Writings

อ่าน “ข่าว” อยู่ดีๆ ไหงกลายเป็น “โฆษณา (แฝง)” ไปได้

เรื่อง รุจน์ โกมลบุตร

ภาพ เก็จมณี ทุมมา

หลายปีมานี้ โดยเฉพาะหลังจากการหลอมหลวมของสื่อ เช่น สำนักข่าวต้องแปลงร่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปเป็นสื่อออนไลน์ มีช่องทางการนำเสนอเนื้อหาผ่านหลายแพลตฟอร์ม หรือสถานีโทรทัศน์ที่เปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัลที่เพิ่มช่องได้อีกเป็นโหลๆ ฯลฯ เราจะสังเกตเห็นได้ว่า เนื้อหาที่นำเสนอในรูปแบบข่าว ดูไปดูมา (หรืออ่านไปอ่านมา) กลายเป็น “โฆษณาแฝง” ไปซะงั้น

บทความเรื่องนี้ ซึ่งพัฒนามาโครงการวิจัยเรื่อง  “การจัดการของสื่อสถาบันที่นำเสนอเนื้อหาประเภทเรื่องจริงที่ไม่เป็นความจริงแท้” จะพาไปคุยกับนักข่าว 3 คน จากสำนักข่าว 3 แห่ง ที่มีประสบการณ์ในการทำโฆษณาแฝง เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า เขามีเหตุผลอย่างไรที่ต้องทำโฆษณาแฝง เขามีกลวิธีอย่างไรในการแต่งหน้าทาปากให้โฆษณาแฝงกลายเป็นข่าวที่แลดูเนียนสว่างกระจ่างใส และพวกเขามีข้อแนะนำอย่างไรเพื่อให้ปัญหาโฆษณาแฝงนี้ทุเลาเบาบางลง (บ้าง)

มิ้นต์; เมื่อ advertorial คือ “โบนัส”

มิ้นต์ (นามสมมติ) ขณะเกิดเหตุการณ์ตามบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ เธอทำงานสื่อมาแล้ว 9 ปี  ปีแรกของการทำงานเป็นนักข่าวโต๊ะเศรษฐกิจในสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง (ขอปกปิด) มิ้นต์ก็เป็นนักข่าวที่ทำข่าวตามปกติ แต่พอเข้าปีที่สอง สถานีก็เริ่มสั่งให้นักข่าวช่วยกันทำโฆษณาแฝง หรือที่เรียกกันว่า “ข่าวลูกค้า” เพื่อไปนำเสนอปะปนกับข่าว (จริง) ในรายการข่าว เช่น  ข่าวเปิดตัวสินค้าใหม่ ข่าวลูกค้าทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ฯลฯ

การทำโฆษณาแฝงแบบนี้ ฝ่ายขายขององค์กรสื่อจะติดต่อกับลูกค้า แล้วประสานงานกับกองบก.เพื่อส่งนักข่าวไปทำข่าวตามเนื้อหาที่ลูกค้ากำหนด ซึ่งมีทั้งที่ลูกค้ากำหนดเนื้อหาอย่างละเอียดมาให้เลย หรือกำหนดเพียงกรอบเพื่อให้นักข่าวช่วยคิดเนื้อต่อให้

นอกจากนี้ยังต้องหารือเงื่อนไขการทำงานร่วมกัน เช่น ไปสัมภาษณ์ใคร ใช้ภาพประกอบจากที่ไหน ข่าวความยาวเท่าไหร่ ลูกค้าจะตรวจบทก่อน หรือหลังถ่ายทำ จำนวนครั้งที่ลูกค้าสามารถแก้ไขงานก่อนออกอากาศ รวมทั้งค่าจ้างที่มิ้นต์คาดว่าสถานีน่าจะได้มากกว่านาทีละ 1 แสนบาทสำหรับการออกอากาศในช่วงข่าวหลัก

