Writings

เมื่อมีคนต้องตายเพราะ “วิชาแพะ”

เรื่อง : รุจน์ โกมลบุตร

ภาพประกอบ: https://pixabay.com/th/photos/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95-%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93-%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B2-%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%81-191675/

หนึ่งในศัพท์ฮิตของนักข่าวที่ทำงานกับคนในเครื่องแบบ คือคำว่า “แพะ” ในความหมายที่ว่า ตำรวจจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดผิดตัว หรือจับคนที่ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวกับเหตุร้ายนั้นๆ

กระบวนการจับแพะ มีเหตุเบื้องต้นมาจากทั้งการที่ตำรวจทำงานไม่รอบคอบ หรือการว่าจ้าง ล่อลวงใครสักคนให้ (ช่วย) มาเป็นแพะ เพื่อเร่งปิดคดีส่งหน่วยเหนือ รวมทั้งมีเจตนายัดข้อหาคนบริสุทธิ์ให้กลายเป็นแพะ เพื่อช่วยคนกระทำผิด

โดยทั่วไป การจับแพะจะส่งผลต่อจิตใจ ต่อเสรีภาพในการดำรงชีวิต รวมทั้งลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคลลที่เป็นแพะ (เช่น การนำไปซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิด)

และที่สำคัญ ในบางกรณีก็มีผลกระทบถึงขั้นทำให้ผู้เกี่ยวข้องเสียชีวิตได้ด้วย

วัยรุ่นอายุ 20 ปี ตกเป็นแพะคดีฆ่าข่มขืนเด็กอายุ 8 ขวบ

เมื่อต้นปี 2560 ผู้เขียนได้พบกับ “หนุ่ม” (นามสมมติ) เพื่อขอสัมภาษณ์ในการทำโครงการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของแหล่งข่าวที่ถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิ์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะเกิดเหตุ หนุ่มเป็นวัยรุ่นอายุ 20 ปี อาศัยอยู่กับแม่ที่เป็นชาวสวนยางในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคใต้ พ่อของเขาเป็นพนักงานโรงแรมในจังหวัดใกล้เคียง

หนุ่มเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อเวลา 6.00 น. ของเช้าวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2559 ตำรวจไปที่บ้านของเขาโดยบอกว่าจะขอเชิญตัวไปที่โรงพักเพื่อเจรจาเรื่องยาเสพติดที่เขาเคยเข้าเกี่ยวข้องเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า แต่เมื่อไปถึงโรงพัก ตำรวจพยายามสอบถามเจาะข้อมูลจากเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กหญิงคนหนึ่ง

“เขา (ตำรวจ) บอกว่ามีพยานหลักฐาน เขาก็พูดไปมั่วของเขา ให้เรายอมเปิดปากถ้าทำจริง แล้วเขาก็ยั่วหยอก ไม่ได้บอกตรงๆ เขาจะหลอกไปเรื่อยๆ ตอนนั้นก็ไม่รู้เรื่อง แต่เริ่มแปลกแล้ว เพราะเขาถามเข้าประเด็นเรื่อยๆ พอหลังๆ ผมก็เลยถามว่า ‘พี่จะถามอะไรกันแน่’ เขาเลยบอกว่า ‘มึงข่มขืนเด็กใช่มั้ย’ แต่ตอนนั้นผมยังไม่รู้เรื่องว่าเด็กคนไหน ยังไงเลย”

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตำรวจพาหนุ่มไปที่กองบังคับการตำรวจภูธรของจังหวัด โดยบอกกับเขาว่าจะพาไปแถลงข่าวสรุปผลงานประจำเดือน เมื่อไปถึงห้องแถลงข่าว ตำรวจให้เขาลงนามในเอกสารฉบับหนึ่ง แต่เขาและแม่ที่ตามมาภายหลังไม่ยอม ตำรวจจึงบอกให้ลงนามไปก่อน ไม่ปัญหามีอะไร และเมื่อเขาลงนามในเอกสารแล้ว ตำรวจได้พาเขาไปที่โต๊ะแถลงข่าวทันที ซึ่งเขามาตั้งข้อสังเกตในภายหลังว่า เอกสารที่ตำรวจให้ลงนามฉบับนั้นน่าจะเป็นเอกสารยินยอมให้แถลงข่าว

