Writings

เกิดมา “ป๊อป” เพลง T-POP ซอฟต์พาวเวอร์ฉบับ “ป๊อป ๆ”

เรื่อง : กวินทัต สวัสดิ์นพรัตน์

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

หากพูดถึงคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ในสังคมไทยปัจจุบันนั้น สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือความพยายามในการสร้างค่านิยมของรัฐบาลชุดนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินให้ประชาชนตระหนักถึงการมีอยู่ของคำ ๆ นี้ และใส่ลงไปในนโยบายหลักเพื่อชูแนวคิดนี้ให้เป็นจุดขายของประเทศไทย

ซอฟต์พาวเวอร์เป็นคำที่ถูกนิยามว่าเป็น “อำนาจละมุน” หมายถึงการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้ใช้กำลังบังคับแต่สามารถโน้มน้าวใจ เปลี่ยนความคิด พฤติกรรมของบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ ซอฟต์พาวเวอร์ในแบบฉบับของประเทศไทยได้ให้นิยามไว้ทั้งหมด 5 หมวดได้แก่ Food (อาหาร) Festival (เทศกาล) Film (ภาพยนตร์) Fashion (เครื่องแต่งกาย) และ Fighting (ศิลปะการต่อสู้ไทย)  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของภาครัฐที่มองวัฒนธรรมเป็นอำนาจ และมีความต้องการที่จะเข้ามาพัฒนาอำนาจละมุนดังกล่าวนั้นให้ไปไกลในระดับโลก แต่ถึงกระนั้น หากพิจารณาในสังคมปัจจุบันที่วัฒนธรรมระหว่างประเทศเชื่อมร้อยกันอย่างไร้รอยต่อแล้ว อาจยังขาดอยู่หนึ่งหมวด ซึ่งเป็นหมวดสำคัญต่อการสื่อสารเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยแบบร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่อาจต้องมีวิธีการสื่อสารเฉพาะเพื่อการเข้าถึง อันได้แก่หมวด “เพลงไทย”

ในช่วงสองถึงสามปีมานี้ทุกท่านน่าจะเคยได้ยินคำหนึ่งผ่านหูมาไม่มากก็น้อยคำนั้นคือคำว่า “T-POP” คำนี้ความหมายตรงตัวย่อมาจาก “Thailand Pop” หรือเพลงป๊อปแบบไทยที่มีท่วงทำนองในลักษณะฟังง่าย เข้าถึงผู้คนได้ง่าย ตอนที่ผมได้ยินคำนี้ ยอมรับว่าสิ่งแรกที่คิดถึงคือวงการเพลงไทย ในขณะเดียวกันก็มีข้อกังขาในใจโดยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมเพลงไทยต้องไปเกาะกระแสเกาหลีด้วย ไม่ทำให้เป็นตัวของตัวเองไปเลย” ผมคิดแบบนั้นในตอนแรก และคิดเลยไปด้วยว่าวงการนี้มันจะไปได้ไกลแค่ไหนกัน แต่หลังจากนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยเห็นการโลดแล่นของเพลงป๊อปแบบไทยออกมาเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นกระแสนิยมเพลง T-POP ที่มากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งความนิยมดังกล่าว ก็กลายเป็นรูปธรรมของคำตอบที่ผมสงสัย ซึ่งสะท้อนผ่านผลงานที่หลากหลายของศิลปินเพลงป๊อปแบบไทย ๆ ที่มีกระแสตอบรับพุ่งทะยานแบบหยุดไม่อยู่

ย้อนกลับไปว่าในยุคหนึ่ง เพลงป๊อปไทยได้เคยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมาก่อน ตั้งแต่ในสมัยของค่ายเพลงวัยรุ่นชื่อดังเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่าง “กามิกาเซ” เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบันที่มีเพลงออกมาเป็นจำนวนมาก กระแส T-POP กลับมาถูกปักหมุดและเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้งในช่วงที่เพลง “รักติดไซเรน” ปล่อยออกมาในปี พ.ศ. 2563 ในเวลานั้นเกิดกระแสนิยมเป็นอย่างมาก กลายเป็นเพลงติดหู จนสามารถกล่าวได้ว่าคนเกือบทั้งประเทศไม่มีใครไม่เคยได้ยินเพลงนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน โดยในปัจจุบันเพลงนี้มียอดวิวในยูทูบทะลุ 200 ล้านวิวไปแล้ว เรียกได้ว่าไม่เคยฟังก็ต้องเคยได้ยินคนร้องผ่าน ๆ มาบ้าง แต่อะไรคือสูตรสำเร็จของเพลงนี้ ทำไมเพลงนี้ถึงฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองและสามารถที่จะครองใจผู้ฟังได้ทุกเพศทุกวัยเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนั้น

หากจะกลับไปถอดรหัสความสำเร็จของเพลง “รักติดไซเรน” มีข้อสังเกตอยู่ 2 ประการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเป็นต้นแบบของเพลงป๊อปไทยในปัจจุบันที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันจนได้รับความนิยมและโดนใจผู้ฟัง โดยปัจจัยแรกนั้นคือการให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “เนื้อร้อง”

สังเกตได้ว่าเนื้อร้องในเพลงปัจจุบันมีความต่างจากเพลงไทยในสมัยก่อนเป็นอย่างมาก ยิ่งในช่วงยุคสมัย 80-90 นั้นภาษาของเนื้อเพลงจะมีความหมายที่ลึกซึ้งและสละสลวย เช่นท่อนฮุกจากเพลงยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บที่เขียนเอาไว้ว่า”คนที่รักร้างไกลนั้นเจ็บไม่นาน คนไม่รักใกล้กันช้ำใจยิ่งกว่า”เป็นต้น แต่เมื่อมองกลับมาที่เพลงสมัยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักเรื่องการใช้ภาษาที่สวยงาม มีวรรณศิลป์ แต่เน้นเนื้อเพลงที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความ และสามารถติดหูผู้ฟังได้ภายในครั้งเดียว ตัวอย่างเช่น เพลงคนไม่คุยจากวง PROXIE เนื้อท่อนฮุกเขียนเอาไว้ว่า “เราลองเป็นแฟนกันเลยได้ไหมก็เพราะฉันเป็นคนไม่คุย คุยไม่เป็น” จากเนื้อตัวอย่างนี้จะพบว่าภาษาที่ใช้นั้นไม่ได้เข้าใจยากมาก ออกจะเป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวัน จุดนี้จึงอาจทำให้คนส่วนใหญ่ฟังแล้วรู้สึกชอบและจดจำได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน

ปัจจัยที่สองของความสำเร็จน่าจะมาจาก “ท่าเต้น” ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพลงฮิตในปัจจุบันส่วนมากจำต้องมีท่าเต้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้ฟังและทำให้ผู้ฟังรู้สึกไปกับเพลงของศิลปิน แม้ไม่ได้เป็นนักร้องหรือนักแต่งเพลงแต่รู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมกับเพลงผ่านการเต้นตามท่าเต้นประกอบเพลง ดังนั้นเพลงแต่ละเพลงจึงมักจะมีท่าเต้นให้เห็นและดูไม่ยากจนเกินไปที่จะเต้นตาม เป็นท่าที่ถูกออกแบบมาให้ง่ายพอที่จะทำตามได้ จนทำให้เกิดเป็นกิจกรรม Challenge ในช่องทางออนไลน์อย่าง Tiktok ที่มีผู้ใช้บริการอยู่เป็นจำนวนมากทำให้สามารถเจาะกลุ่มคนฟังได้หลากหลายและทำให้เพลงเป็นกระแสและเป็นที่นิยมมากกว่าเดิม

สองปัจจัยที่กล่าวมานี้น่าจะเป็นสารตั้งต้นในสูตรความสำเร็จของธุรกิจเพลงในปัจจุบันของวงการ ”T-POP” ที่นอกจากจะมีอิทธิพลต่อนักฟังเพลงคนไทยแล้ว ด้วยความเป็นสากลของทำนองและท่าเต้นก็ยังส่งอิทธิพลไปยังแฟนคลับต่างชาติด้วย สิ่งที่ตั้งเป็นคำถามต่อมาคือในเมื่อเราสามารถที่จะสร้างฐานแฟนคลับได้ในระดับหนึ่งผ่านตัวตนของศิลปิน เพลง หรือความสามารถของศิลปินในวงการแล้ว ซอฟต์พาวเวอร์จะมีบทบาทอย่างไรในมิติของนโยบายภาครัฐที่จะส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจเพลงไทยที่นำพาเอาวัฒนธรรมไทยแพร่ขยายไปทั่วโลกด้วยได้ จากที่ผ่านมาจะพอเห็นได้ว่าภาคเอกชนมีส่วนผ่านการจัดงานเทศกาลดนตรีที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้มาวาดลวดลายบนเวที หรือแม้กระทั่งการเกิดขึ้นของรายการอย่าง  “T-POP STAGE Show” ซึ่งในแต่ละสัปดาห์จะเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้มานำเสนอผลงานและแสดงโชว์เพลงใหม่ของตัวเองรวมทั้งยังมีการโหวตประจำสัปดาห์ให้กลุ่มแฟนคลับได้มีพื้นที่สนับสนุน ช่วยโหวตศิลปินที่ตนรักและชื่นชอบอีกด้วย ซึ่งหากมองจากภาพหน้าฉากก็นับเป็นเรื่องดีในการได้เห็นการสนับสนุนวงการเพลง T-POP อย่างเป็นรูปธรรมแต่พอมองเข้าไปข้างหลังฉากนั้น อาจพบความจริงว่าช่างเป็นเรื่องตลกร้ายที่มีดูแล้วจะมีเพียงภาคเอกชนเท่านั้นที่สนับสนุนวงการนี้อย่างจริงจัง

วงการเพลง T-POP ของไทยนั้นหากเรียกว่าอยู่ในวัยเจริญเติบโตก็ไม่ผิดนัก นั่นจึงทำให้ในปัจจุบันเราเห็นวง T-POP เกิดขึ้นมากมายจากหลากหลายค่ายและเริ่มเป็นนิยมในวงกว้าง ตัวอย่างเช่นวง ATLAS ที่รวบรวมเด็กหนุ่ม 7 คนที่มีความฝันเหมือนกันมาอยู่รวมกัน สมาชิกแต่ละคนมีตัวตนที่ชัดเจนรวมทั้งเพลงของวงนี้ไม่ได้มีแนวเพลงที่ตายตัวแต่เลือกทำในแนวเพลงที่หลากหลายเพื่อเจาะกลุ่มคนที่หลากหลายแต่สิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวคือตัวตนของความเป็นคนไทยที่สะท้อนออกมาผ่านเพลงของพวกเขาในแต่ละเพลงที่ถูกปล่อยออกมา

“คนไทยเป็นคนพูดไปเรื่อย” ผมเห็นภาพสะท้อนของประโยคนี้ผ่านเพลงที่ชื่อว่า “มังคุด”เพลงลำดับที่ 8 ของวง ATLAS แค่ได้ยินชื่อเพลงในตอนแรก ผมก็รู้สึกถึงความน่าค้นหาแล้ว เนื้อเพลงจะน่าสนใจขนาดไหน ซึ่งพอได้มีโอกาสฟังบ่อยครั้งขึ้น ก็ค้นพบว่าไม่ใช่แค่ชื่อเพลงที่น่าสนใจเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเนื้อเพลงอีกด้วย โดยเฉพาะท่อนฮุกของเพลงนี้ที่กล่าวว่า “แม่ใช้ไปซื้อมังคุดแต่หยิบละมุดทำไมไม่รู้ สมองมึนๆ งง ๆ ก็มันคิดถึง คิดถึงเธอ” การเชื่อมโยงความผิดพลาดของตัวเองผ่านการไปซื้อมังคุดแต่หยิบผิดดันไปหยิบละมุดแทนซึ่งเหตุก็มาจากตัวเองผิดหวังในความรักจนทำให้ไม่มีสติ ไม่มีทางเลยที่เราจะพบเนื้อเพลงแบบนี้ในวงการเพลงของชาติอื่นซึ่งอาจนับว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเพลง T-POP คือการนำเสนอตัวตนของคนไทยลงไปในเพลง นอกจากเนื้อเพลงจะแปลกและแหวกแนวแล้ว เพลงนี้ยังถือเป็นการส่งเสริมผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักไปในตัวด้วย เพราะมังคุดขึ้นชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งผลไม้ไทย” คนต่างชาติที่ฟังก็คงอยากจะรู้จักและลิ้มลองรสชาติของผลไม้ชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นและสามารถสร้างกระแสนิยมให้ผลไม้นี้ขายดีได้อีกครั้ง มาถึงขนาดนี้แล้ว เพลงไทยที่ได้ยินได้ฟังอยู่ก็อาจทำหน้าที่ส่งเสริมวัฒนธรรมให้คนต่างชาติสนใจและสร้างรายได้กลับมาให้กับประเทศไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากผู้เกี่ยวข้องมองเห็นความเชื่อมโยงนี้ได้ชัดเพียงพอ

หากแต่ความเชื่อมโยงนั้นภาครัฐบาลเห็นจุดที่เชื่อมโยงว่าเพลงไทยและวงการ T-POP นั้นคือส่วนหนึ่งของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลนี้ได้พยายามนำเสนอด้วยหรือไม่ ซึ่งหากมองในสายตาของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่นเจน Z ที่มองเห็นตัวอย่างการเติบโตของซอฟต์พาวเวอร์ทั้งของญี่ปุ่นและเกาหลี ก็ทำให้รู้สึกเสียดายนิด ๆ ว่า ทำไมรัฐบาลไทยจึงยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของกระแส T-POP และแสดงจุดยืนในการสนับสนุนและผลักดันเพลงไทยให้ไปได้ไกลในเวทีโลกจริง ๆ

