Writings

หมอกระต่ายสู่ชายผ้าเหลือง: การเกื้อหนุนของรัฐ-ศาสนาที่กดทับภิกษุณีในสังคมไทย

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย

ภาพ เก็จมณี ทุมมา

การเสียชีวิตของพญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นวงกว้าง เนื่องจากคุณหมอถูกส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ชนด้วยรถบิ๊กไบค์อย่างรุนแรงในขณะที่เธอกำลังข้ามถนนบนทางม้าลาย หลังเกิดเหตุสิบตำรวจตรีไม่ได้แสดงพฤติกรรมหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งยังบวชอุทิศส่วนกุศลอย่างไม่มีกำหนดสึกให้กับหมอกระต่ายที่วัดปริวาสราชสงคราม ในวันที่ 24 มกราคมอีกด้วย

ทว่าแรงกดดันทางสังคมที่มีการถกเถียงถึงความเหมาะสม รวมถึงความเคลือบแคลงใจว่าตำรวจนายนี้บวชเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคดีในชั้นศาลกลับรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมาวันที่ 26 มกราคม หลังพิธีพระราชทานเพลิงศพหมอกระต่าย ส.ต.ต.นรวิชญ์จึงได้สึกเป็นที่เรียบร้อย

นายสิปบวรณ์ แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไขข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าวด้วยการให้ข้อมูลกับ WorkpointTODAY ว่าตามกฎมหาเถรสมาคมจะไม่สามารถบวชให้ส.ต.ต. นรวิชญ์ได้เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาในคดี และตามกฎหมายอาญา การบวชไม่ได้ทำให้พ้นผิด แต่การบวชหลังจากทำความผิดร้ายแรงมักถูกตีความว่าเป็นการแสดงความรู้สึกผิด และพยายามบรรเทาผลแห่งความร้ายแรงนั้น ซึ่งศาลอาจใช้ดุลยพินิจลดโทษให้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง

กระบวนการยุติธรรมที่อนุญาตให้กิจกรรมทางศาสนาเข้ามามีผลต่อการลดโทษเช่นนี้จึงถูกตั้งคำถามต่อความเหมาะสมว่า ความยุติธรรมในนามของรัฐกำลังสร้างความอยุติธรรมต่อผู้สูญเสียหรือไม่

ในทางกลับกัน หากมีผู้หญิงหรือคนเพศหลากหลายเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตบ้าง พวกเขาจะไม่สามารถใช้กิจกรรมทางศาสนาดังกล่าวในการแสดงถึง “ความรู้สึกผิด” จนอาจนำไปสู่การลดโทษตามกฎหมายได้ เช่นนี้แล้วเรื่องเพศในบริบททางศาสนาจึงสะท้อนมายังความไม่เท่าเทียมทางเพศในโลกฆราวาสได้เป็นอย่างดี

บทความนี้จึงจะพาผู้อ่านไปสำรวจความสัมพันธ์ของรัฐ ศาสนา และเพศ ว่าด้วยประเด็นรัฐไทยและศาสนามีส่วนเกื้อหนุนเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง พื้นที่ทางศาสนาเอื้อให้เกิดประโยชน์แก่เพศชาย (ทั้งเรื่องดีและอาจจะไม่ดี) จนก่อให้เกิดการกดทับเพศอื่นในเชิงระบบหรือไม่ อย่างไร

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวในการประชุมวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ปี 2560 ว่า รัฐในอดีตเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนาเพราะศาสนามีนักบวช ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้มแข็งเทียบเท่ารัฐ ทั้งยังมีอิทธิพลและทำหน้าที่บางอย่างที่รัฐไม่สามารถทำได้ รัฐจึงปรับตัวด้วยการเข้าไปเป็นผู้สนับสนุน โดยอ้างว่านับถือศาสนานั้นเหมือนกัน

ส่วนรัฐไทยในปัจจุบันใช้อำนาจผ่านระบบการศึกษาด้วยการบังคับให้เด็กเรียนวิชาพระพุทธศาสนา รวมถึงเข้ามาข้องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 ที่ระบุว่า ห้ามขายสุราและเบียร์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อการสร้างชาติในนิยามของรัฐทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน นักบวชทางศาสนาก็เข้ามาเกื้อหนุนอุดมการณ์ของรัฐไทยตลอดประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา เช่น ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พระกิตฺติวุฑฺโฒกล่าวกับนิตยสารจัตุรัสด้วยใจความว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป ต่อมาคำพูดนี้ถูกใช้เป็นวาทกรรมเพื่อโจมตีนักศึกษา และเกิดการ “สังหารหมู่” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในที่สุด

ดังนั้นรัฐไทยและศาสนาพุทธจึงเกี่ยวข้องกันทั้งในทางการเมืองสำหรับผู้มีอำนาจบางกลุ่ม มีการใช้กฎหมายมาเป็นกรอบในการสร้างชาติ หรือแม้แต่การเกิดลำดับชั้นในวงการสงฆ์ซึ่งเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ที่มีอำนาจในระบบนั้น

