เรื่อง : กิตติธัช วนิชผล
ภาพประกอบ : trutarseyes
ตอนอ่านบทความนี้ มีสมาร์ตโฟนในมือหรือกระเป๋าของคุณรึเปล่านะ ?
ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าสมาร์ตโฟนเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ในร่างกายของเราไปแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร ก็มีสมาร์ตโฟนเป็นส่วนช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่เช้าจนถึงก่อนนอน
เมื่อสมาร์ตโฟนเป็นสิ่งสำคัญ การเลือกซื้อแต่ละครั้ง ก็เป็นเหมือนการเลือกเส้นทาง ว่าตลอดระยะเวลาที่เรากำลังจะใช้สมาร์ตโฟนเครื่องใหม่นี้ จะได้รับประสบการณ์การใช้ที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร
สัปดาห์ก่อน Apple เพิ่งจัดงาน ‘Spring Loaded’ เพื่อเปิดตัวสินค้าของแบรนด์ใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น iPhone 12 สีม่วง, Apple AirTag อุปกรณ์ช่วยติดตามสิ่งของ, iPad Pro รุ่นใหม่ที่ใส่ CPU ตัวเดียวกันกับ Macbook รุ่นล่าสุด, iMac 24 นิ้ว ดีไซน์ใหม่ และใช้ CPU M1 หรือแม้กระทั่ง Apple TV 4K (2021) กล่องสมาร์ตทีวีของ Apple
จุดน่าสังเกตในงานเปิดตัวสินค้าเหล่านี้ทั้งหมดก็คือ ในระหว่างการนำเสนอตัวสินค้า เราได้เห็นวิดีโอสาธิตการใช้ที่ทาง Apple ทำขึ้นเพื่อเป็นโฆษณาและสื่อสารกับลูกค้า ซึ่งวิดีโอทั้งหมดนำเสนอ ‘แบรนด์’ Apple ไปถึงกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันไปตามประเภทสินค้า เช่น iMac 24 นิ้ว มีวิดีโอสาธิตเป็นนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ที่บ้าน หรือคนทำงานแบบ work from home
ขณะที่สินค้าที่ขายดีที่สุดของ Apple อย่าง iPhone เราก็ได้เห็นวิดีโอสาธิตการใช้ iPhone 12 ในช่วงงานเปิดตัว ‘Hi,Speed.’ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดย Apple แสดงผ่านวิดีโอให้เห็นว่าเป็นสมาร์ตโฟนสำหรับทุกคน ใช้ได้ทุกวัย ทำได้ทุกอย่าง ฟังเพลง เล่นเกม เสพคอนเทนต์ หรือแม้แต่ถ่ายวิดีโอทั่วไป ในขณะที่ iPhone 12 Pro / 12 Pro Max กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้ที่เน้นการใช้กล้องเพื่อถ่ายรูป และวิดีโอ
ผู้เขียนนั่งดูวิดีโอต่างๆ การสาธิตการใช้งาน และสื่อสารที่ตั้งเป้าหมายตรงดิ่งเช่นนั้นก็ทำให้นึกถึงการทำการตลาดที่ทุกแบรนด์ต้องทำเพื่อการเข้าหากลุ่มลูกค้าทันที
ในวงการการตลาด การทำความเข้าใจลูกค้าให้มาก เพื่อจะสร้างสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงการให้ประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้เขียนแนะนำให้ทำความเข้าใจส่วนหนึ่งของกระบวนการนั้น ผ่านทฤษฎี customer journey หรือ การเดินทางของลูกค้า
การเดินทางของลูกค้าจะแบ่งออกเป็นขั้นตอน ดังนี้
- การรับรู้ (awareness) คือการรับรู้ถึงแบรนด์ รับรู้ถึงอัตลักษณ์ของแบรนด์จากลูกค้า ผ่านการโฆษณา การบอกต่อ หรือโซเชียลมีเดีย
- การค้นหาข้อมูล (evaluation) คือการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของแบรนด์โดยลูกค้า
- การตัดสินใจซื้อ (purchase) คือ การที่กลุ่มเป้าหมายอยากที่จะซื้อสินค้าหรือบริการ แล้วซื้อมาใช้งานจริง
- การใช้งาน (usage) คือการที่ลูกค้าได้สัมผัสกับแบรนด์โดยตรง ได้ใช้งานสินค้าจริง ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์การใช้งานจริง ซึ่งแบรนด์สามารถสร้างความประทับใจของลูกค้าได้จากขั้นตอนนี้
- การซื้อซ้ำ (repurchase) คือการที่ลูกค้าเกิดความประทับใจ ตกลงซื้อสินค้าต่อ และ
- การสนับสนุน (advocacy) คือการที่ลูกค้าที่เกิดความประทับใจ
- บอกต่อประสบการณ์การใช้งานจริงให้คนอื่นได้ซื้อตามแบบปากต่อปาก (word of mouth) เป็นการเดินทางตั้งแต่เริ่มรู้จักแบรนด์ สนใจซื้อ และบอกต่อให้คนอื่นซื้อต่อไป
เมื่อแบรนด์ได้ออกแบบการสื่อสารกับลูกค้าแล้ว ก็จะสามารถกำหนดได้เลยว่า ถ้าจะให้กลุ่มลูกค้าของแบรนด์นั้นสนใจ จะต้องวางตำแหน่งการตลาดเอาไว้ตรงไหน อย่างเช่น หากอยากให้ลูกค้าของ Apple ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เกิดการรับรู้ iPhone 12 สีม่วงที่เพิ่งเปิดตัวไป ก็น่าจะเลือกจัดงานเปิดตัวในสื่อโซเชียลมีเดีย แบบที่ได้เห็นในงาน spring loaded ที่ผ่านมา แล้วส่งเครื่องสีใหม่นี้ให้กับนักรีวิวก่อนวันวางจำหน่ายจริง เพื่อสร้างกระแสให้คนได้กลับไปค้นหาข้อมูลต่อได้อีก ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นเหมือนการดึงลูกค้าเข้าสู่ ‘การเดินทางของลูกค้า’ มากขึ้น
จากทฤษฎี จะเห็นว่าการรับรู้แบรนด์นั้นเป็นขั้นตอนแรกที่จะนำไปสู่การเลือกซื้อโทรศัพท์ การรับรู้แบรนด์จึงนับได้ว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากๆ
ในตอนแรก ผู้เขียนมีความเห็นว่า เหตุผลที่ผู้คนเลือกซื้อโทรศัพท์นั้น บางครั้งอาจจะเลือกตามความชอบส่วนตัว แค่รูปลักษณ์ภายนอก หรือเลือกจากประสบการณ์ตรงเท่านั้น แล้วยังมีคนที่ผู้เขียนรู้จักบางคนเลือกซื้อสมาร์ตโฟนแบบ ‘เครื่องไหนก็ได้ ขอแค่ใช้ได้ก็พอ’ อีกด้วย แต่เมื่อได้ลองทำแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กๆ ก็พบว่าที่จริงแล้วมีอะไรมากกว่านั้น
จากกลุ่มตัวอย่าง 104 คน ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษาระดับอุดมศึกษา และวัยทำงานตอนต้น กว่า 90% ที่ตอบแบบสอบถาม ‘สมาร์ตโฟนนั้น ตรงสไตล์ฉันหรือเปล่านะ ?’ ซึ่งเป็นแบบสอบถามที่ถามถึงสมาร์ตโฟนที่ใช้อยู่ สาเหตุที่เลือกใช้ และความพึงพอใจหลังใช้ พร้อมคำถามเพิ่มเติมที่ว่า ทราบหรือไม่ว่ากลุ่มลูกค้าของแบรนด์สมาร์ตโฟนคือใคร และคิดว่าการกำหนดกลุ่มนั้นมีผลต่อการเลือกซื้อสมาร์ตโฟนหรือไม่ ทำให้ผู้เขียนได้รับข้อมูลที่น่าสนใจ และสามารถนำมาวิเคราะห์ต่อได้ ดังนี้
