Art & CultureWritings

Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time (2021) ลาก่อนเหล่า Evangelion ทั้งหลาย

ผู้เขียน: ปิยะพร สาวิสิทธิ์

22 พฤษภาคม คือวันเกิดของ ‘ฮิเดอากิ อันโนะ (Hideaki Anno)’ บุคคลสำคัญที่คอยสร้างสรรค์อยู่เบื้องหลังวงการบันเทิงของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ผลงานของอันโนะนั้นนับว่าให้คุณอย่างมหาศาลต่อทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงทำให้ผู้ชมสะท้อนและพิจารณาตนเองอีกด้วย

อันโนะมีผลงานหลายอย่าง ตั้งแต่การกำกับภาพยนตร์ ไปจนถึงการพากย์เสียงอนิเมะ แต่ผลงานที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องอย่างเป็นปรากฏการณ์ คือการเป็นผู้ให้กำเนิดเฟรนไชส์อนิเมะระดับตำนานอย่าง ‘Evangelion’

Evangelion นั้นสามารถแบ่งได้ 2 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรก (เก่า) นั้น ประกอบไปด้วย Neon Genesis Evangelion (1995) ที่ถูกฉายครั้งแรกในปี 1995 รูปแบบทีวีซีรีส์ 26 ตอน แต่ด้วยฉากจบชวนงง ที่บ้างก็ลือกันว่าเป็นงานเผา เพราะผู้กำกับอันโนะปั่นงานไม่ทัน จึงได้เกิดกระแสเรียกร้องจากคนดูอย่างมากจนถึงขั้นมีคนส่งจดหมายขู่ฆ่าผู้กำกับ ทำให้อันโนะต้องทำภาคต่อที่เป็นภาพยนตร์อนิเมะซึ่งเป็นภาคจบ โดยใช้ชื่อว่า The End of Evangelion (1997) เมื่อจบจากงานนี้แล้ว อันโนะก็หันไปทำอนิเมะเรื่องอื่นๆ อยู่บ้าง จนในที่สุดปี 2006 เขาได้ตัดสินใจสร้างสตูดิโอของตัวเองชื่อ Khara Inc. และได้นำ Evangelion มานำเสนอใหม่ในรูปแบบหนังที่ถูกเล่าผ่านมุมมองใหม่ๆ ของผู้กำกับ ทำให้แตกต่างจากเวอร์ชันเก่า โดยใช้ชื่อสำหรับเวอร์ชันใหม่นี้ว่า Rebuild of Evangelion อันประกอบไปด้วยภาพยนตร์อนิเมะ 4 เรื่อง ดังนี้

  • Evangelion: 1.0 You Are (Not) Alone (2007)
  • Evangelion: 2.0 You Can (Not) Advance (2009)
  • Evangelion: 3.0 You Are (Not) Alone (2012)
  • Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time (2021)

เฟรนไชส์ชุดนี้นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตำนานของวงการอนิเมะ ที่หากมองแบบผิวเผินก็คงคิดว่าเป็นเพียงอนิเมะโชเน็นที่สร้างมาเพื่อเติมเต็มความมุ่งมั่นให้กับเด็กๆ ว่าด้วยเรื่องเด็กชายอายุ 14 ขับหุ่นยนต์กู้โลก แต่สิ่งที่ทำให้ Evangelion ต่างจากอนิเมะโชเน็นเรื่องอื่น ก็คงเป็นเรื่องความล้ำสมัยขององค์ประกอบไซไฟที่ไม่เคยมีคนทำในยุคนั้น การใช้สัญญะของศาสนาในการตีความ เช่น การเรียกหุ่นยนต์ว่าเอวา ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้หญิงคนแรกตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ เรียกมนุษย์ต่างดาวว่าเทวทูต ซึ่งเป็นผู้ส่งสารของพระเจ้า รวมถึงยังมีการนำเสนอเรื่องราวในมุมมองปรัชญา การหาคำตอบของการมีชีวิตอยู่ ไปถึงการใช้แนวคิดทางจิตวิทยาที่สื่อให้เห็นถึงจิตใจของตัวละคร

สิ่งที่ค้นพบเมื่อดู Evangelion จบทั้งสองเวอร์ชัน คือ The End of Evangelion (1995) และ Rebuild of Evangelion (2007-2021) เรื่องราวที่ปรากฏไม่ใช่เพียงแค่หุ่นยนต์สู้กัน หากแต่เป็นการนำเสนอสภาพจิตใจของเด็กวัย 14 ที่ต้องรับภาระในการปกป้องโลก ปัญหาครอบครัวของชินจิ การแสวงหาความรัก และเหตุผลในการมีชีวิต ทั้งนี้ หลายคนอาจกล่าวว่า Evangelion เป็นอนิเมะที่สะท้อนภาพของอันโนะ ที่เห็นได้ชัดว่าเขาใช้ชินจิเป็นตัวแทนของตนเองในการนำเสนอปัญหาด้านจิตใจที่เขาต้องเผชิญ กล่าวคือ นอกจากเราจะได้เห็นการเติบโตของตัวละครชินจิแล้ว เรายังได้เห็นการเติบโตของอันโนะผ่านบทสรุปในภาคจบของทั้งสองเวอร์ชันอีกด้วย

*เนื้อหาต่อไปนี้มีการสปอยล์*

(จากชินจิในวันนั้น) บทสรุปเวอร์ชัน The End of Evangelion (1997)

หลังจากที่ทีวีซีรีส์ 26 ตอนในปี 1995 จบไปด้วยเนื้อหาที่เป็นนามธรรมยากที่จะเข้าใจ จนอาจพูดได้ว่าเหล่าแฟนๆ เอวาแทบจะไม่มีใครเข้าใจสักคน จนอันโนะต้องสร้างภาพยนตร์อนิเมะ The End of Evangelion (1997) ขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นเนื้อเรื่องในภาคนี้ก็ไม่ได้คลายความคลุมเครือของเนื้อเรื่องมากนัก เรียกได้ว่าทำได้เพียง ‘ลดความสงสัย’ ของคนดูลง

โดยหลังจากเกิดพิธีกรรมที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพิพากษาหรือ ‘Third Impact’ เพื่อดำเนิน ‘แผนพัฒนามนุษยชาติ’ ทำให้ชินจิที่กำลังขับหุ่นเอวา 01 นั้น มีสถานะเทียบเท่าพระเจ้า มีอำนาจในการตัดสินอนาคตของมนุษยชาติว่าควรดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ ชินจิที่สภาพจิตใจแตกสลายอย่างสมบูรณ์ ทั้งจากภาระที่เขาต้องแบกรับ ความห่างเหินจากพ่อ รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดก็คงเป็นความรัก การยอมรับ และการโอบกอด ทำให้เด็กชายผู้โดดเดี่ยวตัดสินใจสำเร็จพิธีกรรมด้วยการทำให้ทุกคนกลายเป็น ‘น้ำส้ม’ หรือของเหลวที่บรรจุ ‘จิตสำนึก’ ของบุคคล ที่เรียกว่า LCL ไหลรวมกันจนกลายเป็นทะเลที่บรรจุจิตสำนึกของมนุษยชาติทั้งโลก กล่าวได้ว่าการก้าวพ้นปัญหาของชินจิ คือการลบล้างตัวตนของทุกคน ทำให้ไม่ต้องมีการแบ่งแยก และมีใครต้องพานพบกับความโดดเดี่ยวอีกต่อไป

(สู่ชินจิในวันนี้) บทสรุปเวอร์ชัน Rebuild กับ Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time (2021) 

หลังจากปี 2012 ที่ผู้กำกับได้หยุดการสานต่อเนื้อเรื่องของเวอร์ชัน Rebuild โดยเขาได้เผยว่าตนประสบภาวะ ‘ตัน’ หาทางลงไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะจบมหากาพย์ Evangelion นี้ยังไงดี จนทำให้เขาเกิดภาวะซึมเศร้า ในที่สุดปี 2021 ภาคจบของทั้งเวอร์ชัน Rebuild อันเป็นการจบจักรวาล Evangelion อย่างสมบูรณ์ก็เกิดขึ้น โดยนับว่าจบได้อย่างสวยงาม ด้วยการก้าวข้ามปัญหาและการเติบโตของเหล่าตัวละคร รวมถึงตัวผู้กำกับเอง

สถานการณ์เดียวกันกับตอนจบของเวอร์ชันทีวีซีรีส์ ที่เนื้อเรื่องดำเนินมาถึงจุดที่เข้าใกล้ Third Impact ในช่วงเวลาของพิธีกรรม ชินจิได้พูดคุยและทำความเข้าใจกับพ่อผู้ซึ่งเคยทอดทิ้งเขา รวมถึงตัวละครอื่นๆ ทำให้เขาได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีชีวิต และการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก

จนในที่สุดชินจิผู้เรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกนี้ต่อไป ตัดสินใจรีเซ็ตให้โลกนี้ไม่มีหุ่นยนต์ที่เรียกว่า Evangelion ทำให้ทุกคนกลับสู่การดำเนินชีวิตปกติ บรรยากาศสถานีรถไฟของเมืองยามากุจิซึ่งเป็นบ้านเกิดของอันโนะ ถูกนำเป็นฉากจบที่แสนเรียบง่ายแต่เคล้าไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย พร้อมประโยคที่ลึกซึ้งอย่าง “ไปกันเถอะ” พร้อมการจับจูงมือกันของชินจิ และ ‘มาริ’ ผู้ซึ่งถูกคนดูตีความว่าเป็นตัวแทนของภรรยาของอันโนะและคนที่คอยอยู่เคียงข้างเขาในเวลาที่ยากลำบาก

ไม่ใช่เพียงแค่ชินจิที่หลุดพ้นจากคำสาป Evangelion วังวนแห่งสภาวะซึมเศร้าและจิตใจที่แหลกสลายตลอด 25 ปี แต่ยังรวมไปถึงตัวผู้กำกับอย่าง ฮิเดอากิ อันโนะ ที่ได้สะท้อนภาพตนเองผ่านอิคาริ ชินจิ ด้วย

ไม่แน่ว่าภาคจบอันสวยงามนี้อาจจะเป็นข้อความจากผู้กำกับถึงคนดูอย่างเราๆ ที่พยายามบอกว่า ทั้งตัวเขาและชินจิต่างก็ก้าวข้ามจุดที่แตกสลายนั้นมาแล้ว เหล่าคนดูทั้งที่ร่วมแบ่งปันช่วงเวลายากลำบากกับชินจิมาตลาด 25 ปี หรือคนที่ติดตามภายหลัง ขอให้ทุกคนเชื่อว่าตนเองสมควรได้รับความสุข ก้าวออกจากความทุกข์นี้ และเติบโตอย่างสวยงามเหมือนอย่างอันโนะและชินจิ

“ลาก่อน เหล่า Evangelion ทั้งหลาย”

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Writings

เส้นทางการตกแฟนบอยของนายแบคฮยอน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง League of Legend หรือ LOL คือเกมออนไลน์ไม่กี่เกมที่ผมยังคงเล่นอยู่ในปัจจุบัน หากเราเล่นกับเพื่อน มันจะเป็นเกมที่สนุกมาก แต่หากเล่นคนเดียว มันอาจจะเหมือนกับการตกนรกทั้งเป็น ด้วยความที่เป็นเกมสไตล์ ...

chinese opera 2024 Writings

ส่องหลังม่านการแสดงงิ้ว โลกหลังเวทีของเหล่า ‘คนแปลกหน้า’

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นอกจากอากาศที่ร้อนระอุในเดือนเมษายน และต้นข้าวในท้องนาริมถนนที่ถูกเก็บเกี่ยว การเดินทางกลับบ้านในช่วงวันหยุดยาวครั้งนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ฉันตั้งตารอ  . ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม’ ริมแม่น้ำบางปะกงได้รับการบูรณะในปี 2560 และในทุกๆ ปี ศาลเจ้าจะจัดการแสดงงิ้ว ...

Writings

ซีรีส์และภาพยนตร์เลสเบียน 4 เรื่อง ที่หาดูยาก แต่อยากชวนดู

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ . “Do you have a steady boyfriend?”“No.”“What kind of fella would ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save