FeaturesSocietyWritings

เส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อกังขา ของ ไอดา อรุณวงศ์

เขียน : ศิรประภา จารุจิตร

ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ

*pho-ney [adj] ปลอม [n] คนหลอกลวง

See also: เสแสร้ง, จอมปลอม, ระยำอัปรีย์ 

แม่ง โคตรโฟนี่เลย : การเมือง วรรณกรรม ในยุคที่สุนัขไม่ใช่หมาเสมอไป แต่ประชาชนยังเป็นควายเหมือนเดิม’ 


หนังสือโดยไอดา อรุณวงศ์ นักแปล นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน และประธานมูลนิธิสิทธิอิสรา ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกองทุนในการประกันตัว และเป็นนายประกันให้กับผู้เห็นต่างทางการเมือง หนังสือเล่มนี้รวมบทปาฐกถาและบทอภิปรายของคุณไอดา ที่ได้รับเชิญไปพูดในวงเสวนาวรรณกรรมและวิชาการ ว่าด้วยทัศนะทางการเมือง วรรณกรรม จุดยืนทางงานวิชาการ

ที่น่าแปลกใจคือแม้เนื้อหาในเล่มจะถ่ายทอดออกมาอย่างเรียบง่าย จริงใจ แต่กลับทรงพลัง และแฝงไปด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับความตลบตะแลงทั้งหลายแหล่ในชีวิต ทุกๆ ถ้อยคำที่ร้อยเรียงเรื่องราวต่างมีชีวิต มีเลือด มีเนื้อ มีสัจจะ มีความรู้สึก เศษเสี้ยวตัวตนบนหน้ากระดาษ ได้ก่อร่างสร้างตัวของเธอขึ้นมา ผ่านช่องว่างระหว่างบรรทัด ตัวอักษรแล้ว ตัวอักษรเล่า

“มีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อชดใช้บาปกำเนิดทางชนชั้น พอๆ กับชดใช้บาปกำเนิดของการเกิดเป็นลูกหลานนังอีฟ”

นั่นเป็นประโยคจากหนังสือที่ทำให้อยากรู้จักคุณไอดา

วัยเยาว์

“ใครที่นุ่งผ้าถุง พูดหยาบ พูดตะโกนเสียงดัง ถือว่าเป็นชาวบ้าน แม่ไม่ให้ไปยุ่งด้วยเลย” 

คุณไอดาเป็นคนกรุงเทพฯ แต่คุณแม่มีพื้นเพมาจากต่างจังหวัด คุณแม่รู้จักโลกชาวบ้านอย่างไว้ตัวในฐานะลูกข้าราชการ ต่อมาคุณแม่ย้ายภูมิลำเนามาและแต่งงานกับพ่อซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ ในชุมชนที่แวดล้อมด้วยชาวบ้าน แต่โลกที่แม่ต้องการคือโลกของคนมีการศึกษา เธอจำได้ว่าคำที่แม่ชอบใช้เวลาชื่นชมใคร คือคำว่า “ดูเป็นคนมีการศึกษา” 

เมื่อการศึกษากลายเป็นเรื่องใหญ่ เธอจึงถูกบังคับให้หัดอ่านหนังสือจนคล่องตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนการอ่านกลายเป็นความชอบของเธอเสียเอง “พออ่านไปเรื่อยๆ ก็เจอเรื่องเศร้าๆ พบว่าชีวิตคนมันมีความยากลำบาก จริงๆ ชีวิตตัวเองก็ไม่ได้สบายนะ บ้านก็ไม่ได้รวย แต่เวลาอ่านแล้วเจอคนลำบากกว่า ก็อยากกระโจนเข้าไปในนั้น อยากขนข้าวไปให้คนที่เขาไม่มีอะไรจะกิน”

ด้วยการเลี้ยงดูของคุณแม่ที่เข้มงวด และกดดัน ชีวิตวัยเด็กของเธอจึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน และเธอก็ได้เป็นที่ 1 เสมอ “ตอนเด็กเราคิดว่าเราเก่ง เราสำคัญ เราทำได้ทุกอย่าง ฉันเปลี่ยนแปลงโลกได้แน่นอน ใครทำไม่ได้ ฉันนี่แหละทำได้ ตามรอยสิทธัตถะแน่นอน” คุณไอดาหัวเราะ และบอกว่ามันคือความมั่นใจของเด็กประถมที่โตมากับโลกของการแข่งขันในระบบการศึกษาไทย ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าถึง 

ในตอนนั้นเธอคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด เพราะเธอรู้ว่าครูต้องการอะไร และเธอก็แค่ต้องทำให้เห็น “การเป็นคนเก่งมันง่าย เพราะเรารู้ว่าเกมนี้กติกาคืออะไร แค่ทำให้ถูกต้องตามกติกา เราก็จะชนะ” เธอย้ำ “มันไม่ใช่การชนะที่พิสูจน์ว่าเราเก่ง มันเป็นการชนะที่เรารู้ว่ากติกาคืออะไร” 

แล้วจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่งก็มาถึง มันเป็นวันหนึ่งในวัยประถม ที่เธอเดินไปถามคุณครูที่สอนวิชา ‘สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต’ หลังจากฟังครูสอนให้ท่องอริยสัจสี่ ว่าด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่เธอแปลสรุปเองง่ายๆ ว่าพอมีทุกข์แล้วก็ให้หาสาเหตุของทุกข์แล้วก็รู้จักหาทางดับทุกข์  “คุณครูคะ การที่จะเป็นถึงพระพุทธเจ้าได้ เขาต้องฉลาดมาก แต่ทำไมเขาสอนอะไรที่มันง่ายขนาดนี้คะ”

คุณครูตอบมาว่า “ไอดา! ศาสนาคือความเชื่อ!”

ในวันนั้นคุณไอดาตกใจมาก และเริ่มกังขา หรือว่าทุกสิ่งเป็นแค่ความเชื่อ แล้วอะไรคือสิ่งที่มีอยู่จริง

อีกสิ่งที่ปลูกฝังอุดมคติของคุณไอดาในวัยเด็กเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวแห่งเดือนตุลา 

เพราะคุณแม่ชอบเล่าเรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลา ปี 2516 และ 6 ตุลา ปี 2519  ที่มีนักศึกษาเป็นผู้นำการต่อสู้ไปสู่สังคมดีขึ้น พวกเขาเป็นทั้งผู้เสียสละและผู้ถูกกระทำ เธอยึดเอาภาพนี้เป็นอุดมคติ และเป็นเหตุที่ทำให้เธออยากเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพราะคิดว่าโลกที่เคยได้แต่สัมผัสในหน้ากระดาษ จะเป็นจริงได้ที่ธรรมศาสตร์

“ตอน ม.ปลายอยู่เตรียมฯ (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) ติดกับจุฬาฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ครูก็จะสอนว่าให้มองไปทางฝั่งซ้าย (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) ไม่ใช่ฝั่งขวา (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย) รู้สึกไม่ชอบเลย พูดแบบนี้ออกมาได้ยังไง จะอะไรกันนักหนากับจุฬาฯ”  

เธอถูกส่งเข้าเรียนกวดวิชาอย่างเข้มข้น ชนิดเรียนตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงสามทุ่ม เพื่อสอบเทียบข้ามชั้นเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ตามความคาดหวังของแม่ แต่สิ่งที่แม่ไม่รู้คือเธอมุ่งมั่นที่จะเข้าเรียนที่มธ.  สุดท้ายเธอกลับต้องเข้าเรียนที่จุฬาฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เธอโดนแม่บังคับในนาทีสุดท้ายก่อนส่งใบสมัครให้ใส่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไว้เป็นอันดับหนึ่ง แทนศิลปศาสตร์ มธ. ซึ่งถูกขยับลงไปเป็นอันดับสอง แล้วผลคะแนนสอบของเธอสูงขึ้นไปอยู่ในเกณฑ์ของอันดับหนึ่ง (ในสมัยนั้นไม่ใช่ระบบแอดมิชชั่น แต่เป็นการเลือกคณะ 6 อันดับ เรียงตามคะแนนจากสูงสุดถึงต่ำสุด แล้วผลคะแนนสอบเอนทรานซ์พร้อมกันทั่วประเทศจะเป็นตัวบอกว่าสอบได้อันดับไหน) 