ลองมาดูสถิติการเลือกใช้สมาร์ตโฟนกันก่อน
แบรนด์สมาร์ตโฟนที่มีคนใช้มากที่สุด 5 อันดับก็คือ Apple, Samsung, Huawei, Vivo, Oppo และ Realme ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนช่วงวัยตั้งแต่ นักเรียนมัธยมปลาย จนถึงวัยทำงานตอนต้น เลือกใช้ iPhone กันเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง
และเมื่อลองมองลงไปถึงแต่ละรุ่นที่ใช้แล้ว จะพบว่ามีความหลากหลายของรุ่นอยู่มาก โดยผู้ตอบสอบถามส่วนมากใช้ iPhone 11 มากที่สุด รองลงมาคือ iPhone XR, iPhone 7 ตามลำดับ และ iPhone 12 Pro, 12 Pro Max และ 11 Pro ที่มีจำนวนเท่าๆ กัน
โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่คนเลือกใช้สมาร์ตโฟนรุ่นนั้นสามารถจัดอันดับคำตอบได้ ดังนี้
1. สเปคคุ้มค่าคุ้มราคา
การซื้อสมาร์ตโฟน ก็เป็นเหมือนการลงทุนอย่างหนึ่ง ยิ่งในปัจจุบัน ที่ราคาสมาร์ตโฟนสูงสุดถึงเครื่องละกว่า 39,990 บาท คนส่วนมากจึงมักจะเลือกซื้อสมาร์ตโฟนที่คุ้มค่า คุ้มกับราคาที่จ่ายไป นี่จึงกลายเป็นเป็นหนึ่ง ในปัจจัยที่คนใช้เลือกซื้อสมาร์ตโฟน โดยในแง่ของการตลาด และการนำเสนอแบรนด์ แบรนด์อย่างเช่น Realme และ Xiaomi วางอัตลักษณ์ของแบรนด์โดยเน้นที่ความคุ้มค่า ราคาไม่แพง และเข้าถึงผู้คนได้ง่าย และจากที่คนส่วนมากเลือกซื้อ iPhone 11 ซึ่ง Apple ได้มีการตั้งราคาให้เป็นสมาร์ตโฟนที่มีสเปคเครื่องที่คุ้มค่าคุ้มราคามาก จึงไม่น่าแปลกใจที่คนจะสนใจที่จะซื้อ iPhone ที่ราคาคุ้มค่านี้ แม้ว่าจะมีความด้อยกว่า iPhone รุ่นพี่ ตัวท็อปของแท้ อย่าง iPhone 11 Pro อยู่บ้างก็ตาม
2. รูปร่างภายนอกของเครื่องสวย / สีสวย
แม้ว่าสเปค หรือฟีเจอร์ที่มีอยู่ภายในสมาร์ตโฟนแต่ละเครื่องนั้นจะมีความสำคัญ แต่ใช่ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะไม่สำคัญเลย โดยผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนยังคงเลือกซื้อสมาร์ตโฟนที่รูปลักษณ์ภายนอก เลือกสีที่ชอบ เลือกขนาดเครื่องที่บางพอจะพกในกระเป๋าได้ง่าย ซึ่งก็เป็นเหมือนการบอกตัวตนของเจ้าของเครื่อง อย่างผู้เขียนเองชอบสมาร์ตโฟนสีดำมากกว่ามีสีสันอื่นๆ เป็นต้น ส่วนด้านการนำเสนอความเป็นแบรนด์ แต่ละแบรนด์ก็เลือกที่จะนำเสนอให้แบรนด์ตัวเองมีความโดดเด่น แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ เช่นกัน เช่นกรณีของ Apple ที่เปิดตัว iPhone 6s ในสี ‘Rose Gold’ หรือ iPhone 7 ในสี ‘Jet Black’ เป็นต้น ซึ่งการตั้งชื่อสีที่แตกต่าง ก็จะช่วยสร้างตัวตนของแบรนด์ได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งชื่อที่แปลก ก็จะสามารถสร้าง ‘การรับรู้’ ตามทฤษฎี customer journey ได้อีกด้วย
3. ชอบฟีเจอร์บางอย่างในรุ่นนั้นๆ
เนื่องจากสมาร์ตโฟนในปัจจุบัน มีการแข่งขันสูง อย่างที่บอกในข้อที่ผ่านมาว่าการนำเสนอให้แบรนด์ตัวเองมีความโดดเด่น มีฟีเจอร์ที่ทำให้สมาร์ตโฟนรุ่นนั้นๆ เด่นกว่า น่าสนใจกว่าสมาร์ตโฟนรุ่นอื่นๆ ก็เป็นการสร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้ได้ดีเช่นเดียวกัน เช่น Samsung ที่ออกสมาร์ตโฟน Samsung Galaxy S21 Ultra 5G ที่สามารถซูมได้ 100 เท่าแต่ที่น่าสนใจก็คือ มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เลือกใช้รุ่นนี้ และกลับมีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 32.7% เลือกใช้ด้วยเหตุผลนี้ จึงอาจตีความจากแบบสอบถามได้ว่า ฟีเจอร์ที่คนสนใจไม่ใช่ ‘ถ่ายรูปซูมได้เยอะ’ แต่เป็น ‘ถ่ายรูปได้สวย’ ต่างหาก แบรนด์ที่สามารถทำสิ่งนี้ได้ดีอย่าง Apple จึงมีผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพอใจในสมาร์ตโฟนเครื่องปัจจุบัน
“ส่วนตัวรู้สึกชอบกล้องของ iPhone เพราะให้ความสมจริง คมชัด ไม่แต่งจนมากเกินไป (จะเอามาแต่งเอง)” เป็นต้น
4. ไม่มีเหตุผลใดเป็นพิเศษ
แม้ว่าสมาร์ตโฟนจะเป็นสินค้าที่หลายๆ คนเลือกซื้อเพราะเหตุผลต่างๆ มากมาย แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่เลือกใช้สมาร์ตโฟนโดยไม่ได้สนใจในฟีเจอร์พิเศษ ไม่ได้สนใจสเปคที่หวือหวาเช่นที่ตอบแบบสอบถามมานี้ด้วย
5. ความหรูหรา ตรงสไตล์ของเรา
สมาร์ตโฟนเองอาจจะเป็นตัวแทนของการแสดงสถานะ และความ ‘High-End’ ของผู้ใช้ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามที่ส่วนใหญ่เลือกใช้ iPhone ก็จะเลือกใช้เพราะเหตุผลนี้ ประกอบกับเหตุผลด้านความคุ้มค่า และความเป็นตัวท็อปของแบรนด์ เป็นต้น
6. เป็นตัวท็อปของแบรนด์
สมาร์ตโฟนที่เปิดตัววางจำหน่ายใหม่ในแต่ละปีนั้น จะมีสมาร์ตโฟนที่เปรียบได้ว่าเป็นสมาร์ตโฟนที่แรงที่สุด สเปคจัดเต็มที่สุด ของแบรนด์นั้นในปีนั้น หรือที่คนในวงการเรียกว่า ‘สมาร์ตโฟนเรือธง’ ผู้ตอบแบบสอบถามที่เล็งเห็นถึงความเป็นเรือธงของแบรนด์ และเลือกซื้อสมาร์ตโฟนเพราะความเป็นเรือธงพร้อมความหรูหราของสมาร์ตโฟนเช่นในข้อก่อนหน้า จึงมีมากเช่นกัน
7. ดูโฆษณา/รีวิวในอินเทอร์เน็ตแล้วถูกใจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโฆษณาที่ปรากฏในสื่อต่างๆ หรือรีวิวในอินเทอร์เน็ต ที่เปรียบเสมือนเป็น ผู้ได้รับ word of mouth ตามทฤษฎี customer journey จนเกิด awareness ตามมา ก็เป็นหนึ่ง ในปัจจัยที่ทำให้คนสนใจเลือกซื้อสมาร์ตโฟนได้ จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง รีวิวในอินเทอร์เน็ตก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสมาร์ตโฟนเช่นกัน
8. ซอฟต์แวร์ดี
เป็นคำตอบที่นอกเหนือจากที่ผู้เขียนคาดเดาไว้ แต่มีผู้เลือกตอบด้วยเหตุผลเช่นนี้อยู่ไม่น้อยเลย ที่น่าสนใจก็คือ ทุกคนที่เลือกซื้อด้วยสาเหตุนี้ เป็นผลมาจากระบบปฏิบัติการ iOS ของ Apple ที่มีความต่างจากแบรนด์อื่น และไม่มีแบรนด์ใดเหมือน เนื่องจากความเสถียรของระบบปฏิบัติการ หรือเหตุผลเล็กๆ อย่าง “Instagram story ชัด” เพราะ iOS มีการปรับแต่งซอฟต์แวร์มาดีกว่า เป็นต้น
9. Brand Loyalty
อีกเหตุผลที่ผู้ใช้สมาร์ตโฟน Apple เลือกข้อนี้ เป็นเพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า Apple มีการพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าชอบในแบรนด์ และสร้าง Brand Loyalty จนเกิดการสนับสนุน (advocacy) ตามทฤษฎี customer journey ได้
สำหรับคำถามเกี่ยวกับความพึงพอใจในการใช้งาน ตามเหตุผลที่ระบุไว้ก่อนหน้า คนส่วนใหญ่ให้คะแนนที่ 5 คะแนน หรือพึงพอใจมาก มีคอมเมนต์ที่น่าสนใจก็คือ “พอใจมาก เพราะตั้งแต่ซื้อมา 5-6 ปี ยังไม่เคยพังหรือต้องซ่อม ตกบ่อยแต่ก็ไม่แตกสักที ใช้คุ้มมากกับเงินที่เสียไป”
แล้วทั้งหมดนี้เกี่ยวกับการนำเสนอของแบรนด์อย่างไร ?
เราได้สอบถามผู้ตอบแบบสอบถามเพิ่มเติมว่าทราบถึงการกำหนดกลุ่มลูกค้าของแบรนด์หรือไม่ และถามความเห็นตอนท้ายว่า คิดว่าการกำหนดกลุ่มลูกค้าของแบรนด์มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสมาร์ตโฟนหรือเปล่า ก็ได้คำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้
มีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 51% ทราบว่าทางแบรนด์กำหนดกลุ่มลูกค้าไว้ว่าเป็นใคร โดยมีคำตอบที่น่าสนใจ เช่น “Apple iPhone XS มีกลุ่มลูกค้าเป็นชนชั้นกลางถึงสูง และเน้นกลุ่มตลาดลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่มีความ royalty กับแบรนด์” หรือ “Samsung Galaxy A70 มีกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ใช่สายเกมเมอร์ เน้นไลฟ์สไตล์” หรือแม้แต่ “Oneplus มีกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มคนเน้นสเปคที่คุ้มค่ากับราคาที่จ่าย เหมือนสโลแกน นักฆ่ามือถือเรือธง” เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนมองว่าถูกต้อง เพราะเมื่อมองโฆษณาของทาง Apple และ Samsung ก็เห็นการใส่สัญญะที่บ่งบอกถึงการกำหนดกลุ่มลูกค้าของแบรนด์นั้นไว้ค่อนข้างชัดเจน
มีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 63.5 % มองว่าการกำหนดกลุ่มลูกค้าโดยแบรนด์ มีผลต่อการเลือกซื้อสมาร์ตโฟนของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยมีเหตุผลที่น่าสนใจจากทั้งฝ่าย ที่มองว่ามีผล เช่น “มีผล เพราะ อุปกรณ์มีหน้าที่ตอบสนองความต้องการในการใช้งาน ถ้ากลุ่มลูกค้าตรงกับเรา หลายๆ อย่างจะถูกออกแบบมาให้ตรงและเข้ากับการใช้งาน ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ผลิตเคสกันกระแทกมือถือให้ทหารอาชีพ ก็จะผลิตมาได้ตอบโจทย์ทหารได้หลายประเทศ (แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์คนที่มีอาชีพทหาร หรือทหารที่ไม่ทำหน้าที่ทหาร)” หรือ “มีผล เพราะ โทรศัพท์มีการใช้งานฟังก์ชันที่หลากหลาย แต่ความต้องการของผู้ซื้อไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด ดังนั้นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้เฉพาะทาง จึงเลือกซื้อแบรนด์ที่ตอบโจทย์ในด้านที่ต้องการมากที่สุด” และฝ่ายที่มองว่าไม่มีผล เช่น “ไม่มีผล เพราะถึงแม้เราจะไม่ตรงกับกลุ่มลูกค้า แต่ถ้ามันใช้ดี ก็ซื้อ” หรือ “เราซื้อมาใช้อะ ไม่ได้ซื้อไว้เข้าสังคม ถ้ามันใช่เราก็เลือก เหมือนคนรักแหละ เราต้องลองศึกษาเอง” เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงคำตอบคนละมุมมอง บางคนอาจจะซื้อสมาร์ตโฟนเพราะความคุ้มค่า คุ้มราคา หรือซื้อเพราะมีฟีเจอร์ที่ทางแบรนด์ตั้งใจทำเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ เช่น Apple ที่ทำกล้องเน้นความคมชัด ภาพสีสมจริง หรือ Huawei ที่ร่วมมือกันออกแบบกล้องสมาร์ตโฟนกับแบรนด์กล้องชื่อดังอย่าง Leica แต่บางคนก็ไม่ได้สนใจในจุดนั้นเลยแม้แต่น้อย เพราะเลือกซื้อสมาร์ตโฟนเพราะแค่สีสวย หรือไม่มีเหตุผลใดเป็นพิเศษเลยก็ได้
ถ้าเราสังเกตดีๆ จะมองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าการกำหนดกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน ทำให้เมื่อเรานึกถึงชื่อแบรนด์สมาร์ตโฟนแบรนด์นั้นขึ้นมา เราก็มักจะ ‘เห็นหน้าตาของลูกค้า’ ที่ชัดเจนมากเช่นกัน เหล่านั้นคือข้อดีของการกำหนดกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ และนำเสนอแบรนด์ที่ชัดเจนตั้งแต่แรก
แต่ก็อาจจะนำไปสู่ข้อเสียต่อมา นั่นคือ ตลอดเวลาที่ผู้เขียนอยู่ในวงการสมาร์ตโฟน มักจะได้เห็นการทะเลาะกันของกลุ่มลูกค้าที่แยกกันชัดเจนของทั้งสองฝั่งนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะคำถามโลกแตกอย่าง ‘Android หรือ iOS ดีกว่ากัน ?’ ซึ่งที่จริงแล้ว ในมุมของผู้เขียนเองมองว่าต่างฝ่ายต่างก็มีข้อดีที่แตกต่างกันไป และไม่สามารถหาผู้ชนะที่ตายตัวได้
การทำแบบสอบถามนี้ขึ้น จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสะท้อนถึงมุมมองของผู้เขียนได้ชัดเจนว่า ทุกคนมีเหตุผลที่เลือกใช้สมาร์ตโฟนที่ต่างกัน มีความพอใจในการใช้สมาร์ตโฟนที่ต่างกัน และแต่ละแบรนด์ก็สามารถเลือกกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อสินค้าต่างกันด้วย
แทนที่จะเอาแต่ ‘ดึง’ ให้คนอื่นมาชอบในสิ่งที่เราชอบ สู้ปล่อยให้เขาได้เลือกในสิ่งที่เขาชอบไม่ดีกว่าหรือ ?
อ้างอิง