เขียน : กัญญพัชร กาญจนเจตนี
ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร
นักสิทธิมนุษยชนชี้มายาคติโทษผู้ถูกกระทำทางเพศยังมีอยู่ในสังคมเหตุผู้ช่วยสส.ค้านเป็นเพียงเรื่องชู้สาว กรณีสส.ก้าวไกลคุกคามทางเพศเพื่อนร่วมงาน
จากกรณีที่ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ หรือ ปูอัด สส.กทม.พรรคก้าวไกล ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศนั้น เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้ก่อตั้ง SHero Thailand (องค์กรช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม) กล่าวว่าสังคมมีมายาคติ มีมุมมองที่คาดหวังการแสดงออกของผู้เสียหาย ว่าต้องเป็นผู้เสียหายโดยสมบูรณ์แบบ หรือ Perfect Victim คือผู้เสียหายควรหรือไม่ควรเป็นแบบใด ไม่ควรดื่มแอลกอฮอลล์ ไม่ควรแต่งตัวเปิดเผย ต้องไม่เป็นคนเที่ยวกลางคืน หรือต้องไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้กระทำ แล้วยิ่งในที่ทำงานมีอำนาจของคนที่เหนือกว่าอยู่ ไม่ว่าจะจากตำแหน่งนายจ้างกับลูกจ้าง อายุที่มากกว่ากับน้อยกว่า ชื่อเสียงหรือเงินทองที่มากกว่า ทั้งหมดเป็นแรงสนับสนุนให้อีกฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่าและคิดว่าสามารถคุกคามผู้ถูกกระทำได้ โดยผู้กระทำจะเริ่มจากการลองส่งข้อความมุกชู้สาวดูเล่น ๆ แล้วค่อย ๆ ไปต่อมากกว่านั้นเพราะเขาอยู่ในอำนาจที่เหนือกว่าและสังคมรอบข้างผู้กระทำก็จะมองว่าเป็นเรื่องปกติ
“เล่นมุกไม่เห็นเป็นอะไรเลย เขาจับตัวนิดหน่อย ส่งสายตานิดหน่อยไม่เห็นเป็นอะไรเลย เขาถามนิดถามหน่อยเอง เป็นสังคมที่พยายามหาข้ออ้างให้ผู้กระทำ ผู้กระทำจะรู้สึกว่าฉันทำได้มากกว่านี้เพราะอาศัยว่าผู้กระทำไม่ได้หน้าตาเหมือนคนกระทำชำเราในหนังที่เราเคยเห็น เป็นคนที่มีการศึกษา โดยคนรอบข้างก็อ้างว่าคน ๆ นี้ไม่ได้เป็นคนหื่นกาม ยิ่งเป็นผู้กระทำที่อยู่ในบทบาทอำนาจยิ่งน่ากลัวเพราะเขาจะรู้วิธีการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศแล้วเขาก็จะเอ็นจอยกับการแสวงหาผลประโยชน์นี้ด้วย” บุษยาภากล่าวและว่าการที่คนชอบอ้างว่ากระทำผิดเพราะเมาควบคุมตัวเองจากการคุกคามทางเพศไม่ได้ เธอตั้งคำถามว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เมื่อกลับมาจากผับบาร์เจอป้าร้านไก่ทอดเป็นคนแรก จะพุ่งเข้าหาป้าเป็นคนแรกเลยไหม คำตอบคือไม่เพราะผู้กระทำเลือกผู้ถูกกระทำมาแล้ว เขาเลือกผู้เสียหายที่ผู้กระทำคิดว่าเขาสามารถกระทำได้มาแล้ว
บุษยาภา กล่าวว่าบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตำรวจหรือกระทั่งศาลถึงแม้จะถูกอบรมมาแล้ว แต่ก็มักจะเผยทัศนคติการโทษผู้ถูกกระทำที่ถูกหล่อหลอมจากสังคมออกมา ซึ่งบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมจะแสดงออกโดยการตั้งคำถามและมีอคติในการพูดคุยกับผู้เสียหาย ว่าทำไมพวกเขาถึงพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น ทำไมพวกเขาถึงทำหรือถูกกระทำแบบนี้ รวมถึงทำไมเพิ่งมาแจ้งความ โดยคำถามเหล่านั้นเป็นการกล่าวโทษผู้เสียหายมากกว่าจะไปซักหาความผิดจากผู้กระทำ กระบวนการยุติธรรมไทยจึงยังเป็นสิ่งที่ซ้ำเติม ไม่ได้อำนวยความช่วยเหลือ และไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้ถูกกระทำได้
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่าที่ทำงานเป็นสถานที่ที่ผู้ถูกคุกคามทางเพศจะปฏิเสธได้ยากเพราะมีความสัมพันธ์ทางการทำงานอยู่ ผู้ถูกกระทำยังคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในที่ทำงานหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อต้องร้องเรียนนายจ้าง รุ่นพี่ หรือคนที่มีอำนาจหรือชื่อเสียงทางสังคมมากกว่า การที่ผู้ถูกกระทำจะไปดื่มไปเที่ยวเจตนาคือต้องการไปสังสรรค์แต่การที่ผู้กระทำมาคุกคามทางเพศในขณะที่ผู้เสียหายมึนเมาไม่สามารถขัดขืนได้เช่นนี้เป็นการฉวยโอกาสและมีความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา