เขียน : จิรัชญา นุชมี
ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์
ใกล้เข้ามาอีกครั้งกับช่วงเวลาแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชาวมอหก และ ชาวเด็กซิ่ว ทุกคน แน่นอนว่าตอนนี้ต้องเป็นช่วงที่หัวปั่นอยู่กับการอ่านหนังสือ เก็งข้อสอบย้อนหลังกว่าหลายปี อย่างแน่นอน และอีกกิจกรรมที่ชาวสอบเข้าทุกคนต้องเคยลองทำ คือการสอบพรีแอดมิชชั่น (Pre-Admission) หรือการสอบซ้อมก่อนสอบจริง ที่ถูกจัดขึ้นโดยเว็บไซต์ DEK-D โดยทั้งขั้นตอนการสอบ บรรยากาศการสอบ และข้อสอบ จะถูกจำลองขึ้นมาให้เหมือนการสอบรอบจริงมากที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้สอบได้ลองวัดฝีมือตัวเองเพื่อนำกลับไปแก้ไขในจุดที่บกพร่อง รวมถึงเป็นการทดสอบความพร้อมของตัวเองและคนรอบข้างว่ามีมากน้อยแค่ไหน สร้างโอกาส และเพิ่มความเป็นไปได้ให้ตัวเองในการจะสอบเข้าคณะที่ใฝ่ฝันได้
จากกระแสข้อสอบพรีแอดมิชชั่นปีนี้ของงาน Dek-D’s Pre-Admission TCAS’67 ที่ในข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษ นำเอาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกระแส T-POP มาออกข้อสอบ คือในโจทย์แต่ละข้อจะนำเอาชื่อศิลปินในวง T-POP มาพูด ยกตัวอย่าง เช่น สมาชิกวง PROXIE อย่างอองรีและกร ก็ถูกนำมาอยู่ข้อสอบโจทย์ conversation ด้วย ถึงจะไม่ได้มีผลกับเรื่องความรู้ในข้อสอบ แต่การเห็นชื่อศิลปินที่รู้จักในข้อสอบก็ทำให้ยิ้มออกมาได้ไม่น้อย อย่างน้อยก็ลดความเครียดตอนทำข้อสอบลงมาได้บ้าง
( ขอบคุณภาพจาก X )
แค่ทำข้อสอบในชีวิตประจำวันมันก็ยิ่งเครียดอยู่แล้ว ยังมีสนามสอบจำลองขึ้นมาอีก การเจอข้อสอบซ้ำไปซ้ำมาในระยะเวลาติดกัน จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเองก็ทำเอาแทบอ้วกเหมือนกัน แต่ถ้าได้เจอข้อสอบที่ดีต่อใจ ไปกับชื่อหรือศัพท์ที่คุ้นตา ก็คงดี ไม่เบื่อด้วย
ข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษดังกล่าวถูกออกแบบโดย ไอซ์ เพชรภัสสร อ้นขวัญเมือง ติวเตอร์ชื่อดังเจ้าของโปรเจกต์ Genius-To-Be By P’Ice ที่มีคอร์สสำหรับภาษาอังกฤษ และภาษาสเปน ที่ครอบคลุมสำหรับเด็กสอบเข้ามากที่สุดแห่งนึงในประเทศไทย โดยเธอได้โควทในทวิตเตอร์ดังกล่าวไว้ว่า “เราออกเองค้าบ สนับสนุนทีพัพ (T-Pop) หน่อย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลานี้กระแสของวงการ T-Pop กำลังมาแรงมาก และตัวผู้ออกข้อสอบเองก็ติดตามกระแสและออกข้อสอบได้ถูกช่วงเวลา แสดงถึงการเป็น soft power ของวงการ T-Pop กำลังมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ในโอกาสนี้ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้ติดต่อไปขอสัมภาษณ์ ไอซ์ เพชรภัสสร หรือ ไอซ์ Genius-To-Be By P’Ice ว่าอะไรคือหลักเกณฑ์ในการออกข้อสอบ ความคิดสร้างสรรค์ที่ใช้ในการออกข้อสอบในปีนี้ และความยากง่ายของข้อสอบที่จะต้องออกมา รวมถึงความกดดันในการออกข้อสอบแต่ละปี ตลอดจนไปถึงความสำคัญของการสอบพรีแอดมิชชั่น เป็นประเด็นน้ำจิ้มแถมมาด้วย
หลักเกณฑ์ในการออกข้อสอบ
: ตอนที่พี่จะทำข้อสอบ พี่จะเป็นคนที่ set ไว้ก่อนว่า ต้องมีหัวข้อที่หลากหลาย เช่น หลากหลายแนว บันเทิง สุขภาพ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม ข่าวปัจจุบัน อะไรทำนองนี้ กับต้องมีหัวข้อที่คนพอจะรู้จักบ้าง ถ้าไม่รู้จัก ต้องมี context clue มากพอที่จะทำให้เขารู้ได้ค่ะ
- ต้องตรงกับที่ทปอ.กำหนด รวมไปถึงระดับความยาก-ง่ายต้องเหมือนจริง ต้องไม่ออกยากเกินไป ต้องการใกล้เคียงของจริงมากที่สุด
- เนื้อหาความรู้ที่เลือกถาม ต้องอยู่ในสิ่งที่เรียนมา หรือเป็นหัวข้อที่ต้องทำได้ในระดับนั้นๆ
- ลักษณะเนื้อหาที่ประกอบในตัวข้อสอบต้องให้ความรู้สึกว่า ‘น่าทำจังเลย’ คือมีหลายหมวดหมู่ ถหากเป็นวิทยาศาสตร์ สุขภาพ เทคโนโลยี อาจทำให้เบื่อได้ง่าย
“ถ้าน้องๆได้ทำหลากหลายรูปแบบก็คงดี เขาจะได้รับมือกับโอกาสการเจอข้อสอบในทุกรูปแบบได้”
- ไอซ์ Genius-To-Be By P’Ice
ทำไมถึงนำ T-Pop เข้ามาเล่น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าไอซ์ต้องการจะทำให้เนื้อหามีความ ‘น่าทำ’ การหยิบ T-Pop มาใช้ในข้อสอบ ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือชั้นดี ในการทำให้ข้อสอบมีความน่าสนุกมากขึ้น
“ที่หยิบ T-Pop มาใช้ในข้อสอบ มาพูด เพราะพี่ก็ตามฟังเพลงแทบทุกแนวอยู่แล้ว และคือเขาดังจริง เลยคิดว่า น่าจะใส่ใน Conversation (บทสนทนา) สักอัน ไม่ก็บทความสักอันค่ะ เราก็ครีเอทมาเลยค่ะ มีการพูดถึงชื่อ PROXIE, 4EVE, PERSES, ATLAS และตัว T-Pop แบบให้ความรู้ข้อมูลทั่วไปค่ะ เอาแบบจับต้องง่ายๆ รู้สึกว่า เฮ้ย น่าทำจังเลย แต่ในคำถามต้องแทรกคำศัพท์ที่ควรได้ และเนื้อหาที่เป็น checklist สำหรับน้อง ๆ”
ความหมายของจับต้องง่าย ๆ คืออะไร ?
จับต้องได้ เช่น หัวข้อที่ทุกคนน่าจะอ่านได้ทันที เช่น T-Pop คืออะไร หรือหยิบบุคคลเอามาเล่า หรือเอามาแต่งบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ T-Pop มาแบบในข้อสอบล่าสุด
ต้องปรับข้อสอบให้เข้ากับกระแสทุกปีเลยไหมคะ ?
