เรื่องและภาพ : กัญญพัชร กาญจนเจตนี
บัณฑิต มธ.ถามถึงแผนรับมือความแออัดในงานวันรับปริญญา เนื่องจากมหาลัยฯประกาศย้ายมาจัดที่ศูนย์รังสิตเป็นครั้งแรก ด้านฝ่ายรองปธ.ประสานงานจัดเตรียมงานรับปริญญา มธ.แจงได้เพิ่มรถขนส่งทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เพิ่มที่จอดรถ จุดรับรองและจุดปฐมพยาบาลสำหรับวันงานแล้ว
จากกรณีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้มีการประกาศกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 สำหรับวันฝึกซ้อมใหญ่และวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายน 2566 สำหรับวันรับจริงของบัณฑิตปริญญาตรีรวมทั้งมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตเช่นกันนั้น ในปีการศึกษา 2564 มีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 9,497 คน แม้จากสถิติจำนวนบัณฑิตผู้เข้าพิธีในครั้งที่ผ่าน ๆ มาอาจจะไม่ได้เข้าพิธีทุกคน แต่บัณฑิตส่วนใหญ่มักเดินทางมาวันฝึกซ้อมใหญ่และวันรับจริงเพื่อถ่ายภาพพบปะกับเพื่อน ๆ ครอบครัวและผู้แสดงความยินดีจึงมีแนวโน้มที่ผู้คนจะเดินทางมารวมตัวกันทั้ง 3 วันเป็นจำนวนมากส่งผลให้บัณฑิตกังวลถึงแผนรับมือของมหาวิทยาลัยในวันดังกล่าว
สุธาสินี เทียนชัย บัณฑิตจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ. ให้สัมภาษณ์ว่า ศูนย์รังสิตมีขนาดใหญ่กว่าศูนย์ท่าพระจันทร์ เธอคาดว่าจำนวนคนที่มาร่วมในวันรับปริญญาจะมีมากอย่างทวีคูณและอาจเกิดปัญหาด้วยกันหลายส่วนในวันงาน ส่วนแรก รถ EV รถขนส่งสาธารณะภายในมหาวิทยาลัย หลาย ๆ ครั้งรถ EV ไม่ได้มีความสะดวกสบายในเวลาที่ผู้คนมีความต้องการใช้พร้อมกันมาก ๆ เพราะนักศึกษาที่เรียนอยู่ศูนย์รังสิตมีจำนวนมาก แต่สายการเดินรถและจำนวนรถกลับน้อย และน่าจะยิ่งแออัดไปอีกในวันรับปริญญาที่กำลังจะถึง เพราะบัณฑิต 1 คนมีครอบครัว ญาติ และเพื่อนที่เดินทางมาหารวม ๆ แล้วอาจไม่ต่ำกว่า 10 คน ฉะนั้นหากไม่มีการเพิ่มปริมาณการเดินรถจะเป็นปัญหาแน่นอน ส่วนที่ 2 คือที่จอดรถ ในวันที่มีการเรียนการสอนตามปกติการจราจรภายในมหาวิทยาลัยมีความแออัดและหาที่จอดรถยากมาก หากยิ่งมีงานใหญ่แบบนี้การเดินทางโดยใช้ยานพาหนะส่วนตัวจะยิ่งไม่สะดวก ดังนั้นผลจากปัญหาสองข้อที่กล่าวมาอาจทำให้ในวันนั้นคนส่วนมากใช้การเดินเท้าแทนและพอเป็นเช่นนั้นจึงเกิดปัญหาที่ 3 ตามมาคือมีคนเป็นลม ด้วยอากาศที่ร้อนอบอ้าว จำนวนคนมาก ๆ ผนวกกับระยะห่างระหว่างคณะต่าง ๆ และตึกกิตติยาคารที่เป็นสถานที่จัดพิธีมีความห่างไกลกันจึงเป็นเหตุผลที่อาจทำให้วันงานมีคนเป็นลมจำนวนมากได้
“ในครอบครัวเรามีผู้สูงอายุที่จะเดินทางมา เรากังวลมาก คิดว่าเขาอาจจะเป็นลมแน่ ๆ เพราะรังสิตมันร้อนมาก สิ่งที่เราอยากรู้จากมหาวิทยาลัยคือหากมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเราต้องทำยังไงต่อ ในมหาวิทยาลัยจะมีจุดบริการให้ความช่วยเหลือ จุดปฐมพยาบาล หรือหน่วยรถฉุกเฉินเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ยังไง อยากให้มหาวิทยาลัยประกาศเรื่องนี้ออกมาเพราะเราและบัณฑิตคนอื่น ๆ จะได้วางใจว่าจะได้รับการช่วยเหลือและเตรียมพร้อมปฏิบัติตัวหากมีคนในครอบครัวเป็นลมขึ้นมา” สุธาสินีกล่าว
ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มธ.และรองประธานฝ่ายประสานงาน คณะกรรมการเตรียมงานรับพระราชทานปริญญาบัตรของนักศึกษาบัณฑิตประจำปีการศึกษา 2564 ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ภายใน Work from homeและปรับการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาเป็นงดหรือออนไลน์ไปดังนั้นจะสามารถลดความแออัดได้ส่วนหนึ่ง และทางคณะกรรมการจัดงานได้มีการเพิ่มจำนวนรถขนส่งมวลชนภายในมหาวิทยาลัยจาก 20 กว่าคัน เพิ่มขึ้นมาอีก 8 คันเพื่อกระจายให้สายการเดินรถทั่วถึงจุดต่าง ๆ นอกจากระบบขนส่งมวลชนภายในที่เตรียมไว้นั้น ได้มีการขอให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เพิ่มรถเสริมในเส้นทางที่ปลายทางสู่มธ.ศูนย์รังสิต คือ สายรถเมล์ 39 และ 510 รวมทั้งยังมีรถเมล์ที่ดำเนินการโดยขนส่งเอกชนสาย 1-9E ที่ให้บริการจากมธ.ท่าพระจันทร์ ถึง มธ.ศูนย์รังสิตเพิ่มขึ้นอีกหลายคันเช่นกัน
ชุมเขต กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่จอดรถภายในมหาวิทยาลัยสามารถรองรับรถได้ประมาณ 2,200 คัน ซึ่งคาดว่าเพียงพอสำหรับวันงานแต่หากในกรณีที่ไม่เพียงพอจริง ๆ คณะกรรมการจัดงานได้มีการเตรียมที่จอดสำรองไว้บริเวณหลังสะพานสูง (พื้นที่ด้านหลังมหาวิทยาลัย ติดกับโซนหอพักภายในของนักศึกษา) อีกประมาณ 300 คันซึ่งได้เตรียมรถรับส่งเพื่อพามายังบริเวณงานไว้แล้ว ส่วนจุดรับรองสำหรับเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการนั่งพักหรือจุดประสานงานให้ความช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินมีคนป่วยหรือเป็นลมจะมี 3 จุดหลักคือ อาคารวิศิษฐ์อักษร (SC2) อาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ศกร.) และอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี โดยคณะกรรมการจัดงานได้มีการซ้อมเผชิญเหตุในกรณีที่ต้องปฐมพยาบาลและกรณีที่ต้องส่งตัวผู้ป่วยแล้ว ทั้งนี้คณะต่าง ๆ ของบัณฑิตก็เป็นจุดรับรองสำหรับผู้ที่ต้องการดำเนินมาร่วมงานเช่นกันและบางคณะมีการเปิดห้องสำหรับนั่งพักภายในคณะ ดังนั้นในวันงานการกระจุกตัวของผู้คนจะแทบไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นแต่ละอาคารในมหาวิทยาลัยจะมีเครื่อง AED (เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ) กระจายอยู่ทั่ว ผนวกกับวันนั้นจะมีเจ้าหน้าของมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่จากการปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุขจังหวัดและกลุ่มจิตอาสาเข้ามาร่วมอำนายความสะดวกภายในงานด้วย คณะกรรมการจัดงานจึงมีความพร้อมในดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างเพียงพอหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน