เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐกมล สิทธิวงศ์
‘รู้ไหม ฉันรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักกับการต้องเป็นคนของใคร ฉันชอบอยู่ตัวคนเดียว ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และผู้คนก็เจ็บปวดเพราะมัน ใครล่ะจะต้องการ พวกเรายังเด็กอยู่เลย ใช้ชีวิตให้สนุกเท่าที่ยังมีโอกาส แล้วค่อยคิดถึงเรื่องจริงจังทีหลังดีกว่า’
นั่นคือสิ่งที่ Summer Finn ตัวละครหญิงจากภาพยนตร์เรื่อง 500 Days of Summer อธิบายให้เพื่อนร่วมงานฟังเมื่อถูกถามว่า ‘ทำไมยังไม่มีแฟน’ เธอไม่เชื่อในรักแท้ และหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์แบบ ‘ผูกมัด’ เพราะหวงอิสระของตัวเองเกินกว่าที่จะคบกับใครแบบมีสถานะได้ แต่ก็ยังไม่วายถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้หญิงที่เห็นแก่ตัว แถมยังล้อเล่นกับความรู้สึกของคนดู เพราะเธอไม่คิดที่จะคบกับใครอย่างจริงจังตั้งแต่แรก แม้ท้ายที่สุดแล้วเธอจะได้พบรักกับคนที่ ‘ใช่’ และยินดีที่จะอยู่ในความสัมพันธ์แบบผูกมัดกับเขาก็ตาม
แบบไหนถึงจะเรียกว่า ‘ผูกมัด’ หรือ ‘ไม่ผูกมัด’
ความสัมพันธ์แบบผูกมัด (Committed Relationship) ไม่ได้มีนิยามที่ตายตัว เพราะมักขึ้นอยู่กับมุมมองและการตกลงร่วมกันระหว่างคนในความสัมพันธ์มากกว่า หลายคนอาจมองว่าการแต่งงานถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องการผูกมัด หรือการตัดสินใจคบกับใครอย่างจริงจัง แต่สำหรับคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z ที่เติบโตในยุคสมัยไล่เลี่ยกัน* นั้น การผูกมัดอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่การใช้สรรพนามว่า ‘เรา (สองคน)’ แทนการใช้คำว่า‘ฉัน’ และ ‘เธอ’ ซึ่งสื่อให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถูกนับให้เป็นคนคนเดียวกัน ไปจนถึงการที่แฟนพาไปทำความรู้จักกับที่บ้าน หรือการที่สังคมรอบตัวตั้งคำถามถึง ‘สถานะ’ ระหว่างคนในความสัมพันธ์ ที่บ่อยครั้งก็ตอบไม่ได้ หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนั้นตั้งแต่แรก คำว่า ‘แฟน’ จึงอาจไม่ได้มีผลกับความสัมพันธ์มากไปกว่าความรู้สึกอึดอัด เพราะมันไม่ได้ต่างอะไรกับการประกาศว่า ‘ฉันมีเจ้าของแล้ว’ แถมยังมาพร้อมกับหน้าที่ที่ต้องประคับประคองความสัมพันธ์ให้อยู่รอด การต้องเอาใจใส่อีกฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการต้องเสียสละความสุขหรือความต้องการบางอย่างของตัวเองเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจ
ในขณะที่ความสัมพันธ์แบบ ‘ไม่ผูกมัด’ (No Strings Attached) กลับไม่มีปัญหาในเรื่องเหล่านั้น ข้อตกลงที่สร้างขึ้นเพื่อผ่อนผันความรับผิดชอบระหว่างกันภายใต้สถานะที่คลุมเครือ หรือยืดหยุ่น สามารถมอบ ‘อิสระ’ ในการใช้ชีวิต และการสำรวจความต้องการที่แท้จริงของตนเองได้ ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ในรูปแบบ Friend with Benefits (F.W.B) เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนที่ตัวเองสนิทใจด้วย แต่ไม่ได้คบกันแบบคนรัก (กรณีเดียวกับ Summer) หรือความสัมพันธ์แบบเปิดเผย (Open Relationship) ที่แสดงออกว่าเป็นคนรักกัน แต่ก็สามารถคบกับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ของตัวเองได้ด้วย รวมไปถึงความสัมพันธ์แบบข้ามคืน (One Night Stand) ที่คนแปลกหน้ายินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กันภายในคืนเดียว หรือแม้กระทั่งการเดทโดยไม่ผูกมัด (Casual Dating) ที่เหมือนกับการออกเดตของคู่รักทั่วไป แต่จะไม่พัฒนาความสัมพันธ์ไปถึงขั้นนั้น เป็นเพียงการไปเที่ยวเล่น หรือทำกิจกรรมแก้เหงาร่วมกันเฉย ๆ

