ArticlesWritings

ลอยกระทงถึงไม่ได้อะไร แต่ฉันก็ยังอยากลอยอยู่ดี

เรื่องและภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง

“วันเพ็ญเดือน 12 น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง…”

เพลงคุ้นหูที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่จำความได้ จะทีวีหรือวิทยุทำนองก็เล่นซ้ำวนไปไม่อาจหลีกหนี ฉันจำได้เสมอเมื่อวันนี้เวียนมาถึง แม่ของฉันจะมีกิจวัตรที่เธอทำอยู่ทุกปี ตื่นเช้าไหว้พระ ตกเย็นไหว้ศาล และเมื่อไถงลาฟ้าไปพักผ่อน เสียงประตูห้องของฉันก็จะดังขึ้น

ก๊อก ก๊อก ก๊อก

“ไปลอยกระทงกัน”

แม้ประตูไม่ได้หนา ผนังห้องไม่ได้เก็บเสียง แต่แม่ก็ส่งเสียงก้องพอให้คนทั้งบ้านได้ยิน

เมื่อวัยยังต้องนั่งบนคานไม้ให้ช่างตัดผม ฉันยังจำความตื่นเต้นที่ตนเองมีต่องานขอขมาพระแม่คงคาได้อย่างตรึงตราใจ แสงสีสว่างจ้าในวัด เสียงลำโพงสะเทือนแก้วหู คู่รักควงแขน ครอบครัวขวักไขว่จูงมือเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับตัวฉันไปยังบริเวณรอบสระในวัด แต่ที่ประทับใจมากที่สุดคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการเลือกกระทงหลากสีที่เหล่าย่ายายในชุมชนร่วมแรงกันทำ สภาพแวดล้อมมีชีวิตชีวาทำประสาทการรับรู้ของฉันอีนุงตุงนัง ยุ่งเหยิงเกินกว่าจะใช้ความคิดพิจารณาเรื่องเล็กน้อยอย่างการเลือกกระทง ฉันเลยเพียงหลับตา แล้วสุ่มจิ้มกระทงที่เรียกชื่อฉัน เมื่อสวมหมวกนักพนันเรียบร้อยแล้ว แม่ก็จะยื่นแบงค์ที่เธอมีติดกระเป๋าใส่มือฉันให้สอดเข้ากล่องบริจาค 

ณ เวลาประจวบอันเหมาะ มัคนายกก็ประกาศผ่านไมโครโฟน เรียกคนรอบงานให้เริ่มลอยดอกไม้พับจากตองเขียวลงสระ เสียงไฟแช็คและไม้ขีดดังเกรียวกราว เมื่อกลิ่นหอมธูปโชยในอากาศและเปลวเทียนส้มพริ้วไหว เราต่างแข่งกับเวลา มือป้องไฟดวงเล็ก รีบจับจองที่เพื่อลอยกระทงก่อนขี้ธูปจะหล่นลวกมือ ทรงตัวนั่งยองอยู่บนท่าไม้ผุ 

“อธิษฐานสิ” แม่พูดเบาๆ

ฉันท่องความปรารถนาในใจ ตามองจ้องดวงไฟใกล้มอด หวังให้ทุกข์โศกมลายหายไปกับกระทงที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ลอยห่างจากมือล่องไปรวมกับเพื่อนๆ นับสิบ ดูคล้ายดอกไม้ที่มนุษย์ประดิษฐ์ใจกลางสระวัด ฉันทำตามพิธีที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปีไม่มีผิดพลาด 

แต่ทำไมกันนะ ความทุกข์ถึงยังเกาะตัวฉันเหมือนคราบหมึก

อาจเป็นความจริงที่ใครๆ ก็รู้ว่าชีวิตของคนนั้นไม่ได้ผันแปรไปตามคำอธิษฐานของใคร ความทุกข์ ความผิดหวัง ความโศกเศร้าและเรื่องน่าหดหู่นั้นเข้ามาในชีวิตของคนเราเป็นเรื่องปกติ เรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องเจอ ดังคำที่ทุกคนพูดกันบ่อยๆ ว่ามันคือ ‘รสชาติ’ ของชีวิต รสชาติแสนขมที่ไม่มีมนุษย์คนไหนอยากลิ้มลอง สิ่งเดียวที่จะช่วยให้คำอธิษฐานเป็นจริงก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากตัวของฉันเอง จะเกรดสี่ สุขภาพดี หรือเงินทองย่อมเกิดจากการกระทำหาใช่คำอธิษฐาน

เมื่อเข้าใจแบบนั้น สายธารของเวลาและรสชาติปนขมของการเติบโตก็ค่อยๆ ชำระเวทมนตร์ของงานลอยกระทงไปพร้อมกับความไร้เดียงสาของเด็กน้อยคนหนึ่ง แสง สี ของงานเทศกาลดูหม่นหมอง ความเหนื่อยและความเบื่อหน่ายทำให้ฉันไม่อยากออกไปไหน หาข้ออ้างสารพัดเพื่อหลีกเลี่ยงการออกไปร่วมงานเทศกาล ค่อยๆ ออกห่างจากวิถีความเชื่อมากขึ้น

ถ้ารู้อยู่แก่ใจว่าการลอยกระทง การอธิษฐาน การทำบุญ หรืออะไรเถือกนั้นไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของฉันดีขึ้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำไปทำไม

แต่การเติบโตก็ช่างน่าขำ เพราะด้วยการเติบโต การผ่านอุปสรรคและความทุกข์ที่ชีวิตโยนใส่ ทำให้ฉันได้เข้าใจอีกครั้งว่า การกระทำที่ดูไม่มีประโยชน์จับต้องได้เหล่านี้สำคัญต่อการใช้ชีวิตอย่างไร 

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทุกคนคงเคยผ่านกันมาอย่าง ‘การสอบ’ เราอาจจะพยายามอย่างเต็มที่ในขั้นตอนการเตรียมตัว อ่านหนังสือทบทวนถึงตีหนึ่งตีสอง เรียนพิเศษนับไม่ถ้วน ฝึกทำข้อสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าตอนสอบจริงที่ตรวจคำตอบอย่างรอบคอบ หรืออ่านโจทย์เป็นสิบครั้งเหมือนอาจารย์จะซ่อนคำตอบไว้ในนั้น แต่เมื่อสอบเสร็จ มันก็จบ ไม่มีการกระทำอะไรที่เราทำได้เพื่อช่วยกล่อมตัวเองให้มีความหวังมากขึ้น นอกจากไปไหว้พระไหว้เจ้า สวดขอให้ท่านช่วยเรา ถึงจะรู้อยู่ลึกๆ ว่าขอไปมากเท่าไหร่ ถวายดอกไม้ไปมากเพียงใด คำตอบที่ฝนไปก็ไม่เปลี่ยนสลับช่องเป็นถูก

กลับมาในมุมของตัวฉัน การอธิษฐานภาวนาเป็นสิ่งที่ช่วยให้รู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่กลับมีความหวังในการมีชีวิตอยู่ต่อไปและมีแรงต่อสู้เพื่อเป้าหมายที่หวังมากขึ้น เพราะอย่างน้อยถึงไม่แน่ใจว่ามีพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหม แต่หากท่านอยู่ที่ไหนซักแห่งและรับฟัง ท่านก็อาจคอยช่วยหนุนหลังในการเดินทางอันแสนเหน็ดเหนื่อยของฉัน เป็นแรงสนับสนุนที่ไม่ได้แลกมาด้วยเงินทองหรือหยาดเหงื่อของใคร ฉันจึงไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้เขาผิดหวังและมีอิสระในการพยายามเพื่อความฝันของตัวเอง

สำหรับเหล่าผู้ที่มีคำถามถึงประโยชน์ที่จับต้องได้ นักวิทยาศาสตร์และจิตแพทย์มากมายก็สงสัยเช่นเดียวกัน แบบ ‘เควิน มาสเตอร์‘ (Kevin Masters) อาจารย์วิชาจิตวิทยาคลินิก ประจำมหาวิทยาลัยโคโลราโด เดนเวอร์ (The University of Colorado Denver) ให้สัมภาษณ์กับ CNN  กล่าวว่า ในมุมของวิทยาศาสตร์ การศึกษาการสวดมนต์ ภาวนา ก็มีอุปสรรคด้วยปัญหาด้านวิธีการ ที่ติดขัดตั้งแต่การนิยามความหมายของการสวดภาวนา ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณสวดเพื่อขออะไร? หรือสวดเพื่อระบายสิ่งที่พบเจอในแต่ละวัน? แล้วคุณจะพิจารณาผลลัพธ์ได้อย่างไร ไหนจะคนที่จะทำให้คำขอเหล่านี้เป็นจริง อย่าง ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘พระเจ้า’ ที่แน่นอนว่าเราคง (ยัง) ไม่สามารถศึกษาได้ ด้วยลักษณะของพระเจ้าผู้อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติสำหรับคนที่เชื่อ ฉนั้นบางทีประโยชน์แท้จริงของการอธิษฐาน หรือสวดภาวนาในตอนนี้ก็อาจพูดได้แค่ว่ามีประโยชน์เพียงทางใจ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะให้คุณค่ากับความเชื่อมากน้อยแค่ไหน 

แต่ถึงอย่างไร เราก็ไม่สามารถมองข้ามการกระทำในการภาวนาและขอให้พระเจ้ารับฟัง ที่ใช้ทรัพย์สินเงินทองแท้ๆ ในการขอ ซึ่งมีตัวอย่างนับไม่ถ้วนให้เห็นว่า หากการไม่ใช้วิจารณญาณประกอบเป็นอีกครึ่งหนึ่งขอตราชั่งแห่งความเชื่อ ก็อาจทำให้สิ่งที่คุณขอไปกลับตาลปัตรกลายเป็นคำสาป สิ้นเนื้อประดาตัว ชีวิตตกอับ ลำบากคูณสองก็เป็นได้ อีกทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏอย่างชัดเจนในเทศกาลลอยกระทง ที่ชวนสงสัยว่าเรากำลังขอขมาพระแม่คงคาจริงๆ ใช่ไหม เพราะถ้าฉันเป็นพระแม่ก็จะคงสาปส่งคนลอยไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด แน่นอนว่าถึงจะเชื่อยังไงคำอธิษฐานก็ใช่ว่าจะเป็นจริงขึ้นมา แต่สุดท้ายแล้วสำหรับฉัน การได้ใช้ชีวิตโดยรู้สึกว่ามีใคร (หรืออะไร) คอยหนุนหลังอยู่ก็ยังดีกว่าการเดินไปข้างหน้าและแบกรับทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว อีกทั้งการได้ร่วมงานเทศกาลประจำปี ออกไปพบเจอผู้คนสักนิดบรรยากาศของการเฉลิมฉลองก็เป็นการพักผ่อนที่ดีไม่น้อย 

อาจไม่ใช่เหตุผลที่ฟังดูแข็งแรงอะไรมากนัก แต่ในทางกลับกัน เรื่องเล็กๆ บางเรื่องที่ทำเพื่อความสุข ตัวฉันนั้นก็ไม่อยากจะคิดอะไรให้ปวดหัวหนักกว่าเดิม ขอแค่มีความรับผิดชอบในความเชื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง สิ่งแวดล้อมและสังคมก็พอ

พูดไปแล้ว… ปีนี้จะไปลอยกระทงที่ไหนดีหนอ

บรรณานุกรม

The psychological benefits of prayer: What science says about the mind-soul connection, CNN, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 6 พฤศจิกายน, https://edition.cnn.com/2020/06/17/health/benefits-of-prayer-wellness/index.html

The Science of Prayer, The Wall Street Journal, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 6 พฤศจิกายน, https://www.psychologicalscience.org/news/the-science-of-prayer-2.html

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Articles

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

Articles

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

Articles

Blackstar : คำร่ำลาจาก (เหล่า) มนุษย์ตาสองสีผู้มาจากต่างดาว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพบในสักวัน ทั้งของครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ความตายของตัวเองที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาทุกวินาที โดยเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะมาถึงตัวของเราเมื่อไหร่ จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวที่ทำให้ไม่อยากจะใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้อีกต่อไป แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่ง ชายผู้แม้ความตายจะมาเคาะประตูหน้าห้อง ...

Writings

วัวหายล้อมคอก ไฟไหม้ฟาง กับการแก้ปัญหาของรัฐไทย 

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ‘วัวหายล้อมคอก’ และ ‘ไฟไหม้ฟาง’ สำนวนที่เข้ากันดีกับการแก้ปัญหาในสังคมของรัฐไทย ที่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนจึงค่อยมาคิดหาวิธีแก้ไข หรือไม่ก็ตั้งท่าจะแก้ไขแต่ไม่ทำอะไรจริงจัง จนมันก็สายเกินจะแก้ปัญหาตรงหน้าให้ทันท่วงที ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save