InterviewSocialWritings

Chat กับ ‘Chit’ : ชวนมองรัฐประหารเมียนมา ผ่านสายตาสื่อในย่างกุ้ง

เรื่อง : สาธิต สูติปัญญา
ภาพประกอบ : ณลินทิพย์ ตันทักษิณานุกิจ

“ถ้าอินเทอร์เน็ตหรือไฟฟ้าถูกตัดระหว่างให้สัมภาษณ์ ฉันอาจจะหายไป…”

คือคำพูดที่ Chit Hnin Aye หรือ พี่ชิต อดีตนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ภาคภาษาอังกฤษ (B.J.M) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเขียน ผู้วางกลยุทธ์ด้านเนื้อหา (content strategy) และผู้ที่สนใจด้านสื่อ (media enthusiast) ชาวเมียนมา วัย 28 ปี บอกกับเราเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันแรกๆ ที่กองทัพเมียนมาเริ่มตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ

จนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วกว่า 20 วัน บางคำถามที่ตอนนั้นยังคลุมเครือก็ดูจะมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น และหลายคำตอบที่เธอคาดการณ์ไว้ก็ดูเหมือนจะเป็นไปอย่างที่เธอคิด ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก โดยสิ่งที่เราไม่อยากให้เป็นจริงเลยสักนิดคือคำพูดที่ว่า ‘กองทัพไม่เคยลังเลที่จะหันปลายกระบอกปืนในมือมาที่ประชาชน’ แต่สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ทำให้เราปฏิเสธความจริงอันโหดร้ายข้อนี้ไม่ได้

01

ชนวนที่ทำให้คนเมียนมาส่วนใหญ่ออกไปประท้วงในครั้งนี้ เป็นเพราะรับไม่ได้กับการรัฐประหาร หรือเพราะ นางอองซาน ซูจีถูกจับตัวไป

ฉันคิดว่าคนส่วนใหญ่เกลียดเผด็จการ อย่างฉันเองโตมาภายใต้รัฐบาลทหาร ครึ่งหนึ่งของชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ฉันไม่ต้องการพวกเขาเลย ฉันไม่เห็นด้วยที่คนคนเดียวจะมีอำนาจสั่งการทุกอย่าง

พวกเขาอยู่เหนืออำนาจของกฎหมายใดๆ พวกเขาควบคุมประเทศ มีอำนาจเหนือรัฐสภา เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ และเหนือฝ่ายตุลาการ ทั้งสามอำนาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศดำเนินต่อไป พวกเขาไม่ควรเข้าไปควบคุมมันอย่างนี้ ตอนนี้พวกเขาได้ทั้งสามอำนาจไป ย้อนกลับไปตอนที่ฉันยังเด็กพวกเขาก็ทำแบบเดียวกัน

การประท้วงครั้งนี้ คนส่วนใหญ่ในช่วงอายุของฉัน (28-30 ปี) ออกมาประท้วงเพราะสามอำนาจนี้ถูกยึดไป แต่ก็มีประชาชนบางกลุ่มที่ออกมาเพราะผู้นำของพวกเราถูกจับตัวไปเช่นกัน คนที่นี่รักอองซาน ซูจีมาก พวกเราเคารพเธอทั้งในฐานะผู้นำประเทศและในฐานะบุคคลตัวอย่าง ผู้คนต่างเสียใจที่ผู้นำอันเป็นที่รักของพวกเขาถูกจับตัวไปอีกครั้ง หลังจากที่เธอเคยถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้าน (house arrest) มาแล้วเมื่อ 15 ปีก่อน

สุดท้ายถึงประชาชนที่ออกมาชุมนุมครั้งนี้จะมีความแตกต่างอยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ พวกเราต่างไม่ยอมรับการกระทำครั้งนี้ของกองทัพ

“คุณถามว่าเราประท้วงไปเพื่อใคร เราประท้วงไปเพื่ออะไร การประท้วงครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้เกี่ยวกับอองซาน ซูจี เราไม่ได้ประท้วงเพื่อให้ทางการปล่อยตัวเธอ แต่พวกเราประท้วงเพื่อทวงประเทศของเราคืนจากการควบคุมของทหาร ครั้งนี้พวกเรามีเป้าหมายเดียวกัน เราเห็นภาพเดียวกัน ทุกคนร่วมมือกัน ทุกคนมีเมตตาและสนับสนุนกัน ฉันไม่อยากจะพูด…แต่ฉันมั่นใจและมีความหวังว่าพวกเราจะชนะ เราอยากชนะ”

