Art & CultureWritings

‘แฟนฟิคชัน’ พื้นที่สีเทา ประเด็นถกเถียงของกลุ่มแฟนคลับ

ผู้เขียน : วิวิศนา อับดุลราฮิม

ภาพประกอบ : นิชดา พูลเพชร

เมื่อมีสองความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับแฟนฟิคชันที่นำศิลปินจีนและเกาหลีมาสมมติเป็นตัวละครหลัก ทั้งยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าอะไรถูกหรือผิด การยกข้อดีและข้อเสียมานำเสนอเพื่อหาพื้นที่ตรงกลางร่วมกันจึงเป็นอีกหนึ่งข้อเสนอของข้อถกเถียงนี้

ประโยคด้านบนจากเรื่อง ‘ไพรเวทหวี’ ประโยคด้านล่างจากเรื่อง ‘กุเชอร์รี่’ บนแอปพลิเคชันจอยลดา

แฟนฟิคชันกับการ PR ศิลปิน

แฟนฟิคชัน นับว่าเป็นนิยายรูปแบบหนึ่งที่ผู้เขียนนำตัวละครหรือบุคคลมาจินตนาการแล้วร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องราว โดยแฟนฟิคชันที่ใช้ตัวละครหลักเป็นศิลปินจีนและเกาหลี จะมีการกำหนดภาพของตัวละครหลักว่ามีรูปร่างหน้าตาออกมาเป็นใคร ซึ่งส่วนใหญ่จะเจาะกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบเคมีความสัมพันธ์ของศิลปิน หรือที่เรียกกันว่าชิปเปอร์ แต่ก็มีแฟนฟิคชันหลายเรื่องที่โด่งดังจนแม้แต่คนที่ไม่ใช่แฟนคลับก็อาจเคยเห็นผ่านตาตามโซเชียลมีเดียและตามอ่านจนได้รู้จักศิลปินจากช่องทางนี้

แฟนฟิคชันกับการขัดเกลาสังคม

แฟนฟิคชันนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้ง่าย ให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน และหลาย ๆ เรื่องก็สอดแทรกไปด้วยประเด็นสังคม แฝงไปด้วยข้อคิด รวมทั้งยังอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจ มองเห็นมุมมองเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่แตกต่างและหลากหลายมากขึ้น

เช่นเรื่อง ‘กีรติรัก’ แฟนฟิคชันวงเกิร์ลกรุ๊ป Red Velvet เป็นนวนิยายที่สะท้อนปัญหาของเลสเบียนและไบเซ็กชวลในช่วง พ.ศ.2500 นำเสนอเรื่องราวของความรักที่ถูกนิยามว่าเป็นรักต้องห้ามเพียงเพราะตัวละครในเรื่องรักคนที่สังคมมองว่าไม่สมควรจะรัก ซึ่งแม้ว่าผู้เขียนจะอ้างอิงบริบทของสังคมในอดีต แต่ปัญหาค่านิยมและการตีตราจากสังคมเกี่ยวกับเรื่องเพศก็ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน และอาจจะดำเนินต่อไปในอนาคต

อีกหนึ่งตัวอย่างคือเรื่อง ‘Shipperstar’ แฟนฟิคชันที่ใช้ตัวละครหลักเป็นนักแสดงจีนอย่างหวังอี้ป๋อและเซียวจ้าน ก็ได้นำเสนอมุมมองเรื่องการนิยามเพศ จากบทสนทนาของตัวละครในเรื่องที่บอกว่า ไอดอลที่เขาชื่นชอบไม่ใช่เกย์เพราะไอดอลคนนั้นไม่เคยออกมาบอกว่าเขาเป็นเพศอะไร อีกฝ่ายจึงตอบกลับมาว่า “คุณรู้ได้ไงว่าเขาไม่ใช่ สำหรับผมสเตรท (ไม่ใช่ค่ากลาง แล้วเพศอื่น ๆ ก็ไม่ใช่ค่าบวกลบ ทำไมการให้นิยามคนที่เราไม่รู้รสนิยมทางเพศของเขาแน่ชัดว่าเป็นสเตรท ถึงเป็นเรื่องเพลย์เซฟ (play safe) สำหรับทุกคน แต่ถ้าบอกว่าใครเป็นโฮโม (homosexual) หรือไบ (bisexual) กลับกลายเป็นว่ากล่าวหาหรือหยาบคาย” ซึ่งจากบทสนทนานี้ ก็ทำให้ผู้อ่านหลาย ๆ คนได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าทำไมเราจึงมักนิยามคนคนหนึ่งว่าเป็นเพศอะไร ทั้ง ๆ ที่บางคนอาจไม่เคยพูดถึงเลย

