เรื่อง : ปรียาภรณ์ เมฆแสน
สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนจนถึงวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ฝนยังคงตกหนักเกือบทุกวัน เนื่องจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ พายุไลออนร็อก และพายุคมปาซุ จนหลายคนเริ่มกังวลว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะรุนแรงและยาวนานเหมือนเมื่อครั้งปี 2554 หรือไม่ วารสารเพรสจึงอยากชวนทุกคนย้อนรอยเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร มีสิ่งใดบ้างที่เหมือนหรือแตกต่างกัน และสถานการณ์น้ำท่วมปี 2564 นี้จะเป็นไปอย่างไรต่อไป
น้ำท่วมปี 2554
เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดในประเทศไทย เนื่องจากน้ำท่วมครั้งนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน โดยทั้ง 77 จังหวัดต่างก็ประสบภัยพิบัตินั้นด้วยเช่นกัน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 657 คน สูญหาย 3 คน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 4 ล้าน 3 หมื่นครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 11 ล้านไร่ บ่อปลา บ่อกุ้ง และบ่อหอยเสียหายกว่า 2 แสนไร่ ส่วนปศุสัตว์เสียหายประมาณ 13 ล้านตัว นอกจากนี้ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจว่าเศรษฐกิจเสียหายไปกว่า 1.44 ล้านล้านบาท กล่าวได้ว่าเป็น ‘มหาอุทกภัย’ ที่เลวร้ายที่สุด
สำหรับสาเหตุของมหาอุทกภัยครั้งนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น อิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) หรือ การที่กระแสลมของมหาสมุทรแปซิฟิกพัดจากด้านตะวันออกไปยังตะวันตกด้วยความรุนแรงที่มากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ทำให้มีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและมีฝนตกหนักมากกว่าปกติ ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักตั้งแต่เดือนมีนาคม และมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกเดือน
นอกจากปรากฏการณ์ลานีญาแล้ว ในปี 2554 ก็มีพายุโซนร้อนที่เคลื่อนตัวจากทะเลจีนใต้มายังประเทศไทยทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ ไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก รวมทั้งมีร่องมรสุมและลมประจำถิ่นพาดผ่านประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อย่างเขื่อนลำพระเพลิง (จังหวัดนครราชสีมา) เขื่อนลำตะคอง (จังหวัดนครราชสีมา) เขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ (จังหวัดลพบุรี) และเขื่อนภูมิพล (จังหวัดตาก) ต้องเร่งระบายน้ำออก ประกอบกับบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนมีน้ำท่วมอยู่ ภาวะน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลันจึงเกิดขึ้นและขยายเป็นวงกว้าง
น้ำท่วม 2564
วันนี้ (17 ต.ค. เวลา 6.00 น.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ซึ่งเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. – 7 ต.ค. ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 3 แสนครัวเรือน เสียชีวิต 14 คน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ต.ค. – 14 ต.ค. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากเนื่องจากอิทธิพลของพายุไลออนร็อกซึ่งอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ตราด ชุมพร ระนอง และมี 6 จังหวัดอย่าง เชียงใหม่ ลำปาง เลย เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี จันทบุรีก็ได้รับอิทธิพลจากพายุไลออนร็อกกับพายุเตี้ยนหมู่ในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย ประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 8,000 ครัวเรือน ยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด
ส่วนอิทธิพลจากพายุคมปาซุที่เคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำและร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก 5 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ลพบุรี ปราจีนบุรี และประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 2,600 ครัวเรือน
แผนการรับมือน้ำท่วม
แม้ว่าน้ำท่วมจะเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือจะเกิดขึ้นรุนแรงเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแผนการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมของรัฐบาลนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากรัฐบาลมีแผนการที่รวดเร็ว เหมาะสม ก็จะสามารถบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ วารสารเพรสจึงรวบรวมแผนรับมือน้ำท่วมของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2554 กับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2564 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทยเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า นางสาวยิ่งลักษณ์มีแผนการรับมือกับภัยพิบัติทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะยาว คือ แผนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบโดยกู้วงเงินกว่า 3.5 แสนล้านบาท พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้มาตรการในการเยียวยาก็มีออกมาทันที เช่น ชดเชยความเสียหายให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 2,222 บาท ชดเชยความเสียหายแก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครัวเรือนละไม่เกิน 5,000 บาท อีกทั้งยังร่วมมือกับกรมอาชีวศึกษาส่งเสริมให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานโดยการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ด้วยเช่นกัน
