Writings

เปิดสกิลติดตัวแก๊งตีป้อม : ฮาวทูด่าอย่างไรให้สร้างสรรค์ในความไม่สร้างสรรค์

เรื่อง : ณิชาภัทร นิมมานุทย์

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

ระยะหลังวงการเกมมือถือในไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเกม RoV : Arena of Valor ซึ่งประสบความสำเร็จจนสามารถขึ้นแท่นเป็นเกมมือถือแนว MOBA ที่สร้างรายได้มากที่สุดในโลกปี 2564 ตามรายงานทางสถิติของ Sensor Tower

เกมแนว MOBA หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ มันคือการผสมผสานเกมแนวแอ็กชันและวางแผนเรียลไทม์เข้าด้วยกัน ดำเนินเกมจากการแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีม ทีมละ 5 คน โดยมีจุดประสงค์หลักเป็นการทำลายสิ่งก่อสร้างของทีมฝั่งตรงข้าม และยังเป็นที่มาของวลีฮิต “ตีป้อม” อีกด้วย

RoV มีศักยภาพในการเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง เนื่องจากเป็นเกมมือถือที่มีระยะเวลาในการเล่นเพียง 10-25 นาทีต่อตาเท่านั้น อีกทั้งยังมีแผนการโฆษณาดึงดูดคนทั่วไปให้เข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ เช่น การนำดาราดัง เบลล่า ราณี แคมเปน มาเป็นพรีเซนเตอร์ในการเปิดตัวสกินใหม่ของเกมอย่าง ออเจ้า อิลูเมีย ดังนั้นภายในเกมจึงประกอบไปด้วยผู้เล่นหลากหลายกลุ่มจากช่วงวัยที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ผู้เล่นหน้าใหม่ไปจนถึงผู้เล่นเก๋าเกมระดับนักแข่ง และเด็กวัยประถมยันผู้ใหญ่วัยกลางคน

เบลล่า ราณี แคมเปน รับบทบาทเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้สกิน ออเจ้า ในเกม RoV ภาพ : Garena RoV Thailand

ดูเผิน ๆ ก็นับเป็นเรื่องดีที่เกมสามารถทำหน้าที่เสมือนชุมชนขนาดใหญ่ ให้ผู้คนซึ่งแตกต่างกันได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเล่นเกมโดยปราศจากกำแพงกั้นในเรื่องของช่วงวัย ในเกมนี้แม้แต่เด็กก็สามารถเป็นเพื่อนกับผู้ใหญ่วัยทำงานได้หากถูกชะตากัน เพราะด้วยธรรมชาติของเกมที่เราจะไม่มีวันเดาอายุของอีกฝ่ายได้เลยถ้าไม่เปิดไมค์คุยหรือเปิดเข้าไปดูรูปจริงของอีกฝ่ายในหน้าโปรไฟล์ หากแต่ยิ่งใช้เวลากับผู้เล่นคนอื่น ๆ มากเท่าไหร่ สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงในการเล่นเกมได้ก็คือการด่ากันอย่างดุเดือดเผ็ดมันด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ นานา

งานวิจัยการเล่นเกมของเด็กไทยโดยสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กเยาวชน (สสดย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าเกือบ 20% ของเด็กไทยที่ยอมรับว่าตนเองติดเกม มีอารมณ์รุนแรง ทะเลาะกับครอบครัว และหยาบคายขึ้น แสดงให้เห็นว่าระยะเวลาที่เด็กใช้ไปกับการเล่นเกมนั้นสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง

อาจกล่าวได้ว่าการด่ากันด้วยถ้อยคำที่ทั้งหยาบคายและรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมเกมปัจจุบันไปเสียแล้ว สารพัดสิงสาราสัตว์ วลีเหยียดเพศสภาพหรือเชื้อชาติ ด้อยค่าศักดิ์ศรี ล้วนถูกพิมพ์อย่างไม่ยั้งคิด กระทั่งมีผู้เล่นจำนวนหนึ่งออกมาระบายความอึดอัดจากการถูกด่าในเกม

“บางทีโดนด่ามาก ๆ มันก็นอยด์ (เซ็ง) นะ คือเราแค่มาเล่นเกมเอง บางทีเราเล่นพลาดไปบ้างก็โดนด่ายันพ่อแม่ มันทำให้สังคมเกมไม่น่าอยู่เพราะคนแบบนี้”

เจ้ย นักศึกษามหาวิทยาลัยปี 2 ในวัย 20 ปี หนึ่งในผู้เล่นเก่าแก่ของเกม RoV เปิดเผยความในใจออกมาเมื่อถูกถามเกี่ยวกับประสบการณ์การถูกด่าในเกม ขณะเริ่มเล่นเกมแรก ๆ เธอเป็นเพียงแค่เด็กวัยมัธยมต้นที่กำลังเห่อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ และหลังจากจับพลัดจับผลูดาวน์โหลด RoV เข้าเครื่องด้วยความคาดหวังว่าจะได้เล่นเกมเพื่อความเพลิดเพลินผ่อนคลาย สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นการดึงเธอเข้าสู่สังคมเกมที่มีแต่การด่าสาดเสียเทเสียอย่างนั้นไป

“ในสังคมที่อยู่ก็ไม่เคยมีใครพูดแบบนี้ใส่เลย ทั้งเพื่อนมหาลัย มัธยมปลาย จะเจอแค่ในเกมเท่านั้น” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงแกมตกใจ ก่อนจะเสริมว่าในช่วงที่ยังปรับตัวไม่ได้นั้น เธอยอมไม่ได้ถึงขั้นพิมพ์ด่ากลับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปและมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เธอก็ไม่อยากเป็นคนใช้คำพวกนี้เสียเอง จึงพิมพ์สวนกลับไปแค่คำว่า มั่น เพียงคำเดียวเท่านั้น แม้ว่าอีกฝั่งจะพยายามพิมพ์ด่าด้วยคำต่าง ๆ อย่างเช่น โง่ ควย อ่อน ขยะ กระจอก มาไม่หยุดไม่หย่อนจนน่ารำคาญ

เกมแมวไล่จับหนู: แก๊งปากแซ่บ VS. ทีมผู้พัฒนา

ทว่าผู้พัฒนาเกมมิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด พวกเขาเพิ่มระบบตรวจจับคำหยาบและตักเตือนทันที ดังนั้นผู้เล่นที่เหลือจึงไม่มีโอกาสเห็นคำหยาบโผล่มาในช่องการสนทนาแชทแบบโต้ง ๆ แน่นอน การพิมพ์คำหยาบดังที่แสดงให้เห็นไปก่อนหน้านี้จะถูกระบบเปลี่ยนเป็นข้อความ เกมนี้จะสุดยอดเมื่อมีคุณอยู่! ทั้งหมด

เกมนี้จะสุดยอดเมื่อมีคุณอยู่! ที่จะปรากฏเมื่อผู้เล่นพิมพ์คำหยาบและระบบของเกมตรวจจับได้ ภาพ : https://vt.tiktok.com/ZSNpyNnXT/

ถึงกระนั้นพฤติกรรมผู้เล่นสายปากแซ่บเหล่านี้ไม่ได้ถูกหยุดไว้เพียงเพราะถูกระบบขัดขวาง อธิบายให้เห็นภาพด้วยการจินตนาการว่ามีคนซื้อชานมไข่มุกมาดื่มสักแก้ว เทียบระบบตรวจคำหยาบเป็นน้ำแข็ง ส่วนคำหยาบเป็นเม็ดไข่มุก คนกลุ่มนี้พยายามใช้หลอดทั้งแหวกทั้งกระทุ้งน้ำแข็งเพื่อดูดเม็ดไข่มุกขึ้นมาให้ได้แม้ว่าชานมจะหมดไปนานแล้วก็ตามที พวกเขาไม่สนด้วยซ้ำว่าก้อนนิ่ม ๆ สีดำพวกนั้นจะผลุบเข้าคอจนสำลักหรือไม่ หรือก็คือพวกเขาไม่สนใจว่าหลังจากพิมพ์คำหยาบจำนวนมากไปแล้วอาจจะถูกระบบตักเตือนกระทั่งถึงขั้นแบนแม้แต่น้อย กลับกันยิ่งถูกขัดขวางมากเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยกันหาช่องว่างของระบบอย่างแข็งขันมากขึ้นเท่านั้น