มิ้นต์ยกตัวอย่าง advertorial เรื่องหนึ่งที่เคยทำคือ ลูกค้าเป็นผู้ประกอบการผลิตน้ำอัดลม ต้องการนำเสนอไอเดียเกี่ยวกับการนำพลาสติกหมุนเวียนไปใช้ทำขวด

มิ้นต์รับโจทย์ของลูกค้ามาจากฝ่ายขายของสถานี ที่กำหนดเงื่อนไขสำคัญในการทำงาน เช่น กำหนดแหล่งข่าวที่เป็นผู้บริหารของบริษัทลูกค้า ภาพประกอบข่าวต้องไม่ปรากฎสีของบริษัทน้ำอัดลมคู่แข่ง (เช่น สมมติว่า หากลูกค้าคือการบินไทยซึ่งมีสีขององค์กรเป็นสีม่วง ในภาพข่าวก็จะห้ามมีสีเหลือง-น้ำเงินของสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่เป็นคู่แข่ง) ฯลฯ หลังการถ่ายทำและตัดต่อ มิ้นต์ส่งงานให้ลูกค้าดูโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของบก. เพราะสุดท้ายผู้ที่เคาะงานก็คือลูกค้าอยู่ดี

มิ้นต์เล่าว่า นักข่าวบางคน โดยเฉพาะนักข่าวอาวุโสอาจจะลำบากใจในการทำข่าวลูกค้าในระยะแรก เพราะไม่รู้ว่าจะเข้าหาลูกค้าที่กลายไปเป็นแหล่งข่าวได้อย่างไร แต่สำหรับมิ้นต์ เธอไม่ได้รู้สึกว่าการทำ advertorial เป็นเรื่องแย่ “งานลูกค้าช่วยลดอีโก้ของนักข่าว เพราะไม่ใช่ว่านักข่าวคนไหนจะทำข่าวลูกค้าได้ นอกจากนี้งานลูกค้ายังตอบสนองรายได้ของบริษัท ถ้าเราไม่ทำ ช่องก็แย่ เราก็ไม่มีโบนัส”

มิ้นต์มีข้อเสนอแนะต่อผู้ชมว่า วิธีสังเกตข่าวลูกค้าคือ ข่าวลูกค้าจะพูดชื่อสินค้าหรือบริษัท และจะพูดแต่ในแง่ดี แต่ข่าว(จริง) มักจะไม่ค่อยพูดชื่อสินค้าหรือบริษัทแบบเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตามมิ้นต์เองก็ยอมรับว่าข่าวลูกค้าไม่ยุติธรรมกับผู้ชม เพราะผู้ชมอาจไม่ได้อยากดู จึงเสนอแนะให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้อำนาจในการกำกับเรื่องนี้

เมื่อถามว่า การที่สถานีไม่แจ้งเตือนผู้ชมว่าเนื้อหาที่ชมอยู่เป็น advertorial ถือว่าฝ่าฝืนข้อบังคับจริยธรรมของสภาวิชาชีพสื่อหรือไม่ มิ้นต์ตอบว่า เธอไม่เคยรู้จักข้อบังคับฯ นี้มาก่อนเลย

เจนนี่; advertorial ไม่ได้ทำเรื่องผิดให้กลายเป็นเรื่องถูก

เจนนี่ (นามสมมติ) ขณะเกิดเหตุเป็นนักข่าวของนิตยสารด้านเศรษฐกิจแห่งหนึ่ง (ขอปกปิดชื่อ) มาแล้ว 9 ปี นิตยสารแห่งนี้ปกติจะมีบทสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ อยู่ด้านในเล่ม โดยกองบก.เลือกติดต่อขอสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับธีมหลักของเดือนนั้น ทว่าในบางฉบับ เจ้าของนิตยสารก็จะ “ขาย” หน้าปกและคอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษให้แก่ลูกค้าที่ต้องการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งเจนนี่คาดเดาว่า ลูกค้าต้องจ่ายให้นิตยสารเป็นหลักแสนบาทขึ้นไป ทั้งนี้ในรอบ 1 ปี ก็จะมีการนำเสนอ “ข่าวลูกค้า” ประมาณ 8 ฉบับ

เจนนี่วิเคราะห์ว่า การขายพื้นที่ให้ลูกค้าน่าจะมีเหตุผลมาจากสื่อใหม่เข้าไปแย่งเม็ดเงินค่าโฆษณาจากสื่อสิ่งพิมพ์ ดังนั้นนิตยสารของเธอรวมทั้งสื่ออื่นๆ จึงต้องปรับตัวเพื่อหารายได้เข้าสำนักงาน ดังนั้นเจนนี่จึงเห็นว่า การทำงานรูปแบบนี้ไม่ได้ขัดกับจริยธรรมในใจเธอเท่าใดนัก เพราะใครๆ ก็ทำกัน

การทำ advertorial แต่ละครั้งมาจากฝ่ายขายของนิตยสารติดต่อกับลูกค้า แล้วนำโจทย์จากลูกค้าไปหารือกับกองบก. เพื่อออกแบบทิศทางการสัมภาษณ์ และแนวทางการนำเสนอ รวมทั้งคัดเลือกนักข่าวที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นไปสัมภาษณ์ลูกค้า

เจนนี่ยกตัวอย่าง advertorial เรื่องหนึ่งที่เคยทำคือ นิตยสารขายพื้นที่ให้แก่นักธุรกิจด้านการเงิน สิ่งที่เจนนี่ต้องทำคือ ไปสัมภาษณ์นักธุรกิจคนนั้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านการเงินของบริษัทเขา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการพูดคนเดียว บอกความจริงด้านเดียว และมองข้ามข้อด้อยต่างๆ

“แต่เราก็ไม่ได้บอกว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ดีมาก หรือการันตีว่าดี ต้องไปซื้อ แต่ลูกค้าที่ต้องการให้คนอ่านทราบว่าผลิตภัณฑ์ของเขาดี เขาก็ต้องตอบการสัมภาษณ์ให้ได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเขาดีอย่างไรด้วย… โดยกองบก.ก็ต้องระมัดระวังว่าจะเขียนเนื้อหาเชิงบวกอย่างไรให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง”

เมื่อต้นฉบับเสร็จแล้ว นักข่าวจะส่งต้นฉบับให้บก.ตรวจ และส่งต่อให้ฝ่ายขายไปให้ลูกค้าพิจารณาแก้ไข เจนนี่เล่าว่า บางครั้งลูกค้าจะแก้เนื้อหาให้ hard sale มากๆ กองบก.ก็จะแนะนำว่า การเขียนแบบ hard sale จะทำให้งานไม่น่าอ่าน กองบก.ก็จะช่วยปรับให้มัน “ดูหรู” “ดูแพง” ขึ้น ซึ่งลูกค้าก็มักจะเชื่อในคำแนะนำของกองบก. เพราะเป็นความชำนาญของทีม

เจนนี่เล่าว่า หากเป็นคอลัมน์ปกติ กองบก.ก็จะนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ปัญหาหนึ่งๆ และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องหลายๆ คนในหัวข้อนั้น เพื่อให้คนอ่านได้เห็นแง่มุมที่หลากหลาย ไม่ได้เน้นขายหรือแนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทใดๆ และแหล่งข่าวเหล่านั้นจะไม่มีสิทธิ์ได้อ่านหรือแก้ไขต้นฉบับก่อนเผยแพร่

ในขั้นตอนการนำเสนอ แม้จะเป็นการขายพื้นที่ให้ลูกค้า แต่ก็จะไม่มีการแปะข้อความ “พื้นที่โฆษณา” ให้คนอ่านได้เห็น เพราะจะทำให้ลูกค้าดูไม่ดี ไม่สมกับที่ได้ขึ้นปก และจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนิตยสารด้วย

เมื่อถามว่า หากประชาชนไปซื้อผลิตภัณฑ์ตามคอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ แต่พบว่าผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง จะถือว่างานโฆษณาแฝงส่งผลกระทบต่อคนอ่านหรือไม่ เจนนี่บอกว่า ตัวบทสัมภาษณ์เองไม่ได้เขียนจากผิดให้เป็นถูก เพียงแต่นำเสนอเนื้อหาเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของนิตยสาร ส่วนการที่ผลิตภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ผู้อ่านนั้น เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย รวมทั้งกระบวนการตัดสินใจซื้อ เช่น คนอ่านมีข้อมูลเพียงพอหรือยัง ซึ่งไม่น่าจะมาจากสื่อเพียงอย่างเดียว

เจนนี่มีข้อเสนอแนะต่อผู้อ่านว่า เมื่ออ่านคอลัมน์ใดๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นพื้นที่โฆษณา โดยเฉพาะการพิจารณาให้เห็นว่า เนื้อหาที่นำเสนอนั้นเป็นประโยชน์ต่อใครระหว่างแหล่งข่าวกับประชาชนคนใช้สื่อ ขณะที่กองบก.ก็ควรพิจารณาแปะป้าย “พื้นที่โฆษณา” เพื่อแสดงความจริงใจต่อคนอ่านด้วย

สำหรับข้อเสนอแนะต่อสภาวิชาชีพสื่อนั้น เจนนี่บอกว่า เธอเองไม่ได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อใดๆ และไม่เห็นถึงความเป็นสถาบันของสภาฯ เหล่านั้น สังเกตได้จากเมื่อสภาฯ ออกประกาศเตือนสมาชิก ก็ไม่ค่อยมีใครฟัง เจนนี่จึงคิดว่า การกำกับดูแลปัญหาโฆษณาแฝงจึงควรเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องออกกฎหมายบังคับให้สื่อแจ้ง “พื้นที่โฆษณา” ให้ผู้อ่านทราบ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

บี; เมื่อนักข่าวกำลังทำตัวเป็น “อินฟลูเอนเซอร์”

บี (นามสมมติ) เป็นบก.ของสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง (ขอปกปิด) ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ตามบทสัมภาษณ์นี้ บีมีประสบการณ์การทำสื่อมาแล้ว 12 ปี

สำนักข่าวที่บีทำงาน มีนโยบายชัดเจนว่า ข่าวก็คือเนื้อหาที่กองบก.รับผิดชอบ ส่วน “ข่าวลูกค้า” ที่ฝ่ายขายของสำนักข่าวรับจ้างทำ ฝ่ายขายที่แยกการทำงานกับกองบก.อย่างชัดเจน ก็ต้องแปะป้ายให้คนอ่านรู้ด้วยว่าเป็น “พื้นที่โฆษณา” เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค

บีเล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่จับพลัดจับผลูต้องไปทำโฆษณาแฝงว่า กระทรวงแห่งหนึ่ง (ขอปกปิด) จ้างบีในลักษณะส่วนตัวด้วยเงิน 2 หมื่นบาทให้ไปร่วมโต๊ะอาหารค่ำกับรัฐมนตรี และรับฟังการแถลงข่าวการจัดงานใหญ่งานหนึ่งของกระทรวง โดยเป็นการจ้างส่วนตัว ไม่ได้ผ่านฝ่ายขายของสำนักข่าว

โดยทั่วไป การจ้างสำนักข่าวทำเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ ทีมฝ่ายขายจะส่งคนจากฝ่ายขายไปทำงาน แต่เนื่องจากทีมฝ่ายขายไม่ว่าง บีในฐานะบก.จึงไปทำงานนี้เอง เพื่อจะได้สร้างความรู้จักกับแหล่งข่าวในงานเลี้ยง และได้รับรู้ข้อมูลกิจกรรมซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน

ส่วนเรื่อง “ค่าจ้าง” ในการทำงานนั้น บีให้กระทรวงฯ โอนเงินเข้าสำนักข่าว ไม่ใช่โอนให้บีแบบส่วนตัว เพราะบีต้องการอิสระในการไปทำข่าว บีเล่าว่า เงิน 2 หมื่นบาท เอาเข้าจริงแล้วไม่เพียงพอสำหรับสำนักข่าวของบีในการขาย “พื้นที่โฆษณา” ให้ลูกค้า

ในงานรัฐมนตรีดินเนอร์กับนักข่าวและงานแถลงข่าวดังกล่าว บีพบว่ามีนักข่าวและอินฟลูเอนเซอร์คนอื่นๆ ไปร่วมงานด้วย เมื่อจบงานแล้ว กระทรวงส่งภาพถ่ายในงานเลี้ยง และเนื้อหาการแถลงข่าวไปให้บีและสื่ออื่นๆ บีตัดสินใจไม่นำเสนอภาพและเนื้อหาเกี่ยวกับการทานอาหารค่ำกับรัฐมนตรี โดยนำเสนอแต่เพียงปฏิทินกิจกรรมซึ่งเป็นอีเวนต์ของกระทรวงลงในเพจของสำนักข่าว บีไม่ได้นำเสนอเนื้อหานี้ทางเว็บไซต์ของสำนักข่าวเพราะเห็นว่าเนื้อหาไม่ได้มีความสำคัญขนาดที่ควรจะเผยแพร่ทางเว็บได้

นอกจากนี้บีก็ไม่ได้นำเสนอเนื้อหาทางเพจส่วนตัวของบี (ซึ่งกระทรวงเสนอให้สื่อนำเสนอผ่านช่องทางส่วนตัวก็ได้) เพราะบีเห็นว่าในฐานะคนทำสื่อ บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ควรจะมีไว้ใช้เป็นเรื่องส่วนตัว ติดตามความเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ หรือข่าวสารอื่นๆ ตามความสนใจเท่านั้น อย่างไรก็ตามอินฟลูเอนเซอร์ และสื่อคนอื่นๆ จำนวนหนึ่งที่ไปร่วมงาน ได้เผยแพร่ภาพถ่ายการทานอาหารค่ำร่วมกับรัฐมนตรีลงในเพจส่วนตัว เท่ากับว่ากิจกรรมนี้ได้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงกับอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสในการจ้างงานด้านประชาสัมพันธ์กันต่อไปในอนาคต

บีตั้งข้อสังเกตว่า ระยะหลังๆ ผู้สื่อข่าวมักลงรูปคู่กับแหล่งข่าวในบัญชีส่วนตัวในสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น พร้อมกับเขียนชื่นชมแหล่งข่าว แต่บีเห็นว่า สื่อควรสงวนท่าทีและไม่แสดงออกว่าตัวเองชอบใครเป็นพิเศษ

บีมีข้อเสนอแนะว่า สื่อควรแยกกองบก.และฝ่ายขายออกจากกัน เพื่อตอบคำถามทางจริยธรรมให้กับตัวเองได้ และมีอิสระในการทำงานด้วย เช่น กองบก.สามารถวิจารณ์แหล่งข่าวที่เป็นลูกค้าได้ โดยแหล่งข่าวไม่สามารถตรวจต้นฉบับได้ ทว่าหากแหล่งข่าวอยากชี้แจงเพิ่มเติม กองบก.ก็ยินดีพิจารณา

นอกจากนี้ บีเสนอแนะต่อผู้ใช้สื่อว่า ควรเรียกร้องให้สื่อแปะป้าย “พื้นที่โฆษณา” ให้ชัดเจน เพราะหากผู้อ่านไม่รู้ว่าเนื้อหานั้นคือโฆษณาที่พูดด้านดีด้านเดียว เช่น เป็นโฆษณาแฝงเชียร์การสร้างเขื่อน ก็อาจจะทำให้ผู้อ่านและสังคมเข้าใจข้อเท็จจริงผิดไปก็ได้

