Art & CultureInterviewSocialWritings

จากหญิงสองใจสู่วีรสตรี : การตีความใหม่ในรอบ 200 ปี ของ ‘วันทอง’ ฉบับละครโทรทัศน์

เรื่อง : วรลดา ถาวร
ภาพประกอบ : ณลินทิพย์ ตันทักษิณานุกิจ

หลายคนคงเคยได้ยินสำนวน ‘วันทองสองใจ’ ผ่านหูมาบ้าง และคนจำนวนไม่น้อยอาจทราบว่าสำนวนนี้มาจากวรรณคดีเรื่อง เสภาขุนช้างขุนแผน ที่เราเคยได้เรียนกันในบางช่วงตอนสมัยมัธยม ดูจากชื่อเรื่องก็คงพอจะเห็นภาพว่าเรื่องนี้มีตัวละครเอกเป็นผู้ชาย แต่ที่น่าประหลาดใจไม่น้อยคือตัวละครที่ดูจะได้รับการจดจำมากกว่ากลับเป็นตัวละครหญิงอย่าง ‘วันทอง’

นับตั้งแต่มีการชำระสำนวนวรรณคดีเรื่องนี้ในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นฉบับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ร่วมกับนักปราชญ์ราชบัณฑิต และเป็นฉบับที่วรรณคดีสโมสรซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกหนังสือที่แต่งดีและมอบรางวัลให้แก่วรรณกรรมประเภทต่างๆ ยกย่องให้เป็นยอดของกลอนสุภาพ จนถึงวันนี้ก็นับเป็นเวลากว่าสองร้อยปีแล้ว ที่เรื่องราวของวันทองถูกเล่าขานและได้รับการจดจำในนาม ‘หญิงสองใจ’  

ในปี 2021 นี้ ช่อง one31 ได้นำเนื้อหาในวรรณคดีมาตีความใหม่และนำเสนอด้วยมุมมองร่วมสมัย ที่เรียกร้องสายตาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มคนหลากหลายจนเรตติ้งพุ่งสูงถึง 7.767 ในวันที่ละครจบ ขึ้นแท่นละครที่มีเรตติ้งสูงสุดของทีวีไทยในขณะนี้ และมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจนแฮชแท็ก #วันทองตอนจบ ทะยานขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ด้วยข้อความกว่า 700,000 ทวิต

เราจึงชวน ‘พี่แนท’ – กัญญารัตน์ พนิตวงศ์ บัณฑิตจากคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจวรรณคดีเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนเป็นชีวิตจิตใจ เคยเขียนหนังสือ พิชิต O-NET ภาษาไทย ป.6 และ พิชิต O-NET ภาษาไทย ม.3 ให้กับสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ และเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานฝ่ายบทละครของช่อง one31 มาร่วมพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ ในละคร จากมุมมองของคนที่ศึกษาวรรณกรรมและผู้ที่เข้าใจระบบการทำงานของฝ่ายผลิตละคร…เรามั่นใจว่าหลายคำตอบจากการสนทนาในครั้งนี้อาจทำให้คุณเข้าใจตัวบทวรรณคดีรวมถึงการสื่อสารของละครเรื่องนี้มากขึ้น

กว่าหญิงสองใจจะได้รับความเห็นใจ

พี่แนทเล่าให้ฟังว่าได้ยินโปรเจกต์ที่จะจัดทำละครวันทองมาตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าไปทำงานกับช่อง one31 เพราะสนใจในเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนมาก สมัยที่เรียนปริญญาตรีก็มักจะหยิบวรรณคดีเรื่องนี้มาศึกษาอยู่เสมอ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดความเป็นไทยอย่างแท้จริง และแม้จะไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับการสร้างสรรค์ละครเรื่องนี้ แต่ก็ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และเมื่อทราบว่ามี เกด – พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ เป็นหัวหน้าทีมเขียนบท จึงคอยติดตามผลงานรวมถึงความคืบหน้าของละครเรื่องนี้อยู่เสมอ และรู้สึกดีใจมากที่มีคนหยิบยกวรรณคดีมรดกมาสื่อสารใหม่ให้คนเข้าใจนางวันทองมากขึ้น

“พี่ดีใจที่วรรณคดีเรื่องนี้ถูกตีความผ่านมุมมองของผู้หญิง ไดอะล็อก (dialogue) หลายๆ ประโยคที่วันทองพูด เป็นทั้งตัวแทนของเสียงผู้หญิงในยุคนั้นและได้สื่อสารความหมายบางอย่างสู่สังคมปัจจุบันด้วย ต้นฉบับเดิม ถ้าเรามองจากชื่อเรื่องจะเห็นชัดเจนว่าเป็นการเล่าผ่านตัวละครชายคือขุนช้างและขุนแผน แต่ละครเรื่องนี้เป็นการเล่าผ่านมุมมองของตัวละครหญิง เราจึงเห็นชื่อละครว่าวันทอง ซึ่งน่าจะเป็นการตีความใหม่ของทีมเขียนบทที่นำมุมมองสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ไปถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของตัวละคร ทำให้เราได้ยินเสียงของผู้หญิงในเรื่องนี้มากขึ้น”

“ถ้าเชื่อมโยงกับวรรณคดี เรื่องราวในละครน่าจะเป็นตอน ‘ขุนช้างถวายฎีกา’ ซึ่งคือฉากที่ตัวละครหลักทั้งหมดนั่งรอฟังการตัดสินคดีและเป็นฉากในตอนต้นเรื่องที่เราเห็นในละคร แต่ในวรรณคดีจะเห็นว่าพระพันวษาไม่ได้ให้โอกาสวันทองเล่าเรื่องแบบในละครเลย ถ้าจะมีการถาม-ตอบบ้าง ก็จะถามผู้ชายเป็นหลัก พอมาพูดคุยกับวันทองคือสั่งให้วันทองเลือกเลยว่าจะอยู่กับใคร วันทองคือหญิงชาวบ้านที่ถูกบังคับมาทั้งชีวิต เธอไม่เคยมีสิทธิ์เลือกหรือตัดสินใจอะไรเอง เดี๋ยวแม่บังคับให้แต่งงานกับคนที่ไม่ได้รัก เพราะกลัวว่าจะต้องตกเป็นม่ายหลวง พอขุนแผนจะมาชิงตัวให้ไปอยู่ด้วยก็ใช้กำลังบังคับ ในตัวบท แม้แต่ลูกอย่างพลายงามก็ขู่จะฆ่าแม่ถ้าไม่ยอมไปอยู่กับตัวเอง พี่เลยคิดว่าไม่แปลกหรอกค่ะ ที่ตัวละครวันทองในวรรณคดีจะเลือกไม่ได้ เพราะชีวิตเธอไม่เคยมีสิทธิ์เลือก พอวันหนึ่งได้รับสิทธิ์นั้นก็ไม่รู้จะทำยังไง รวมถึงความเกรงกลัวต่อพระมหากษัตริย์ด้วย กลัวว่าจะเลือกไปแล้วไม่ถูกใจ เลยขอให้พระองค์ตัดสินให้ แต่กลับถูกมองว่าเป็นหญิงสองใจและถูกสั่งประหารในที่สุด”

เมื่อคุยต่อถึงสำนวน ‘วันทองสองใจ’ เจ้าตัวบอกว่าการนำเสนอความเห็นว่า ‘วันทองไม่ได้สองใจ’  มีมานานแล้วในสังคมไทย ละครวันทองจึงได้พยายามสื่อสารให้คนดูเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นถึงความอัดอั้น ไร้สิทธิ์ไร้เสียง และชะตากรรมที่วันทองต้องเผชิญในฐานะผู้หญิงในสังคมปิตาธิปไตยที่ไม่มีสิทธิ์เลือก ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจของละครเรื่องนี้ นอกจากจะอยู่ที่การทำให้คนเข้าใจว่าวันทองไม่ใช่หญิงสองใจแล้ว ก็คือการทำให้คนเห็นว่าเบื้องหลังของการตีตราให้เธอเป็นผู้หญิงสองใจนั้นเกิดจากอะไร

“พี่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่รู้จักสำนวนวันทองสองใจจะต้องรู้ว่าคนชื่อวันทองสองใจ นี่คือการรับรู้ของคนที่ไม่ได้มีโอกาสอ่านวรรณกรรมฉบับเต็ม เลยไม่รู้ที่มาที่ไปว่าเกิดจากคำพูดของผู้ชายทั้งนั้น ขุนช้างเคยด่าว่า ‘อีแม่มันวันทองก็สองจิต ช่างประดิษฐ์ชื่อลูกให้ถูกที่ เรียกพ่อพลายคล้ายผัวอีตัวดี ทุกราตรีตรึกตราจะฆ่าฟัน’ หรือกระทั่งบทด่าผู้หญิงที่พี่คิดว่าแรงที่สุดในวรรณคดีไทย ก็คือบทที่พระพันวษาด่านางวันทองว่า ‘มึงนี่ถ่อยยิ่งกว่าถ่อยอีท้ายเมือง จะเอาเรื่องไม่ได้สักสิ่งสรรพ์ ละโมบมากตัณหาตาเป็นมัน อีกร้อยพันให้มึงไม่ถึงใจ ว่าหญิงชั่วผัวยังคราวละคนเดียว หาตามตอมกันเกรียวเหมือนมึงไม่…’

“ทั้งหมดคือการตีตราจากการที่ผู้ชายตัดสินผู้หญิงคนหนึ่งให้มีตราบาปตลอดชีวิต ถ้าสมมุติว่าวันทองมีชีวิตอยู่จริง ผู้หญิงคนนี้จะถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงสองใจมาตลอด และคนก็จะเข้าใจแบบนั้นมาสองร้อยกว่าปีแล้ว แต่พอละครเอามาเล่าในมุมนี้ เลยกลายเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ให้กับเธอ เรื่องนี้จะสอนให้รู้ว่าการที่ผู้หญิงถูกตราหน้าว่าสองใจอาจมีปัจจัยมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่เลือกไม่ได้”