จนในที่สุดผู้เล่นสายปากแซ่บก็ค้นพบวิธีหลบเลี่ยงการตรวจจับคำหยาบของระบบ ส่งผลให้การพิมพ์คำหยาบกลับมาให้เห็นแน่นขนัดตาอีกครั้งในรูปแบบที่เปลี่ยนไป ซ้ำร้ายยังดูตลกในสายตาผู้เล่นบางกลุ่มเสียอีก ด้วยหลักการว่าถ้าหากพวกเขาไม่สามารถพิมพ์ตัวสะกดที่ถูกต้องได้ ดังนั้นการพิมพ์โดยใช้พยัญชนะอื่นที่ให้เสียงที่เหมือนหรือใกล้เคียงกันกับคำต้นฉบับก็เป็นอันใช้ได้แล้ว

ภาพที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ @quarterijk ใช้อ้างอิงเพื่อกล่าวถึงช่วงเวลาที่ชอบที่สุดตั้งแต่เล่นเกมมา อ่านว่า ลูกอีหน่อแตด ภาพ : https://twitter.com/quarterijk/status/1722619167281647931/photo/1

“อย่างเช่นคำว่า ควย มันเป็น -ว-ย แต่เขาก็ยังดั้นด้นที่จะเขียน -ว-ย หรือ -ว-ย มันดูพยายามมากและระบบก็ไม่แบนด้วย” เสียงหวานอธิบายพลางพยายามอดกลั้นความอยากหัวเราะของตัวเองอย่างยากเย็น

สเตลล่า นักศึกษาสาวคณะประมงปี 3 ในวัย 20 ปีเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นยุคบุกเบิกที่อยู่กับเกมนี้มาตั้งแต่เปิดตัวได้เพียง 2-3 ปี เธอแสดงให้เราดูว่าต้องพิมพ์คำหยาบอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกระบบตรวจจับได้ แต่ยังคงไว้ซึ่งความเข้าใจที่ตรงกันของผู้เล่นคนอื่น ๆ

เมื่อสเตลล่าถูกเรายิงคำถามว่าสรุปแล้วระบบตรวจตรวจจับและแบนคำหยาบยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เหตุเพราะในปัจจุบันคนก็ยังพิมพ์คำหยาบด่ากันอยู่ดี เธอตอบคำถามนั้นกลับมาด้วยน้ำเสียงหดหู่ว่า เวลาถูกด่าเธอจะดำเนินการรายงานผู้เล่นคนนั้นทันทีหลังจบเกม แต่ทุกครั้งระบบจะรายงานกลับมาว่ายังไม่พบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอยู่เสมอ ส่งผลให้เธอรู้สึกไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ความเสียใจ ความโกรธ ความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากถ้อยคำพูดไม่คิดของอีกฝ่ายไม่ได้รับเยียวยา ในใจจึงได้แต่หวังให้ระบบพัฒนาเพื่อจัดการกับผู้เล่นพวกนั้นอย่างจริงจังเสียที

แต่เมื่อถามว่าทำไมถึงไม่เลิกเล่นเกมนี้เพื่อตัดปัญหา สเตลล่าก็ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงสดใสอันเป็นเอกลักษณ์ “ไม่ครับ เกมมันสนุก แล้วผมจะยอมทิ้งเกมที่สนุกเพราะแค่มีคนมาด่าผมแค่เหรอ”

ยุทธการรุกคืบของแก๊งปากแซ่บ

ผู้เล่นปากแซ่บไม่ได้พึงพอใจกับกลิ่นชัยชนะเล็ก ๆ น้อย ๆ เหนือทีมผู้พัฒนา พวกเขาตั้งเป้าหมายว่าอยากทิ้งห่างระบบซึ่งคอยขัดแข้งขัดขาไม่ให้พิมพ์คำหยาบถึงสองก้าว และไม่นานมานี้ก็ประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ @accxleratxr77 ออกมาส่งต่อเทคนิคชี้ทางสว่างให้แก่คนอื่น ๆ ในชุมชนเกม RoV เธอระบุว่าต่อไปนี้ทุกคนสามารถพิมพ์คำหยาบด้วยพยัญชนะและสระที่ถูกต้องตามหลักภาษาไทยได้แล้ว เพียงแค่เสียเวลาสลับแป้นพิมพ์เพื่อเพิ่มอิโมจิอะไรก็ได้ตรงกลางคำหยาบนั้น อย่างเช่น คว(อิโมจิ) แล้วจากนั้นข้อความที่แสดงให้เห็นบนหน้าจอสนทนาช่องแชทก็จะเหลือแค่คำว่า ควย แบบเน้น ๆ

ภาพที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ @accxleratxr77 ใช้ประกอบการสอนวิธีพิมพ์คำหยาบแบบใหม่ในเกม RoV ภาพ : https://x.com/accxleratxr77/status/1736978454132949254?s=20

ความสร้างสรรค์ที่ไม่สร้างสรรค์สักเท่าไรสร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนทั้งฝั่งทีมผู้พัฒนาระบบตรวจจับคำหยาบและฝั่งทีมผู้เล่น กระแสความเห็นไหลไปในทิศทางเดียวกันว่าตื่นเต้นและเห็นดีเห็นงามกับวิธีหลบเลี่ยงระบบสุดเจ๋งนี้

ผู้คนไม่ชอบการถูกด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย ทว่าในขณะเดียวกันก็ยอมรับความเจ๋งของการพิมพ์คำหยาบในแต่ละครั้ง ดังนั้นจึงอาจพิจารณาและนับได้ว่าการพิมพ์ด่าด้วยคำหยาบคือสีสันที่อยู่คู่เกม RoV ไปเสียแล้ว

ระบบตรวจจับคำหยาบ: ดาบสองคม

ระบบที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันการพิมพ์ด่าทอด้วยคำหยาบคายนอกจากจะสร้างเวทีฉายแสงให้ผู้เล่นปากแซ่บได้เผยแพร่ความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังสร้างความหนหวนให้แก่ผู้เล่นใจบางทั่วไปอีกด้วย เหตุเพราะความไม่แม่นยำของระบบที่ทำให้คำบางคำกลายเป็นคำหยาบอย่างค้านสายตา เช่น คำว่า หิว ซึ่งมักถูกใช้ในบริบทที่มีผู้เล่นเลือดน้อยและอีกฝ่ายฝืนเข้ามาฆ่า แต่ฝ่ายที่เข้ามาฆ่ากลับตายเสียเอง เป็นต้น

แอดมิน Garena Rov Thailand ตอบกลับคอมเมนต์ที่สอบถามว่าเหตุใดจึงพิมพ์ หิว ไม่ได้ ภาพ : Garena RoV Thailand

เกมคือผู้ร้ายตัวจริง?

เมื่อมองลึกลงไปด้วยการตั้งคำถามว่าเหตุใดผู้เล่นในเกมบางส่วนจึงนิยมด่าทอกันด้วยถ้อยคำรุนแรงและไม่ถนอมน้ำใจอีกฝ่ายที่เป็นคนแปลกหน้า เราจึงตัดสินใจเข้าไปสัมภาษณ์ฟรีแลนซ์หนุ่มวัย 26 ปี ผู้แนะนำตัวเองด้วยชื่อแจ๊ค

“แม่งกาก เล่นอ่อน ปากดี”

เขากระแทกน้ำเสียงขณะให้เหตุผลว่าทำไมถึงต้องด่าคนแปลกหน้าในเกม ทั้งยังกล่าวเสริมด้วยว่าตนนั้นไม่กลัวอีกฝั่งจะเสียใจ เพราะผู้เล่นอ่อนแอก็สมควรที่จะโดนด่าเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้เขาก็มีหลักการในการด่า ไม่ใช่เอะอะสักแต่พิมพ์คำหยาบ “แนะนำมันก่อนว่าควรเล่นยังไง ถ้าไม่ทำตามที่แนะนำก็ด่ามันเลยนั่นแหละ” เขาว่า

แต่พอเราพยายามเข้าคำถามว่าด้วยถ้อยคำยอดนิยมอย่าง ขวย (ควย) เขาก็โพล่งขัดกลางประโยคออกมาเสียงดัง

จอก!”

แจ๊คอธิบายคำนี้ว่าย่อมาจากคำว่า กระจอก แต่ด้วยระบบตรวจจับและแบนคำหยาบที่ระบุให้คำนี้นับเป็นคำหยาบ จึงทำให้ผู้เล่นนิยมพิมพ์เลี่ยงด้วยการพิมพ์พยางค์หลังเพียงอย่างเดียว

หลังจากอธิบายบริบทและความหมายของคำที่เขาเพิ่งโพล่งอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยเสร็จ แจ๊คก็เล่าต่อไปว่าคำว่า ขวย (ควย) และคำหยาบอื่น ๆ นั้นมันไม่เจ็บแสบหรือระคายผิวผู้เล่นซึ่งกร้านโลกมาพอ ๆ กับเขาเลยสักนิด แต่สำหรับคำว่า จอก พิมพ์ไปอย่างไรเสียก็ต้องมีคนหัวร้อน เพราะคำคำนี้ราวกับเป็นพายุทรายเม็ดหยาบที่ขูดเอาศักดิ์ศรีชาวตีป้อมจนถลอกปอกเปิกนั่นเอง

และแม้ว่าแจ๊คจะด่านู๊บ (Noob หมายถึงผู้เล่นที่ไม่เก่งแล้วยังปากดี) อยู่เป็นนิตย์แต่เขาก็ยังสนับสนุนให้ระบบตรวจจับและแบนคำหยาบยังคงดำรงอยู่ต่อไป โดยให้เหตุผลว่าเกมนี้เป็นเกมที่เด็กเล่นเยอะและเข้าถึงง่าย

อีกทั้งฟรีแลนซ์หนุ่มยังเผยทัศนคติที่มองว่าเกมไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กก้าวร้าวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเฉกเช่นที่งานวิจัยตอนต้นกล่าวไว้ “ต้องเริ่มจากสภาพแวดล้อมก่อน ก่อนจะเล่นเกมเราต้องมีเพื่อน เพราะสมัยนี้อยู่ ๆ จะมาเล่นคนเดียวมันไม่สนุก” เขาเสริมต่อไปว่า Internet ทำให้เด็กเหล่านี้เข้าถึงคำหยาบได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่ออยู่แล้ว โดยยกตัวอย่างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Facebook ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำหยาบที่ไหลผ่านไทม์ไลน์ได้

พอถามว่าจุดกึ่งกลางของการแก้ปัญหาคำหยาบกับเด็กอยู่ตรงไหน แจ๊คก็เสนอแง่มุมที่ดูเข้าท่าออกมา “ปิดแชท ปิดไมค์ มันแก้ที่คนอื่นไม่ได้นอกจากตัวเอง” และย้ำอย่างหนักแน่นในกรณีที่ต้องด่ากันอย่างเลี่ยงไม่ได้ว่า “ในเมื่อเขาด่าได้เราก็ด่าได้”

เราปิดการสนทนาในคืนที่ร้อนระอุด้วยคำถามที่ดูขวานผ่าซากออกไปตรง ๆ ด้วยความสงสัยว่า เกมทำให้เขาเป็นคนหยาบคาย หรือเขาเป็นคนอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้วกันแน่

“น่าจะตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะแม่พี่ก็เป็นคนปากแซ่บอยู่แล้วเหมือนกัน น่าจะได้จากแม่” แจ๊คตอบอย่างไม่ยี่หระ

คำตอบของแจ๊คสอดคล้องกับอีกหนึ่งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอร์ฮุช ประเทศเดนมาร์ก เป็นอย่างยิ่ง ชื่อของงานวิจัยคือ The Psychology of Online Political Hostility: A Comprehensive, Cross-National Test of the Mismatch Hypothesis โดยสองผู้วิจัยนาม Alexander Bor และ Michael Bang Petersen พวกเขาศึกษาว่าเหตุใดการถกเถียงประเด็นการเมืองในโลกออนไลน์ จึงรุนแรงกว่าการถกเถียงกันในโลกแห่งความเป็นจริง โดยคำตอบที่ได้บ่งชี้ว่าอินเทอร์เน็ตไม่ได้ทำให้ผู้คนมีนิสัยที่แย่ลง ทว่าเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนสามารถแสดงนิสัยที่แท้จริงของตนเองออกมาได้ต่างหาก

เมื่อนำมาเทียบเคียงกับปรากฏการณ์การด่าทอที่เกิดขึ้นบน RoV จึงอธิบายได้ว่าเกมไม่ใช่ตัวร้ายของผู้ปกครองเสียทีเดียว เนื่องจาก RoV ไม่ใช่คำตอบเพียงหนึ่งเดียวที่จะทำให้ลูกพวกเขาก้าวร้าวจนเสียคน การย้อนกลับไปทบทวนและมองดูสภาพแวดล้อมนอกจอมือถือเล็ก ๆ จึงอาจเป็นหนทางที่สมควรถูกพิจารณาพอ ๆ กับการคิดว่าสังคมเกมส่งผลกระทบอย่างไรต่อเด็ก

นอกจากนี้เรายังพบว่าสามารถนำเอาทฤษฎีทางมานุษยวิทยาวัตถุวัฒนธรรมและวัฒนธรรมทัศนา มาใช้ประกอบการวิเคราะห์เพื่อความชัดเจนของสิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นในกรณีนี้ได้

แนววิธีเชิงวัตถุในประเด็นวัตถุสภาวะของโลกดิจิตอล Polymedia: Theory of Attainment โดดเด่นด้วยการเสนอว่าเทคโนโลยีเพียงแค่ตอบสนองความต้องการของเราเท่านั้น หาได้กำหนดชีวิตเราอย่างที่เข้าใจไม่ และเราก็ยังคงศักยภาพในการเลือกใช้ ดัดแปลง ภายใต้กรอบความสามารถของเทคโนโลยีนั้น ๆ ด้วย

จึงเทียบได้ว่า ลักษณะของเกม RoV ที่เล่นจบเป็นเกม ๆ ไป ผู้คนเจอกันในเกมครั้งเดียวก็ยากที่จะวนกลับมาเจอกันอีกและมีความเป็นนิรนามสูง กอปรกับแนวคิดที่มองว่าการด่ากันในเกมเป็นเพียงสีสัน ดังนั้นหากจะบอกว่าธรรมชาติของเกมนั้นเอื้ออำนวยให้คนกล้าด่ากันแบบเผ็ดร้อน อย่างที่ในชีวิตจริงไม่มีโอกาสได้ทำ ก็ดูจะไม่เป็นการกล่าวที่เกินจริงไปนัก มากไปกว่านั้น วิธีการพิมพ์คำหยาบแบบเลี่ยงระบบต่าง ๆ นานาที่ถูกงัดออกมาใช้เอง ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงศักยภาพในการ เลือกใช้ ดัดแปลง ช่องว่างของระบบโดยที่ไม่ขัดต่อกฎเกณฑ์ได้เป็นอย่างดี เป็นการจัดการความรู้สึกว่าต้องด่าอย่างไรให้หยาบคายแต่ไม่โดนแบน

สังคมเกม: เสื่อม VS. สีสัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้เล่นทั่วไปยอมรับกันก็คือการด่ากันแบบหลายคาย กลายเป็นเรื่องปกติที่อยู่คู่เกม RoV ไปเสียแล้ว หากจะเล่นก็ต้องเตรียมใจพบเจอชุดคำหยาบบั่นทอนจิตใจเสียก่อน หรือไม่ก็แก้ปัญหาโดยเริ่มจากตนเอง ปิดแชท ปิดไมค์ ตั้งใจเล่นเงียบ ๆ คนเดียวแบบตัดขาดจากผู้เล่นคนอื่น

สุดท้ายแล้วการจะตอบคำถามว่าการพิมพ์ด่ากันอย่างหยาบคายในเกมนี้ คือสิ่งที่ทำให้สังคมเกมแย่ลง ผลักไสและทำร้ายสุขภาพจิตของผู้เล่นทั่วไปให้จมลง ทั้งที่พวกเขาอาจจะแค่ต้องการเล่นเกมเพื่อผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน หรือเป็นเพียงพื้นที่ที่เปิดโล่งและชี้ชวนให้ผู้คนมองเห็นถึงศักยภาพของผู้เล่นปากแซ่บ ซึ่งขับเขี้ยวกับทีมผู้พัฒนามาอย่างช้านานด้วยระบบตรวจจับและแบนคำหยาบ ด้วยการสรรหาวิธีการสร้างสรรค์มาใช้ในทางที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์อย่างการด่าคนกันแน่นั้น ก็มีเพียงแค่ต้องลองเข้าไปสัมผัส เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้นจึงจะพอสามารถตอบได้