ส่วนสภาวิชาชีพสื่อ บีเห็นว่าต้องเลิกทำตัวเป็นเสือกระดาษ และกล้าลงโทษสื่อที่กระทำผิดจริยธรรมวิชาชีพ

 เมื่อโฆษณาแฝงกำลังยืนหนึ่ง — ใครทำอะไรได้บ้างไหม

จากการให้สัมภาษณ์ของมิ้นต์ เจนนี่ ที่กองบก. มีนโยบายทำโฆษณาแฝงโดยไม่แปะป้ายเตือนผู้ใช้สื่อ และ บี ที่สำนักข่าวมีนโยบายแยกกองบก. และ ฝ่ายขาย ออกจากกัน และต้องแปะป้าย “พื้นที่โฆษณา” ให้ผู้ใช้สื่อได้ทราบ เราอาจจะสรุปการบ้านของผู้เกี่ยวข้องได้แบบนี้

ประการแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจสื่อ กำลังดิ้นรนเพื่ออยู่รอด และแสวงหากำไรกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนข้ามเส้นในทางจริยธรรม ขณะที่ผู้ประกอบการก็อยากเนียนขายของผ่านโฆษณาแฝง ซึ่งต้นทุนถูกกว่าการทำโฆษณา (advertisings) ดังนั้นในฐานะคนใช้สื่อ ต้องเรียกร้องให้สื่อทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ กลับเข้าไปอยู่หลังเส้นที่มีการกำกับเอาไว้แล้วชัดเจนคือ เนื้อหาใดที่รับจ้างทำ หรือได้รับการสนับสนุนทางการเงินหรือด้วยรูปแบบอื่นใด ต้องแปะป้ายบอกผู้ใช้สื่อให้รับทราบ

ประการที่สอง ในกรณีของบี ที่มีความมุ่งมั่นสูงในการประกอบวิชาชีพสื่ออย่างซื่อตรง แสดงให้เห็นว่า การมีทัศนคติที่ดีจะช่วยกำกับทิศทางการเป็นสื่อที่ดีได้ ยิ่งหากประกอบกับการจัดการที่ดีในสำนักงานเช่น มีการแยกกองบก.ออกจากฝ่ายขายอย่างชัดเจน เพื่อให้มีอิสระในการทำงาน หรือ มีการหาทุนสนับสนุนการทำงานแบบโปร่งใส ฯลฯ ก็จะทำให้นักข่าวแบบบีทำงานได้สะดวกขึ้น และในที่สุดก็จะทำให้สำนักข่าวได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากผู้ใช้สื่อมากขึ้น เพราะผู้ใช้สื่อจะเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างสื่อที่แปะป้ายเตือน กับสื่อที่ไม่ (กล้า) แปะป้าย

ประการต่อมา เนื่องจากโฆษณาแฝงสร้างความเดือดร้อนรำคาญ และอาจทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเข้าใจผิดต่อข้อเท็จจริงในโฆษณาแฝงนั้นได้ หน่วยงานกำกับดูแล เช่น กสทช. หรือหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค จึงควรพิจารณาออกคำสั่งให้สื่อมีการแปะป้าย “พื้นที่โฆษณา” เพื่อแจ้งเตือนผู้อ่าน แล้วเราก็อาจจะพบว่า เนื้อหาของสำนักข่าวบางแห่ง (หรือหลายแห่ง) ต้องแปะป้ายเตือนลงบนงาน (เกือบ) ทุกชิ้น

ประการที่สี่ โรงเรียนนิเทศศาสตร์ ที่แม้จะมีการเรียนการสอนด้านจริยธรรมสื่ออยู่แล้ว ก็จำเป็นต้องปรับเนื้อหาให้ทันกับสถานการณ์ที่เป็นจริง เช่น ปรากฏการณ์สีเทาที่แหล่งข่าวทอดสะพานให้แก่นักข่าว หรือในทางกลับกันคือนักข่าวเข้าหาแหล่งข่าวเพื่อหาช่องทางได้รับการสนับสนุน ฯลฯ เหล่านี้ไม่ได้แปลว่าโรงเรียนนิเทศศาสตร์จะสอนให้ผู้เรียนย่อหย่อน หรือหรี่ตาข้างหนึ่ง แต่ต้องทำให้ผู้เรียนเข้มแข็งขึ้น และเท่าทันกับพื้นที่สีเทาในรูปแบบต่างๆ ให้มากขึ้น