ก่อนเริ่มการแถลงข่าว หนุ่มสังเกตรอบๆ ห้องก็พบว่า มีสื่อมวลชนหลายสำนักมารอทำข่าว ทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง และในระหว่างที่เขานั่งรอนั้น มีผู้สื่อข่าวค่อนข้างมีอายุคนหนึ่งมานั่งจ้องหน้าเขาแล้วพูดว่า ‘มึงโดนประหารแน่’

หนุ่มเล่าว่า ตอนนั้นตำรวจได้นำแผนผังเหตุการณ์ที่มีภาพเขาปรากฏอยู่มาประกอบการแถลงข่าว ทำให้เขาพบว่า การแถลงข่าวครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการจับกุมตัวเขาในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุ 8 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันกับเขา

หนุ่มบอกว่า ในระหว่างการแถลงข่าว ตำรวจเป็นผู้ที่ชี้แจงข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว สื่อมวลชนจำนวนมากที่มารายงานข่าวก็ไม่ได้ซักถามข้อมูลใดๆ จากทั้งเขาและตำรวจเลย ซึ่งเขาเกือบไม่มีโอกาสได้ชี้แจงในการแถลงข่าวแล้ว หากไม่มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง ไม่ทราบสังกัด แต่ทราบภายหลังว่าเป็นเพื่อนของพ่อเขา ถามขึ้นมาในระหว่างการแถลงข่าว

“ตอนนั้นตำรวจเขาจะไม่ให้พูดอะไร ให้นั่งเงียบ แล้วเขา (ตำรวจ) จะเป็นคนพูดเองตลอด แล้วมีเพื่อนของพ่อที่เป็นนักข่าว แกถามขึ้นมาให้เราได้พูดบ้าง ถามว่าน้องอยู่ไหนตอนนั้นเวลานั้น น้องรู้เรื่องหรือยัง ผมก็ตอบว่าผมไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเด็กตาย ผมไม่รู้เรื่องจริงๆ ผมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา”

หลังจากแถลงข่าว หนุ่มถูกพาไปตรวจดีเอ็นเอที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบว่ามีลักษณะตรงกับที่พบในร่างกายเด็กหญิงหรือไม่ โดยจะทราบผลในเวลา 30 วัน ก่อนจะถูกนำกลับไปฝากขังที่เรือนจำจังหวัด โดยไม่ได้รับการประกันตัว

หลังจากสูญเสียอิสรภาพรวม 42 วัน หนุ่มถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ เนื่องจากผลตรวจดีเอ็นเอคนร้ายที่พบจากตัวเด็กหญิง ไม่ใช่ของเขา แต่มีผลตรงกับพ่อของเด็กหญิง ซึ่งภายหลังรับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำความผิด ศาลได้ตัดสินให้จำคุกพ่อของเด็ก 21 ปี 8 เดือน

กรณีการจับแพะในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่แม่ของเด็กเล่าว่า ก่อนที่เด็กอายุ 8 ขวบจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากสารแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งเกินขนาดในร่างกาย เด็กได้บอกกับแม่ว่าหนุ่มเป็นคนทำ เป็นเหตุให้ 2 วันถัดมาหลังเกิดเหตุ ตำรวจจึงได้ไปจับกุมหนุ่มที่บ้าน (แต่ก็บอกว่าจะเชิญไปคุยเรื่องคดีเก่าเรื่องยาเสพติด)

ผลกระทบจากกระบวนการจับแพะ คือความตาย

หลังออกจากเรือนจำ หนุ่มได้กลับมาติดตามข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาพบว่า ในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ใช้งานได้แสดงความเห็นหยาบคาย ทั้งด่าและสาปแช่ง เช่น บางคนบอกว่าขอให้ฉิบหายกันทั้งครอบครัว ฯลฯ ส่วนข่าวที่ถูกสื่อสถาบันนำเสนอก็คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการใช้คำหรือภาษาในข่าวที่นำไปสู่การเข้าใจผิดว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด เช่น การพาดหัวข่าวว่า เขาเป็นผู้ร้ายปากแข็ง ไม่ยอมรับสารภาพในการแถลงข่าว ฯลฯ ทั้งที่จริงแล้วในทางกฎหมายเขายังเป็นเพียง “ผู้ต้องหา” เท่านั้น รวมถึงการรายงานข่าวที่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเขา ทั้งภาพใบหน้าตอนแถลงข่าว ชื่อ-นามสกุล และข้อมูลที่อยู่อาศัย