“เท่าที่เคยออกข้อสอบมา ที่เพิ่งมาทำได้ไม่กี่ปี เวลาออกข้อสอบไม่มีบรีฟอะไรมาเลยก่อนหน้า นอกจากเอาให้เหมือน Blueprint ที่เหลือไอซ์ลุยเองเลย”
ไอซ์ให้ความเห็นว่ากระแสไม่ใช่ข้อบังคับในการทำงานแต่สำคัญ เพราะกระแสอาจจะมาในวิชาอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นอังกฤษก็ได้ ลำพังน้องทำข้อสอบก็เครียดอยู่แล้ว เลยหาอะไรที่ให้เขาสนใจและอยากทำต่อ และต้องวัดอะไรบางอย่างในตัวพวกเขาได้
เวลาออกข้อสอบเธอจะพยายามนึกว่าช่วงที่ออกข้อสอบมันมีอะไรน่าหยิบมาเล่า หรือกำลังอินอะไรอยู่ เช่น ครั้งแรกสุดเธอติดซีรีส์เกาหลี แต่ไม่อาจเอาความชอบตัวเองมาพูดล้วนๆ ได้ ต้องพูดเป็นอะไรที่ทุกคนพอเข้าใจได้ เช่น ช่วงที่มีกระแส BLACKPINK เยอะ หรือกระแส MILLI ไปขึ้น Coachella ก็ลองไปหามาเล่า อย่างปีนี้ การสอบพรีแอดมิชชั่นรอบแรก มีการกล่าวถึง Paper Planes ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบส่วนตัว แล้วจึงค่อยหาเนื้อหาหรือเรื่องราวมาปรับและนำมาถามได้
เธอเล่าต่อไปว่าที่รอบล่าสุดเป็นกระแสมากที่สุดคือ T-Pop และแค่รู้สึกว่าตอนทำอยู่มันดังจริง เลยหยิบมาเล่าหน่อย น้องๆรู้จักแน่ๆ แค่นั้น ตอนทำข้อสอบจะได้มีกำลังใจขึ้นมาหน่อย
กระแสตอบรับที่ได้รับ
“ตกใจมากค่ะ ว่าเป็นที่พูดถึงได้ยังไง มารู้เอาตอนที่ลูกศิษย์ตัวเองส่งมาค่ะ บวกกับเห็นในแท็กบ้าง ดีใจที่หลายๆคนชอบมาก น้องทักมาบอกหลายคนเลยว่า ออกดีมากๆ ไม่ยากไม่ง่ายไป มีหัวข้อที่หลากหลาย น้องหลายคนบอกว่า หนูไม่ชอบอังกฤษเลย แต่หนูเห็นบทความที่พูดถึงทีป๊อบ พูดถึงวงที่เขาชอบ หรือเรื่องที่เขาสนใจ เขาก็มีกำลังใจทำขึ้นมาเลย และรู้สึกว่าอยากรออ่านเฉลยละเอียดที่พี่จะอธิบายไว้ เขาจะได้เอามาพัฒนาตัวเองก่อนไปสอบจริงค่ะ”
ถึงจะเป็นการพิมพ์คุยกันแต่ก็สัมผัสได้ว่าผู้ถูกสัมภาษณ์ตื้นจันและมีความสุขกับผลตอลรับที่กลับมาขนาดไหน การได้ออกข้อสอบที่ทำให้คนอยากทำข้อสอบคงเป็นเรื่องที่ภูมิใจไม่เบา เพราะไม่ใช่ทุกข้อสอบที่น่าทำจริง
กดดันสำหรับปีต่อไปไหม ?