แฟนฟิคชันกับความผูกพัน

แฟนฟิคชันนับว่าเป็นสื่อกลางที่มาช่วยอุดช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและแฟนคลับ

ในงานวิจัยเรื่อง ‘รูปแบบการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะ สื่อสังคมออนไลน์ ของงานเขียนแฟนฟิคชันวาย ศิลปินเกาหลีในสังคมไทย’ โดยกฤตยา ธันยาธเนศ ระบุว่า แฟนคลับจะสามารถติดตามผลงานของศิลปินได้เฉพาะช่วงเวลาที่ศิลปินมีผลงานเท่านั้น ทำให้ช่วงเวลาที่ศิลปินไม่ได้ออกสื่อ หรือไม่ได้สื่อสารกับแฟนคลับอาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างแฟนคลับกับศิลปินขึ้น แฟนฟิคชันจึงเป็นอีกหนึ่งสื่อที่ทำให้แฟนคลับรู้สึกว่าศิลปินที่ตนชื่นชอบไม่ได้ห่างหายไปและยังสามารถติดตามเรื่องราวของศิลปินได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับศิลปินได้มากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดเป็นความรักความผูกพันต่อตัวศิลปินที่ชื่นชอบ

แฟนฟิคชันกับความเสื่อมเสียของศิลปิน

แม้แฟนฟิคชันจะมีข้อดีต่อตัวศิลปินที่ทำให้มีคนติดตามพวกเขาหรือผูกพันกับพวกเขามากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีแฟนคลับจำนวนหนึ่งมองว่า แฟนฟิคชันมักแสดงเนื้อหาลามกอนาจารจนเข้าข่ายอาชญากรรมทางเพศ ทำให้บุคคลเสื่อมเสีย และควรได้รับการลงโทษทางกฎหมายแทนที่จะถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมของแฟนคลับ

ประชาชนจำนวนหนึ่งในเกาหลีใต้ออกมาร้องเรียกร้องบนเว็ปไซต์ Blue House (สำนักงานบริหารของประธานาธิบดีเกาหลีใต้) ให้มีการลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ผลิต RPS (RPS: Real-person Slash หรือ 알페스 แฟนฟิคชันที่แต่งจากบุคคลซึ่งมีตัวตนอยู่จริง และเป็นเรื่อง LGBTQ+) กรณีการใช้ไอดอลชายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาเป็นตัวละครหลักในแฟนฟิคชัน โดยตอนนี้ได้มีการเสนอกฎหมายในรัฐสภาที่เรียกว่า ‘RPS Punishment Act’ ลงโทษการผลิตและแจกจ่ายการแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านการเขียนและการวาดภาพ โดยผู้เสียหายต้องชี้ให้ศาลเห็นว่า สิ่งนี้ทำให้เกิดความอับอายทางเพศ