ทางด้านของ พล.อ. ประยุทธ์ระบุแผนรับมืออุทกภัยระดับประเทศผ่านเฟซบุ๊กในวันที่ 30 ก.ย. ว่า ครม. ได้กำหนดแผนรับมือเมื่อเดือนมิถุนายน สำหรับฤดูฝนปีนี้ไว้ 10 มาตรการ คือ
1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง โดยจะมีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อเตรียมแผนในเชิงป้องกันล่วงหน้า
2. การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก รวมทั้งการจัดทำแผนการชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการผันน้ำเข้าทุ่ง
3. ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลาง และเขื่อนระบายน้ำ โดยติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลาง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลางในช่วงสภาวะวิกฤติ
4. ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน โดยตรวจสอบสภาพความมั่นคงและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
5. ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ สำรวจและดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงคูคลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
6. ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา กำจัดวัชพืชในแม่น้ำและคูคลองทั่วประเทศด้วยการบูรณาการเครื่องจักรเครื่องมือในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชของทุกหน่วยงาน
7. เตรียมพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ เตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและเข้าช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
8. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
9. การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
10. ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำกับดูแลงานของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ กล่าวในคลับเฮ้าส์หัวข้อ “น้ำท่วม 64 กับ 10 ปีที่สูญเปล่า” ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกคนดูแลพื้นที่น้ำท่วมคนละจังหวัด พร้อมให้อำนาจอนุมัติเงินช่วยเหลือพื้นที่นั้น ๆ ได้ทันที มีการวางแผนให้ภาครัฐและเอกชนที่ต้องการความช่วยเหลือเขียนโครงการแล้วนำเสนอ และให้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะอนุมัติหรือไม่ภายใน 24 ชั่วโมง จึงทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ถูกแก้ไขอย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างกับ พล.อ. ประยุทธ์ที่รัฐมนตรีเป็นเพียงผู้ติดตาม เนื่องจากอำนาจสั่งการทั้งหมดอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ดังนั้นในสถานการณ์เร่งด่วนจึงทำให้แก้ไขได้ล่าช้า
น้ำท่วมปีนี้จะซ้ำรอยกับปี 2554 หรือไม่
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้สัมภาษณ์กับเวิร์คพอยท์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะซ้ำรอยกับปี 2554 หรือไม่ ต้องดูว่าจะมีร่องมรสุมและพายุเข้ามาในประเทศไทยกี่ลูก ซึ่งร่องมรสุมและพายุจะทำให้เกิดฝนตกหนัก และถ้าฝนตกหนักต้องดูสถานีวัดระดับน้ำ C.2 ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ว่า หากปล่อยน้ำเกิน 2,500 ลบ.ม./วินาที จะทำให้จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี นครสวรรค์ มีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 0.3 – 1 เมตร หลังจากนั้นต้องไปดูต่อที่สถานี C.29A อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า ถ้าปล่อยน้ำเกิน 2,500 ลบ.ม./วินาที จะทำให้ระดับน้ำในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ สูงขึ้นประมาณ 0.3 – 1 เมตรเช่นกัน
ปัจจุบัน (17 ต.ค.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่าระดับน้ำจากสถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,366 ลบ.ม./วินาที ส่วนสถานี C.29A มีน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,724 ลบ.ม./ต่อวินาที ขณะเดียวกันเขื่อนภูมิพล (จังหวัดตาก), เขื่อนสิริกิติ์ (จังหวัดอุตรดิตถ์), เขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ (จังหวัดลพบุรี) และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (จังหวัดพิษณุโลก) มีน้ำกักเก็บอยู่ที่ 54%, 46%, 101% และ 98% ตามลำดับ ดังนั้นสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 นี้ยังคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ที่จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ซ้ำรอยกับปี 2554 เนื่องจากระดับน้ำขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่จะตกมากหรือน้อย