เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย
ภาพ เก็จมณี ทุมมา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราในปลายปี 2559 เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผลให้บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมองว่าคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังละเมิดความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA อีกด้วย
ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น เหมืองทองอัคราที่คนรู้จักกันอย่างทั่วไป แท้จริงแล้วมีชื่อว่าเหมืองทองชาตรี ตั้งอยู่ที่อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เหมืองแห่งนี้เริ่มดำเนินการขุดแร่ทองคำมาตั้งแต่ปี 2544 หลังจากชนะการประมูลและได้สิทธิสัมปทานในการขุดเหมืองแร่ทองคำในปี 2543 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในการขุดเหมือง 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ การดำเนินงานของเหมืองทองอัคราตั้งแต่ช่วงปี 2550 เป็นต้นมา พบว่าประชาชนได้ร้องเรียนถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพจากการขุดเหมืองแร่อยู่เป็นระยะ จนกระทั่งปี 2559 ที่พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจใช้มาตรา 44 ในการสั่งระงับการดำเนินกิจการของเหมืองทองอัครา มหากาพย์การฟ้องร้องจึงได้เริ่มต้นขึ้น และเนื่องจากมาตรา 44 ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ถูกยอมรับในระดับสากล จึงส่งผลให้กระบวนการฟ้องร้องตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่าประเทศไทยภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ อาจจะเป็นผู้พ่ายแพ้
จนกระทั่งปลายเดือนมกราคม 2565 บริษัทคิงส์เกตฯ ได้ออกคำชี้แจงถึงขั้นตอนการกลับมาเปิดเหมืองทองอัคราอีกครั้ง พร้อมระบุว่าคณะอนุญาโตตุลาการฯ ได้เลื่อนวันชี้ขาดคดีเหมืองทองอัคราออกไปอย่างน้อย 6 เดือน สถานการณ์ที่เริ่มดีขึ้นสำหรับทั้ง 2 ฝ่ายนี้ เป็นเพราะช่วงเดือนก่อนการตัดสินข้อพิพาทดังกล่าว คณะกรรมการแร่ ตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ได้ให้ความเห็นชอบต่อใบอนุญาตเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินให้กับบริษัทคิงส์เกตฯ หลายกรณี ก่อให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไทยกำลังใช้ทรัพยากรของชาติเจรจาต่อรองในเงื่อนไขที่เกินกว่าข้อพิพาท เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลจะไม่ถูกชี้ขาดให้แพ้คดี
กรณีการต่อใบอนุญาตที่เป็นประเด็นใหญ่คือ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองในจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์จำนวน 4 แปลง ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ทั้งที่เขตประทานบัตร 3 ใน 4 แปลงเป็นพื้นที่ที่เคยถูกชี้ว่าบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ การมอบผลประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรใต้ดินให้กับกลุ่มทุนหนึ่ง ๆ ทั้งที่มีข้อกังขาชัดเจนเช่นนี้ จึงถูกประชาชนตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสในการเจรจา ที่สำคัญพรรคเพื่อไทยซึ่งติดตามคดีนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2562 โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย การอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2564 โดยน.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย รวมถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในปี 2565 โดยน.ส.จิราพร ได้ซักถามไปยังหน่วยงานราชการเกี่ยวกับข้อมูลในการฟ้องร้องคดีเหมืองทองอัครา ก็ได้รับคำชี้แจงจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ว่าไม่ทราบข้อมูลเนื่องจากยังเป็นความลับอยู่
นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังอนุมัติให้บริษัทอัคราฯ ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ส่งผลให้โรงประกอบโลหกรรมสามารถเพิ่มการถลุงแร่ทองคำจาก 8,000 ตันต่อวัน เป็น 24,000 ตันต่อวัน หรือเพิ่มจากเดิมถึง 3 เท่า ทั้งที่โรงงานแห่งนี้กำลังเป็นคดีความอยู่ในศาลปกครองสูงสุด และศาลชั้นต้นก็สั่งยับยั้งไม่ให้โรงงานดังกล่าวดำเนินกิจการไปแล้ว เนื่องจากโรงประกอบโลหกรรมนี้สร้างขึ้นก่อนที่การรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จะให้ความเห็นชอบ นี่จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งตอกย้ำถึงเงื่อนงำในการเจรจาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กับบริษัทคิงส์เกตฯ
นอกเหนือจากข้อถกเถียงเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาลในการมอบสิทธิต่าง ๆ ให้กับบริษัทคิงส์เกตฯ แล้ว ปัญหาเรื่องสุขภาพของคนที่อาศัยอยู่พื้นที่รอบเหมืองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดยรายการบ่ายโมงตรงประเด็น ทางสถานี Thai PBS ได้รายงานว่ารศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นำทีมวิจัยจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ไปตรวจพิสูจน์ผลกระทบด้านสุขภาพของเด็กในพื้นที่รอบเหมือง ปรากฏว่าปี 2559 ช่วงที่เหมืองยังดำเนินกิจการอยู่ ตรวจพบสารหนูในเด็กร้อยละ 35.6 จากเด็ก 205 คน แต่เมื่อกลับมาตรวจอีกครั้งในปี 2562 หลังจากที่เหมืองถูกสั่งปิด พบว่าสารหนูในเด็กเหลือเพียงร้อยละ 4.5 จากเด็ก 199 คน หรือลดลงถึง 12 เท่า รศ.นพ.อดิศักดิ์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสารหนูในเด็กจะส่งผลให้สมองมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ประเด็นนี้จึงเป็นอีกข้อกังวลที่ควรคำนึงถึง ภายใต้การกลับมาเปิดเหมืองใหม่อีกครั้งจากการเจรจาของรัฐบาลไทยและบริษัทคิงส์เกตฯ
ในตอนนี้ทรัพยากรของชาติซึ่งมีคนไทยเป็นเจ้าของร่วมกันถูกมอบให้บริษัทคิงส์เกตฯ เพื่อชะลอวันชี้ขาดคดีอันเนื่องมาจากการตัดสินใจใช้มาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ แม้ยังไม่ทราบว่าปลายทางของคดีเหมืองทองอัคราจะจบเช่นไร แต่ระหว่างทางพล.อ.ประยุทธ์คงต้องเร่งชี้แจงรายละเอียดของการเจรจาเพื่อแสดงถึงความโปร่งใสให้ได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลื่อนวันชี้ขาดคดีที่มีข้อสังเกตว่าตลอดระยะเวลาที่มีการเลื่อนวันออกไป บริษัทคิงส์เกตฯ จะได้รับอนุมัติสิทธิต่าง ๆ จากรัฐบาลไทยเสมอ แม้ว่าคดีจะยังไม่สิ้นสุดลงก็ตาม เช่น ปี 2563 ได้รับสิทธิในการสำรวจแร่ทองคำบนพื้นที่ราว 3.95 แสนไร่ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ปี 2564 ได้ต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองจำนวน 4 แปลง ออกไปอีก 10 ปี ในจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ และปี 2565 ได้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมอีก 5 ปี แต่ทว่าพล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงไม่ชี้แจงรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน แม้จะถูกน.ส.จิราพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ซักถามในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถไขข้อสงสัยทั้งหมดที่ประชาชนมีต่อการเจรจาประนีประนอมในคดีเหมืองทองอัคราได้ ประเด็นนี้ก็มีโอกาสที่จะถูกหยิบยกมาตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาลที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ได้เสมอ ไม่ว่าจะมาจากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน พรรคฝ่ายค้าน หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลที่ในอนาคตจะสามารถกลับมาเป็นคู่แข่งกับพล.อ.ประยุทธ์หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ และเมื่อถึงตอนนั้น ความเคลือบแคลงใจของประชาชนในวันนี้ก็อาจจะเป็นชนวนชั้นดีที่ทำให้อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนขึ้นอีกเป็นเท่าตัว และราคาที่นายกฯ ต้องจ่ายอาจจะมีมากกว่าทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน
บรรณานุกรม
ไทยพีบีเอส. 2565. “การตรวจพิสูจน์ผลกระทบสุขภาพรอบเหมืองทองอัคราฯ” เข้าถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565.https://www.youtube.com/watch?v=0bvsWPBOHzY BBC Thai. 2565.
“เหมืองทองอัครา: เปิด 7 ข้อกังขาของภาคประชาชนกรณีรัฐบาลอนุญาตให้คิงส์เกตกลับมาเปิดเหมืองทอง.” เข้าถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565. https://www.bbc.com/thai/thailand-60227354
MATICHON ONLINE. 2565. “เงื่อนงำเหมืองอัครายังมืดมน! กมธ.อุตฯ เรียก อธิบดีฯ เหมืองแร่ แจง เผยยังไม่รู้กระบวนการกม.” เข้าถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565. https://www.matichon.co.th/politics/news_3164881
The MATTER. 2565. “ย้อนทบทวน ‘คดีเหมืองทองอัครา’ เดิมพันค่าโง่หลายหมื่นล้าน กับการใช้ ม.44.” เข้าถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565. https://thematter.co/brief/166514/166514
THE STANDARD. 2565. “เหมืองทองอัครา ยกทรัพย์สินชาติแลกถอนฟ้อง?.” เข้าถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565. https://thestandard.co/key-messages-akara-gold-mine-case/