เรื่อง : จิตริณี แก้วใจ
ภาพ : จิรัชญา นุชมี
‘ชายแท้’ หรือกลุ่มคนที่ถูกนิยามขึ้นผ่านทางโซเชียลมีเดียนั้น แม้จะเป็นนิยามที่ถูกพัฒนาขึ้นมาไม่นาน แต่ในปัจจุบันมีความหมายเป็นไปในเชิงลบและใช้กันอย่างแพร่หลาย จนสามารถถูกใช้เป็นคำอธิบายหรือคำด่าต่อผู้ที่มีทัศนคติ แนวคิด และพฤติกรรมที่มีความเป็นชาย “มากจนเกินไป” ตัวอย่างเช่น คนที่มีแนวคิดชายเป็นใหญ่หรือหากตนเป็นชาย ตนก็จะเป็นใหญ่, คนที่คอยกดขี่ข่มเหงหรือด้อยค่าผู้อื่น, คนเห็นแก่ตัว, คนที่ทำให้ตนเองถูกทุกอย่างและมีตนเองเป็นศูนย์กลาง, พฤติกรรมเหยียดเพศ, และพฤติกรรมคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะกับเพศหญิง โดยหนึ่งในประเด็นปัญหาพฤติกรรมที่โดดเด่นในปัจจุบันของกลุ่ม ‘ชายแท้’ คือ พฤติกรรมการคอมเมนต์เชิงคุกคามทางเพศ
พฤติกรรมการคอมเมนต์เชิงคุกคามทางเพศนี้มักจะนำไปสู่ชนวนการถกเถียงอยู่บ่อยครั้งในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งใหม่ที่ให้แสงส่องถึงเหล่า ‘ชายแท้’ มากยิ่งขึ้น จนทำให้เรารับรู้ได้ว่ามีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบันผ่านประเด็นต่าง ๆ เช่น การคอมเมนต์เชิงคุกคามต่อนักร้องหญิง จากคลิปสัมภาษณ์ที่นักร้องสาวให้สัมภาษณ์ตามประเด็น ใต้โพสต์วิดีโอดังกล่าวกลับชี้นำให้เธอดูเหมือนดารา av, บล็อกเกอร์สาวถูกคอมเมนต์คุกคามเพียงแค่โพสต์ภาพชุดว่ายน้ำท่ามกลางทะเล , หรือมายฮาเร็ม จากเรื่องตลก 69 เมื่อถูกพูดถึงแต่ฉาก 18+ ผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
ไม่เพียงแค่บุคคลสาธารณะที่ปรากฏตามสื่อ แม้แต่บุคคลทั่วไปก็สามารถเผชิญการคุกคามจากกลุ่ม ‘ชายแท้’ เช่นกัน ดังนั้นในบทสัมภาษณ์ครั้งนี้จึงชวนวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มคนที่ถูกนิยามว่าเป็น ‘ชายแท้’ ไปกับมุมมองนักวิชาการ ผศ.ดร.มาดี ลิ่มสกุล อาจารย์ผู้สอนวิชาพลวัติพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อศึกษาและอธิบายการกระทำของกลุ่มคนดังกล่าวและปัญหาที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกของคนที่อยู่ภายใต้นิยาม ‘ชายแท้’ บนโลกโซเชียลมีเดีย
อาจารย์สามารถวิเคราะห์นิยามชายแท้และอธิบายพฤติกรรมการการคุกคามบนโซเชียลมีเดียได้ไหมคะ
อาจารย์มองว่า ‘ชายแท้’ เป็นกลุ่มคนที่มีฐานแนวคิดชายเป็นใหญ่และขาดความฉุกคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เป็นกลุ่มคนที่มีวาทกรรมคู่ตรงข้ามกับความเท่าเทียมทางเพศและถูกนิยามขึ้นจากวาทกรรมนี้ค่ะ
ในส่วนของพฤติกรรมการคุกคาม (sexual harassment) ผ่านคอมเมนต์ตามโซเชียลมีเดีย เหมือนกับการพูดแซวเล่นในอดีต บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่าสามแยกปากหวาน (หรือสามแยกปากหมา) มาก่อน คือจะมีผู้ชายอยู่กันเป็นกลุ่มและมักจะพูดแซวเรื่องรูปลักษณ์ รูปร่างของคนที่เดินไปมา เช่น แซวก้น หน้าอก ชุด ผม แม้ว่าจะแต่งกายเรียบร้อยก็ตาม ซึ่งอาจารย์มองว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน แต่พฤติกรรมการแซวยังคงมีอยู่ แต่ย้ายถิ่นฐานจากสามแยกไปอยู่ที่โซเชียลมีเดียและช่องทางต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต ที่เป็นพื้นที่สาธารณะในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมการอยู่เป็นกลุ่มหรือคนหมู่มากของคนกลุ่มนี้นั้น ทำให้เห็นอิทธิพลกลุ่มค่ะ การจับกลุ่มกันเพื่อ วิพากษณ์วิจารณ์หรือแซวสรีระคนอื่นเหมือนกับการมีกลุ่มคนที่สนับสนุนพฤติกรรมดังกล่าวให้ดูเป็นเรื่องปกติ เช่น ถ้ามีคนทำ พฤติกรรมนั้นก็ปกติ เป็นการหล่อหลอม เช่นเดียวกับบนโซเชียลมีเดียค่ะ เมื่อยังมีคนคอมเมนต์คุกคามอยู่ก็จะมีกลุ่มคนเลือกที่จะทำพฤติกรรมนี้ต่อไป เพราะมองว่าเป็นพฤติกรรรมปกติ
แล้ว ‘ชายแท้’ กับพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรหรือคะ
เกิดจากโครงสร้างทางสังคมค่ะ ประเทศเรามีระบอบปิตาธิปไตยหรือว่าชายเป็นใหญ่ มีบทบาทชายกับหญิงที่ต่างกัน มีปัจจัยเรื่องสังคมที่ต่างกัน และปัจจัยเพศสรีระที่ต่างกัน
ในปัจจุบันเองที่มีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศก็ยังหลงเลือกลิ่นอายปิตาธิปไตยหรือชายแท้อยู่บ้าง
อย่างที่พูดไปก่อนหน้าว่าชายแท้ก็เป็นกลุ่มวาทกรรมอีกแบบ คือเป็นขั้วตรงข้ามความคิด ความเชื่อแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ ดังนั้นจึงมีแนวคิดชายแท้นี้ขับเคี่ยวความเท่าเทียมทางเพศกันมาตลอดตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน
ชายแท้เป็นกลุ่มคนที่ขาดความสามารถในการฉุกคิดถึงพฤติกรรมว่าถูกหรือไม่ ปกติหรือเปล่า ซึ่งการปลูกฝังให้บุคคลมีความสามารถในการฉุกคิดถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้องนี้จะมาจากการสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ทั้งจากครอบครัว ต้องสร้างความเข้มแข็งของความเท่าเทียม เช่น งานบ้านที่ต้องแบ่งให้ลูก ๆ ทำเท่ากัน ไม่แบ่งแยกเพศ การศึกษาที่ดีขึ้นก็สามารถทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจความเท่าเทียม ขณะเดียวกันสังคมเองก็ต้องมีความเท่าเทียมเช่นเดียวกันค่ะ เพราะคนที่มีการศึกษาเขาเข้าใจและไม่มีพฤติกรรมแบบชายแท้ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม
พฤติกรรมการวิพากษ์วิจารณ์รูปร่าง และข้อความ 2 นัยผ่านโซเชียลมีเดียถือเป็นการคุกคามไหมคะ
ถือว่าเป็นการคุกคามค่ะ เพราเป็นการลิดรอนสิทธิและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกคุกคามด้วยเช่นกัน การคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ การโพสต์คุกคาม เหล่านี้ถือเป็นการเหยียดสิทธิของคน ๆ หนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจหรือไม่ปลอดภัยได้ แต่ถ้าหากถูกมองว่าไม่ใช่พฤติกรรมคุกคามคงเป็นเพราะบริบทสิ่งแวดล้อมหรือสังคมที่ก่อร่าง
เพราะการหล่อหลอมจากสังคมจึงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมดังกล่าวของกลุ่ม ‘ชายแท้’ ถ้าหากคนในสังคมมองพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ตั้งคำถาม ก็ถือว่าพฤติกรรมนั้นสามารถกระทำได้ เช่น ตัวอย่างประเด็นปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนในอดีตของสังคมเรา การที่เด็กถูกล้อชื่อพ่อและแม่ แล้วไปฟ้องครู แต่ครูกลับบอกให้เด็กมองเป็นเรื่องปกติแทน ทำให้นำไปสู่การรู้เท่าไม่ถึงการณ์และการขาดฐานความคิดการเคารพมนุษย์ เช่นเดียวกับปัญหาพฤติกรรมคุกคามเหล่านี้ ของกลุ่ม ‘ชายแท้’
ยังโอเคอยู่ไหมคะเมื่อการนิยาม ‘ชายแท้’ สร้างความไม่สบายใจและไม่พอใจให้คนอื่นๆ
คำว่า ‘ชายแท้’ ก็มาจากวาทกรรมในโซเชียลมีเดียและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่องทางนั้น ในปัจจุบันเองคำนี้ก็สามารถใช้เป็นคำด่าได้ด้วย ดังนั้นถ้าหากมีบุคคลที่มีเพศสภาพและเพศวิถีเป็นเพศชาย แต่ไม่มีพฤติกรรมดังกล่าวก็สามารถหาคำนิยามอื่นได้นะคะ อาจจะด้วยการสร้างวาทกรรมอีกครั้ง ผ่านแสงโซเชียลมีเดีย เช่น เพจ หรือช่องทางอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ อาจนิยามเป็น Gentlemen (สุภาพบุรุษ) ก็ได้ คำนี้เป็นความคิดส่วนตัวจากอาจารย์ค่ะ
