เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี
ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว
จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล และอีกมากมาย แต่ไม่ว่าทัศนคติของผู้คนจะเปลี่ยนไปอย่างไร มันกลับไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้กฎหมายเปลี่ยนไปยอมรับ และปฏิบัติต่อวัตถุสนองความต้องการทางเพศเหมือนกับวัตถุอื่นๆ
ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านสำรวจ ‘สิ่งของ’ (ทางเพศ) ที่มีคุณค่า ความสำคัญ และบทบาทต่อคนหลากหลายกลุ่มในสังคม แต่กลับถูกมองข้าม (หรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็น) โดยภาครัฐ พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อความย้อนแย้งของค่านิยม ความเชื่อ และกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังสิ่งของเหล่านี้
หนังโป๊: สื่อวาบหวิว ที่ประโยชน์ไม่จิ๋วเลย
เมื่อพูดถึงของผิดกฎหมายเบอร์ต้นๆ สิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวเลยคงจะเป็น ‘หนังโป๊’ ที่แม้ว่าจะมีให้เห็นง่ายๆ ออนไลน์ แต่กลับถูกปิดกั้นโดยรัฐบาล ต้องเกริ่นก่อนว่าบทความนี้จะพูดถึงหนังโป๊ที่ผู้ใหญ่ร่วมแสดงโดยความเต็มใจเท่านั้น เพราะหนังโป๊ที่มีเด็กแสดง ในความเห็นของผู้เขียน ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ทุกกรณี
หนังโป๊สามารถมองได้หลายแง่มุม จะมองว่าเป็นสื่อลามกก็ได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ก็เห็นทั้งเรือนร่าง ตั้งแต่หัวนมไปจนถึงหัวหน่าว แต่ในแง่หนึ่งอาจมองว่าเป็นสื่อบันเทิงหรือเป็นเครื่องมือกระชับสัมพันธ์ก็ได้ เพราะหากดูคนเดียวก็อาจจะช่วยให้เราจินตนาการภาพบางอย่างในหัว พร้อมกับละเลงมือลงบนอวัยวะใต้สะดือ แต่เมื่อดูกับคู่รักหรือ ‘คู่ฟัค’ ก็เป็นการได้เรียนรู้รสนิยมและความปรารถนาทางเพศของกันและกัน จนนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับคู่ของพวกเขาเอง
นอกจากนี้ผู้เขียนเชื่อว่าใครหลายคนยังอาจมองว่าหนังโป๊เป็นเหมือนบทเรียนวิชา ‘สุขศึกเสียว 101’ เป็นบทเรียนแรกที่ฉายภาพให้เห็นว่าเพศสัมพันธ์มีลักษณะและกระบวนท่าอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามจริง (ในเวลาอันควร) เพราะในรั้วโรงเรียนไทยไม่ได้ให้ความรู้เรื่องนี้มากไปกว่าการบอกว่า
เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เราไม่ควรชิงสุกก่อนห่าม บลา บลา บลา
หรือแม้แต่สื่อต่างๆ ก็ไม่ได้ถ่ายทอดให้เห็นว่าเซ็กซ์คืออะไรอย่าง เพราะเมื่อถึงเวลาพระเอกนางเอกจะเข้าด้ายเข้าเข็มทีไร ก็เอะอะตัดภาพไปทีโคมไฟก่อนทุกที
จะเห็นว่า ในมุมนี้ หนังโป๊ก็มีบทบาทสำคัญทั้งให้ความสุข ให้โอกาสเรียนรู้ความต้องการของคู่นอน ไปจนถึงเป็นครูที่สอนให้เราได้ศึกษาในสิ่งที่ไม่มีวันได้รับจากห้องเรียน ทั้งนี้ ผู้เขียนทราบดีว่าหนังโป๊ก็ไม่ได้ดีไปเสียทุกด้าน เพราะมันมีส่วนสร้างมาตรฐานหรือความเชื่อบางอย่างที่อาจไม่ถูกต้องนัก เช่น การที่มักฉายให้เห็นเฉพาะภาพผู้แสดงที่มีเรือนร่างผุดผ่อง ปราศจากรอยแตกลายตามเนื้อตัว หรือการที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมทำทุกอย่างตามอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีทีท่าขัดขืน ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ใครมีภาพจำหรือมีความคิดเกี่ยวกับเซ็กซ์ในโลกแห่งความจริงผิดเพี้ยนไป
อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหนังโป๊ปรากฏรัฐธรรมนูญ มาตรา 287 โดยระบุว่า “ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกสื่อลามก ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ” อีกทั้งยังระบุชัดเจนว่าสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ การครอบครองสื่อลามกถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อใดก็ตามที่ถูกนำไปส่งต่อ เผยแพร่ จำหน่าย นำเข้า ส่งออก จะมีความผิดทางอาญาตามมา
เมื่อการจำหน่ายเป็นความผิดทางอาญา จึงหมายความว่านอกจากกฎหมายจะปิดกั้นโอกาสของผู้ชมแล้ว ยังปิดกั้นโอกาสของผู้ผลิตด้วย เพราะหากว่ากันตามตรง ถ้าใจคนจะดู ก็คงหาทางดูได้ทุกทาง ไม่ว่าจะเสาะหาใน X (Twitter) สมัครดูใน Onlyfans หรือมุด VPN (Virtual Private Network) ตัวช่วยพิเศษในการเข้าดู Pornhub*
แต่สำหรับผู้ผลิตบางคนหรือบางคู่ การร่วมรักอาจกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ดังจะเห็นได้จากราคาขายคลิปในช่องทางต่างๆ ที่มีตั้งแต่ร้อยต้นๆ ไปจนถึงพันกว่าบาท และยังไม่รวมถึงการเสียโอกาสที่จะเกิดอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กลุ่มผู้ผลิตทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่สามารถผลิตและส่งออกงานอย่างถูกต้องเหมือนประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ที่ธุรกิจ ‘หนังสด’ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 32,000 ล้านบาท มากไปกว่านั้น การที่หนังโป๊ไม่ถูกจัดให้เป็นสิ่งถูกกฎหมายยังเปิดช่องให้ผู้ผลิตบางกลุ่มมีอำนาจเหนือกว่าคนหน้ากล้อง (หรือที่ปัจจุบันมักเรียกกันว่า Sex creator) อีกด้วย เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเรียกร้องค่าจ้างที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับการทำงานได้เลย เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับผู้ประกอบอาชีพในสายงานนี้เอาไว้ ทำให้อำนาจการต่อรองไม่ได้อยู่ที่คนหน้ากล้อง แต่ตกไปอยู่ที่คนหลังกล้องที่คอยคุมบังเหียนอยู่ต่างหาก
ดังนั้น ถ้าให้มองในภาพรวม ไม่ว่าจะต่อผู้บริโภคหรือผู้ผลิตเองก็ดี คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ “จะดีกว่าหรือไม่ถ้าหนังโป๊จะถูกกฎหมาย เมื่อคนทุกฝ่ายก็ได้ประโยชน์ในทางของพวกเขาเอง?”
* Pornhub คือเว็บไซต์หนังโป๊ชื่อดัง ปัจจุบันถูกรัฐบาลไทยปิดกั้นการเข้าชมเนื่องจากเว็บไซต์ดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478
เซ็กซ์ทอย: อุปกรณ์เสริมความซู่ซ่าที่เป็นมากกว่าเครื่องบำบัดกาม
ย้อนไปเมื่อช่วงปี 2018 เคยมีประเด็นที่ถูกพูดถึงในสังคมเป็นอย่างมากคือ กรณีที่ ‘สาลินี ชุมวรรณ’ ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เคยให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ ถึงประเด็นเรื่อง Sex toy ไว้ว่า
“วัฒนธรรมไทยยังเป็นเรื่องสงวน ยังต้องปกปิด การที่เราจะมีอารมณ์ทางเพศ ถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ เราก็สามารถยับยั้งชั่งใจได้ ไม่หมกมุ่น โดยการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น นั่งสมาธิ เล่นกีฬา ฯลฯ เพราะมีเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องบันเทิงรื่นรมย์ ยังมีคนส่วนมากที่เห็นด้วยว่า Sex Toy ผิดกฎหมายก็เหมือนกับการห้ามสูบบุหรี่ในบางที่ เขาถึงได้ออกกฎหมายตัวนี้ออกมา ถ้าอยากให้ Sex Toy ถูกกฎหมาย ต้องมีงานวิจัยรองรับ ถามว่ามีงานวิจัยทั่วโลกทำไมไม่ใช้? ก็เพราะบริบทมันต่างกัน”
ประโยคข้างต้นคือชุดความคิดของคนกลุ่มหนึ่งเมื่อหกปีก่อน ซึ่งแตกต่างจากทุกวันนี้ที่ทิศทางทัศนคติของคนในสังคมไทยต่อเรื่องเซ็กซ์เปลี่ยนไปในเชิงบวกมากขึ้น คนกล้าที่จะออกมาพูดถึงประสบการณ์เสียวของพวกเขามากขึ้น เห็นได้จากรายการต่างๆ ในโลกออนไลน์ที่เชิญแขกมาสัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้อย่างออกรสออกชาติ ทว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เซ็กซ์ทอยกลายเป็นที่ยอมรับหรือทำให้ถูกกฎหมายบ้างหรือยัง คำตอบก็คือ ‘ไม่’
ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเซ็กซ์ทอยอยู่ 2 ฉบับ โดยตีความว่าเซ็กซ์ทอยเป็น ‘วัตถุลามก’ เป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ได้แก่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 เช่นเดียวกับหนังโป๊ ถึงอย่างนั้น ทุกวันนี้ก็ยังมีการซื้อขายเซ็กซ์ทอยกันอย่างเปิดเผยในโลกออนไลน์
แม้กฎหมายและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะกล่าวโทษว่าแท่งหรรษาเป็นตัวการบ่อนทำลายคุณค่าและวิถีปฏิบัติที่งดงามของประเทศเมืองพุทธ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า ประโยชน์ของมันมีมากกว่าการเอาไว้แก้ความใคร่
จากการค้นหาข้อมูลพบว่า ข้อดีของการใช้เซ็กซ์ทอยมีตั้งแต่การ ‘เสริมสร้างความสนุกสนานและความผูกพันในความสัมพันธ์ของคู่รัก’ ดังที่อ้างถึงในวารสาร Archives of Sexual Behavior ที่ตีพิมพ์โดย Springer Nature และวารสาร Sexual and Relationship Therapy ตีพิมพ์โดย Taylor & Francis Group
ต่อมาคือ ‘ช่วยลดความเครียดและเสริมสุขภาพ’ เช่นที่ระบุในวารสาร Journal of Sex and Marital Therapy และ Journal of Psychology & Human Sexuality ตีพิมพ์โดย Taylor & Francis Group ซึ่งพบว่าการใช้เซ็กซ์ทอยสามารถช่วยลดความเครียดและเสริมสุขภาพในผู้หญิงที่มีปัญหาทางเพศได้ เนื่องจากการใช้เซ็กซ์ทอยช่วยลดระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ในขณะเดียวกันก็หลั่งฮอร์โมนที่ส่งผลดีต่ออารมณ์ เช่น เอนดอร์ฟิน (Endorphine) ซึ่งช่วยให้อารมณ์ดี มีความสุข และเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย และยังช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
อีกหนึ่งข้อคือดีของเซ็กซ์ทอยที่ Journal of Psychology & Human Sexuality ระบุคือ ‘เพิ่มความรู้สึกทางเพศและความมั่นใจในตัวเอง’ เพราะหลายครั้งที่ผู้หญิงมักกังวลเรื่องรูปลักษณ์ เช่นว่าตัวเอง อ้วนไป ผอมไป ขนเยอะไปหรือเปล่า อีกทั้งยังวิตกกังวลว่าจะทำให้คู่นอนพึงพอใจได้หรือไม่ จนทำให้สูญเสียความมั่นใจทั้งก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวชี้ว่าความรู้สึกเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหลังจากการช่วยตัวเองด้วยเซ็กซ์ทอย
ผู้เขียนมองว่าเซ็กซ์ทอยมีความสำคัญต่อใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะสำหรับคนที่เซียนในเรื่องอย่างว่า และใช้มันในฐานะสิ่งที่มาเติมเต็มความสุขในชีวิตคู่ หรือหน้าใหม่ที่ยังไม่เชื่อมั่นในท่วงท่าและลีลาของตัวเอง ที่นำมันมาใช้ในฐานะสิ่งเรียกคืนความมั่นใจและบรรเทาความอยาก
อย่างไรก็ตามหากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะมองว่า ประเทศเรามีสถานะเป็นเมืองพุทธ ผู้เขียนก็มองว่าเซ็กซ์ทอยนี่แหละ คือวัตถุที่ดำเนินตามแนวทางศาสนาพุทธโดยแท้ ดังที่อาจจะเคยได้ยินคำสอนอย่าง ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ ซึ่งในกรณีนี้ ก็เข้าข่ายตนพึ่งตนอยู่เหมือนกัน ในเมื่อซื้อเอง ช่วย (ตัว) เอง ฟินเอง จนชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่า “เหตุใดกันนะ การหาความสุขใส่ตัวเองในที่ลับตาคนจึงเป็นสิ่งที่กฎหมายมองว่ามีความผิด?”