สุดท้ายนี้ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลนี้จะมองเห็นโอกาสที่สว่างไสวของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่รวมเอาวัฒนธรรม อาหารการกิน วิถีชีวิตของคนในประเทศมารวมไว้ด้วยกันจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทยซึ่งซอฟต์พาวเวอร์นั้น ไม่ควรนำเสนอเฉพาะสิ่งที่โดดเด่นอยู่ในทัศนวิสัยของรัฐบาลแต่คนในประเทศมองไม่เห็นแต่ควรนำเสนอสิ่งที่อยู่ในทัศนวิสัยของคนในชาติและมีความโดดเด่นด้วยเช่นกันดังเช่นวงการเพลง “T-POP”

หากรัฐบาลค้นพบลู่ทางที่ถูกต้องและใช้ประโยชน์จากเส้นทางนั้นในการนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศไทยผ่านวงการนี้นอกจากจะทำให้ผู้คนในชาติรวมถึงต่างชาติหันมาสนใจและเพิ่มคุณค่ากับวงการ T-POP มากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว ยังส่งเสริมให้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลนั้นแข็งแกร่งและเดินไปข้างหน้าอย่างภาคภูมิใจได้อีกด้วย ได้แต่เพียงฝากความหวังส่งไปถึงรัฐบาลและคุณเศรษฐาเองว่าจะสามารถมองเห็นแสงสว่างที่ส่องออกมาจากดวงดาวดวงนี้เฉกเช่นเดียวกับที่ดวงดาวดวงนี้ได้ส่องสว่างในหัวใจของใครหลายคนไปเรียบร้อยแล้วหรือไม่


อ้างอิง

  • SOFT POWER คืออะไร? พลังซอฟต์ ที่ไม่ซอฟต์เสมอไป พลังที่กระตุกจิต กระชากใจคนทั่วโลก.
    https://www.brandthink.me/content/whatissoftpower
  • รู้จัก 5F ศักยภาพ Soft Power ใหม่ไทย ที่ปลุกความสำคัญของการท่องเที่ยวไทยให้มีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น.
    https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/2701838
  • T-POP คืออะไร นิยามแบบไหนจึงเรียก T-POP.
    https://www.oohmusic.com/oohmusic/blog/260/t-pop-t-pop
  • T-POP จะไปได้ไกลแค่ไหน? วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมเพลงไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อทุกคนเข้าถึงเพลงได้ง่าย!!.
    https://www.thebusinessplus.com/t-pop/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
3
Love รักเลย
2
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Writings

นายหมายเลขสอง

เรื่อง : Amphea ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกคนเคยมีฉายากันไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาตามลักษณะภายนอก หรือฉายาที่เกิดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ผมก็เคยมีฉายาแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งแบบน่ารักๆ อย่าง ‘น้องเหนียง’ ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนในห้องเรียนคนหนึ่งเรียกผม ...

Media

ภาพมันเบลอ หรือ (อุดมการณ์)เธอไม่ชัดเจน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง และชวิน ชองกูเลีย . เมื่อวนมาถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะถูกฉาบไปด้วยสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ผู้คน ...

Writings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน ...

Media

Bangkok Pride 2024 : เรื่องที่พาเหรดปีนี้อยากบอก

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ . มองไปทางไหนก็เจอแต่สีรุ้ง!  เมื่อถนนถูกปิด เสียงดนตรีเร้าใจบรรเลงขึ้น และมวลชนสีรุ้งก็กำลังเคลื่อนตัว เป็นสัญญาณว่าพาเหรด Bangkok Pride 2024 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ผู้คนต่างแต่งกายและแต่งแต้มเรือนร่างด้วยสีรุ้งอันเป็นสัญลักษณ์ของ ...

Writings

ชายผู้สร้างถนนในบรรณพิภพ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  บทนำ “ขอถามได้ไหมคะว่าคุณน้าเป็นคนที่ไหน” “เป็นคนใต้ จังหวัดยะลา แต่ขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ นานจนกระทั่งคนอื่นเขาเข้าใจผิดกันหมดแล้วว่าเป็นคนกรุงเทพฯ” “พอได้ยินเสียงสำเนียงของคุณน้า ก็เลยคิดว่าอาจจะไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์” “ยังติดสำเนียงใต้ใช่ไหม แล้วทองแดงออกเยอะไหมล่ะ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save