ทว่าในความสัมพันธ์นี้ไม่มีเพศหญิงหรือภิกษุณีรวมอยู่เลย

สังคมไทยยอมรับว่าภิกษุณีเป็นหนึ่งในบรรดาพุทธบริษัทสี่ที่จะช่วยธำรงไว้ซึ่งพุทธศาสนา แต่กลับปิดกั้นหนทางที่จะทำให้ภิกษุณีเกิดขึ้นอีกครั้ง สนิทสุดา เอกชัย เสนอไว้ในบทความเรื่อง “ผู้หญิง: ไม่ต้องบวช ไม่ต้องห่มจีวรก็เป็นสงฆ์ได้” ทาง The101.World ว่า คณะสงฆ์มักอ้างพระวินัยว่าการบวชภิกษุณีต้องมีทั้งการบวชโดยฝ่ายภิกษุณีและฝ่ายภิกษุ แต่ปัจจุบันภิกษุณีในศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาทสูญสิ้นไปแล้ว จึงรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีในไทยไม่ได้ แต่เมื่อมีคนไปบวชภิกษุณีจากศรีลังกาเพราะที่นั่นฟื้นฟูได้สำเร็จ คณะสงฆ์ไทยก็โจมตีและห้ามพระสงฆ์ข้องเกี่ยวกับภิกษุณีเด็ดขาด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการบวชแม่ชีจึงเป็นโอกาสเดียวของผู้หญิงที่จะได้เข้าใกล้พุทธศาสนาอย่างเพศชายบ้าง

ทว่าการเป็นแม่ชีนั้นก็ยังคงถูกพื้นที่แห่งความเป็นชายในศาสนากดทับหลายด้าน ถูกมองว่าเป็นเพียงผู้ปรนนิบัติพระสงฆ์และช่วยงานในวัด รัฐซึ่งเกื้อหนุนพุทธศาสนาก็ไม่ได้รองรับแม่ชีในฐานะนักบวชเทียบเท่าภิกษุสงฆ์ ส่งผลให้พวกเธอต้องพบกับความไม่เป็นธรรม เช่น ไม่ได้ลดหย่อนค่าเดินทางและค่ารักษาพยาบาลเหมือนพระสงฆ์ ครั้นเมื่อจะถูกนับให้เป็นนักบวชก็พบในกรณีของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผลให้แม่ชีไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่สามารถทำนิติกรรม รวมถึงลงทะเบียนรับเงินสวัสดิการแห่งรัฐ

ในขณะที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงและมุ่งเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ผู้หญิงที่ต้องการบวชภิกษุณีแต่ไม่สามารถทำได้ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกกดทับซ้ำซ้อนเพราะเรื่องเพศเช่นกัน การเสียชีวิตของหมอกระต่ายได้สะท้อนให้สังคมมองเห็นปัญหาแล้ว จะเป็นไปได้ไหมที่สังคมจะช่วยกันเรียกร้องต่อไปพร้อม ๆ กัน

เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมที่แท้จริงทั้งในทางโลกและทางธรรม


บรรณานุกรม

The MATTER. 2562. ““บวชชีเพราะหนีรัก” วิบากกรรมของผู้หญิงใต้ระบบชายเป็นใหญ่.” เข้าถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565. https://thematter.co/thinkers/woman-in-buddhism/76620#_ftn1

The MATTER. 2563. “พระ อำนาจ ความเชื่อ ขบวนเคลื่อนไหว: พุทธศาสนาในร่มรัฐไทย และความฝันต่อรัฐฆราวาส.” เข้าถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565. https://thematter.co/social/monk-politic-faith-     protestor/127742

THE STANDARD. 2560. “‘รัฐ-ศาสนา’ ในวันที่ความสัมพันธ์ถูกตั้งคำถาม.” เข้าถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565. https://thestandard.co/news-thailand-thai-buddhism-relate-government/

The101.World. 2562. “ผู้หญิง : ไม่ต้องบวช ไม่ต้องห่มจีวรก็เป็นสงฆ์ได้.” เข้าถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565. https://www.the101.world/female-buddhist-monk/

The101.World. 2565. “อาญาและผ้าเหลือง.” เข้าถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565. https://www.the101.world/justice-and-buddhist/

workpointTODAY. 2565. “ไขข้อข้องใจ ‘ขับรถชนคนตาย บวชได้หรือไม่’.” เข้าถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565. https://workpointtoday.com/norrawitroad/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
5
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Writings

Am I OK? สามสิบก็ยังไม่สายที่จะ ‘รู้ตัว’

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ คุณคิดว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นเพียงเพื่อนกันจริงไหม  เมื่อภาพเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสองสาวกำลังนอนหันหน้าเข้าหากันบนเตียง และดูเหมือนกำลังคุยเรื่องที่ชวนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กันอยู่ พร้อมเรื่องย่อว่า ‘เพื่อนรัก’ สองคนที่สนิทกันมาเกือบทั้งชีวิตกำลังต้องแยกย้ายกันไปเติบโต เพราะเธอคนหนึ่งต้องไปทำงานอีกซีกโลก ในขณะที่อีกคนเพิ่ง ‘รู้ตัว’ ว่าอาจเป็นเลสเบียนในวัย 32 ...

Writings

ขนมครกจิ้มไม่จิ้ม

เรื่อง : ตามติดชีวิตไอดอล ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “เราโกรธมาก ไม่แถมน้ำตาลให้เราแล้วเราจะกินยังไง” “ขนมครกเขาไม่ใส่น้ำตาล ถ้าใส่น้ำตาลบ้านเรามันคือขนมถังแตก แกคนที่ไหนเนี่ย?” (ถกสนั่นโซเชียล ขนมครกต้องจิ้มน้ำตาลไหม?, 2566) ...

Writings

นายหมายเลขสอง

เรื่อง : Amphea ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกคนเคยมีฉายากันไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาตามลักษณะภายนอก หรือฉายาที่เกิดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ผมก็เคยมีฉายาแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งแบบน่ารักๆ อย่าง ‘น้องเหนียง’ ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนในห้องเรียนคนหนึ่งเรียกผม ...

Media

ภาพมันเบลอ หรือ (อุดมการณ์)เธอไม่ชัดเจน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง และชวิน ชองกูเลีย . เมื่อวนมาถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะถูกฉาบไปด้วยสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ผู้คน ...

Writings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save