เขียน : กัญญพัชร กาญเจตนี
ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร
ตัวแทนนักศึกษา-คนรุ่นใหม่ย้ำจุดยืนแก้รธน.ทั้งฉบับ เหตุรัฐบาลยืนกรานปฏิเสธการแก้หมวด 1และ 2 แนะหาก รธน.ถูกจำกัดการแก้ไขอาจเกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนระลอกใหม่
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. ที่อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากกลุ่มเคลื่อนไหวแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่าวันนี้เขาได้เป็นหนึ่งในตัวแทนคนรุ่นใหม่และนิสิตนักศึกษาที่เข้าหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการ รับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อจัดทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมือง 2563 – 2565 ที่ผ่านมา หนึ่งในข้อเรียกร้องหลักคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มาจากประชาชน โดยแก้ไขทุกหมวดทุกมาตรา รวมทั้งคณะบุคคลที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ และการที่รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไปกับหมวด 2 พระมหากษัตริย์เพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันที่จะไม่แก้ไขนั้น ยิ่งเป็นเรื่องดีที่จะต้องใส่ลงไปในคำถามประชามติที่กำลังจะสร้างขึ้นเพื่อให้ทราบว่าประชาชนมีจุดยืนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรและเห็นพ้องกับรัฐบาลหรือไม่ในการไม่แก้ไข 2 หมวดดังกล่าว
“คำถามที่ว่าแล้วถ้าจะแก้จะเข้าไปแก้อะไร (ในรัฐธรรมนูญหมวดที่ 1 และ 2) การตั้งธงคำถามแบบนี้เป็นการตั้งคำถามที่ผิด คำถามสำคัญคือแก้ได้หรือไม่ต่างหาก เราต้องยืนยันให้ได้ก่อนว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนที่แท้จริง เมื่อประชาชนได้มีการทำประชามติแล้วเขาจะอยากแก้หรือไม่ก็ให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ขณะเดียวกันก็จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่ามาจากฉันทามติของประชาชน” เสกสิทธิ์กล่าวและว่าการเคลื่อนไหวในปี 2563 ที่ถูกจุดชนวนขึ้นมาจากเงื่อนไขต่าง ๆ รวมทั้งต้องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญนั้น เขามีความกังวลว่าหากรัฐธรรมนูญแก้ไขได้อย่างจำกัดก็อาจจะเป็นตัวจุดชนวนการเคลื่อนไหวระลอกถัดไปได้และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงไม่อยากให้เกิดสิ่งนั้น
นัสรี พุ่มเกื้อ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การทำประชามติในครั้งนี้จะเป็นเหมือนทางเลี้ยวของประเทศ คำถามในประชามติต้องไม่กว้างเกินไป ไม่แคบเกินไป และในเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องเน้นย้ำในส่วนคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดกว้างสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ วางพื้นฐานรัฐสวัสดิการ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สร้างความเป็นประชาธิปไตยให้กับสถาบันการเมือง ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม สุดท้ายคือต้องสร้างกลไกป้องกันรัฐประหาร และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ด้าน คุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรนำไปสู่การเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายได้แล้ว เพราะประเทศไทยผ่านรัฐธรรมนูญไม่รู้กี่ฉบับต่อกี่ฉบับแต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญก็จะถูกฉีกโดยกลุ่มรัฐประหารและเขียนขึ้นมาใหม่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญจะต้องมีกลไกการป้องกันการเกิดรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญซ้ำไปซ้ำมา
ผู้สื่อข่าว รายงานว่ามีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นได้แก่ เเนวร่วมธรรมศาสตร์เเละการชุมนุม, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, สภาเด็กเเละเยาวชน, ตัวเเทนนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สภานักศึกษามหาวิทยาลัย มหิดล, ตัวเเทนจากมหาวิทยาลัยรามคำเเหงและตัวเเทนนักศึกษาจากเครือราชภัฏ ในที่ประชุมมีการถกเถียงกันระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือแก้ไขโดยยกเว้นหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์ นิกร จํานง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เขาย้ำว่าต้องทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระแรกให้เกิดก้าวที่ 1 ก่อน และรัฐบาลต้องการยกเว้นการแก้ 2 หมวดดังกล่าวรวมทั้งเห็นว่า ไม่ควรไปวางกรอบกำหนดการเลือกตั้ง สสร. ว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยให้เหตุผลกับทั้งหมดว่า ไม่เช่นนั้น สว. หรือกลุ่มอื่น ๆ จะทำให้รัฐธรรมนูญไม่ถูกแก้ไขและอาจมีแรงต้านจนไปต่อไม่ได้