฒนาแอปชื่อ ‘พรรณนา’ แอปที่คนตาบอดสามารถดูหนังได้พร้อมเสียงบรรยายภาพผ่านมือถือขึ้น โดยทางมูลนิธิไปประสานกับค่ายหนังอาทิ GDH และอีกหลายค่าย เพื่อขอลิขสิทธิ์มาผลิตเสียงบรรยายภาพ และยังทำ AD สำหรับให้คนตาบอดรับชมในโรงหนัง ซึ่งนี่ก็ช่วยให้คนตาบอดสามารถรับชมภาพยนตร์ได้อย่างมีอรรถรสขึ้น “ปัจจุบันที่มี AD เข้ามามันก็ทำให้คนตาบอดที่ชอบดูหนัง ดูละคร ได้ดูเหมือนกับคนอื่นๆ ได้มีความบันเทิงจริงๆ”

(Pannana)

ทั้งนี้ แอปพรรณนาก็ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากหนังในแอปไม่ได้มีให้เลือกเยอะ และแม้มูลนิธิจะขอลิขสิทธิ์ไปยังบางรายการทีวี แต่สถานีโทรทัศน์บางช่องยังคงกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ จึงมีไม่กี่ช่องที่เข้ามาสนับสนุน 

ทำอย่างไรให้เกิดการรับรู้ถึงการมีอยู่ของ AD

ถึงแม้ในไทยจะมีการพัฒนา AD มาเกือบ 10 ปี แต่สิ่งที่ทำให้ยังไม่เคลื่อนที่ไปข้างหน้ามากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดการตระหนักรู้ของคนในทุกภาคส่วน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนควรเรียกร้องเพื่อสิทธิ์ที่ทุกคนพึงมี เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งสิ่งบันเทิงได้อย่าง ‘เท่าเทียม’ ในสังคม

“แม้ทุกอย่างจะก้าวหน้า แต่ทัศนคติกับการตระหนักรู้ก็เป็นเรื่องหลักๆ เพราะสุดท้ายต่อให้มีแอปนู่นนี่นั่น แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าเขาไม่ดูหรอก ทำไมเขาไม่ไปเลือกสื่ออื่น ก็อาจจะไม่ได้เกิดความก้าวหน้าในเชิงปริมาณ” อาจารย์บอก และยังอธิบายต่อด้วยว่า “คนพิการบางคนยังไม่รู้ว่าคำบรรยายแทนเสียงต่างจาก subtitle อย่างไร ยิ่ง AD นี่ยิ่งใหม่เข้าไปใหญ่เลย หลายคนไม่รู้ว่ามีด้วยซ้ำ พอไม่รู้ว่ามี ก็ไม่เกิดการเข้าถึง” พร้อมขยายความว่าคนส่วนใหญ่ที่รู้จัก AD คือคนที่เคยมาทำกิจกรรมกับกลุ่มคนพิการที่กรุงเทพฯ เท่านั้น  

อาจารย์บ๊วยเล่าว่า หลายหน่วยงานพยายามแก้ไขเรื่องนี้ โดยจัดให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนบ้าง แต่ก็ยังไม่เห็นผล “เราควรกระจายความรู้ และพยายามขับเคลื่อนออกจากส่วนกลาง ไปให้ถึงกลุ่มคนที่เป็นผู้นำทางความคิดของแต่ละกลุ่มมากขึ้น” เช่น ให้กลุ่มคนตาบอดช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังพื้นที่ในศูนย์คนพิการต่างจังหวัดมากขึ้น ขณะที่สถานีเองก็ต้องพูดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากมีงานใช้งานอย่างกว้างขวาง 

ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ได้ขึ้นแบนเนอร์ก่อนฉายว่าเป็นรายการที่มี AD บ้างแล้ว นอกจากนี้แอปพลิเคชันต่างๆ ก็มีการเขียนบอกด้านล่างว่ามี AD หรือ CC แต่นั่น ก็ไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานของคนพิการจริงๆ “ถึงมีการประชาสัมพันธ์จริง แต่ถ้าคนพิการไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ” อาจารย์กล่าว

นอกจากนี้ในด้านของความตระหนักรู้ อาจารย์บอกว่า ไม่ใช่แค่ทางฝั่งของผู้ประกอบการและผู้รับสารเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้กำกับดูแลสื่อด้วย อาจารย์ยกตัวอย่างว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีนโยบายที่ยึดโยงกับผู้รับสาร เช่น การให้สถานีโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งสูงทำสื่อเพื่อคนพิการมากกว่าช่องที่มีเรตติ้งต่ำกว่า และให้ผลิตสื่อคนพิการในรายการเด็กด้วย แต่ในไทยไม่ได้มีนโยบายขนาดนั้น 

“ในฐานะคนที่ทำงานด้านการศึกษา ก็ต้องสร้างคน” อาจารย์บ๊วยกล่าวและว่า สถาบันการศึกษาก็ต้องส่งต่อความรู้เพื่อผลิตนักศึกษาให้มีความใส่ใจในเรื่องของคนพิการ อาจารย์บ๊วยและท่านอื่นที่ร่วมกันทำโครงการ AD จึงเปิดสอนวิชาสื่อกับคนพิการ เพื่อสร้างคนและเพื่อเป็นความรู้เฉพาะทางให้กับนักศึกษาด้วย

สุดท้ายแล้ว พลเมืองทั่วไปก็ควรตระหนักถึงสิ่งนี้เช่นกัน “เคยมีคนถามว่า ทำไมคนมองไม่เห็นไม่ไปฟังวิทยุแทน หรือทำไมไม่ทำช่องสาธารณะเฉพาะสำหรับคนพิการ” อาจารย์อธิบายว่า คำถามนี้แสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม “เราทำบริการเสริมขึ้นมาเพื่อให้คนพิการได้รับชมรายการที่เหมือนกับเรา ถ้าเราแยกเขาออกไปก็เท่ากับเรากันเขาออกอยู่ดี ต้องกลับไปทำความเข้าใจเรื่องนี้ จึงต้องใช้เวลา ต้องช่วยกันขับเคลื่อน”

อาจารย์บ๊วยปิดท้ายว่า ในบ้านเรา สิ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การขนส่ง เบี้ยคนพิการ การศึกษา ซึ่งนับเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุดยังไม่ได้รับการเติมเต็ม ความคาดหวังให้ทุกคน รวมถึงคนพิการออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิ์และการเข้าถึงข้อมูลของคนพิการจึงถูกผลักดันได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ หากรัฐมองคนพิการในฐานะพลเมือง รัฐก็ควรกำกับดูแลคนพิการให้เข้าถึงสิทธิ์ทั้งหมด แม้พวกเขาจะมีข้อจำกัดทางร่างกาย เพราะคนพิการก็ถือเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนสังคม ไม่ใช่แค่เป็นคนที่รอให้รัฐมาช่วยเหลืออย่างเดียว

อ้างอิง

thaiwebaccessibility. (30 มกราคม 2018). Audio Description คืออะไร. เข้าถึงได้จาก thaiwebaccessibility: https://www.thaiwebaccessibility.com/articles/audio-description-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3

เกื้อกูล หมอนคำ. (2 ธันวาคม 2020). Audio Description : เสียงสร้างภาพที่ขาดหาย ไร้สิ่งบรรยายในโลกมืด. เข้าถึงได้จาก nisitjournal.press. https://nisitjournal.press/2020/12/02/audio-description/
Thai PBS Academy. (16 กุมภาพันธ์ 2018). #สื่อเสียงบรรยายภาพ #AudioDescription #AD คืออะไร??? #ทำไมต้องมีAD???. เข้าถึงได้จาก Facebook : Thai PBS Academy. https://web.facebook.com/ThaiPBSAcademy/posts/%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E-audiodescription-ad-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5ad%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/800084466843182/?locale=th_TH&_rdc=1&_rdr

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Features

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

Features

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store) ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ  ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ...

Features

หนังสือดี อยาก ‘หลอก’ ต่อ โดย ยมทูตในห้องนอน

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ยมทูต น. ผู้นำคนตายไปยังบัลลังก์พระยมเพื่อรอคำตัดสิน. ยมทูต น. ผู้ดำเนินเรื่องจากวรรณกรรมเยาวชน ‘จอมโจรขโมยหนังสือ’ โดยได้รับหน้าที่เป็นยมทูตของ ลีเซล ...

Features

จากมือชาวเล ถึงจานชาวกรุง ผ่านตัวเชื่อมสัมพันธ์อย่าง ‘บริษัทปลาออร์แกนิก’

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ในซอยวิภาวดีรังสิต 22 แขวงจอมพล เขตจตุจักร มีอาคารหลังหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในหลืบ หลังคาสีน้ำตาลออกไม้ๆ ลักษณะคล้ายหัวเรือใหญ่ ...

Writings

จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง, ชวิน ชองกูเลีย และ ศิรประภา จารุจิตร จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ คำนำ งานหนังสือ ...

Features

จะปลุกกี่ผี…ก็มีดราม่า การกลับมาอีกครั้งของ ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ โครงการที่ไร้ทางไปต่อ

เรื่องและภาพประกอบ : พรวิภา หิรัญพฤษ์ ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ โครงการที่ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำลุ่มแม่น้ำยม ที่ถูกพับเก็บใส่หีบและฝังลงหลุมไปหลายต่อหลายครั้ง แต่มันกลับถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม จ.สุโขทัยครั้งล่าสุด โดยรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเราควรนำโครงการนี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัย การที่มีคนพูดว่าจะนำเอาโครงการนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง สำหรับชาวบ้านต.สะเอียบ จ.แพร่แล้ว สิ่งนี้ไม่ต่างจากการปลุกผีที่ตายไปแล้วให้ฟื้นคืนชีพ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save