ความสัมพันธ์ที่ว่ามานี้ ล้วนตอบโจทย์คน Gen Y หรือ Gen Z ที่มีแนวโน้มที่จะมองหาความสัมพันธ์ในระยะสั้นหรือแบบชั่วคราวมากขึ้น เพราะพวกเขาค่อนข้างใช้เวลานานกว่าจะเจอคนที่คุยถูกคอหรือเข้ากันได้จริง ๆ และมักจะให้ความสำคัญกับทัศนคติ รสนิยม ความชอบส่วนตัวของอีกฝ่าย มากกว่าที่จะสนใจรูปร่างหน้าตาเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังไม่ชอบผ่อนปรนความต้องการของตัวเองเพื่อใครนัก หากรู้สึกว่าความสัมพันธ์นั้น ๆ ไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองมองหา ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของตัวเองได้ หรืออีกฝ่ายล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวมากเกินไป ก็แค่ move on ไปหาคนใหม่ จะได้ไม่ต้องเสียดายทั้งเวลาและความรู้สึก
ยิ่งไปกว่านั้น การที่คนรุ่นใหม่เปิดกว้างในเรื่องเพศวิถี (sexuality) กันมากขึ้น โดยไม่ได้ยึดติดกับกรอบเพศทวิลักษณ์ (gender binary) ที่แบ่งคนออกเป็นสองเพศคือ เพศชาย และเพศหญิง เพียงอย่างเดียว ยิ่งทำให้พวกเขามีตัวเลือกในเรื่องของความรัก-ความสัมพันธ์มากขึ้นด้วย ซึ่งถ้าหากอ้างอิงผลการวิจัยของ Arielle Kuperberg อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย North Carolina ของสหรัฐฯ ก็จะพบว่ากลุ่มคน Gen Z ราว ๆ 50% นั้นมีการนิยามตัวเองว่าเป็น heterosexual (ชอบเพศตรงข้าม) และหลาย ๆ คนยังกล่าวอีกว่าพวกเขาเป็น ‘heteroflexible’ หรือผู้ที่ชอบเพศตรงข้ามเป็นหลัก แต่บางครั้งก็รู้สึกดึงดูดโดยคนเพศเดียวกันด้วย (เรียกได้อีกอย่างว่า เกือบเป็น straight) จึงไม่แปลกถ้าคนรุ่นใหม่จะไม่อยากเสียเวลาไปกับการง้อใครนาน ๆ และชอบความสัมพันธ์ที่ยืดหยุ่น เป็นอิสระ โดยไม่ต้องมีนิยามมากำหนดอย่างตายตัวมากกว่า
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนบางกลุ่มการอยู่ในความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด อาจเกิดขึ้นจากความกลัว หรือที่เรียกกันว่า โรคกลัวการผูกมัด (Commitment Phobia) โดยอาการของโรคอาจมีตั้งแต่การเลี่ยงที่จะพูดถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรัก การไม่ชอบใช้คำบ่งบอกสถานะ ไปจนถึงการรู้สึกตื่นตระหนก (anxiety) เมื่อถูกเข้าใกล้จากคนรักมากเกินไป ฯลฯ ซึ่งนับได้ว่ามันเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและควรได้รับการแก้ไขโดยจิตแพทย์ เพราะบ่อยครั้งสาเหตุของโรคก็เกิดมาจากบาดแผลทางจิตใจ หรือประสบการณ์ความรักที่ล้มเหลวในอดีต จนทำให้ไม่กล้าที่จะเริ่มต้นใหม่กับใคร ฉะนั้นผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดอาจต้องถามตัวเองให้แน่ใจว่า มันเป็นสิ่งที่ ‘เลือก’ เองจริง ๆ หรือเป็นผลมาจากปมภายในจิตใจที่รอวันรักษาอยู่กันแน่
คนรุ่นใหม่ มักให้ความสำคัญกับตัวเองก่อน
เราพูดถึงคนที่อยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ไปแล้ว ทว่าสำหรับหลายคนที่เป็นโสดมาสักพักคงติดใจกับการใช้ชีวิตตัวคนเดียวอยู่ไม่น้อย เพราะไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวคนที่กำลับคบหาว่าแต่ละวันตัวเองไปไหน ทำอะไรบ้าง รวมถึงไม่ต้องแบ่งเวลาที่มีค่าของตัวเองไปให้ด้วย จนอาจรู้สึกว่าการเปิดรับใครสักคนเข้ามาไม่ได้ทำให้ชีวิตสะดวกขึ้น หรือมีความสุขมากไปกว่าเดิมเท่าไร
“พวกเขาจดจ่ออยู่กับตัวเองมาก ไม่ใช่เพราะว่าเห็นแก่ตัว แต่พวกเขารู้ว่าตัวเองมีส่วนรับผิดชอบในความสำเร็จและความสุขของตนเอง และรู้ว่าต้องดูแลตัวเองให้ได้ก่อนที่จะไปดูแลคนอื่น”Julie Arbit รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดระดับโลก ด้านข้อมูลเชิงลึก (Insight) ของบริษัท Vice Media Group กล่าว เมื่อข้อมูลจากผลการวิจัยของเธอระบุว่า มีเพียง 1 ใน 10 ของกลุ่มคน Gen Z เท่านั้นที่ ‘ยินยอมกับการถูกผูกมัด’ ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่อง ‘ความรักหลังล็อกดาวน์’ ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2563 ของเธอที่ระบุไว้ว่า 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น Gen Z มีสถานะโสดและไม่ได้กำลังคบหากับใครในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมีรายงานว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาอยากใช้เวลาอยู่คนเดียวเพื่อทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้นก่อน แล้วจึงค่อยมองหาคนในความสัมพันธ์