“จำได้ว่าตอนไปดูประกาศผลสอบแล้วเห็นว่าติดอักษรฯ (คณะอักษรศาสตร์) จุฬาฯ ก็เดินร้องไห้ออกมาอย่างถล่มทลาย พอไปสอบสัมภาษณ์ก็บอกอาจารย์ไปตรงๆ เลยว่าบังเอิญสอบติด ไม่ได้อยากเรียน แต่ก็ดันไม่ตกสัมภาษณ์อีก” เมื่อความฝันในวัยรุ่นพังทลายลงโดยไม่อาจแก้ไขอะไรได้เช่นนี้ เธอตัดสินใจว่า นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายของการเป็นเด็กเรียนดีตามคำสั่งแม่ เธอสอบติดอักษรฯ ให้แม่แล้ว ถือว่าสิ้นสุดกันแค่นี้ “จะไม่เป็นเด็กดีอีกต่อไปแล้ว”

พอเข้ามหาวิทยาลัย คุณไอดาก็ได้พบกับโลกใหม่ เริ่มจากการได้เป็นเพื่อนกับนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่อยู่ติดกัน “หลายคนมาจากอีสาน บางคนมาจากครอบครัวชาวนา พวกเขาเรียนช่างศิลป์ เรียนเพาะช่าง ไม่ได้มาจากโลกระบบการศึกษาสามัญแบบเรา เรารู้สึกเหมือนเขาเจนโลกกว่า หนังสือที่เค้าอ่านก็จะฮาร์ดคอร์กว่า” บางคนแนะนำให้เธอรู้จักงานของ กอร์กี้ ดอสโตเยฟสกี้ เฮสเส ฯลฯ เธอเริ่มไปเข้าชมรมกิจกรรมค่ายและกลุ่มกิจกรรมอิสระที่มีการชวนกันอ่านหนังสือและอภิปราย

“ถกกันไม่จบสิ้น ตอนนั้นแหละที่เริ่มกังขาหนัก โดยเฉพาะเรื่องระบบการศึกษา   มันเป็นการอ่านที่ทำให้เราตั้งคำถามทั้งกับตัวเองและระบบคุณค่าต่างๆ”

เธอเริ่มออกนอกจุฬาฯ ไปทำกิจกรรมการเมืองตลอดช่วงที่เกิดรัฐประหารปี  2534 เธอกลายเป็นเด็กจุฬาฯ ที่ใช้เวลาอยู่ที่ธรรมศาสตร์มากกว่าครึ่งหนึ่งของปีการศึกษา และจบมาด้วยความรู้สึกเคว้งคว้างต่อใบปริญญาและการต่อสู้ในนามนักศึกษาหลังการล้อมปราบเดือนพฤษภาคม ปี 2535 ที่ประชาชนธรรมดาคือผู้ล้มตาย และความหมายของนักศึกษาผู้นำการต่อสู้คือ เกียรติประวัติในโพรไฟล์ที่มีมูลค่าสูงกว่าประชาชนธรรมดาเหล่านั้น

ค่อยๆ ร่วงหล่น

ภาวะเคว้งคว้างของคุณไอดาเกิดขึ้นในช่วงที่เรียกกันว่ายุคเศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ราวปี 2530 พอดี และเป็นยุคที่ภาพของ ‘คนเดือนตุลา’ ที่เคยอยู่ในอุดมคติของคุณไอดาเริ่ม ‘เปลี่ยนไป’ พวกเขาอยู่ในโลกธุรกิจ ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก จากคนที่อยู่ในป่า ก็ค่อยๆ ทยอยกลับเข้าที่เข้าทางในสังคม บ้างก็เปลี่ยนข้าง บ้างก็กลายเป็นเศรษฐีใหม่ หรือเป็นอะไรที่เธอเรียกว่ายัปปี้ (Yuppie) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันขัดกับอุดมคติเดิมที่เธอเคยเข้าใจว่าเป็นของพวกเขาจริงๆ 

คุณไอดายกตัวอย่างว่า เริ่มมีโรงเรียนทางเลือก ที่เสนอภาพอุดมคติของการศึกษาที่รอบด้านกว่าแค่การแข่งขันในระบบธรรมดา แต่ค่าเทอมแพงมาก คนที่ส่งลูกเข้าเรียนได้ก็คือพวกคนรวยที่เป็นปัญญาชน “ในเมื่อเห็นว่าการศึกษามันแย่ ทำไมไม่ช่วยคนทั้งประเทศ มัวแต่ไปทำโอเอซิสของตัวเองอยู่ได้ยังไง”

สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเครื่องตอกย้ำคุณไอดาถึงปมในวัยเด็กที่คุณแม่เคยบอกไว้ก่อนหน้า “เดี๋ยวพอโตขึ้นเราก็จะเปลี่ยนไป เพราะเดี๋ยวเราก็จะมีครอบครัวและจะต้องทำมาหากิน” ประโยคนั้นทำให้เธอตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่า ตัวตน และอุดมคติของเธอจะต้องไม่เปลี่ยน 

“แต่พอเห็น (คนอื่น) เขาเปลี่ยนอยู่ทนโท่เลยทำให้รู้สึกสั่นคลอน เขาทำมาขนาดนั้นเขายังเปลี่ยน แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าสักวันเราจะไม่เปลี่ยน”

ในตอนนั้นเธอกังวลว่าสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นในวัยเยาว์ สักวันก็คงจะต้องโดนกลืนไปพร้อมๆ กับการเติบโต

พอเรียนจบเธอจึงปฏิเสธทุกอย่าง ไม่ทำงานธุรกิจเอกชน ไม่ทำงานราชการ เมื่อถูกแม่บังคับก็หนีออกจากบ้าน ไม่ไปรับปริญญา ไม่พกบัตรประชาชน ไม่ใส่นาฬิกา กินเหล้า สูบบุหรี่ ร่อนเร่ไปตามที่ต่างๆ “เรารู้แค่ว่าเราจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราปฏิเสธ แต่ก็ไม่รู้อีกเหมือนกันว่าจะเป็นอะไร”

ความไม่รู้ได้พัดพาเธอมาเจอกับเพื่อนคนสำคัญในชีวิตคนหนึ่งซึ่งหันหลังให้ทุกอย่างเช่นกัน เธอกับเพื่อนเคยไปลองสอนหนังสือถึงบนดอย ในโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยพระป่า มีญาติโยม คุณหญิง คุณนาย เอาของมาถวาย ซึ่งเธอก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องจัดแถวให้นักเรียนชาวกะเหรี่ยงมายืนรับผ้าห่มให้เขาถ่ายรูปไว้อวดบุญ “จำได้ว่าวิชาที่สอนคือการทำเกษตร จับจอบยังไม่เป็นเลย แต่ต้องไปสอนเด็กที่เขามือโปร แค่นี้ก็รู้แล้วว่าเฟค แล้วจะไปสอนวิชาภาษาอังกฤษเฟคๆ หาสวรรค์อะไรกับเขา” เธอเล่าต่อว่า “เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาที่แสล๋นจะเข้าไปสอนเขา เขาทำกินเก่งกว่าเราอีก” เธอรู้สึกว่าตัวเองต่างหากที่ ‘แปลกปลอม’

เมื่อข้อกังขาถาโถมขึ้นเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าจะต้องไปทำอะไร ต้องไปอยู่ที่ไหน ถึงจะหนีจากความจอมปลอมนี้ได้ เธอจึงเลือกที่จะไม่เลือกรับอะไรสักอย่างเดียว “ตอนนั้นเราหันหลังให้ทุกอย่าง เราไม่เชื่อแม้กระทั่งการทำงานเปลี่ยนแปลงโลก เพราะทุกอย่างมันคือเรื่องตอแหล เราจะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการอ้างความชอบธรรม คุณธรรม หรือคุณงามความดีอะไรทั้งนั้น”

เธอกังขากระทั่งความรู้สึกที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งนี้มันคือการคิดว่าตัวเองสูงส่งกว่าคนอื่นหรือเปล่าถึงได้เลือกที่จะไปช่วยเหลือคนอื่น เธอบอกกับเพื่อนว่า “ถ้าวันหนึ่งเธอเห็นฉันเปลี่ยนไป ฉันปลอม ฆ่าฉันทิ้งไปเลยนะ อย่าปล่อยให้ฉันตอแหลอยู่ว่าฉันไม่ได้เฟค อย่าฟังฉันอธิบาย เพราะฉันจะอธิบายเก่งมาก”

ความสับสนพาเธอกับเพื่อนร่อนเร่ไปจนถึงเกาะช้าง นั่งดูดาว เมากัญชา  นั่งฝันหาที่ทางในการใช้ชีวิต เพื่อนเสนอว่าให้หันหลังให้ทุกอย่างแล้วแบกเป้ไปท่องโลกกัน แต่แค่พวกเธอลองออกเดินข้ามไปอีกฝั่งของเกาะ ต้องเจอกับผู้ชายพร้อมมีดในมือที่เข้ามาจะข่มขืน พวกเธอวิ่งหนีข้ามเขาอย่างไม่คิดชีวิตจนเท้าแตกเลือดซิบ “เราเป็นผู้หญิงสองคนที่คิดจะท่องโลก แต่แค่ข้ามไปอีกฟากเกาะก็แทบไม่รอดแล้ว แล้วเราจะไปไหนได้”

วัยเยาว์ที่สูญสิ้น

ในเมื่อไม่มีที่ให้ไป สุดท้ายก็ต้องกลับมา คุณไอดาถูกชวนให้เข้าไปทำงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจลาออกมา แล้วกลับไปทำงานในสำนักพิมพ์อีกแห่งที่ชวนให้เธอไปทำหน้าที่อ่านหนังสือ และคัดเลือกถ้อยคำ  “เหมือนฝัน อยู่ดีๆ มีคนมาจ้างให้นั่งอ่านหนังสือในห้องแอร์พร้อมกาแฟและขนม”  

ระหว่างที่ทำงานนั้น คืนหนึ่งเธอฝันว่าเธอนั่งรถผ่านชาวบ้านที่มากางมุ้งเพื่อประท้วงอะไรสักอย่าง อยู่ตรงสะพานข้ามคลองตรงทำเนียบรัฐบาล เธอได้แต่มองภาพนั้นจากหน้าต่างรถ และช่วยอะไรไม่ได้ เธอจึงรู้สึกผิด เป็นความรู้สึกที่ติดอยู่กับตัวเธอตลอดมา อย่างบาปกำเนิดที่เธอไม่ได้ก่อ เป็นความรู้สึกผิดต่อต้นทุนของตัวเองที่มีมากกว่าหลายคนในสังคม

“เรามีทางเลือกตลอดเลย เลือกจะทำ ไม่ทำก็ได้ แต่คนอื่นเขาไม่มีทางให้เลือกนอกจากจะต้องทำ”

วันหนึ่ง เพื่อนที่ทำงานชวนไปเที่ยว ‘ผับเพื่อชีวิต’ เธอวิ่งไปอาเจียนในห้องน้ำแล้วได้แต่ถามตัวเอง “เชี่ย กูทำอะไรอยู่วะ นั่งฟังเพลงปฏิวัติในผับ นั่งอ่านหนังสือไปวันๆ กับเอาตัวรอดให้ได้จากความหื่นของปัญญาชนผู้ชายรายวัน”

