SocietyWritings

ความคิดถึงกำลังทำงานนานเกินไป

เรื่อง : ปรียาภรณ์ เมฆแสน
ภาพ : พรปวีณ์ วงศ์ชัย

         7 มิ.ย. 64

วันสุดท้ายของการเป็นนักศึกษาปี 3 กดส่งข้อสอบผ่าน MS Team ปิดคอมฯ แล้วเดินไปทิ้งตัวลงบนเตียงด้วยความเหนื่อย ในที่สุดก็จบเทอมอันแสนยาวนานนี้ไปได้สักที สบายใจจัง แต่ว่าปิดเทอมครั้งนี้ทำอะไรแก้เบื่อดี ฉลองสอบเสร็จกับเพื่อนก็ไม่ได้เพราะร้านเหล้าปิด จะไปเที่ยวทะเล ขึ้นภูเขา ก็ไม่ได้เหมือนกันเพราะโควิดเริ่มกลับมาระบาดหนักอีกแล้ว สิ่งที่น่าจะทำได้ในตอนนี้ก็คือซื้อเบียร์มากินที่ห้องคนเดียว เปิดเพลงเสียงดัง ๆ แล้วเต้นแร้งเต้นกาจนเหนื่อยหอบให้สมกับที่รอคอยเวลานี้มานาน เหงาดี…

          15 ก.ค. 64

อีกไม่ถึง 1 เดือนก็จะกลายเป็นเด็กปี 4 อย่างเต็มตัว ไม่อยากเรียนออนไลน์เลย เรียนแค่ 3 ชั่วโมงก็หมดแรงแล้ว ไม่อยากทำอะไรต่อแม้แต่จะลุกไปหาข้าวกิน ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงอยากจะให้เปิดเทอมไว ๆ เพราะอยู่บ้านแล้วเหงามาก อยากเจอเพื่อน แต่คราวนี้ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรืออยู่หอก็เหงาเหมือนกันหมด บางทีอาจจะเหงากว่าเดิมด้วยซ้ำไป ภาวนาให้โควิดหมดไปเร็ว ๆ จะได้กลับไปเรียนที่ ม. แค่เทอมสุดท้ายเทอมเดียวก็ยังดี ไม่อยากเรียนจบแบบออนไลน์ อยากเรียนจบแบบพร้อมหน้าพร้อมตากับเพื่อน ๆ

          9 ส.ค. 64

เรียนออนไลน์ต้อนรับเปิดเทอมวันแรก (อีกแล้ว) ไม่มีความตื่นเต้นอย่างที่ควรจะเป็น ปกติจะต้องตื่นตั้งแต่เช้า อาบน้ำ แต่งหน้า แต่งตัวจัดเต็มเอาฤกษ์เอาชัย แล้วรีบไปตึกเรียนก่อนเวลาเรียนเกือบชั่วโมง ไปนั่งคุยกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมานาน แต่วันนี้เริ่มเรียนเก้าโมงครึ่ง ก็ตื่นประมาณเก้าโมงยี่สิบ ให้เวลาตัวเองสะลึมสะลือสัก 10 นาที ฟันไม่ต้องแปรง น้ำก็ไม่จำเป็นต้องอาบ ลุกออกจากเตียงแล้วมาเปิดคอมฯ เรียนได้เลย เหมือนจะสบายนะ แต่จริง ๆ แล้วก็เปื่อยเหมือนกัน

          1 ก.ย. 64

เปิดเทอมมาได้ระยะหนึ่งแล้ว นั่งเรียนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมขนาดไม่กี่ตารางเมตรคนเดียว นั่งมองหน้าจอทั้งวัน เรียนเสร็จก็กดวางสายจากอาจารย์ใน Zoom ลุกขึ้นยืน บิดขี้เกียจนิดหน่อย แล้วเดินไปนอนเล่นโทรศัพท์บนเตียงที่ห่างจากโต๊ะอ่านหนังสือแค่ 5-6 ก้าว เหงามากเพราะไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้เจอใครเลย อยู่แต่ในห้อง เฮ้อ…น้ำลายบูด

พอมานั่งนึกดูว่าสาเหตุความเหงาของตัวเองจริง ๆ แล้วเกิดจากอะไร คำตอบเดียวที่มีอยู่ในหัวตอนนี้ก็คือความคิดถึง คิดถึงรถเอ็นจี้สีเหลืองแดงคันเก่า ๆ ที่เคยเบื่อเพราะต้องยืนเบียดกับคนบนรถทุกเช้าจนตัวแทบจะแบนเป็นกระดาษ มิหนำซ้ำต้องรอนานจนบางครั้งก็ถอดใจไปเรียกวินมอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านมาแทน ตอนนี้อยากสัมผัสโมเมนต์แบบนั้นอีกสักรอบสองรอบ แน่นอนว่าการยืนเบียดคนหรือการรอรถนาน ๆ มันน่าหงุดหงิดใจ แต่อย่างน้อยก็ได้ไปหาอะไรทำที่ ม. แก้เซ็ง

คิดถึงตึก SC ที่ไม่ว่าจะใช้เรียนหรือใช้สอบบ่อยแค่ไหนก็ยังคงหลงทาง หาห้องเรียนไม่เจอทุกที อาทิตย์ก่อนเดินเลี้ยวซ้ายก็เจอห้องอยู่ซ้ายมือ แต่ทำไมอาทิตย์นี้ห้องอยู่ขวามือทั้ง ๆ ที่เดินเลี้ยวซ้ายเหมือนเดิม รู้ตัวอีกทีก็ใกล้เวลาเช็คชื่อแล้ว ต้องรีบเดินรีบหาพร้อม ๆ กับลุ้นไปด้วยว่าจะทันเข้าห้องก่อนอาจารย์มั้ย แต่พอเรียนออนไลน์ ออกไปได้แค่หน้าหอเพื่อไปเอาอาหารที่สั่งไว้ก็เบื่อแล้ว เพราะมีแต่เส้นทางเดิม ๆ ไม่ท้าทายเลย อยากกลับไปเดินหลงทางอีกหลาย ๆ รอบ

คิดถึงโรงอาหารตอนเที่ยงที่วุ่นวายมาก ๆ ทั้งคนเยอะ ทั้งเสียงดัง แถมยังอากาศร้อนอีก แถวหน้าร้านข้าวยาวเหยียด โต๊ะก็แทบจะไม่มีให้นั่ง วันไหนเลิกเร็วก็โชคดีหน่อย ไม่ต้องหาโต๊ะนาน แต่วันไหนเลิกช้าก็ต้องยืนรอ ชะเง้อมองหาโต๊ะว่างจนเกือบจะหมดเวลาพัก ส่วนตอนนี้น่ะเหรอ ไม่ว่าจะเลิกช้าหรือเร็วก็ไม่จำเป็นต้องไปแย่งโต๊ะกับใคร ไม่ต้องไปต่อแถวยาว ๆ ไม่ต้องทนร้อนอีกต่อไป แค่สั่งดิลิเวอรีแล้วมานั่งกินพร้อมกับยูทูบเบอร์คนโปรดก็เรียบร้อย ว้าว…ช่างเงียบสงบดีจริง ๆ

คิดถึงเชียงรากตอนเย็นที่ครึกครื้น มีอาหารให้เลือกกินเยอะมากจนเลือกไม่ถูก บางครั้งก็ยืนเถียงกับเพื่อนอยู่นานเหมือนกันว่าจะกินข้าวกับอะไร กินร้านไหนดี ควรลองร้านที่เพิ่งมาเปิดใหม่มั้ย หรือควรลองร้านที่ยังไม่เคยกิน สุดท้ายก็ไปจบที่ร้านเจ้าประจำของเพื่อนคนใดคนหนึ่งในกลุ่มอยู่ดี กินข้าวเสร็จก็ต้องกินของหวานกันต่อ กินแบบนี้จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน แต่พอถึงวันที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์แล้วล็อกดาวน์อีก เชียงรากที่เคยมีสีสันก็กลายเป็นเชียงรากร้างไปเลย ไม่รู้ว่าพอโควิดหมด ร้านโปรดทุกร้านจะยังอยู่เหมือนเดิมรึเปล่า คิดแล้วก็เศร้าจัง

คิดถึงอินเตอร์โซน ตลาดนัดที่ของคาวน่ากิน ของหวานก็น่าอร่อย เสื้อผ้าเครื่องประดับก็น่าซื้อ ไปทีไรก็ได้ทั้งของกินของใช้กลับมาแบบเต็มไม้เต็มมือตลอด เพราะเลือกไม่ถูกก็เลยไม่เลือกซะเลย แต่พอ ม. ประกาศเรียนออนไลน์ นักศึกษาก็ทยอยกลับบ้านไปกันหมด จากของที่ละลานตาจนเลือกไม่ถูก ก็กลายเป็นเลือกไม่ได้เพราะร้านค้ามาน้อย เงียบเหงาไปทันที สงสารพ่อค้าแม่ค้า แต่ก็สงสารตัวเองด้วยเหมือนกัน ไม่มีอะไรให้กินเลย

คิดถึงศูนย์การเรียนรู้ฯ กับหอสมุดป๋วยฯ ที่เวลาไปอ่านหนังสือสอบทีไรต้องพกเสื้อแขนยาวกับผ้าห่มหนา ๆ ไปด้วยทุกครั้ง ไม่งั้นเล็บจะม่วง ปากจะสั่น และตัวจะแข็ง ทุกวันนี้ทำได้แค่เปิดแอร์อยู่ในห้องให้เย็นฉ่ำ พยายามสร้างบรรยากาศให้เหมือนกับว่าได้ไปนั่งอ่านหนังสืออยู่ตรงนั้น แต่สุดท้ายก็ไม่เหมือนอยู่ดี เพราะไม่กล้าเปิดแอร์ให้เย็นขนาดนั้น กลัวค่าไฟพุ่งแล้วแม่จะด่าเอา

ที่สำคัญ คิดถึงเพื่อน ๆ มาก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เจอกัน ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้จะมีเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถคุยกับเพื่อนผ่านแชตหรือไม่ก็วิดีโอคอลได้ แต่มันจะไปเหมือนเจอกันตัวเป็น ๆ ได้ยังไง ไม่มีทาง ยังมีกิจกรรมอีกตั้งหลายอย่างที่อยากทำกับเพื่อน มีที่เที่ยวอีกตั้งหลายที่ที่อยากไปกับเพื่อน กลัวว่ากว่าจะได้เจอกันก็คงเป็นหลังจากเรียนจบ พอถึงเวลานั้นก็น่าจะรวมกลุ่มกันได้ยากกว่าเดิม เฮ้อ…

คิดถึง คิดถึง คิดถึง คิดถึง คิดถึง มีแต่คำว่าคิดถึงเต็มไปหมด คิดถึงเพื่อน คิดถึงอาจารย์ คิดถึงชีวิตมหา’ลัย คิดถึงทุกอย่างเลย ย้อนกลับไปดูรูปเก่า ๆ ที่เคยถ่าย สตอรี่ไอจีที่เคยลงก็ไม่ช่วยทำให้คิดถึงชีวิตก่อนโควิดน้อยลงเลย รู้นะว่าบางทีเราควรปล่อยให้ความคิดถึงทำงานบ้าง แต่ถ้าทำงานนานเกินไปเราก็แย่เหมือนกัน ดังนั้น ‘ใคร’ สามารถทำให้โควิดหมดไปได้เร็ว ๆ โปรดเร่งมือด้วย อยากให้ความคิดถึงพักผ่อนแล้วววววว!

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
10
Love รักเลย
2
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
10
Angry โกรธ
0

More in:Society

Articles

ภัยพิบัติในไทยกับความสนใจ ‘แค่กรุงเทพ’

เรื่อง: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ ภาพ: Wiroj Sidhisoradej จาก Freepik 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ...

Writings

การส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 40 คน “กลับบ้าน” กับ ฉากหลังสิทธิมนุษยชนไทย

เรื่อง: พิชญา ณ วาโย “ดิฉันยืนยันว่ากลับโดยสมัครใจ ไม่เช่นนั้นก็มีการลากสิ ไม่มีการลาก เดินขึ้นไปปกติ ไม่มีอะไรทั้งนั้น สมัครใจค่ะ” คำกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งในถ้อยแถลงของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ...

Writings

บ้านที่กลับไม่ได้ เพราะไม่มี “ตั๋ว”

เรื่อง : กัลย์สุดา ทองดี, ฐิตารีย์ ทัดพิทักษ์กุล, ณัฏฐณิชา มาลีวรรณ, ณิชกุล หวังกลุ่มกลาง, เบญจรัตน์ วิรัตรมณี, พิชชาสรรค์ ฉายภมร, สลิลทิพย์ ...

Writings

ในยุคแห่งความไม่แน่นอนนี้ หรือการบนบาน….จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่แสดงตัวตนของคน Gen Z?

เรื่อง : สมิตานันท์ จันสุวงษ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “ถ้าผลสอบไฟนอลได้ A ล้วนจะงดกินน้ำหวานหนึ่งเดือน” “ถ้ากดบัตรคอนเสิร์ตได้โซนที่ต้องการ เดี๋ยวจะมาแจกเงินให้ follower” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ...

Writings

อคติสู่มุมมองใหม่: การเปลี่ยนแปลงของสื่อไทยกับภาพลักษณ์ของเมียฝรั่งในเพลงลูกทุ่ง

เรื่อง : โอปอล ศิริภัสษร พลอยชมพู วงศ์ยาไชย ศิรภัสษร ศิริพานิช อภิวัฒน์ สุชลพานิช ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ลักษณะของเมียฝรั่ง ...

Writings

งานศพแบบมนุษย์นิยม: บอกลาอย่างไรสำหรับคนไร้ศาสนา

เรื่อง : รณรต วงษ์ผักเบี้ย ‘ความตาย’ เป็นคำที่ให้ความรู้สึกห่างไกลในขณะเดียวกันก็ใกล้ชิดกับเรามากกว่าที่คิด สุญญากาศแห่งความตายนั้นยากแท้หยั่งถึงเกินจิตสำนึกของมนุษย์คนหนึ่ง แต่มัจจุราชก็เฝ้ารอทุกชีวิตอยู่ทุกหัวมุมถนนเช่นกัน เมื่อร่างกายของเราหยุดทำงานและทิ้งไว้เพียงลมหายใจสุดท้าย บรรยากาศรอบตัวปกคลุมไปด้วยความโศกเศร้าของคนที่รัก สุดท้ายมนุษย์เราก็ปลดปล่อยความเศร้าและความทรงจำผ่านพิธีกรรมแห่งการบอกลาที่เรียกว่า ‘งานศพ’ วันปีใหม่เพิ่งจะผ่านพ้นมาไม่นาน ผู้คนนึกถึงการเริ่มต้นใหม่ ความสุขที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save