ตัวละครหญิง เฟมินิสต์ และการสร้างวีรสตรีคนใหม่แห่งยุค

เมื่อคุยถึงประเด็นเฟมินิสต์ที่ถูกหยิบมาปรุงแต่งให้ละครเรื่องนี้มีสีสันมากขึ้น และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยทั้งจากคนดูทั่วไป และนักวิชาการหลากสาขา ถึงการรื้อสร้างตัวละครวันทองจากหญิงชาวบ้านสู่การเป็นวีรสตรีที่สละชีวิตเพื่อวาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม พี่แนทตอบมาอย่างสัตย์จริงว่า ตอนเห็นตัวอย่างละครในช่วงโปรโมตก็คาดหวังไว้มาก ว่าจะได้เห็นวันทองมีบทบาทเป็นผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของตัวเอง แต่ในช่วงแรก ละครกลับไม่สื่อสารในประเด็นนี้เท่าที่หวังไว้ วันทองยังคงเป็นตัวละครหญิงที่ทำเพื่อคนอื่น กระทั่งมาถึงตอนที่ละครใกล้จบ ซึ่งหลายคนที่ดูคงเห็นเหมือนกันว่า ไดอะล็อกที่วันทองพูดในช่วงท้ายของเรื่อง เกือบจะทุกประโยคเป็นการผลักดันเรื่องสิทธิสตรีให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งก็ได้รับการวิจารณ์อย่างหลากหลาย ทั้งติและชม เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีการขับเคลื่อนแนวคิดสตรีนิยมในสังคมไทย

แต่พี่แนทเน้นย้ำกับเราว่า หากตัดความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจออกไป การดำเนินเรื่องแบบนี้ก็พอจะเข้าใจได้และสมเหตุสมผลภายใต้บริบทของละคร เพราะเมื่อฉากหลังคือสังคมปิตาธิปไตย การที่วันทองจงใจไม่เลือก ก็คือการตัดสินใจและใช้สิทธิ์ในการเลือกของเธอแล้ว รวมถึงการกระทำของวันทองที่พยายามแสดงให้คนในสังคมตระหนักถึงสิทธิสตรี และชวนให้ตัวละครชายมองผู้หญิงในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีเลือดเนื้อและชีวิตจิตใจเท่าเทียมกัน ก็เพียงพอและเหมาะสมแล้วภายใต้บริบทของสังคมสมัยนั้น

“ละครพยายามนำเสนอความเป็นเฟมินิสต์ในสองตอนสุดท้าย ก่อนหน้านั้นก็มีบ้าง แต่ไม่ชัดมาก ในช่วงท้ายเห็นชัดเจนผ่านไดอะล็อกจนเกือบจะเป็นสุนทรพจน์แล้ว (หัวเราะ) พี่เห็นด้วยกับบางความเห็นที่ว่าบางประโยคดูยัดเยียดให้ตัวละครพูดเกินไป แต่คิดดูแล้วก็พอจะเข้าใจได้ว่าพอวันทองถูกสั่งประหาร ก็ต้องถูกขัง ดังนั้น ตัวละครเทคแอกชันอะไรไม่ได้แล้ว เราเลยเห็นไดอะล็อกผ่านวันทองเยอะมาก เพราะตัวละครไม่สามารถสื่อสารผ่านช่องทางอื่นได้แล้วไง การพูดเลยเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและเร็วที่สุด รวมถึงอิมแพคที่สุดด้วย โดยเฉพาะก่อนจะโดนประหาร ที่บอกว่าอีกไม่นานคนก็จะลืมเรื่องของเธอ แต่ขอให้จำไว้ว่าวันทองไม่ใช่หญิงสองใจ

“สุดท้ายแล้วละครพยายามที่จะสื่อสารว่าอยากให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ซึ่งคำว่าสิทธิพี่ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามีหรือยังในสมัยอยุธยา เพราะเป็นแนวคิดที่ใหม่มาก พี่ว่าทีมเขียนบทเขารู้หมดนะว่าข้อเท็จจริงของยุคสมัยเป็นยังไง แต่พี่คิดว่าละครเรื่องนี้ไม่ซีเรียสเรื่องความสอดคล้องกับยุคสมัยมาตั้งแต่แรก เช่น ตัวอักษรที่เห็นในจดหมายที่วันทองเขียนก็มีลักษณะเป็นอักษรไทยในปัจจุบัน พี่เข้าใจว่าเขาต้องการสื่อทุกอย่างให้คนดูเข้าใจง่ายที่สุดมากกว่า เพราะนี่คือละคร และการผลักดันประเด็นของผู้หญิงที่หลายคนบอกว่าไม่เหมาะสมกับยุค ก็เข้าใจได้ว่าใส่ลงไปเพื่อให้สอดคล้องกับคำโฆษณาในช่วงโปรโมตว่านี่คือการตีความใหม่จริงๆ และไม่ใช่ขุนช้างขุนแผนที่พวกเราเคยอ่าน ดังนั้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นในละครจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้สำหรับพี่ในแง่ของคนทำงานละคร”

นอกจากประเด็นหลักเกี่ยวกับตัวละครวันทองแล้ว การสร้างตัวละครหญิงอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏในวรรณคดีก็เป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจ โดยเฉพาะการนำเสนอภาพและนัยยะของตัวละครอย่าง ‘น้อย’ (หญิงชาวบ้านที่ถูกสามีทำร้ายด้วยการใช้ความรุนแรง) และ ‘พระสุริยงเทวี’ (พระมเหสีของพระพันวษา) ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของเสียงผู้หญิงในแต่ละชนชั้น ที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด

พี่แนทบอกว่าการจัดวางตัวละครหญิงต่างชนชั้นอาจเป็นความตั้งใจของทีมผลิตที่ต้องการให้ในเรื่องมีเสียงของผู้หญิงทุกชนชั้น เราจึงเห็นน้อยที่เป็นหญิงชาวบ้านทั่วไป เห็นวันทองซึ่งเป็นชาวบ้านที่มีฐานะพอสมควร และเห็นพระสุริยงเทวีซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีศักดิ์สูงสุดในแผ่นดิน ตัวละครทั้งหมดต่างมีบทบาทในการผลักดันประเด็นความเท่าเทียมของผู้หญิงในวงสังคมของตัวเอง

“พี่รู้สึกว่าเรื่องราวของน้อยสร้างขึ้นมาเพื่อไปขยายภาพประเด็นความเท่าเทียมของผู้หญิงแทนนางวันทองในตอนจบ เพราะสองตัวละครนี้เผชิญเหตุการณ์ที่ใกล้กัน คือโดนบังคับจากผู้ชาย ในฉากตัดสินคดีของน้อย ภาพของน้อยจึงเป็นเสมือนตัวแทนของวันทอง เป็นผู้หญิงที่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคมหลังโดนกดขี่มาตลอด ที่บอกว่าเป็นเหมือนตัวแทน เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือการที่พระพันวษาประกาศใช้กฎหมายใหม่ให้ผู้หญิงฟ้องหย่าสามีได้ นี่คือจุดหักเหที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมเกี่ยวกับสิทธิสตรี และทั้งหมดเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่วันทองถูกประหาร (ทุกคนในเรื่องเข้าใจแบบนั้นเว้นแต่ขุนแผน) ถ้าพิจารณาตามละคร วันทองจึงเป็นเสมือนวีรสตรีที่สละชีวิตเพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เรื่องทั้งหมดจึงเป็นความเป็นธรรมที่สังคมอยากมอบให้วันทอง แต่เพราะวันทองถูกประหารไปแล้ว น้อยที่ได้รับสิทธิ์ตรงนี้จึงเป็นภาพสะท้อนของวันทองที่ต่อสู้ได้สำเร็จ”

“การประกาศกฎหมายใหม่คือมูฟเมนต์ (movement) ที่สำคัญที่สุดสำหรับประเด็นเฟมินิสต์ในเรื่อง เพราะเกิดขึ้นจากผู้หญิง  แม้คนประกาศใช้จะเป็นผู้ชายก็ตาม แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง จริงๆ เหตุการณ์นี้รวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพันวษา ตัวละครที่มีบทบาทมากคือพระสุริยงเทวี เพราะมีผลต่ออารมณ์ และการตัดสินใจของพระพันวษาอย่างมาก อาจส่งผลมากกว่าการกระทำของวันทองด้วยซ้ำ ตัวละครพระสุริยงเทวีจึงเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ และเป็นตัวแทนของผู้หญิงในชนชั้นสูงที่เคยประสบปัญหาจากสังคมชายเป็นใหญ่เช่นกัน เมื่อเห็นวันทองที่เป็นหญิงสามัญชนกล้าสู้เพื่อศักดิ์ศรีของตัวเอง จึงเป็นไปได้ที่จะรู้สึกเห็นใจและอยากช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ เราจะเห็นว่าในตอนจบพระพันวษายังคิดอยู่เลยว่าวันทองมีความคิดล้ำหน้าเกินไปที่นำเสนอความคิดเรื่องความเท่าเทียมของชายหญิง แต่พระสุริยงเทวีทักท้วงว่า ‘หรือไม่ก็เป็นเราที่ตามความคิดราษฎรไม่ทัน’ ซึ่งประโยคเหล่านี้ทำให้ตัวละครพระพันวษาฉุกคิดและใช้เหตุผลในการไตร่ตรองมากขึ้น”

คำตอบที่ได้จากพี่แนทจึงน่าจะทำให้ใครหลายคนเข้าใจมากขึ้น ว่าทำไมต้องมีการเสริมตัวละครที่ไม่มีตัวตนในวรรณคดีขึ้นมา และแต่ละตัวละครมีบทบาทต่อเรื่องอย่างไร

พระพันวษาในฐานะตัวแทนของผู้ปกครองในอุดมคติ

ในฐานะคนที่เคยอ่านวรรณคดีฉบับเต็ม จึงอดถามไม่ได้เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนคาแรกเตอร์ตัวละครพระพันวษาให้แตกต่างจากฉบับเดิมอย่างสิ้นเชิง พี่แนทบอกว่ารู้สึกแบบเดียวกัน และคิดว่าเป็นความจงใจของทีมฝ่ายผลิตที่ปรับคาแรกเตอร์ให้มีเหตุผลมากขึ้น ทั้งนี้ก็ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งกรอบของสังคม และปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวกับกระบวนการสร้างละคร ที่กว่าจะมาให้เราดูได้ ก็ต้องผ่านการพิจารณา และกองเซ็นเซอร์ในหลายขั้นตอน

“ความเห็นส่วนตัวพี่คิดว่าทีมเขียนบทพยายามที่จะปรับคาแรกเตอร์พระพันวษา ซึ่งไม่ทราบข้อเท็จจริงนะคะ แต่เราต้องเข้าใจว่าสถานะของพระพันวษาคืออะไร ละครที่ออกสื่อสารมวลชนในยุคนี้ พี่คิดว่าคงไม่สามารถทำได้หรอกค่ะที่จะสร้างภาพออกมาให้ผู้ปกครองของอยุธยาเป็นตัวร้าย เราไม่สามารถทำให้เห็นได้ว่าพระพันวษาตราชั่งเอียงมาก เข้าข้างผู้ชายสุดๆ เพราะตนเองก็เป็นผู้ชาย หรือให้ใช้อารมณ์ตัดสินประหารเพราะโมโหวันทองอย่างในวรรณคดีก็ดูจะเป็นเรื่องยากเช่นกัน

“ตอนที่ละครยังไม่จบ เคยคิดไว้ว่าถ้าในที่สุดวันทองต้องถูกตัดสินให้โดนประหารชีวิต คำตัดสินของพระพันวษาอาจจะไม่ได้ใช้แค่อารมณ์โกรธเหมือนในตัวบทที่เราเคยอ่าน แต่ต้องมีเรื่องราวบางอย่างที่ชี้นำให้พระพันวษาสั่งตัดสินประหารวันทอง ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เราเห็นการสร้างตัวตายตัวแทนของพระพันวษาในวรรณคดี ผ่านตัวละครปุโรหิตที่อยากให้ประหารวันทองเพราะมองว่าเป็นคนที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคม ส่วนพระพันวษาในละครกลับกลายเป็นคนที่ตัดสินอย่างเที่ยงธรรม รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ใช้อารมณ์น้อยลง ฉากที่คิดว่าหลายคนคงตราตรึงไม่น้อยคือฉากที่ให้ลูกขุนออกเสียงว่าจะประหารวันทองหรือไม่

“ในแง่ความเหมาะสม แน่นอนว่ายุคนั้นเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช อำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับกษัตริย์ พระองค์ไม่จำเป็นต้องฟังใครก็ได้ แต่ในละคร พระพันวษารับฟัง และตัดสินประหารเพราะเสียงข้างมากของลูกขุนบอกให้ประหาร นี่คือการสร้างภาพอันชอบธรรมให้กับพระพันวษาในละครเรื่องนี้”

พี่แนทเสริมต่อว่าตัวละครพระสุริยงเทวีถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนภาพผู้ปกครองในอุดมคติของพระพันวษาให้เด่นชัดขึ้น เพราะคอยเป็นที่ปรึกษา และชี้นำในสิ่งที่ดีงามต่อสังคม นี่คือความน่าสนใจที่สอดคล้องกับบริบท เพราะพระสุริยงเทวีดูจะเป็นตัวละครที่เข้าใจความคิดอ่านของประชาชนมากกว่าพระพันวษา แต่ทำได้มากที่สุดคือคอยแสดงความคิดเห็นให้พระพันวษาเปลี่ยนการตัดสินใจ นี่คือบทบาทที่ตัวละครหญิงทำได้ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ เพราะสุดท้ายอำนาจในการตัดสินยังคงขึ้นอยู่กับผู้ชาย ฉากพระพันวษาประกาศกฎหมายจึงเป็นข้อสรุปของการนำเสนอภาพลักษณ์นี้ เพราะเป็นผู้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 

บทสนทนาในประเด็นนี้ จบลงที่ว่ามูลเหตุส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตที่ต้องระมัดระวังเรื่องผลกระทบต่อการสื่อสารภาพลักษณ์ของบุคคลหรือวิชาชีพไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียด้วย เพราะเคยมีคดีฟ้องร้องกองละครเนื่องจากนำเสนอภาพวิชาชีพหนึ่งให้มีพฤติกรรมไม่ดีมาแล้ว

มีพระเอกก็ต้องมีตัวร้าย

นอกจากพระพันวษาแล้ว ตัวละครชายอื่นๆ ในเรื่องก็มีการเปลี่ยนแปลงคาแรกเตอร์ไม่น้อย  โดยเฉพาะขุนช้างและขุนแผน เราจึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมมองของคนทำสื่อว่า เพราะเหตุใดตัวละครขุนแผนถึงเป็นพระเอกเหลือเกิน และทำไมขุนช้างในละครถึงร้ายลึกจนชาวเน็ตคอยสาปส่งอยู่ทุกวัน

ข้อสรุปจากความคิดเห็นของพี่แนทคือ ‘เพราะนี่คือละคร’  สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงคนดูว่าชอบบริโภคสื่อแบบไหน  พร้อมยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ปฏิเสธยากเหลือเกินว่าการทำละครก็มีขนบเช่นเดียวกับการแต่งวรรณคดี เพราะคนดูยังคงมีค่านิยมว่านางเอกต้องคู่กับพระเอก และพระเอกต้องสู้กับตัวร้าย เราจึงเห็นการปรับเปลี่ยนคาแรกเตอร์ให้ขุนแผนเป็นพระเอกที่เก่งและดี เห็นได้ชัดเจนที่สุดผ่านฉากผ่าท้องนางบัวคลี่ที่ถูกนำเสนอในเชิงบวกว่านางบัวคลี่ยกลูกให้ แต่ในตัวบทเดิมขุนแผนฆ่านางบัวคลี่และผ่าท้องนำลูกออกมาทำพิธีโดยที่บัวคลี่ไม่ได้ยกให้ รวมถึงคาแรกเตอร์ของขุนช้างในละครที่มีเล่ห์เหลี่ยมและร้ายกว่าในวรรณคดีเช่นกัน

“วรรณกรรมคือหนังสือให้คนอ่าน แต่ละครโทรทัศน์ต้องมีอะไรให้คนดูลุ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำละคร เป็นลักษณะของการทำธุรกิจ เรตติ้งเป็นเรื่องสำคัญ การนำวรรณกรรมมาทำเป็นละครต้องมีการปรับบทไม่มากก็น้อย คนดู ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่ได้อ่านวรรณกรรม ถ้าพูดถึงวันทอง พระเอกคือขุนแผน ขุนช้างคือตัวร้ายเพราะแย่งวันทองไป ส่วนวันทองคือผู้หญิงสองใจเพราะเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่กับใคร ภาพจำของคนเป็นแบบนั้น การทำคาแรกเตอร์ของตัวละครก็จำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามกระแสของคนดูด้วยส่วนหนึ่ง

“มีพระเอกก็ต้องมีตัวร้าย ถ้าคนเขียนบททำให้ขุนแผนโหดร้าย หรือให้ขุนช้างเป็นตัวตลกแบบในวรรณกรรม คนจะไม่เชียร์ขุนแผน และละครเรื่องนี้จะไม่สนุกทันที การปรับให้ตัวละครขุนช้างอยู่ในระดับเดียวกับขุนแผน ไม่ว่าจะความเจ้าเล่ห์ ความสามารถ หรือขุนแผนดีแค่ไหนขุนช้างก็ร้ายเท่านั้น จึงทำให้ละครมีมิติแล้วคนก็เอาใจช่วย นี่คือความลุ้นของคนดูว่าเรื่องจะจบยังไง ลองคิดภาพว่าถ้าขุนช้างเป็นแบบในวรรณกรรมแล้วเราเป็นคนดูที่เชียร์วันทอง เราคงไม่เลือกขุนช้างเพราะตัวเลือกต่างกันเกินไป การปรับบทขุนช้างให้ร้ายมากๆ อย่างน้อยก็มีลุ้นว่าตอนต่อไปขุนช้างจะสร้างวีรกรรมอะไรอีก”

สำหรับคำตอบที่หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงเอา ชาคริต แย้มนาม มารับบทเป็นขุนช้าง ทำไมไม่ใช้คนที่มีรูปลักษณ์ตรงตามคาแรกเตอร์มาเล่นเลย พี่แนทย้ำคำตอบเดิม คือ ละครต้องทำให้คนดูเชียร์และรักในตัวละคร คุณชาคริตคือพระเอก และคุณป้อง ณวัฒน์ก็เป็นพระเอก ทั้งคู่มีฐานแฟนคลับของตัวเอง การนำนักแสดงสองท่านนี้มาเข้าคู่กันจึงทำให้ละครสนุกมากขึ้น เพราะมีความสมน้ำสมเนื้อทั้งในละคร ประสบการณ์ รวมถึงฝีมือของนักแสดงด้วย

สุขนาฏกรรมคือเซฟโซนของคนดู

หลังการพูดคุยในหลายประเด็น บทสนทนาของเราก็ได้เดินทางมาถึงช่วงท้าย แน่นอนว่าคำถามที่พลาดไม่ได้คือตอนจบของเรื่อง ที่วันทองต้องไปบวชในถ้ำ โดยมีเพียงขุนแผน กุมารทอง และโหงพรายเท่านั้นที่รู้ว่าวันทองยังมีชีวิตอยู่

พี่แนทแสดงทัศนะกับเราว่าการจบแบบที่วันทองไม่เสียชีวิตมีทางเลือกค่อนข้างน้อย ในวรรณคดีทุกคนรู้ว่าวันทองถูกประหาร การที่ละครพาเราไปดูตอนจบอีกแบบคือความสำเร็จสำหรับการตีความใหม่แล้วส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกัน การคงฉากประหารวันทองไว้และสื่อสารออกมาตามวรรณคดีก็เป็นการเคารพตัวบทในฐานะการจบแบบโศกนาฏกรรม คือคนดูและตัวละครอื่น (ที่เป็นมนุษย์) นอกจากขุนแผน รับรู้ว่าวันทองเสียชีวิต เพราะฉากสุดท้ายที่มาเฉลยว่าวันทองไม่ตายนั้น มาหลังฉากประหาร การที่คนดูร่วมรู้สึกเสียใจไปกับฉากประหารวันทองและกลับมาดีใจที่เห็นวันทองในถ้ำ คือการจบเรื่องที่เอาชนะใจคนดูได้ไม่น้อย เนื่องจากคนไทยยังคงคุ้นชินกับการจบแบบมีความสุข แม้ในเรื่องขุนแผนจะไม่ได้อยู่กินกับวันทอง แต่จุดสำคัญคือวันทองยังมีชีวิต และขุนแผนได้ทำตามคำสัญญาที่เคยบอกไว้ว่าจะปกป้องวันทองให้ได้

สำหรับประเด็นถกเถียงเรื่องความเหมาะสมในการจัดวางให้วันทองต้องบวชอยู่ในถ้ำห่างไกลผู้คน พี่แนทบอกว่าทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์ได้เต็มที่ แต่ส่วนตัวเธอมองว่าการที่วันทองบวชอาจจะไม่ใช่การจงใจใช้ศาสนาขัดเกลา แต่อาจเป็นการเลือกของวันทองเอง แม้จะเป็นความจริงว่าขุนแผนทำให้วันทองมาสู่จุดที่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อน แต่การจะจบแบบอื่นก็เป็นไปได้ยากหากพิจารณาบริบทของยุคสมัย ในเมื่อพระมหากษัตริย์สั่งประหาร ถ้าจะหนี ก็ต้องไปอยู่ในที่ที่ผู้คนมองไม่เห็น ดังนั้น ก็ต้องเข้าป่า ไม่ก็อยู่ในถ้ำ

“หลายคนอาจจะไม่ค่อยสบอารมณ์กับการจบแบบนี้ เพราะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่อารมณ์โศกของตัวบทในวรรณกรรมหายไป แต่คิดอีกมุม ถ้าจบแบบวรรณกรรม แน่นอนต้องพีคที่ฉากประหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่เคยโปรโมตว่าเป็นการตีความใหม่ จบแบบนี้พีคกว่า เพราะถ้าดูแบบเรียลไทม์จะเห็นว่ากระแสดีมาก ทุกคนฮือฮา ปรับอารมณ์ไป-มา ดังนั้นการจบแบบนี้จึงเหมาะสมกับคำโฆษณาและหลายคนก็ชอบจริงๆ เพราะพฤติกรรมคนดูละครส่วนใหญ่ก็หวังให้จบดี

“สำหรับพี่ วันทองตายไปแล้วจริงๆ ต่อให้ไม่ได้ตายด้วยชีวิต ก็ต้องอยู่แบบคนที่ไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะจบแบบตายจริง หรือแบบนี้ วันทองก็ตาย ตายไปจากการมีอยู่ในสังคม สิ่งเดียวที่ยืนยันว่าเขายังอยู่คือลมหายใจเท่านั้น ปฏิเสธได้ยากว่านี่คือความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น เพราะวันทองเลือกแล้วที่จะตายเพื่อยืนยันการเลือกของตนเอง แต่สุดท้ายขุนแผนก็ไม่ให้ตาย มองในมุมขุนแผน อาจจะคิดแค่ว่าต้องรักษาสัญญา และวันทองไม่ควรถูกประหารด้วยเรื่องแบบนี้ อย่างที่มีไดอะล็อกพูดประมาณว่า ‘เรื่องเท่านี้ไม่ควรที่จะต้องสละด้วยชีวิต’ นี่เป็นเหตุผลที่พี่คิดว่าวันทองอาจจะขอบวชเอง และขุนแผนก็คงยินดี คือขอแค่ได้ทำตามสัญญาเป็นครั้งสุดท้ายแล้วจะไม่บังคับอะไรอีก แต่ตอนพามาซ่อนก็บังคับนะ ไม่ได้ถามความสมัครใจสักคำ (หัวเราะ) นี่คือเรื่องราวในความคิดของพี่”

ในช่วงสุดท้ายเราขอให้พี่แนทกล่าวทิ้งท้าย ทั้งในฐานะคนในสายวรรณกรรมและคนที่ทำงานสื่อ ซึ่งคำกล่าวนั้นก็สวยงาม ชวนให้ยิ้มตาม และเป็นการยืนยันว่าละครเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญทั้งสำหรับวงการสื่อและวรรณกรรมไม่น้อยทีเดียว

“ในฐานะคนเรียนวรรณกรรม พี่ขอบคุณช่อง one31 ที่นำเรื่องราวในวรรณคดีมาทำเป็นละครและออกอากาศในช่วงที่มีการแข่งขันเรตติ้งกันมากที่สุด ยิ่งกว่านั้นคือเราเห็นคนนำเรื่องนี้มาถกเถียงกันต่อ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จสูงสุดอีกอย่างหนึ่งของละครเรื่องนี้

“พี่มองว่าวรรณคดีมรดกไม่จำเป็นต้องบูชาไว้โดยไม่แตะต้อง แต่จะเป็นมรดกที่แท้จริงได้ต่อเมื่อยังคงมีชีวิตในสังคมและได้รับการพูดถึง พี่เชื่อว่าในอนาคตละครเรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในแหล่งอ้างอิงที่ดีในการนำไปต่อยอดทางวิชาการสำหรับสายวรรณกรรม

“สุดท้ายขอขอบคุณในนามคนที่ทำงานในช่อง อยากขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุนละครเรื่องนี้ ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นยังไงจากการดู พี่เชื่อว่าทีมงานทุกท่านเห็นทุกความคิดเห็นและจะนำไปปรับปรุงอย่างแน่นอน ขอบคุณทุกฝ่ายจริงๆ ค่ะ ที่ทำให้ละครวันทองประสบความสำเร็จ ดีใจที่ละครเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ให้อะไรกับสังคมไม่มากก็น้อย (ยิ้ม)”

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : ละครวันทอง ช่อง one31

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

Writings

‘Dark souls III’ จุดสูงสุดของไตรภาคอันยิ่งใหญ่ ผู้จะสถิตอยู่ในดวงใจของผู้เล่นตลอดไป

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง TW : ในบทความชิ้นนี้มีภาพตัวละครศัตรูที่ทำให้รู้สึกขยะแขยงได้ หากผู้อ่านท่านใดรู้สึกไม่สบายใจ สามารถข้ามหัวข้อ “เหล่าศัตรูที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อ (ไม่ก็ อี๋)” เพื่ออ่านหัวข้อถัดไปได้เลย ตัวละครของผมตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่คล้ายคุก ไม่มีอะไรติดตัวนอกจากดาบหักๆ หนึ่งเล่ม ...

Writings

ครบรอบ 45 ปี กับการปรากฏตัวของ Dorami ตัวประกอบหลักผู้คงอยู่เพื่อคนอื่น?

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “โดราเอมอนถูกหนูกัดใบหูจนต้องนำหูออก เขาเศร้าใจมากและร้องไห้จนสีตัวของตัวเองเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้า” ส่วนหนึ่งจากที่มาที่ไปของ ‘โดราเอมอน’ เจ้าหุ่นยนต์อ้วนกลมตัวสีฟ้า ผู้ที่ย้อนเวลามาช่วยเหลือ ‘โนบิ โนบิตะ’ เด็กผู้ชายที่ใช้ชีวิตอยู่บนความขี้เกียจและไม่สนใจการเรียน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและมีชีวิตที่สดใสในอนาคต แต่คนที่ทำให้โดราเอมอนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ...

Writings

Nobuo Uematsu นักประพันธ์ปีศาจผู้เป็นเงาเบื้องหลังซีรีส์เกม ‘Final Fantasy’

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ในที่สุด!! บอสก็ตายสักที” ผมวางจอยเครื่องเกม PlayStation ลงบนพื้นก่อนที่จะชูมือขึ้นด้วยความดีใจ ด้วยระบบของเกม ‘Final Fantasy VII’ ที่ทำให้ต้องจดจ่ออยู่กับการคิดและตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ผมเลยรู้สึกว่าการต่อสู้กับบอสตัวนี้ใช้เวลานานและสูญเสียพลังงานไปมากเหลือเกิน ...

Art & Culture

‘หยำฉา’ คนคั่นเวลาแห่งโลก Dragon Ball

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ให้ฉันจัดการเถอะ ฉันจะจัดการทีเดียวให้หมดทั้ง 5 ตัวเลยคอยดู” บทพูดของ ‘หยำฉา’ หนึ่งในตัวละครของ Dragon Ball เอ่ยขึ้นมาก่อนที่จะโดดเข้าสู่สนามรบ และถูกระเบิดจนต้องไปพบยมบาลหลังจากผ่านไปเพียง ...

Writings

ฉันที่ว่าเก่ง ก็ยังเจ๋งไม่เท่าเธอเลย: ว่าด้วยตัวละครรองที่คอยเสริมพลังให้เหล่าตัวละครหลักคนเก่งจากภาพยนตร์แนว Chick Flick

เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี  หมายเหตุ : มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนภาพยนตร์ที่นำมาเล่า เมื่อพูดถึงภาพยนตร์แนว Chick Flick หรือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ผู้หญิ๊งผู้หญิง’ คือมีผู้หญิงรับบทตัวหลักของเรื่อง มูดแอนด์โทนของงานศิลป์และเสื้อผ้าของตัวละครที่ส่วนใหญ่จะเน้นสีชมพู สีฟ้าเป็นหลัก ...

Writings

“ไหนวะเสียงเบส?” ชวนรู้จัก 5 ตำนานมือเบส ผู้คอยสรรค์สร้างความสมบูรณ์แบบให้โลกแห่งดนตรี

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพจำของวงดนตรีโดยเฉพาะวงดนตรีร็อค (Rock) และอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative) มักจะต้องประกอบด้วย นักร้อง กลอง กีตาร์ คีย์บอร์ด และเบส  เมื่อเราฟังดนตรี ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save