การสร้างนิยามจากวาทกรรมก็เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น การนิยามบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก่อนประเทศเราก็นิยามคนกลุ่มนี้ว่าเป็นตุ๊ด หรือกะเทย และเมื่อเกิดวาทกรรมกับการขับเคี่ยวก็เปลี่ยนจากคำเหล่านั้นมาเป็น LGBTQ+ เป็นต้น หรือมีนิยาม ‘หญิงแท้’ ไหมคะ เราก็อาจจะยังไม่เคยได้ยิน แต่อาจจะเป็นคำว่า “ผู้ญิ้งผู้หญิง” คือเป็นผู้หญิงที่ใจดี รักเด็ก ผมยาว เหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกนิยามจากวาทกรรมจนมีความหมาย และวาทกรรมเองก็สร้างรูปแบบของผู้หญิงที่ดีและผู้หญิงที่ไม่ดีได้เช่นเดียวกันกับนิยาม ‘ชายแท้’ ดังนั้นถ้าสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เพศชาย หากต้องการเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงความหมายชายแท้นี้ หรือการถูกเหมารวมก็ทำได้ด้วยการสร้างบทสนทนาหรือวาทกรรม โดยที่อาจจะไม่ต้องตกอยู่ในอาณัติ
เพศชายภายใต้วาทกรรมนี้ถูกล่าวหาว่ามีปม-เช่นเดียวกันกับเพศหญิงที่ใช้คำนิยาม เราสามารถตัดสินว่าฝ่ายใดกันแน่ที่มีปมได้จริงๆ หรือคะ?
ไม่สามารถตัดสินได้ค่ะ คนหนึ่งคนมีพฤติกรรมและที่มาของพฤติกรรมหลากหลายอย่าง ถ้าเราไม่รู้ถึงที่มาพฤติกรรมเหล่านั้นก็ไม่สามารถตัดสินหรือยืนยันได้ และที่มาของพฤติกรรมก็มาจากหลายสิ่ง หลายปัจจัย
เราจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ ‘ชายแท้’ อย่างไรให้ปลอดภัยทั้งทางกายและจิตใจ แล้วมีวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่ม ‘ชายแท้’ ได้บ้างไหมคะ
เราอยู่ร่วมกับคนกลุ่มนี้มานานแล้วค่ะ ตั้งแต่ในอดีตมาถึงตอนนี้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากถูกกระทำอย่างคอมเมนต์เชิงคุกคามทางเพศและต้องการความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจ อาจารย์ก็สนับสนุนผู้ถูกกระทำให้เลือกดำเนินคดีตามกฎหมายเมื่อถูกชายแท้หรือแม้แต่คนอื่น ๆ ก็ตามคุกคาม
การที่ผู้ถูกกระทำฟ้องร้องตามกฎหมายต่อผู้กระทำเป็นสิ่งที่ดีและสมควรทำด้วยค่ะ เช่น ในบางกรณีที่ผู้หญิงถูกมองหรือเหมารวมเป็นผู้ผลิตเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อหารายได้ (sex creator) หรือถูกมองเป็นวัตถุทางเพศ (sex object) ก็มีสิทธิที่จะเลือกดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าผู้ถูกกระทำรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจ ซึ่งการฟ้องร้องกับผู้กระทำเป็นเหมือนการเชือดทั้งลิงและไก่เพื่อที่สังคมจะดีขึ้นและเห็นโอกาสการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่ควรมีใคร หรือแม้แต่เพศอะไรก็ตามถูกมองเป็นวัตถุทางเพศ (sex object) แล้วถูกละเมิดสิทธิจนสร้างความไม่สะดวกใจ แต่ก็มองได้อีกว่าเมื่อถูกมองเป็นผู้ผลิตเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อหารายได้ (sex creator) แล้วเรารู้สึกโกรธ ก็อาจจะยังมีทัศนคติต่ออาชีพนี้ว่าด้อยกว่าอาชีพอื่นหรือเปล่า แต่ความเท่าเทียมก็รวมถึงการเรียกร้องให้ทุกอาชีพเท่ากันนะคะ
ในส่วนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่อยู่ในกลุ่มชายแท้ก็อาจจะสามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมช่วยเหลือผู้ถูกกระทำและผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวที่อาจารย์เคยทำ เป็นการเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวที่มีปัญหาความรุนแรง อย่างสามีใช้กำลังทุบตีภรรยา เราสามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จาก 4 ใน 5 ครอบครัวที่เข้าร่วม ต้องใช้ระยะเวลาร่วมด้วยแน่นอน แต่สำคัญที่สุดของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคือการเปิดใจและให้ความร่วมมือของผู้กระทำ เขาจะต้องมีจุดเปลี่ยน หรือแรงบันดาลใจสักอย่างที่ทำให้เขาต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมค่ะ แต่การสร้างเสริมพื้นฐานให้แข็งแรง ทั้งครอบครัว การศึกษา สังคม สามารถป้องกันพฤติกรรม ‘ชายแท้’ ได้ตั้งแต่แรกค่ะ