02

กองทัพมองว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่โปร่งใสจึงต้องมีการรัฐประหาร แต่ผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วย แล้วจะมีวีธีการอย่างไรในการแก้ปัญหานี้

ก็ต้องตำหนิรัฐบาลอองซาน ซูจีเหมือนกันที่ไม่ยอมเจรจากับกองทัพบนโต๊ะดีๆ ฉันก็ไม่รู้หรอกว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างรัฐบาลของอองซานกับกองทัพ ตอนนี้มีแต่ข่าวลือ เขาว่ามาแบบนี้ เขาพูดมาแบบนั้น แต่สำหรับฉัน ฉันไม่เคยคิดว่าการรัฐประหารคือคำตอบในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดอยู่แล้ว มันเป็นวิธีการที่เห็นแก่ตัวและไร้ซึ่งมนุษยธรรม การทำแบบนี้กับคนทั้งประเทศเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง

03

กลุ่มคนที่ออกมาประท้วงครั้งนี้หลากหลายมาก รวมกลุ่มกันอย่างไร มีแกนนำหรือไม่                 

เรื่องน่ายินดีในการประท้วงครั้งนี้คือการที่เราไม่มีความแตกต่าง คนที่ออกมาชุมนุมมีหลายกลุ่ม วัยรุ่นที่ออกมาชุมนุมกันบนท้องถนนต่างก็เป็นนักเรียนนักศึกษา มีทั้งจากโรงเรียน/มหาวิทยาลัยของรัฐ และของนานาชาติ มีกลุ่มมุสลิมออกมาลงถนน มีพระที่ออกมาชื่นชมการกระทำของกลุ่มมุสลิม มีเด็กวัยรุ่นชาวชินซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของที่นี่ออกมาประณามกองทัพ ฉันเองเป็นลูกครึ่งคะฉิ่นเหมือนแม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยของที่นี่ ส่วนพ่อเป็นชาวเมียนมาแท้ ฉันก็ยังรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ชุมนุม

ในเรื่องการรวมกลุ่มชุมนุม เราสื่อสารผ่านทั้งกลุ่มในเฟซบุ๊ก และแอปพลิเคชัน Viber ตอนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตเราก็ใช้ SMS ส่งข้อความหากัน ในแต่ละวันจะมีคนคอยบอกว่าวันนี้จะไปรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยไหน วันนี้จะปราศรัยเรื่องอะไร หรือจะไปรวมตัวกันที่สถานทูตประเทศไหน

อีกอย่าง พวกเราไม่จัดการชุมนุมใหญ่เพียงชุมนุมเดียว พวกเราชุมนุมกันแบบกระจาย แต่ละกลุ่มไปชุมนุมในสถานที่ที่แตกต่างกันออกไป การชุมนุมครั้งนี้ไม่เหมือนการชุมนุมครั้งก่อนๆ ในประวัติศาสตร์ที่ต้องมีผู้นำการประท้วงอย่างชัดเจน ปัจจุบันทุกคนล้วนเป็นแกนนำ เราไม่มอบหมายให้ใครทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งคนเดียว หรือกลุ่มเดียว แต่เราร่วมกันทำไปพร้อมกันทั้งประเทศ

อย่างเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ไปชุมนุมที่ธนาคารกลางเมียนมาเพื่อชักชวนให้พนักงานธนาคารหยุดงานมาร่วมชุมนุม ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นก็ไปชุมนุมกันที่อื่นๆ อีก เช่น ไปกดดันสถานทูตจีน ไปกดดันสถานทูตรัสเซีย หรือบางคนก็ไปชุมนุมหน้าสถานทูตอเมริกา

“ความตั้งใจของพวกเราก็คือเพื่อให้ระบบของภาครัฐไม่สามารถดำเนินต่อไปได้”

ยิ่งไปกว่านั้น การชุมนุมแบบนี้ทำให้คนต่างชาติรับรู้เหตุการณ์ในเมียนมา ทำให้สื่อต่างชาติสนใจและรายงานสถานการณ์ในเมียนมามากขึ้น พวกเราต้องการแสดงให้นานาชาติเห็นว่าประชาชนชาวเมียนมาต้องการสิทธิขั้นพื้นฐานในการเป็นมนุษย์ ต้องการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และต้องการเสรีภาพที่จะอยู่ในประเทศนี้อย่างเสรี นั่นคือเหตุผลของการประท้วงครั้งนี้

04

ดารา นักแสดง ที่ออกมาสนับสนุนการประท้วงได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างหรือไม่

ทุกคนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า อย่างน้อยๆ ก็มีโอกาสถูกดำเนินคดีจากการร่วมทำอารยะขัดขืน (civil disobedience) และพวกเรายังได้รับผลกระทบจากการหยุดงาน เหตุผลหลักที่พวกเรารณรงค์ไม่ไปทำงานก็เพราะไม่อยากให้หน่วยงานใดๆ ของรัฐสามารถดำเนินต่อไปได้  เราพยายามหยุดกลไกของรัฐ พยายามหยุดกระบวนการใดๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร ดังนั้นถ้าถามว่าพวกเราได้รับผลกระทบอะไร พวกเราต้องแบกความเสี่ยงและผลกระทบทั้งหมดที่จะตามมาอยู่แล้ว

ถ้าพูดอย่างเฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่มดารา นักแสดงและนักร้อง พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอารยะขัดขืนเช่นเดียวกันกับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนชาวเมียนมาคนอื่นๆ พวกเขาก็มีโอกาสถูกจับกุมเช่นเดียวกัน แต่ฉันคิดว่าตอนนี้ทุกคนยอมแบกรับความเสี่ยงเหล่านั้น เพราะการที่พวกเราอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ชีวิตของพวกเราก็ตกอยู่ในความเสี่ยงมากแล้ว สำหรับพวกเรา ตอนนี้มันไม่มีพื้นที่สำหรับคนที่บอกว่าตัวเองเป็นกลาง สิ่งที่เป็นไปได้คือ ถ้าไม่ชนะพวกเราก็ตาย ถ้ากองทัพไม่ออกไป พวกเราก็ออกไป แค่นั้น นั่นคือสิ่งที่ฉันเห็นในการประท้วงครั้งนี้

05

มีคนออกมาสนับสนุนทหารบ้างไหม

มี…มีอยู่

ฉันไม่อยากจะพูดว่าคนที่ออกมาสนับสนุนกองทัพเป็นกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ สิ่งที่ฉันพยายามบอกก็คือ มีกลุ่มคนจำนวนมาก สนับสนุนกองทัพมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่มีชื่อเรียกกลุ่มเหล่านั้นชัดเจน พวกเขาเป็นแค่กลุ่มคนที่ติดตามพรรค USDP (union solidarity and development party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่กองทัพใช้ชุบตัวว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย พวกเราเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ‘คนเสื้อเขียว’ หรือ ‘The Green’ เพราะสัญลักษณ์และสิ่งต่างๆ ของพรรค USDP เป็นสีเขียวทั้งหมด กลับกันเราจะเรียกกลุ่มคนที่สนับสนุนอองซาน ซูจีและพรรค NLD (national league for democracy) ว่า ‘คนเสื้อแดง’ หรือ ‘The Red’

แต่ในช่วงนี้ ฉันยังไม่เห็นกลุ่มคนที่ออกมาสนับสนุนกองทัพบนท้องถนนเลย จริงๆ แล้วฉันคิดด้วยซ้ำว่ากลุ่มคนเสื้อเขียว แท้จริงก็คือกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์บางอย่างจากกองทัพ ฉันคิดว่าพวกเขาไม่ได้ชอบหรือเห็นด้วยกับกองทัพหรอก

“ฉันเชื่อว่าคงไม่มีประชาชนชาวเมียนมาคนไหนสนับสนุนกลุ่มคนที่ทำสิ่งชั่วร้ายและสกปรกกับประชาชนในประเทศหรอก”

06

ตำรวจและทหารคิดอย่างไรกับผู้ชุมนุม พวกเขาปฏิบัติอย่างไรกับผู้ชุมนุม

ในเมียนมามีคำว่า ‘ตำรวจเพื่อราษฎร’ (people police) ติดอยู่ในทุกๆ สถานีตำรวจและบนเครื่องแบบของพวกเขา แต่ถึงแม้ถ้อยคำเหล่านั้นจะเด่นหราอยู่ขนาดไหน พวกเขาก็ยังปราบปรามผู้ชุมนุม ถึงแม้ว่าการปราบปรามจะไม่รุนแรงเท่าไรก็ตาม แต่พวกเขาก็ทำ ไม่กี่วันที่ผ่านมาในเนปิดอว์ (naypyidaw) เมียะ เทว็ต ข่าย (mya thwet thwet khine)  หนึ่งในผู้ชุมนุมหญิงวัย 19 ปีถูกตำรวจยิงเข้าที่ศีรษะ เพียงเพราะเธอโยนก้อนหินต้านกลุ่มตำรวจ เธอแค่โยนเพื่อต้านเกราะที่ตำรวจดันเข้ามา สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำตอบโต้คือการใช้อาวุธในมือทำร้ายเธออย่างนั้นหรือ? เท่าที่ฉันทราบข่าว อาการของเธอเข้าขั้นวิกฤติ แต่ตอนนี้เธอเสียชีวิตเรียบร้อยแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเด็กวัยรุ่นอีกหนึ่งคนถูกตำรวจยิงเข้าที่หน้าอกด้วย

สำหรับฉันแล้ว จากประสบการณ์ที่เคยเห็นการปฏิวัติโดยกองทัพครั้งก่อนๆ มา กองทัพและตำรวจไม่เคยลังเลสักนิดที่จะใช้อาวุธในมือของพวกเขาทำร้ายประชาชน พวกเขาไม่กลัวเลยสักนิดที่จะลั่นไกปืนมาทางประชาชน

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2007 เกิดการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ (saffron revolution) ที่พระสงฆ์ออกมาประท้วงตามท้องถนน ในช่วงเวลานั้น เหตุการณ์เป็นเหมือนอย่างเคย ตำรวจเข้ามาปราบปรามพระสงฆ์และเริ่มใช้ปืนในมือของพวกเขาทำร้ายท่าน ขนาดพระสงฆ์พวกเขายังกล้าทำขนาดนี้ ในประเทศที่เรียกตัวเองว่าเมืองพุทธ พระสงฆ์ควรเป็นบุคคลที่ทุกคนนับถือและเคารพ แต่พวกเขายังไม่ลังเลที่จะทำร้าย สำหรับฉัน ฉันเห็นกองทัพและตำรวจทำสิ่งที่เลวร้ายแบบนี้มาโดยตลอด

“ทุกวัน เมื่อคุณก้าวเท้าออกไปข้างนอก คุณได้แบกความเสี่ยงไว้เรียบร้อยแล้ว ทุกครั้งที่คุณเห็นตำรวจ ทุกครั้งที่คุณเห็นทหาร มีโอกาสเสมอที่พวกเขาจะหันปลายกระบอกปืนมาที่คุณ เพราะพวกเขาไม่เคยกลัวที่จะใช้อาวุธในมือกับประชาชน”

07

นอกจากตำรวจและทหารที่เป็นอาวุธของผู้ก่อการรัฐประหารแล้ว กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ชุมนุมไหม

ตั้งแต่วันแรกของการประท้วง ดาราและนักร้องที่ออกไปร้องเพลงประณามกองทัพที่ทำรัฐประหารถูกจับ…ไม่สิ ต้องเรียกว่า ถูกจับโดยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ในช่วงเคอร์ฟิว 20:00 – 04:00 น. มีเจ้าหน้าที่แอบเข้ามาจับตัวประชาชน และผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการชุมนุมไปอย่างลับๆ ล่อๆ พวกเขารับรองการใช้อำนาจนั้นโดยอาศัยอำนาจจากกฎอัยการศึก และใครก็ตามที่ออกไปข้างนอกเวลาดังกล่าวมีโอกาสที่จะถูกเจ้าหน้าที่ยิง พวกเขาไม่ได้แค่จะจับกุม แต่พวกเขายิง

อย่างที่กล่าวไป ในช่วงเคอร์ฟิวมีเจ้าหน้าที่แอบเข้าไปจับกุมแกนนำในการทำอารยะขัดขืนถึงในบ้าน ซึ่งนั่นรวมถึงกลุ่ม  นักเรียนแพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และเข้าไปจับกุมสมาชิกคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีส่วนในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดอีกด้วย

08

สื่อที่เมียนมาทำงานกันอย่างไร มีการเซนเซอร์เนื้อหารึเปล่า และมีการเลือกข้างหรือไม่

การเซนเซอร์เนื้อหามีอยู่ในช่วงที่เมียนมาอยู่ภายใต้การนำของผู้นำเผด็จการทหาร แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การรัฐประหารเพิ่งจะเกิดขึ้นมาไม่นาน ฉันยังไม่ได้ยินว่าสื่อไหนได้รับการเตือน แต่ละช่องยังสามารถรายงานข่าวได้อย่างอิสระ แต่ละสำนักข่าวยังคงรายงานสถานการณ์ตามจริง ยกเว้นบางช่องที่เป็นสื่อของกองทัพ ในย่างกุ้ง (yangon) เมืองที่ฉันอยู่ ยังไม่ได้ยินว่าสื่อถูกเซนเซอร์ อย่างไรก็ตาม ในเมือง มยิจีนา (myithyna) ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของเมียนมามีนักข่าวประมาณ 5 คนโดนตำรวจจับกุม

ในเรื่องการทำงาน ตอนนี้มีสองช่องที่เป็นสื่อหลักของรัฐ คือเมียวดี (myawaddy) และเอมอาร์ทีวี (MRTV) สิ่งที่ทั้งสองช่องทำคือการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) สำหรับฉันและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ สองช่องนี้เสนอแต่ข่าวลวง (fake news) ในวันแรกของการประท้วงมีประชาชนมากมายออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยตามท้องถนน แต่สิ่งที่สื่อสองช่องนี้ทำคือออกข่าวว่าสถานการณ์ทุกอย่างเป็นปกติ ผู้คนไปออกกำลังกายกันอย่างสบายใจ เหล่านี้คือข่าวที่ทั้งเมียวดีและเอมอาร์ทีวีรายงาน

ขณะเดียวกันก็มีสื่อหลายช่องที่เป็นสื่อทางเลือก หลายๆ ช่องไม่ใช่สื่อที่อยู่ฝั่งรัฐบาล ไม่สิ… ตามหลักการแล้วสื่อต้องไม่อยู่ฝั่งรัฐบาลอยู่แล้วเพราะสื่อต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล

อีกอย่างในแอปพลิเคชันทวิตเตอร์และเทเลแกรมก็มีนักข่าวที่น่าเชื่อถือใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก สื่อที่ฉันแนะนำว่าน่าเชื่อถือและเป็นภาษาอังกฤษก็มี Frontier Myanmar Magazine และ The Voice Journal

*หมายเหตุ หลังจากวันสัมภาษณ์ไม่นาน Frontier Myanmar Magazine ออกมาเผยแพร่คำเตือนจากกระทรวงข้อมูลข่าวสารเมียนมาที่ส่งถึงสภาสื่อมวลชน ระบุว่าการที่สื่อมวลชนเรียกรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า ‘รัฐบาลรัฐประหาร’ (coup government) ถือว่าละเมิดจริยธรรมสื่อ

09

ทำไมต้องตีหม้อ ตีกระทะ นอกจากสองสิ่งนี้มีสัญลักษณ์อะไรที่ใช้ในการประท้วงอีกไหม

ในตอนแรกการตีหม้อและตีกระทะเป็นวิธีที่ใช้ส่งสัญญาณบอกคนอื่นๆ ว่าตำรวจกำลังมา แต่หลังจากนั้นเราก็เริ่มตีเพราะจุดประสงค์อื่น ทุกๆ สองทุ่มพวกเราจะช่วยกันตีหม้อและกระทะเป็นเวลาเกือบห้าสิบนาทีเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ชุมนุม และแสดงการต่อต้านผู้ก่อการรัฐประหาร

ในส่วนของคำอธิบายในเรื่องของพิธีกรรมและความเชื่อที่เพิ่มเข้ามา มันค่อนข้างน่ากลัว ฉันไม่รู้ว่าประเทศไทยมีพิธีกรรมนี้ รึเปล่า การตีหม้อและกระทะอีกนัยหนึ่งเป็นการขับไล่วิญญาณชั่วร้ายให้ออกไป หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือเราตีหม้อและกระทะเพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการ ซึ่งในความคิดของพวกเราเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและน่ารังเกียจ ขณะตีพวกเราก็สบถ สาปส่งพวกเขาด้วย

ในส่วนของสัญลักษณ์อื่นๆ เรามีชื่อเรียกผู้นำการรัฐประหาร คือพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (min aung hlaing) ซึ่งเสียงของแต่ละพยางค์ในชื่อเขาคือ Ma-A-La (มะ-อะ-ละ) ซึ่ง Ma-A-La เป็นคำสบถในภาษาเมียนมา แปลว่า Motherfuc*er

ดังนั้นพวกเราจึงเรียกเขาด้วยคำนั้นแทนชื่อจริงเพื่อล้อเลียนและประณาม แต่ถ้าพูดตามตรง ชื่อของเขาเองก็เป็นชื่อที่อัปมงคลอยู่แล้ว เพราะมันมีคำที่มีความหมายว่า Motherfuc*er อยู่ในชื่อของเขา

ส่วนอองซาน ซูจี เราเรียกอองซาน ซูจีว่า ‘แม่’ ซึ่งจริงๆ เราเรียกแบบนี้มานานแล้ว สำหรับชาวเมียนมา เธอเป็นเหมือนคนที่ปกป้องดูแลและพัฒนาประเทศ

10

ในไทยมีผู้ชุมนุมนำวิธีการตีหม้อและกระทะมาใช้ด้วย แล้วที่เมียนมามีการประยุกต์ใช้อะไรจากการประท้วงของไทยบ้างไหม

พวกเราได้รับแรงบันดาลใจในการชูสามนิ้วมาจากประเทศไทย ตอนแรกที่พวกเราเห็นคนไทยทำมันมีความหมายมาก และสร้างแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างให้พวกเรา พวกเราเลยเอาความหมายของการชูสามนิ้วในประเทศไทยมาปรับให้เข้ากับบริบทการประท้วงในเมียนมา ความหมายประมาณว่า

คุณรู้ไหม (you know?)

ฉันรู้เหมือนกัน (I know too)

รู้เรื่องใคร (know to who?)

ก็รู้ว่าผู้นำทหารโกงยังไงล่ะ (know to the military’s leader cheated)

11

กองทัพขอเวลาอีกไม่นาน แล้วจะคืนความสุขให้คนทั้งประเทศ เชื่อไหมว่าเขาจะคืนให้จริงๆ

ไม่เลย ฉันไม่เชื่อเลยสักนิด

เหตุผลที่กองทัพอ้างเพื่อทำการรัฐประหารคือ ‘การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่โปร่งใส’ พวกเขาจึงต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาและคืนความสงบให้คนทั้งประเทศ รวมทั้งจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง แต่สำหรับฉัน แค่เห็นคนเกือบทั้งประเทศออกมาต่อต้านการกระทำของพวกเขา ก็น่าจะเป็นคำตอบได้แล้วว่าการเลือกตั้งโปร่งใสหรือไม่

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดฉันไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้พรรคใหญ่ๆ เลย กระทั่งพรรคของอองซาน ซูจี ฉันก็ไม่ลงคะแนนให้ ฉันลงคะแนนให้พรรคการเมืองกลุ่มรอง พรรคเล็กๆ สุดท้ายพรรคที่ฉันให้คะแนนไม่ชนะ แต่ฉันก็ยอมรับได้ เพราะฉันรู้ว่ามันยุติธรรม แต่สิ่งที่กองทัพทำคือการชี้นิ้วบอกว่ามีการโกงเลือกตั้งขึ้น พอเจรจากันไม่ลงตัว หรือไม่ได้ผลประโยชน์ตามที่กองทัพต้องการ เขาก็หยิบปืนออกมาแล้วบอกว่า ‘ฉันมีอาวุธนะ’ ทั้งหมดฟังดูเหมือนเกมที่กองทัพพยายามจะเล่นให้ชนะ

12

คิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะกินเวลายาวนานแค่ไหน ผู้ชุมนุมในเมียนมาเหนื่อยล้ากันไหม

ฉันคิดว่า ณ เวลานี้ผู้คนต่างก็เหนื่อยล้ากันมากๆ แล้ว อย่างเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กองทัพปล่อยตัวนักโทษกว่า 3,000 คนในนามการอภัยโทษของรัฐ (state pardon) เนื่องในโอกาสวันสหภาพของเมียนมา (myanmar union day) ในทุกปีวันนี้จะเป็นวันหยุดราชการและรัฐบาลก็จะปล่อยตัวนักโทษแบบนี้ โดยปกตินักโทษที่ถูกปล่อยตัวจะเป็นนักโทษคดีทางการเมือง นักโทษคดีไม่ร้ายแรง หรือไม่เป็นอันตรายต่อสังคม แต่ในปีนี้ต่างออกไป กองทัพปล่อยตัวนักโทษคดีฆาตกรรมและคดีร้ายแรงออกมา หลังมีการปล่อยตัว ประชาชนที่นี่ต่างใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวง เมื่อก่อนกองทัพใช้วิธีนี้ในการสร้างความโกลาหล สร้างความหวาดระแวงและความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกัน และตอนนี้พวกเขาก็กำลังใช้วิธีการเดิมอีกครั้ง

เมื่อคืน (14 กุมภาพันธ์) พอพวกเราได้ยินข่าวว่าอินเทอร์เน็ตจะถูกตัดตั้งแต่ 01:00 – 09:00 น.พวกเรากลัวมาก เพราะคืนก่อน ช่วงเคอร์ฟิว ประมาณ 20:00 – 20:30 น. ฉันนั่งอยู่ที่ระเบียง เห็นคนท่าทางแปลกๆ เดินอยู่ที่ถนน พวกเราเลยต้องช่วยกันเริ่มเคาะหม้อและกระทะเพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้คนในละแวกชุมชนรู้ว่ามีคนแปลกหน้าอยู่บนถนน เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นทั่วเมือง ทั่วย่านที่อยู่อาศัยของผู้คน”

“ฉันนอนไม่หลับเลย เพราะกลัวมากว่าในช่วงที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตแบบนี้ บ้านของฉันจะโดนปล้น โดนบุกรุกเข้ามา หรือกลัวว่าจะมีใครเผาบ้าน มีรายงานว่ามีคนแอบใส่ยาพิษลงไปในน้ำที่ใช้ดื่มกันด้วย มีเรื่องบ้าๆ แบบนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด”

13

คุณคิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้ประชาชนจะชนะไหม

ในช่วงนี้ ใครต่อใครก็ถามคำถามทำนองนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป เราจะชนะหรือเราจะแพ้ ในเชิงเทคนิคเรามีคำที่ใช้เพื่อให้กำลังใจกันในหมู่ผู้ชุมนุม คำที่มีความหมายคล้ายๆ ว่า ‘เราต้องชนะในการประท้วงครั้งนี้’ แต่พูดกันอย่างตรงไปตรงมา คนรุ่นมิลเลนเนียลอย่างฉันที่เกิดมาและใช้ชีวิตเกือบครึ่งหนึ่งภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ฉันมีทั้งความหวังที่จะชนะ และความสิ้นหวังก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กรุ่นใหม่ในเมียนมาตอนนี้ พวกเขาเกิดและโตมาในสังคมที่ค่อนข้างเสรี ช่วงที่มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกๆ พวกเราได้รัฐบาลพลเรือนมาเมื่อปี 2010  แม้ว่าผู้บริหารที่ได้มาจะเป็นพรรคฝ่ายทหาร แต่ประเทศก็ค่อนข้างอิสระและสังคมก็ค่อนข้างมีสีสันมาก ในช่วงนั้นพวกเราเปิดรับความรู้ใหม่ๆ จากต่างชาติ ฉันเลยคิดว่าเด็กรุ่นใหม่มีความหวังที่จะชนะอยู่พอสมควร อย่างน้อยที่สุดพวกเขาต่างก็เคยใช้ชีวิตในสังคมที่เสรีมาแล้ว สังคมเดียวกันกับที่พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อที่จะได้มันกลับมาอีกครั้ง

ท้ายที่สุด ฉันเชื่อว่าพวกเราจะชนะ พวกเราจะต้องชนะ พวกเราถอยหลังกลับไปอยู่ในระบบเผด็จการทหารแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากชนะ

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
7
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
5
Angry โกรธ
0

More in:Interview

Writings

ชายผู้สร้างถนนในบรรณพิภพ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  บทนำ “ขอถามได้ไหมคะว่าคุณน้าเป็นคนที่ไหน” “เป็นคนใต้ จังหวัดยะลา แต่ขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ นานจนกระทั่งคนอื่นเขาเข้าใจผิดกันหมดแล้วว่าเป็นคนกรุงเทพฯ” “พอได้ยินเสียงสำเนียงของคุณน้า ก็เลยคิดว่าอาจจะไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์” “ยังติดสำเนียงใต้ใช่ไหม แล้วทองแดงออกเยอะไหมล่ะ ...

Writings

‘นักชิมมืออาชีพ’ ผู้อยู่เบื้องหลังทุกความอร่อย

เรื่องและภาพประกอบ : พนิดา ช่างทอง ผู้เขียนและคนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับอาชีพ ‘นักชิมอาหาร’ หรือ ‘นักวิจารณ์อาหาร’ ในภาพของ Food Critic อาชีพในฝันของผู้ที่ชื่นชอบการกิน แต่สำหรับ ‘นักชิมมืออาชีพ’ หรือ ...

Writings

เมื่อคนฟังกลายเป็นคนพูด : เปิดใจ ‘คนรับเรื่องร้องทุกข์’ กับความสุขที่ได้ช่วยคน

เรื่องและภาพประกอบ: ทยาภา เจียรวาปี หากให้ทุกคนย้อนนึกถึงสถานที่วิ่งเล่นในวัยเด็ก เชื่อว่าสำหรับใครหลายๆ คน คงเป็นสนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน หรือลานกีฬาในโรงเรียน แต่สำหรับฉัน ที่วิ่งเล่นตอนเด็กคือสถานที่ราชการขนาดกลางในซอยเล็กๆ บนถนนพระราม 6 อย่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ ...

Writings

ศิษยาภิบาล ผู้เลี้ยงแกะของพระเจ้า

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง การเรียนอยู่ในโรงเรียนคริสต์นิกายคาทอลิกตลอดระยะเวลา 6 ปี ทำให้ฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาคริสต์อยู่บ่อยครั้ง ...

Writings

‘RICE สาระ’ เรื่องข้าวๆ ของคนวิจัยข้าว

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นี่สินะที่เรียกว่า ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’ ความเงียบก่อตัวขึ้นในกองบรรณาธิการเล็กๆ ของเรา หลังสิ้นคำถามของฉันว่า “มีใครรู้จักศูนย์วิจัยข้าวไหม” แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ‘รู้จัก’ อยู่เล็กน้อย แต่ความเงียบก็ได้ตอบคำถามแล้วว่า ‘ไม่มีใครรู้จักเลย’ ...

Writings

LADYS AND (NOT ONLY) GENTLEMEN สนทนาภาษาแซฟฟิกกับ “LADYS” นักเขียนนิยายผู้สร้างตัวละครที่หลากหลายและลื่นไหลมากกว่าเพียงเลสเบียน

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “กลัวเธอมองว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิง” พูดจบ ข้าพเจ้ามองหน้าอกแบนราบใต้ผ้าเนื้อบาง เหลือบมองบ่าไหล่ที่กว้างและหนา นึกถึงองคชาติที่อยู่กึ่งกลางร่างกาย ข้าพเจ้านึก ไม่ใช่อย่างแขยงแปลกแยก ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save