รายการอ้างอิง

@accxleratxr77. (2023). วิธีพิมพ์ด่าคนโดยไม่ต้องกังวลว่าจะโดนแบนนะคะ ทีมตรงข้ามสอนมา555. สืบค้นจาก https://x.com/accxleratxr77/status/1736978454132949254?s=20

Balicolor. (2021). ตลาดเกมแนว MOBA บนมือถือยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย RoV สร้างรายได้ไปมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์. สืบค้นจาก https://gamesandconsoles.org/ตลาดเกมแนว-moba-บนมือถือยัง/

Bor, A., & Petersen, M. (2019, December 19). The Psychology of Online Political Hostility: A Comprehensive, Cross-National Test of the Mismatch Hypothesis. https://doi.org/10.1017/S0003055421000885

os.internship2. (2023). 10 เกม MOBA ทั้งมือถือและในคอม ปี 2023 ที่มีคนเล่นเยอะ. สืบค้นจาก https://www.online-station.net/pc-console-game/661532/

The MATTER. (2021). อย่าเสียเวลาเถียง งานวิจัยชิ้นใหม่พบ พวกเกรียนคีย์บอร์ด มีนิสัยบนอินเทอร์เน็ต แย่ไม่ต่างจากนิสัยของพวกเขาในชีวิตจริง. สืบค้นจาก https://thematter.co/brief/153623/153623

พรรณราย โอสถาภิรัตน์. (พฤษจิกายน 2566). AN226 1-2566 M2 polymedia. เอกสารประกอบการสอนวิชา AN226 ความรู้เบื้องต้นว่าด้วยวัตถุวัฒนธรรมและวัฒนธรรมทัศนา, ปทุมธานี: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (อัดสำเนา).

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). ผลวิจัยชี้ เด็ก-เยาวชน ติดเกม เฉลี่ย 5 ชั่วโมง/วัน ค่าใช้จ่าย 5,000 บาท/เดือน. สืบค้นจาก https://www.nationalhealth.or.th/th/node/3006

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Writings

Am I OK? สามสิบก็ยังไม่สายที่จะ ‘รู้ตัว’

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ คุณคิดว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นเพียงเพื่อนกันจริงไหม  เมื่อภาพเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสองสาวกำลังนอนหันหน้าเข้าหากันบนเตียง และดูเหมือนกำลังคุยเรื่องที่ชวนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กันอยู่ พร้อมเรื่องย่อว่า ‘เพื่อนรัก’ สองคนที่สนิทกันมาเกือบทั้งชีวิตกำลังต้องแยกย้ายกันไปเติบโต เพราะเธอคนหนึ่งต้องไปทำงานอีกซีกโลก ในขณะที่อีกคนเพิ่ง ‘รู้ตัว’ ว่าอาจเป็นเลสเบียนในวัย 32 ...

Writings

ขนมครกจิ้มไม่จิ้ม

เรื่อง : ตามติดชีวิตไอดอล ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “เราโกรธมาก ไม่แถมน้ำตาลให้เราแล้วเราจะกินยังไง” “ขนมครกเขาไม่ใส่น้ำตาล ถ้าใส่น้ำตาลบ้านเรามันคือขนมถังแตก แกคนที่ไหนเนี่ย?” (ถกสนั่นโซเชียล ขนมครกต้องจิ้มน้ำตาลไหม?, 2566) ...

Writings

นายหมายเลขสอง

เรื่อง : Amphea ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกคนเคยมีฉายากันไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาตามลักษณะภายนอก หรือฉายาที่เกิดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ผมก็เคยมีฉายาแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งแบบน่ารักๆ อย่าง ‘น้องเหนียง’ ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนในห้องเรียนคนหนึ่งเรียกผม ...

Media

ภาพมันเบลอ หรือ (อุดมการณ์)เธอไม่ชัดเจน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง และชวิน ชองกูเลีย . เมื่อวนมาถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะถูกฉาบไปด้วยสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ผู้คน ...

Writings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save