คังจินซอก ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านวงการบันเทิงของเกาหลีใต้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว South China Morning Post ว่า การจะฟ้องหมิ่นประมาทได้ ต้องดูที่ความรุนแรงของเนื้อหา และต้องเฉพาะเจาะจงมากพอที่บุคคลผู้ถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศสามารถระบุได้ว่าเรื่องราวหรือภาพถ่ายปลอมเป็นเรื่องเกี่ยวกับพวกเขา ซึ่งฉากเซ็กซ์ในนิยายและศิลปะยังไม่เพียงพอต่อการฟ้องร้อง “หากเนื้อหา RPS น่าเชื่อถือเพียงพอและบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับบุคคลนั้น ศาลก็อาจตัดสินว่าเป็นคดีอาชญากรรมทางเพศ”

แฟนฟิคชันกับการ Romanticize อาชญากรรม

ในแฟนฟิคชันหลาย ๆ เรื่อง ผู้เขียนนำการทารุณกรรมเด็ก (child abuse), การข่มขืนเป็นกลุ่ม (gang-rape), การร่วมเพศกับคนในครอบครัว (incest) หรืออาชญากรรมอื่น ๆ มานำเสนอในมุมมองใหม่ จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าความโหดร้ายเหล่านั้นเป็นสิ่งสวยงาม มองข้ามความเจ็บปวดของเหยื่อในชีวิตจริง ซึ่งอาจทำให้เกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และอาจเป็นการส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมทางอ้อมโดยที่ผู้เขียนไม่ทันคาดคิดถึงผลลัพธ์นี้

ในปัจจุบัน เริ่มมีการรณรงค์ให้ติด Trigger Warning หรือคำเตือนเพื่อบอกว่านิยายเรื่องนี้ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน เช่นในแอปพลิเคชันนิยายออนไลน์ ReadAWrite จะมีคำเตือนก่อนกดเข้าเนื้อหาสำหรับนิยายที่ผู้เขียนกำหนดเรตอายุผู้อ่านไว้ รวมทั้งผู้เขียนจำนวนหนึ่งก็เริ่มมีการแปะคำเตือนไว้ในหน้าแรกของเนื้อหา บอกว่านิยายเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับศิลปิน หรือเนื้อหาทั้งหมดเป็นเรื่องสมมติ เพื่อย้ำเตือนผู้อ่านและป้องกันไม่ให้ผู้อ่านเข้าใจศิลปินผิด

นวนิยายแฟนฟิคชันนับว่าเป็นงานเขียนชนิดหนึ่งที่สร้างความบันเทิง ประชาสัมพันธ์ศิลปิน กระชับความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและแฟนคลับ บางเรื่องก็สอดแทรกข้อคิดและสะท้อนสังคมออกมาผ่านวรรณกรรมได้อย่างแนบเนียน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีแฟนฟิคชันจำนวนหนึ่งที่นำเสนอเนื้อหาที่ไม่เป็นมิตรต่อสังคม สนับสนุนการกระทำที่โหดร้าย สร้างค่านิยมที่ไม่เหมาะสมให้กับผู้อ่าน หรือร้ายแรงจนทำให้ศิลปินที่ถูกยกมาเป็นตัวละครในเรื่องเกิดความเสียหาย ดังนั้นผู้เขียนจึงควรรับผิดชอบต่อสังคมโดยการขัดเกลาเนื้อหาก่อนเผยแพร่ มีการแปะคำเตือนสำหรับผู้อ่าน ส่วนผู้อ่านเองก็ควรจะต้องมีวิจารณญาณในการเสพเนื้อหา ไม่สนับสนุนเรื่องที่บ่อนทำลายตัวศิลปินและส่งผลเสียต่อสังคมเช่นเดียวกัน

อ้างอิง

– สิริกร ทองมาตร. 2562. อ่าน “ฟิค” บนสื่อดิจิทัล: ชาติพันธุ์วรรณนาของแฟนฟิคชันศิลปินเกาหลี. สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2561

– https://www.sarakadeelite.com/lite/keeratirak/

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000010355

https://www.brandthink.me/content/shipper-law-in-korea

https://www1.president.go.kr/petitions/595553

https://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3121162/why-k-pop-rps-or-real-person-slash-fan-fiction-causing

https://www.vox.com/2020/3/1/21159275/china-ao3-archive-of-our-own-banned-censorship

