เรื่อง : มานิตา คิดนุนาม
ภาพ : มานิตา คิดนุนาม
ในปัจจุบัน การไปเที่ยวสำหรับคนบางกลุ่มไม่ใช่การไปยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ไปสวนสนุก หรือไปชื่นชมธรรมชาติเพียงเท่านั้น เพราะตั้งแต่มีวัฒนธรรมการนำ “ร้านกาแฟ” มาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว คนกลุ่มนี้ก็ให้ความสำคัญกับความหมายของร้านกาแฟเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน ในขณะเดียวกันร้านกาแฟก็มีวิวัฒนาการในตัวของมันเอง ผู้คนปรับเปลี่ยนร้านกาแฟธรรมดาที่แต่เดิมขายแค่กาแฟ ลูกค้าเข้ามาแล้วออกจากร้านไปหลังดื่มเสร็จ ให้กลายเป็นร้านที่ลูกค้าเข้ามาแล้วมีจุดมุ่งหมายเพิ่มมาหลายอย่าง
เมื่อไปร้านกาแฟที่เปิดใหม่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สิ่งที่จะเห็นคือการตกแต่งร้านอย่างประณีต เพื่อตั้งใจให้เป็นสถานที่ถ่ายรูปแก่กลุ่มลูกค้า บางร้านถึงกับมีมุมถ่ายรูปโดยเฉพาะ มีเก้าอี้วางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกค้าสามารถจัดองศาการนั่งแล้วถ่ายรูป มีดอกไม้เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากไว้สำหรับถือถ่ายไปด้วยได้ และยังมีอะไรต่ออะไรมากมายที่บ่งบอกว่าร้านให้คุณลูกค้าได้มากกว่ากาแฟหนึ่งแก้ว
การได้เข้าไปยังสถานที่หนึ่ง มีอาหาร มีเครื่องดื่ม ได้นั่งพัก ได้มองชื่นชมสิ่งสวยงามที่ประดับตกแต่ง ได้ใช้เวลาพักผ่อนกับตัวเองหรือผู้ที่มาด้วย จึงสามารถนับเป็นการท่องเที่ยวได้
และในยุคที่โลกออนไลน์เป็นตัวกลางในการบ่งบอกตัวตนของบุคคล ผู้คนใช้ร้านกาแฟเป็นทางเลือกร่วมกับโลกออนไลน์เพื่อแสดงถึงวิธีคิด การใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ร้านกาแฟที่ตกแต่งด้วยรูปแบบที่หลากโทน หลายแนว จึงกลายเป็นทางเลือกสำหรับการสร้างตัวตนของบุคคลผ่านเนื้อหาที่โพสต์ลงสู่โลกออนไลน์ ตัวอย่างเช่น ร้านกาแฟแนวคราฟต์ จะตกแต่งด้วยโทนสีน้ำตาล ใช้วัสดุที่เกี่ยวกับงานคราฟต์ หรือวัสดุเกี่ยวกับกาแฟ บ่งบอกถึงความเป็นคนจริงจัง มีความสนใจในเรื่องกาแฟร้านแนวมินิมอล ตกแต่งด้วยวัสดุน้อยชิ้น สีร้านเรียบง่าย บ่งบอกว่าผู้เข้าเป็นคนที่เรียบง่าย ชอบอะไรที่ไม่รก ดูเป็นคนมีสไตล์ที่เข้าถึงง่าย หรือจะเป็นร้านดัง ๆ อย่างร้านกาแฟสตาร์บัค ที่บ่งบอกตัวตนของผู้เข้าว่าเป็นคนที่อยู่ในสังคมชนชั้นกลางขึ้นไป มีเงินพอที่จะซื้อกาแฟในราคาสูง
ในโลกที่ไม่หยุดหมุน สถานะใหม่ของร้านกาแฟยังสามารถเป็นผู้ส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับท้องถิ่น บางร้านที่ขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะด้านความสวยงามในการตกแต่ง หรือขึ้นชื่อในเรื่องของรสชาติ ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางและการท่องเที่ยวดังที่กล่าวไปในตอนแรก และแหล่งท่องเที่ยวนี้ก็กลายเป็นแหล่งนัดพบของคนทั้งในและนอกพื้นที่ เช่น
เซย์เฮย์ คาเฟ่ คูซีน ร้านคาเฟ่และจุดนัดพบสุดฮิตในจังหวัดนครปฐม ที่มีบ่อน้ำขนาดใหญ่และมุมสวนร่มรื่น บรรยากาศเย็นสบาย
หรือจะเป็นร้านกาแฟแนวกลางทุ่งอย่างร้าน มีนา คาเฟ่ ซึ่งเป็นคาเฟ่กลางทุ่งนาที่ใครเดินทางไปกาญจนบุรีต้องแวะไปชิลล์
ร้านแนวนี้เป็นร้านที่เป็นแหล่งแลนด์มาร์คสำหรับผู้ที่จะมาเที่ยว และเป็นแหล่งพักผ่อนที่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ก็มาพักผ่อน การมาพบกันของบุคคลทั้งสองฝั่ง ทั้งคนในและนอกพื้นที่ในร้านแบบนี้จึงเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ได้ผลดี จะเห็นได้ว่าร้านกาแฟได้กลายเป็นอีกหนึ่งความป๊อป ที่แสดงถึงลักษณะการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันได้อย่างดี ไม่ว่าจะแสดงผ่านการตกแต่งร้าน การเป็นตัวกลางในการบ่งบอกตัวตน หรือการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
หลังจากนี้ใครที่ยังไม่ได้ลองใช้ร้านกาแฟเป็นเครื่องมือในการทำอะไรใหม่ ๆ กับชีวิตให้เข้ากับยุคสมัย ก็สามารถแวะไป (สังเกต) ดูได้ รับรองว่าจะได้เห็นแง่มุมใหม่ ๆ ของไลฟ์สไตล์ชีวิตคนสมัยนี้เยอะขึ้นมากเลยทีเดียว
บรรณานุกรม
ธนพร พันธุ์นรา. (2564). ร้านกาแฟในบทบาทการเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ย่านเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว. สืบค้นจาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/archkmitl/article/download/251841/173762