‘เงิน’ และ ‘เวลา’ ตัวแปรหลักของความสัมพันธ์ระยะยาว
ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดหรือความสัมพันธ์ในระยะสั้น มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนทำให้ ‘การแต่งงาน’ ซึ่งเป็นพิธีประกาศความสัมพันธ์ และเครื่องหมายของการมีชีวิตคู่นั้น ดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวคนรุ่นนี้อยู่ไม่น้อย ประกอบกับสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบันที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะจัดลำดับความสำคัญในชีวิตโดยมีเป้าหมายในเรื่องความมั่นคงทางการเงินมาก่อนเรื่องความรัก โดยอ้างอิงได้จากผลสำรวจทัศนคติและความคาดหวังของกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ที่มีต่อการสมรสและพิธีแต่งงาน จำนวนกว่า 1,000 คน ของเว็บไซต์ The Knot ซึ่งพบว่า เป้าหมายในชีวิตที่พวกเขาจัดลำดับความสำคัญไว้เป็นอันดับแรกก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงาน คือการมีอิสระทางการเงิน รองลงมาจึงเป็นเรื่องความรัก ตามมาด้วยการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะใช้เวลาในช่วงวัยรุ่น ไปจนถึงวัยทำงานในการค้นหาตัวเองและสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต มากกว่าที่จะสนใจในเรื่องความรักเป็นหลัก เพราะเมื่อมีอิสระทางการเงินแล้ว ก็ย่อมมีอิสระในการใช้ชีวิต และการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ง่ายขึ้นตามมาด้วย
จึงนับได้ว่า การแต่งงานหรือการเลือกที่จะอยู่ในความสัมพันธ์แบบผูกมัดนั้นไม่ใช่เรื่องที่คนรุ่นใหม่มองข้ามไปเสียทีเดียว เพียงแต่พวกเขาต้องทำตามเป้าหมายในชีวิตข้ออื่นที่สำคัญกว่าให้สำเร็จก่อน ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนต่างก็ใช้เวลาไปถึงจุดนั้นได้ไม่เท่ากัน บางคนอาจอยากอยู่เป็นโสดโดยไม่มีใครไปอีก 10 หรือ 20 ปี และมุ่งหาเงินเพื่อมาปรนเปรอตัวเองเป็นหลัก บางคนอาจตั้งเป้าไว้ว่าจะแต่งงานตอนอายุ 35 ปี หลังจากมีบ้าน มีรถ และมีงานที่ถูกใจทำแล้ว หรือบางคนอาจจะแค่อยากใช้ชีวิตกับคนในความสัมพันธ์ไปเรื่อย ๆ โดยที่ในหัวไม่เคยมีเรื่องแต่งงานอยู่ในนั้นเลยก็ได้
ความสัมพันธ์ที่ผูกมัด ก่อให้เกิดความกดดันและความน่าอึดอัดใจหลายอย่าง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่มองหาโอกาสในการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดจึงเป็นเหมือนทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขาได้สำรวจความต้องการที่หลากหลายของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบความสัมพันธ์ไม่กี่แบบที่สังคมกำหนดไว้ให้ ทั้งนี้การเลือกที่จะลงเอยกับใครสักคนก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องหวาดกลัวหรือเป็นกังวล เพียงแต่ต้องสื่อสารระหว่างคู่ของตนให้ชัดเจนว่า แต่ละฝ่ายมีความต้องการแบบไหน มีเงื่อนไขการใช้ชีวิตอย่างไร และถามตัวเองว่าพร้อมที่จะประนีประนอมในความสัมพันธ์นั้นหรือไม่
เชิงอรรถ
เติบโตในยุคสมัยไล่เลี่ยกัน* หมายถึง ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1981-1996 และ ปี 1997-2012 โดยนับว่าเป็นคนในรุ่น Generation Y (Millennials) และ Generation Z ตามลำดับ ซึ่งคนทั้ง 2 รุ่นนี้ล้วนเติบโตมาในยุคที่มีอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า
อ้างอิง
https://www.bbc.com/worklife/article/20220104-are-gen-z-more-pragmatic-about-love-and-sex
https://www.brides.com/signs-of-a-committed-relationship-5105334
https://www.astoldoverbrunch.com/blog/2019/5/10/generation-z-and-a-new-dating-culture
https://www.refinery29.com/en-gb/gen-z-relationships-commitment
https://www.theknot.com/content/gen-z-relationships-marriage