เธอลาออกจากงานหนังสืออีกครั้ง โดยสาเหตุหลักที่เธอออกจากงานแทบทุกครั้ง คือการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) ในที่ทำงาน “บางทีชีวิตเราก็พลิกด้วยเรื่องแค่นี้แหละ จะไปท่องโลก เจอคนจะมาข่มขืน ก็ไม่ได้ไป แล้วพอมาทำงานก็เจอปัญหาเดิม อยู่ไม่ได้ สติแตกเลย ร้องไห้ทั้งวัน” สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เธอเริ่มสงสัยตัวเอง “มันทำให้เราคิดว่ามันเป็นความผิดเราหรือเปล่า เราต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่าง มันถึงทำให้ทุกคนรู้สึกว่าคนคน นี้มีไว้ข่มขืน”

งานต่อมาของคุณไอดาคือการทำงานกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ในช่วงนั้นรัฐบาลมีความคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พระไพศาล วิสาโล (เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต) ได้ตั้งกลุ่มศึกษาปัญหาด้านพลังงานขึ้นมาและชวนให้คุณไอดาไปทำงาน “เหตุผลเดียวที่ตกลงมาทำคือ คนที่ทำงานในกลุ่มนี้มีแต่ผู้หญิง ที่ไหนมีผู้ชาย ไม่ทำแล้ว” ต่อมางานของเธอขยายไปเป็นเหมือนกองเลขาฯ ของชาวบ้าน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนาในกรณีการคัดค้านโครงการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์, ชาวไร่และชาวประมงกรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน, คนจนเมืองในกรณีการฟ้องร้องความเสียหายของผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยทางรังสี   เธอทำงานอยู่สิบปีโดยไม่มีปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน แม้ว่าต่อมาจะมีเพื่อนร่วมงานผู้ชายและต้องทำงานอยู่ท่ามกลางชาวบ้านผู้ชายจำนวนมากก็ตาม

ตอนนั้นที่เธอได้สวมบทบาท ก็ยังเต็มไปด้วยความกังขา เพียงแต่ว่า ณ ขณะที่สวม เธอได้พยายามจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันจริง และเธอจะไม่ทิ้งไม่หันหลังกลับ ต้องอยู่สู้ด้วยกันกับชาวบ้านจนกว่าทุกอย่างจะสำเร็จ “จนกว่าจะชนะ” ซึ่งสุดท้ายก็สำเร็จจริงๆ แต่ก็แลกมาด้วยช่วงเวลาสิบปีนั้นที่เธอสลัดเรื่องอื่นออกจากชีวิต “เหนื่อยมาก เหมือนอยู่ในสงคราม ไม่เหลือตัวเรา ไม่เหลือเพื่อน ไม่เหลืออะไร มันสลายไปอยู่ในงานหมดแล้ว” 

เธอต้องพาชาวบ้านไปยื่นหนังสือที่หน่วยงานต่างๆ การแต่งกายจึงต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า ‘เรียบร้อย’ 

“อย่างน้อยที่สุดคือต้องทำอะไรให้ดูเป็นผู้เป็นคน หรือเป็น ‘คนมีการศึกษา’ เพื่อที่ปัญหาของชาวบ้านจะได้ถูกรับฟัง” ในวันนั้นเธอเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าเธอเริ่ม ‘ปลอม’ แล้วหรือยัง

แต่แล้ววันหนึ่งเพื่อนเก่าที่เคยจะไปท่องโลกกับคุณไอดาได้แวะมาหา เพื่อนมาด้วยชุดเสื้อยืด กางเกงเล รองเท้าแตะแบบเดิมที่เคยสวมเหมือนกัน ด้วยสายตาคู่เดิมที่เคยกังขาต่อความจอมปลอมต่างๆ มาด้วยกัน แม้ว่าเพื่อนจะไม่ตัดสิน แต่เพื่อนได้ถามให้คุณไอดาทบทวนและตอบตัวเองว่า ณ จุดที่อยู่นี้ ไกลหรือใกล้จากสิ่งที่เคยฝันไว้แค่ไหน 

คุณไอดาให้คำตอบไม่ได้ 

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจสิบปีในโลกชาวบ้าน คุณไอดา ตัดสินใจกลับมาอยู่ในโลกของหนังสือ เธอทำ ‘สำนักพิมพ์อ่าน’ โดยเริ่มต้นด้วยการทำวารสารชื่อ ‘อ่าน’ เป็นวารสารด้านการวิจารณ์วรรณกรรม วัฒนธรรม เพื่อสังคายนาวงการปัญญาชน  ก่อนที่จะขยับไปแตะการเมืองในยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จนผ่านเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 

การกลับมาในโลกหนังสือครั้งนี้ยังเป็นการกลับมาอยู่ในโลกของปัญญาชนผู้ชาย และการล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ พร้อมไปกับการรับมือกับคนเดือนตุลาในรูปของปัญญาชนหัวก้าวหน้า ที่ทำให้เธอกังขาเสียยิ่งกว่านักธุรกิจหรือนักการเมืองเดือนตุลาในทศวรรษก่อนๆ 

หลังรัฐประหารปี 2557 คุณไอดาได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “กองทุนราษฎรประสงค์” (ปัจจุบันจดทะเบียนเป็นมูลนิธิสิทธิอิสรา) ทำให้เธอต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบใหม่ในโลกของศาลและผู้มีการศึกษาแบบนักกฎหมาย  ต้องไปอยู่ภายใต้เทมเพลตภาษากราบกรานของคำร้อง และเครื่องแต่งกายที่ต้อง ‘เรียบร้อย’ ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

“มันอยู่ยากนะ เวลาที่เราต้องเข้ามาเล่นในเกมนี้ อย่างทัศนติเรื่องการแต่งตัวมันเฮงซวยมาก ต่อให้เป็นเรื่องเล็กเราก็ไม่ควรยอมรับมัน ตราบใดที่ยังมีการแต่งตัว ‘เรียบร้อย’ ก็จะมีคนที่ถูกบอกว่า ‘ไม่เรียบร้อย’”  ซึ่งส่วนใหญ่คือประชาชนทั่วไปหรือชาวบ้าน  “มันคือการต้องคอยระวังการแลกศักดิ์ศรีในความคิดความเชื่อของตัวเอง กับบรรทัดฐานทางยศศักดิ์ที่ใครไม่รู้กำหนดไว้ โดยที่จะต้องทำให้งานมันลุล่วงหรือไปต่อได้”

เธอคิดว่าถ้าเพื่อนเก่าของเธอมาเห็นเธอในทุกวันนี้ ทุกอย่างคงจะยิ่งดูไปกันใหญ่ ประธานมูลนิธิสิทธิอิสรา บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน ล้วนมีตำแหน่งแห่งที่ ต่อให้เธอพยายามหลีกเลี่ยงด้วยการปฏิเสธการรับรางวัล ไม่สร้างภาพผลงาน ไม่สังสรรค์สร้างเครือข่ายหรือออกงานสังคมอย่างไร แต่เธอก็ยังอยู่ในลิสต์ปัญญาชนคนหนึ่งของวงการอยู่ดี “ต่อให้เราปฏิเสธชื่อเสียงและวงการอย่างไร แต่ถ้าเทียบกับเมื่อตอนนั้น เรามาไกลมากแล้ว”

เศษเสี้ยวแห่งวัยเยาว์

“โลกมันกว้าง เราไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ทำเท่าที่หาพื้นที่ได้ แต่ต้องจริงที่สุด ขีดวงให้ชัดว่าเปลี่ยนอะไรได้บ้าง”

กาลเวลาทำให้เธอในวัย 50 ปี ตกตะกอนได้ว่า สิ่งที่เธอต้องการในชีวิต คือพื้นที่ที่ไร้ข้อกังขา และปราศจากความปลอมของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันมันต้องมีพื้นที่ที่สามารถชดเชยความรู้สึกผิด จากบาปกำเนิดทางชนชั้นของเธอได้อีกด้วย

“สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้คือการเคลียร์ เพราะสิ่งที่ทำมาเป็นสิ่งที่ปลอมอยู่สักครึ่งหนึ่ง ทางที่ดีคือเคลียร์ให้มันเหลือน้อยที่สุด” เธอเล่าว่ากำลังอยู่ในช่วงส่งต่อสิ่งที่เธอทำมา สะสางและจัดแจงให้มันเข้าที่เข้าทาง เพื่อให้มันคงอยู่ต่อไปได้ในรูปแบบหนึ่งแบบใด แม้ในวันที่เธอไม่อยู่อีกต่อไป  และไม่สำคัญว่าจะใครสืบทอดหรือไม่

“พอนานวันเข้า ก็รู้สึกถึงความลำพังมากขึ้น มันไม่ใช่เรื่องความเหงา แต่พอคำนึงถึงภาระที่ยังไม่ได้ทำให้เสร็จ หรือพันธะที่เริ่มไว้และยังไม่จบ ก็พบว่าความติดค้างกังวลมันอยู่กับตัวเราแค่คนเดียวเท่านั้น บางเรื่องมันก็ต้องเป็นเรื่องของเราเท่านั้นที่ต้องทำ” เธอบอกว่าถ้าสะสางทุกอย่างได้แล้ว ก็อยากไปอยู่ในพื้นที่ที่จริงที่สุดท้ายที่เหลืออยู่ นั่นคือการเขียนหนังสืออยู่ที่บ้าน เล่าเรื่องของคนธรรมดาที่ไม่ต้องถูกนิยามผ่านการศึกษา ไม่ต้องเป็นผู้นำหรือวีรบุรุษ วีรสตรี  แต่เป็นคนธรรมดาที่ไม่คิดและไม่สนใจว่าตัวเองจะต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ให้พวกเขาคือประวัติศาสตร์ของเธอ

นี่เป็นเพียงเรื่องราวอีกเฟสที่เธอกำลังเปลี่ยนผ่าน เป็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่เต็มไปด้วยข้อกังขา ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของเธอจะเป็นยังไง วินาทีต่อมาเธอจะเป็นคนแบบไหน แต่การที่เธอยังคงหาที่ทางให้กับความจริงใจของตัวเอง มันหมายความว่าวัยเยาว์ของเธอยังคงมีชีวิต ถึงแม้ว่าในวันนี้เธอจะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Features

Features

AD เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดในสื่อไทย มาไกลพอแล้วหรือยัง ?

เขียน : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ หากลองหลับตาดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง สิ่งที่เห็นตรงหน้าตรงหน้าคงเป็นสีดำ มืดสนิท ได้ยินเพียงเสียงตัวละครพูดคุยกัน แต่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักแสดงบนจอกำลังแสดงสีหน้า ขยับตัวยังไง หรือกำลังจะเกิดอะไรในช่วงไคลแม็กซ์ ...

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

Features

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store) ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ  ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ...

Features

หนังสือดี อยาก ‘หลอก’ ต่อ โดย ยมทูตในห้องนอน

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ยมทูต น. ผู้นำคนตายไปยังบัลลังก์พระยมเพื่อรอคำตัดสิน. ยมทูต น. ผู้ดำเนินเรื่องจากวรรณกรรมเยาวชน ‘จอมโจรขโมยหนังสือ’ โดยได้รับหน้าที่เป็นยมทูตของ ลีเซล ...

Features

จากมือชาวเล ถึงจานชาวกรุง ผ่านตัวเชื่อมสัมพันธ์อย่าง ‘บริษัทปลาออร์แกนิก’

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ในซอยวิภาวดีรังสิต 22 แขวงจอมพล เขตจตุจักร มีอาคารหลังหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในหลืบ หลังคาสีน้ำตาลออกไม้ๆ ลักษณะคล้ายหัวเรือใหญ่ ...

Writings

จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง, ชวิน ชองกูเลีย และ ศิรประภา จารุจิตร จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ คำนำ งานหนังสือ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save