เมื่อถามถึงความกดดันแล้วตัวไอซ์อย่างดีว่า เธอไม่รู้สึกกดดันเรื่องกระแสทีจะต้องมีผลตอบรับที่ดี หรือจำเป็นต้องไวรัล แค่เพื่อคนทำข้อสอบได้ทำแล้วสามารถพัฒนาตัวเองได้ก็เพียงพอ คำนึงถึงสิ่งที่ผู้สอบจะได้รับไปมากกว่าการจะต้องไวรัล สำหรับการทำข้อสอบขึ้นมาก็ไม่ได้ต้องออกแบบว่าคนจะชอบหรือไม่ เพราะเธอเลือกจากความชอบ และสิ่งที่เธอสนใจ แค่เลือกมาถ่ายทอดออกมาให้ดี พวกกระแสที่ได้รับเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนออกข้อสอบ คือสิ่งที่ผู้เข้าสอบจะได้รับกลับไป
เปรียบกับวลีแบบเลี่ยนๆที่ว่า ครูไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าให้ศิษย์ได้ดี
ถามเรื่องข้อสอบสำหรับปีนี้มามากพอแล้ว ผู้เขียนจึงวกกลับเข้ามาถามถึงต้นตอของความไวรัลนี้ นั่นก็คือการสอบพรีแอดมิชชั่น การจัดสอบที่เตรียมความพร้อมให้กับนักล่ามหาวิทยาลัยทุกท่านได้ประลองฝีมือตัวเอง แท้จริงแล้ว มีความสำคัญมากขนาดไหนกัน ซึ่งได้คำตอบที่น่าสนใจจากเธอ
“การทำข้อสอบพรีแอด พี่ว่าเป็นประโยชน์มากเลยนะ เพราะจะได้วิเคราะห์ว่าตัวเราเองต้องพัฒนาตรงจุดไหนอย่างไร จะอ่านหนังสือมาสอบหรือไม่อ่านก็ไม่สำคัญเลย มันคือการประเมินตัวเอง หรือได้จำลองสอบในบรรยากาศที่เหมือนจริงที่สุด วันจริงจะได้ไม่ประหม่าค่ะ พี่ว่าดีมากๆเลยนะ อยากให้ตอนตัวเองจะสอบมีแบบนี้บ้าง”
อยากให้ตอนที่ตัวเองสอบมีแบบนี้บ้าง เป็นประโยคที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งหมายความว่าระบบการจำลองสนามสอบเพิ่งมีมาได้ไม่นาน ในสมัยที่ผู้เขียนสอบเข้าราวกับจะเป็นปีแรกๆ ที่ได้นำตัวเองไปทดลองในระบบนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งมีความเห็นตรงกัน ว่าการมีให้ซ้อมสอบแบบนี้ก่อน ช่วยแบ่งเบาและทำให้การจัดการ วางแผน ในการเตรียมสอบของตัวเราง่ายขึ้น และสร้างโอกาสความเป็นไปได้ในการติดมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี ถึงจะต้องลองทำข้อสอบมากขึ้นหน่อย เสียสละเวลาเพียงเล้กน้อยในการเดินทางไปสอบ 1-2 วัน แต่มันก็คุ้มค่ากับประสบการณ์ที่จะได้รับกลับมา
ยิ่งการมีข้อสอบที่สามารถทำแล้วรู้สึกสนุกไปด้วย ยิ่งแบ่งเบาความหนักอึ้งของเนื้อหาในข้อสอบได้ไม่มากก็น้อย
สิ่งที่อยากทิ้งท้าย
สำหรับการออกข้อสอบมา ด้วยความที่เป็น TGAT เป็นข้อสอบรูปแบบใหม่ ยังรู้สึกว่า ต้องรอลุ้นอะไรใหม่ๆทุกปีเลย คนออกก็เครียดเพราะว่า จะมีอะไรเปลี่ยนไปไหม แต่พี่เห็นว่าน้องๆ สนใจเรื่องนี้เยอะมากขึ้น มีเป้าหมายมากขึ้นว่าอยากเข้าคณะอะไร หรือบางคนอาจจะยังเลือกคณะไม่ได้ แต่เขารู้ว่าภาษาอังกฤษสำคัญสำหรับเขา
พี่ว่าก็เป็นเรื่องที่ดีเลยที่น้องๆ สนใจกันมากขึ้นค่ะ