แล้วจะต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าจะ (แก้กฎหมาย) ‘เสร็จ’?
หลังจากพยายามเสาะแสวงหาความคืบหน้าและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมายหลายมาตราที่กล่าวไปข้างต้นอยู่นาน ผู้เขียนก็พบว่า ตอนนี้รัฐบาลไทยยังไม่ส่งสัญญาณความคืบหน้ามาให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน หลายพรรคการเมืองทั้งพรรคเล็ก พรรคใหญ่ที่เคยชูนโยบายว่าจะทำให้อาชีพ Sex creator ถูกกฎหมาย ทำให้เซ็กซ์ทอยออกจากบัญชีสินค้าต้องห้าม กลับหายเข้ากลีบเมฆไปเลย
อาจเพราะมีนโยบายอื่นที่ต้องเร่งผลักดัน และมีเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งจัดการ แต่ในเมื่อเคยประกาศอย่างชัดเจนไว้แล้ว ย่อมมีประชาชนที่คาดหวังว่าจะได้เห็นข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลง และหากกฎหมายไทยยังคงกำหนดว่าสิ่งเหล่านี้มีเป็นความผิดด้วยฐานความคิดหลักศีลธรรมและความเชื่อ สิ่งที่จะโดนตั้งคำถามอาจจะไม่ใช่กรอบความเชื่อที่ล้าหลังเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะลามไปถึงตัวบทกฎหมายเองด้วย
รายการอ้างอิง
- คำ ผกา. (2018). Sex Toy ผิดกฎหมาย สังคมเสียอะไร: สิทธิที่จะไปถึงจุดสุดยอด. สืบค้นจาก https://thestandard.co/sex-toy-illegal/
- ชู “ตุ๊กตายาง”หาเสียง เปิดนโยบาย “เซ็กส์ทอย” รายพรรค. (2023) สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/thailand-elections/election-monitor/563518#google_vignette
- รู้จัก อุตสาหกรรม AV ของญี่ปุ่น. (2021). สืบค้นจาก https://www.longtunman.com/31442
- Note. From: Genital vibration for sexual function and enhancement: best practice recommendations for choosing and safely using a vibrator,” by Rullo, J. E., Lorenz, T., Ziegelmann, M. J., Meihofer, L., Herbenick, D., & Faubion, S. S., 2018, Sexual and Relationship Therapy, 33(3), p. 275-285.
- Note. From: The Role of Masturbation in Healthy Sexual Development: Perceptions of Young Adults,” by Kaestle C. E., Allen K. R., 2011, Archives of Sexual Behavior, 40, p. 983-994.
- MARIDEL REYES, MELISSA MATTHEWS, RO WHITE. (2023). 10 Incredible Health Benefits to Masturbation. สืบค้นจาก https://www.menshealth.com/sex-women/a19534050/5-reasons-you-should-masturbate-tonight/
- Note. From: Masturbation as a Means of Achieving Sexual Health,” by Coleman E., 2008, Journal of Psychology & Human Sexuality, 14(2-3), p. 5-16.
- Note. From: Masturbation in the United States,” by Das A., 2007, Journal of Sex & Marital Therapy, 33(4), p. 301-317.
- Note. From: Patterns of Masturbatory Behaviour: Changes Between the Sixties and the Nineties,” by Dekker A., & Schmidt G., 2007, Journal of Psychology & Human Sexuality, 14(2-3), p. 35-48.
- Sutthipath Kanittakul. (2021). หนังโป๊ต้องลามกไหม? ทำความเข้าใจกฎหมายควบคุมสื่อลามกและหนังผู้ใหญ่ของแต่ละประเทศ. สืบค้นจาก https://thematter.co/quick-bite/quickbite-compare-obscenity-law/161005
- Note. From: Why and How Women Masturbate, and the Relationship to Orgasmic Response,” by Rowland D. L., Kolba T. N., McNabney S. M., Uribe D., & Hevesi K., 2020, Journal of Sex & Marital Therapy, 46(4), p. 361-376.