– กฤตยา ธันยาธเนศ. รูปแบบการสื่อสารในพืนทีสาธารณะ (Public Sphere) สื่อสังคมออนไลน์ ของงานเขียนแฟนฟิคชันวาย (Fan fiction Y) ศิลปินเกาหลีในสังคมไทย. นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต 2561

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
15
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Writings

Le Pupille : คำถามต่อสิ่งที่ ‘เห็น’ และสิ่งที่ ‘เป็น’

เรื่อง : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ  ความคิดแบบเด็กไร้เดียงสากลายเป็นความขบถอันแสบสัน ที่ทำให้โรงเรียนคาทอลิกวุ่นวายตลอดวันคริสมาสต์ เมื่อเทศกาลแห่งการแบ่งปันและภาวนาถึงพระเยซูคริสต์ กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการเห็นแก่ตัวในโรงเรียนเคร่งศาสนา ‘Le Pupille’ ภาพยนตร์ขนาดสั้นสัญชาติอิตาลี ถูกฉายครั้งแรกในดิสนีย์พลัส (Disney+) เมื่อปีพ.ศ.2565 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ...

Writings

ภาษารุนแรงในเพลงร็อก: ศิลปะ การต่อต้าน หรือแค่คำหยาบ

เรื่อง: ณฐนนท์ สายรัศมี ภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ หากดนตรีคือกระจกสะท้อนสังคม เพลงร็อกก็คงเป็นกระจกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ บาดคม ท้าทาย และไม่เคยเลือกแสดงเพียงด้านที่งดงาม  ภายใต้เสียงกีตาร์อันกระหึ่ม เสียงกลองที่ดุดัน และน้ำเสียงของนักร้องที่มักเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด หรือผิดหวัง ...

Writings

มากกว่าแค่ลวดลาย รอยสักที่บอกเล่าเรื่องราว อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป

เรื่อง : ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร ภาพประกอบ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ จากภาพลักษณ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม ปัจจุบัน ‘รอยสัก’ ได้กลายปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบนร่างกายของนักแสดงชื่อดัง นักกีฬา ศิลปิน ...

Writings

Graffiti ศิลปะแห่งการต่อสู้ไม่รู้จบ

เรื่องและภาพ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ เพราะไม่ว่าจะต้องสู้กับใคร ศิลปะจะคงอยู่ข้างผู้คนเสมอ… ภาพวาดที่มีมากกว่าความสวยงาม และแฝงไว้ด้วยความคิดอย่างเต็มเปี่ยมจึงสามารถพาผู้ชมย้อนกลับไปมองไปปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ได้ทุกขณะ  ดังนั้น เมื่อกำแพงกลายเป็นแคนวาส สีสันฉูดฉาดที่พ่นลงไปเป็นตัวแทนการแสดงออกทางความคิด กราฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะที่คนส่วนใหญ่มองว่าขบถ ...

Writings

จดหมายถึงบ้านใหม่

เรื่องและภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ ที่อยู่จัดส่ง บ้านใหม่ ถึง บรรพบุรุษ 30 มีนาคม 2568        นาฬิกาบอกเวลาตี 3 ได้เวลาตื่นเช้ามาช่วยหม่าม้าเตรียมของเพื่อไปเยี่ยมเหล่ากง (ทวดชาย) ...

Lifestyle

ปาจื่อ: เปิดรหัสลับแห่งโชคชะตาด้วยศาสตร์จีนโบราณ

เรื่อง: ณฐนนท์ สายรัศมี ภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ เคยรู้สึกไหมว่าชีวิตของคุณถูกกำหนดไว้แล้ว? ทำไมบางคนเกิดมาพร้อมความโชคดี ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่บางคนต้องดิ้นรนอย่างหนัก แผ่นดินก็ไหวพร้อมกัน แต่ห้องเราพังห้องเดียว เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบุคลิก นิสัย ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save