ประการสุดท้าย บทสัมภาษณ์ของมิ้นต์ เจนนี่ และบี สะท้อนตรงกันถึงการทำงานของสภาวิชาชีพสื่อ ที่ไม่ได้ลงโทษสื่อที่ฝ่าฝืนจริยธรรม หรือไม่ได้ทำให้สื่อรู้เลยว่าจริยธรรมของสภาฯ มีอะไรบ้าง สภาฯ จึงอาจจะต้องพิจารณาบทบาทของตัวเอง เพื่อสร้างการยอมรับจากสมาชิก และประชาชนให้มากขึ้นด้วย


*หมายเหตุ บทความนี้ปรับปรุงมาจากโครงการวิจัยเรื่อง “การจัดการของสื่อสถาบันที่นำเสนอเนื้อหาประเภทเรื่องจริงที่ไม่เป็นความจริงแท้” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัย (คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2564

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
2
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Articles

‘Vice President’ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตำแหน่งนี้สำคัญไฉน?

เรื่อง : จุฑาภัทร ทิวทอง ภาพ : สิทธิเดช สายพัทลุง ในสมรภูมิการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เรามักมองเห็นคือภาพของคนกำลังเฉือนคมกันเพื่อช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งภาพแสนคุ้นเคยกำลังจะย้อนกลับมาอีกครั้ง เพราะในวันที่ 5 พ.ย. ที่ใกล้เข้ามานี้ ...

Writings

ความฝันราคาแพง หรือเพราะค่าแรงราคาถูก? นักศึกษาชาติพันธุ์กับความฝันที่มีรายได้เป็น ‘อุปสรรค’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพ: ด๊ะดา ข้อมูล : ด๊ะดา และ กรวรรณ เพ็ชรสุภา 25 กันยายน ของทุกปีถือเป็นวันสำคัญของคนช่างฝัน ...

Writings

Concord เจ๊งเพราะ woke หรือแค่ไม่ตอบโจทย์ผู้เล่น

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง แมลงวันเพศเมียมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 29 วันหรือประมาณหนึ่งเดือน  แม้จะรู้สึกว่าช่วงชีวิตของมันนั้นช่างแสนสั้น คงยังไม่สั้นเท่ากับช่วงชีวิตของเกม Concord ที่มีอายุขัยตั้งแต่เปิดขายเพียงแค่ 14 วันหรือเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ...

Writings

พัฒนาการจริยธรรมสื่อ : ศึกษาเปรียบเทียบการนำเสนอข่าวกราดยิงโคราช ปี 2563 – หนองบัวลำภู ปี 2565

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ พรวิภา หิรัญพฤกษ์ และ สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “ยอดตายยังไม่นิ่ง “XXXคลั่ง” ...

Writings

ครั้งหนึ่งในชีวิต ฉันเคยเป็น “ผู้พิชิต” อสุจิ

เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกอย่างมันเริ่มมาจากวันนั้น วันที่อากาศร้อนอบอ้าว เสียงพัดลมในห้องเรียนดังแหง่กๆ บ่งบอกว่ามันได้ทำหน้าที่อย่างหนักหน่วงมายาวนาน แน่นอนว่าสภาพอากาศแบบนี้ ไม่มีใครที่จะไปมีสมาธิตั้งใจเรียนหรอก หากแต่บทเรียนในคาบนั้นมันค่อนข้างที่จะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็กนักเรียนผมสั้นเท่าติ่งหูวัยคอซองอยู่พอตัว ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save