“รุนแรงมาก ยิ่งช่องXXX ช่องYYY แรงสุดเลย บางทีพูดแบบไม่เป็นความจริง เขาพูดให้ข่าวดูมัน ดูสนุกมากกว่า คือใส่มาเต็มๆ เลย เราแค่เป็นผู้ต้องหา แต่เขาบอกเราเป็นคนทำเรียบร้อยแล้ว ไอ้โฉด ไอ้ชั่ว”

ในระหว่างที่ความจริงยังไม่ปรากฏ เมื่อคนในครอบครัวออกไปนอกบ้าน เช่น เมื่อ “ติ๋ม” (นามสมมติ) แม่ของหนุ่ม ออกไปขายน้ำยางพารา หรือภรรยาของหนุ่มออกไปส่งลูกสาวไปโรงเรียน แต่ละคนก็จะเจอกับสายตาคนภายนอกที่มองมาแปลกๆ ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ

นอกจากผลกระทบจากการสูญเสียอิสรภาพ และสูญเสียชื่อเสียงแล้ว การจับแพะยังส่งผลถึงขั้นการเสียชีวิตด้วย

ติ๋ม แม่ของหนุ่มเล่าให้ฟังว่า วันที่หนุ่มถูกจับกุมตัวไปจากบ้าน ขณะนั้น “ใหญ่” สามีของเธอ และเป็นพ่อของหนุ่ม ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดใกล้เคียงได้รีบเดินทางกลับมาที่บ้าน ใหญ่ขอยื่นประกันตัวลูกแต่ถูกปฏิเสธ เพราะเป็นคดีร้ายแรง ในระหว่างที่หนุ่มถูกคุมขัง ใหญ่พยายามหาทางช่วยลูกชายให้เป็นอิสระ ทั้งจ้างทนายความดูแลเรื่องคดี เดินทางไปติดต่อยังสถานที่ต่างๆ เพื่อขอความเป็นธรรม โดยแต่ละงานก็มีค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนั้นครอบครัวขาดรายได้หลัก ทั้งจากหนุ่มที่อยู่ในเรือนจำ และใหญ่ที่ลางานมาเพื่อต่อสู้คดี  ครอบครัวจึงต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเขา

ใหญ่เครียดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหนุ่มมาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนซูบผอม  หนุ่มบอกว่า ช่วงที่เขาอยู่ที่เรือนจำ ใหญ่จะไปเยี่ยมทุกสัปดาห์ ในทุกครั้งที่พบกันจะเห็นว่าพ่อผอมและโทรมลงเรื่อยๆ  แม้กระทั่งหนุ่มได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ใหญ่ก็ยังคงวิตกกังวลในเรื่องคดีความอยู่ รวมถึงเรื่องหนี้สินที่กู้ยืมมาประมาณ 150,000 บาท ก็ทำให้ยิ่งเครียดขึ้นด้วย จนเมื่อหนุ่มพาใหญ่ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก็พบว่าป่วยเป็นโรคหัวใจ ทั้งที่เดิมไม่เคยมีโรคประจำตัวเลย

“ตอนแรกแกคิดกับแม่ว่า แกจะฆ่าตัวตาย จะไปเผาตัวเองที่หน้าศาลด้วยถ้าเขาไม่ปล่อยผม แกเอาจริง แล้วแกมาบอกกับแม่ว่า แกอยู่ไม่ได้แล้ว แกตายดีกว่า แต่แม่บอกว่าอย่าตายเลย อยู่ช่วยลูกออกมาก่อน ตอนนั้นคือสุดๆ เลยที่บ้าน”

หลังจากหนุ่มได้รับอิสรภาพ ใหญ่เตรียมฟ้องร้องเอาผิดกับตำรวจที่จับผิดคน เพราะการจับแพะได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว แม้กระทั่งพี่สาวของหนุ่มก็ต้องลาพักการเรียนที่มหาวิทยาลัยด้วย นอกจากนี้ครอบครัวก็เตรียมฟ้องร้องสื่อสถาบันที่รายงานข่าวเกินความจริง โดยครอบครัวได้ช่วยกันเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ไว้แล้ว

ที่สำคัญคือใหญ่พยายามขอ “หนังสือรับรองคดีถึงที่สุด” จากศาลให้แก่หนุ่ม ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงว่าคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และบุคคลนั้นไม่มีความผิดตามคดีความ หรือบุคคลนั้นพ้นโทษแล้ว จนผ่านไป 5 เดือนนับจากที่หนุ่มถูกจับ หนุ่มก็ได้รับหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม อีก 1 สัปดาห์ต่อมานับจากได้รับหนังสือฯ ใหญ่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่ทันต้องเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตจากอาการน้ำท่วมปอด ซึ่งก่อนหน้าวันที่ใหญ่จะเข้าโรงพยาบาลไม่กี่วัน หนุ่มเล่าว่า ใหญ่ยอมรับเงินช่วยเหลือจากตำรวจที่ติดต่อมา โดยนำมาจ่ายหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นเหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าตัวเองจะไม่ไหวแล้ว

หนุ่มเล่าว่า มีสื่อสถาบันแห่งหนึ่งมอบเงินช่วยงานศพพ่อด้วย แต่หนุ่มเห็นว่าเงินที่ได้รับมาทั้งจากตำรวจและจากสื่อไม่สามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ เพราะชื่อเสียงของครอบครัวหรือการที่พ่อเสียชีวิตจากความเครียดกับเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้แล้ว แต่เมื่อพ่อเสียชีวิตลง ครอบครัวก็ไม่มีกำลังใจที่จะฟ้องร้องตำรวจและสื่อ จึงหยุดเรื่องราวการฟ้องร้องทั้งหมดลง

ในที่สุดแล้วหนุ่มเห็นว่า แม้ตอนจบสื่อจะนำเสนอว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็เป็นการทำตามหน้าที่ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้เลย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเสนอข่าวในช่วงแรกที่ใช้คำหรือข้อความกล่าวหาว่าเขาเป็นคนชั่วร้าย เลวทราม

บทเรียนจากกระบวนการสร้างแพะ

ผลกระทบอย่างรุนแรงต่อใหญ่ ติ๋ม หนุ่ม และครอบครัว จากกระบวนการสร้างแพะของตำรวจ และการกระพือข่าวของสื่อสถาบัน และสื่อสังคมออนไลน์ อาจสะท้อนให้เราเห็นดังนี้

ประการแรก ผลจากกระบวนการสร้างแพะอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้คนเสียชีวิตได้ แม้จะมีการเยียวยาในภายหลัง แต่ก็อาจไม่สามารถชดเชยได้อย่างแท้จริง

ประการที่สอง สื่อที่ชอบเล่นท่าง่าย ในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างแพะได้ แต่หากสื่อเลือกเล่นท่ายาก ทำการบ้านให้หนักขึ้น ก็อาจจะช่วยดำรงความยุติธรรมให้ทุกฝ่ายได้ เช่น วงการสื่อต้องพัฒนาระบบตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านโดยไม่ต้องรีบเร่งนำเสนอ  (อาทิ ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมตำรวจพูดอยู่ฝ่ายเดียว โดยกีดกันไม่ให้สื่อได้พูดคุยกับแพะ) รวมทั้งมีกระบวนการในกองบรรณาธิการที่รัดกุม (อาทิ การต้องปกปิดเอกลักษณ์ของบุคคล การนำเสนอเนื้อหาตามเนื้อผ้าโดยไม่ตัดสิน การไม่ใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง และหากนำเสนอเนื้อหาผิดพลาดก็ต้องรีบขอโทษและเยียวยา)

ประการถัดมา หลังจากแพะชื่อ “หนุ่ม” แล้ว ใช่หรือไม่ที่กระบวนการยุติธรรมของไทยยังคงผลิตแพะจำนวนมากขึ้นอีก ผบ.ตร.ไม่ว่าจะกี่คนต่อกี่คนมักจะให้สัมภาษณ์หลังโป๊ะแตกในเรื่องแพะอยู่บ่อยๆ ว่า “นิ้วไหนร้าย ก็ต้องตัดนิ้วนั้น” ซึ่งมีความหมายว่า ตำรวจคนไหนทำตัวไม่ดี ก็ต้องลงโทษ แต่คำถามคือ ที่ผ่านมาตัดนิ้วร้ายไปกี่นิ้วแล้ว แล้วมันแก้ปัญหาได้จริงหรือไหม อย่างไร

ประการสุดท้าย ทางออกสำคัญจึงอาจจะอยู่ที่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งปฏิรูปวงการตำรวจ แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าท่านผู้นำจะลงมือปฏิรูปได้จริงหรือไม่ เพราะท่านเคยหลุดปากเรื่อง “#ตั๋วเพื่อไทย” ในที่ประชุมพรรคเมื่อปลายปีที่แล้วว่า “เรื่องตำแหน่งผู้กำกับ มั่นใจว่ามีผู้ผิดหวังมากกว่าสมหวังในห้องนี้ที่ขอตำแหน่งไป เพราะมันเยอะเหลือเกิน แต่ก็มีไม่น้อยที่ได้สมหวัง”

ตราบใดที่นักการเมืองผู้กำหนดนโยบายยังต้องดองกับการวิ่งเต้นตำแหน่ง รวมทั้งยังใช้วิธีการ “สั่ง” ข้าราชการประจำให้แก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรม โดยไม่ใช้การปฏิรูปเพื่อยกเครื่องทั้งระบบ เชื่อแน่ว่าแพะก็ยังมีเต็มคุก

            และนักโทษเทวดาก็ยังสามารถ “จำคุก” สบายๆ ที่โรงพยาบาลได้ตราบเท่าที่ต้องการ


บรรณานุกรม

รุจน์ โกมลบุตร. ผลกระทบของแหล่งข่าวที่ถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิ์ วารสารศาสตร์. ปีที่ 11 ฉบับที่ 2          พฤษภาคม – สิงหาคม 2561 หน้า 200-236.

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Writings

Am I OK? สามสิบก็ยังไม่สายที่จะ ‘รู้ตัว’

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ คุณคิดว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นเพียงเพื่อนกันจริงไหม  เมื่อภาพเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสองสาวกำลังนอนหันหน้าเข้าหากันบนเตียง และดูเหมือนกำลังคุยเรื่องที่ชวนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กันอยู่ พร้อมเรื่องย่อว่า ‘เพื่อนรัก’ สองคนที่สนิทกันมาเกือบทั้งชีวิตกำลังต้องแยกย้ายกันไปเติบโต เพราะเธอคนหนึ่งต้องไปทำงานอีกซีกโลก ในขณะที่อีกคนเพิ่ง ‘รู้ตัว’ ว่าอาจเป็นเลสเบียนในวัย 32 ...

Writings

ขนมครกจิ้มไม่จิ้ม

เรื่อง : ตามติดชีวิตไอดอล ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “เราโกรธมาก ไม่แถมน้ำตาลให้เราแล้วเราจะกินยังไง” “ขนมครกเขาไม่ใส่น้ำตาล ถ้าใส่น้ำตาลบ้านเรามันคือขนมถังแตก แกคนที่ไหนเนี่ย?” (ถกสนั่นโซเชียล ขนมครกต้องจิ้มน้ำตาลไหม?, 2566) ...

Writings

นายหมายเลขสอง

เรื่อง : Amphea ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกคนเคยมีฉายากันไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาตามลักษณะภายนอก หรือฉายาที่เกิดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ผมก็เคยมีฉายาแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งแบบน่ารักๆ อย่าง ‘น้องเหนียง’ ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนในห้องเรียนคนหนึ่งเรียกผม ...

Media

ภาพมันเบลอ หรือ (อุดมการณ์)เธอไม่ชัดเจน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง และชวิน ชองกูเลีย . เมื่อวนมาถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะถูกฉาบไปด้วยสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ผู้คน ...

Writings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save