เรื่อง : ชวิน ชองกูเลีย และ ปิยะพร สาวิสิทธิ์
ภาพ : ชวิน ชองกูเลีย, ปิยะพร สาวิสิทธิ์ และ วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
…ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์
บทเพลง ‘จากภูพานถึงลานโพธิ์’ ประพันธ์โดย ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ หนึ่งในวีรชน 6 ตุลา ผู้อุทิศตนให้กับงานประพันธ์เพื่อขับเคลื่อนอุดมการณ์ของเหล่าคนที่ไม่จำนนต่ออำนาจรัฐ
อาจเงียบหงอย
ก็เพียงช่วงรอคอยสู่วันใหม่
วันกองทัพ ประชาชนประกาศชัย
จะกลับไป
กรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์
เนื้อเพลงได้กล่าวถึงความยะเยือกไร้ชีวิตของลานโพธิ์ภายหลังจากการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยเพลงนี้ถูกแต่งขึ้นตั้งแต่ช่วงที่วัฒน์ วรรลยางกูร ต้องหลบหนีเข้าป่าในช่วงปีพ.ศ. 2519 – 2525
และแล้ว วันที่ 6 ตุลาคม ก็เวียนกลับมาอีกครั้งในปีพ.ศ. 2567 หากนับตั้งแต่วันอันโหดร้ายวันนั้น ก็ล่วงเลยมาถึง 48 ปีแล้ว ธรรมศาสตร์และลานโพธิ์จะยังคงเงียบเหงาเหมือนเคยอยู่หรือไม่?
งาน ‘48 ปี 6 ตุลา : กว่าจะเป็นประชาธิปไตย’ เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 6.00 น. ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ สถานที่แห่งเดิมซึ่งเคยเกิดเหตุสังหารหมู่ที่ร้ายแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนก็เริ่มหนาตาขึ้น ทั้งเหล่านักศึกษา นักการเมือง ผู้บริหาร นักกิจกรรม ญาติของผู้เสียชีวิต และบุคคลทั่วไปที่กำลังดำเนินชีวิตตามปกติ
สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือหนึ่งในสถานที่เกิดเหตุ ที่รัฐได้ใช้อำนาจพรากความเป็นมนุษย์ไปจากผู้ร่วมชุมนุม โดยมีการจัดแสดงภาพความโหดร้ายเหล่านั้ันไว้ ณ สถานที่เกิดเหตุจริง ซึ่งภาพที่ปรากฏนั้นช่างเงียบเหงาขัดแย้งกับบรรยากาศบริเวณหน้างาน
ในวันเกิดเหตุ ลานโพธิ์เต็มไปด้วยความโกลาหลและความรุนแรง ต่างจากลานโพธิ์ในวันนี้ที่ดูสงบ ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือบาดแผลที่ทิ้งไว้และความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น
วันเวลาผ่านไป เมื่อประวัติศาสตร์ถูกผู้มีอำนาจฝังกลบ ‘ความสงบ’ คือข้อเหตุผลที่ถูกนำมาใช้ลบล้าง ‘ความรุนแรง’ จนประเด็นเดือนตุลาไม่ได้รับการจัดระเบียบทางประวัติศาสตร์ไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้หลายครั้งเรากังขาในตนเองว่า ‘ถ้าเราไม่ใช่นักศึกษาธรรมศาสตร์ เราจะยังสนใจประเด็นนี้อยู่ไหม?’
แม้ข้อกังขานั้นจะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้ คือประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยผู้ชนะหรือผู้มีอำนาจนั้น อาจไม่ได้ถูกต้องเสมอ เช่นเดียวกับ ‘ความรุนแรง’ ที่ผู้มีอำนาจพยายามลบเลือนนั้นไม่อาจขัดขวางอุดมการณ์ของผู้พ่ายแพ้ในวันนั้นได้ ผู้เข้าร่วมงานรำลึกมีทั้งผู้เคยอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา บางคนอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ของการเมืองไทย แต่สิ่งที่ทุกคนต่างตามหานั้นเหมือนกัน คือ ‘ความยุติธรรม’ แม้ระยะเวลาออกตามหาจะยาวไกลจนไม่รู้จุดสิ้นสุด
ทั้งนี้ยังรวมไปถึงผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยซึ่งถูกคุกคามโดยผู้มีอำนาจจนไม่มีโอกาสได้เห็นวันที่ประวัติศาสตร์ถูกชำระ แต่การกระทำเหล่านั้นก็ได้สร้างพื้นฐานความคิดและอุดมการณ์ให้กับคนรุ่นหลัง
อย่างที่กล่าวไปว่าความรุนแรงอาจถูกลบเลือนไปตามเจตจำนงของผู้มีอำนาจและกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นโดยไร้ความยุติธรรมนั้น ไม่อาจปิดได้สนิท สุดท้ายแล้ว เหล่าคนรุ่นหลังที่นิยามตนว่าเป็นเสรีชนประชาธิปไตยเฉกเช่นเดียวกับวีรชนเดือนตุลา ก็ควรจะร่วมทวงคืนประวัติศาสตร์ ทวงคืนความยุติธรรม เพื่อไม่ให้โศกนาฏกรรมทางการเมืองอุบัติขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทย