เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ และ สิทธิเดช สายพัทลุง
ภาพประกอบโดย : สิทธิเดช สายพัทลุง

ชุมนุม TU Folksong โต้กรณีรับคนนอกมหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกชุมนุม ชี้ทางชุมนุมดำเนินการตามระเบียบชุมนุมที่สภาฯ อนุมัติแล้ว พร้อมกล่าวว่าการรับสมาชิกนอกมหาวิทยาลัยจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนในและคนนอก ด้านกรรมการฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมชี้ อมธ.กำลังดำเนินการส่งเรื่องให้รองฝ่ายการนิติการฯ วินิจฉัย พร้อมระบุ ไม่สามารถใช้ชื่อสมาชิกนอกมหาวิทยาลัยเบิกจ่ายงบได้ แต่อาจทำให้สมาชิกในมหาวิทยาลัยเสียพื้นที่ในการทำกิจกรรม
จากกรณีที่ชุมนุม TU Folksong ประกาศรายชื่อรับสมาชิกชุมนุมเป็นบุคคลนอกมหาวิทยาลัย จนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างนั้น
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ตัวแทนจากชุมนุม TU Folksong กล่าวว่า ทางชุมนุมมีระเบียบชุมนุมปี 2567 ที่ยื่นเสนอต่อสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สน.มธ.) และได้รับการอนุมัติแล้วในปีที่ผ่านมา โดยชุมนุมในปี 2567 มีนโยบายว่าสัดส่วนการรับสมาชิกคือ ไม่รับสมาชิกจากนอกมหาวิทยาลัยเกินร้อยละ 30 ทั้งนี้สมาชิกนอกมหาวิทยาลัยมีสิทธิ์และหน้าที่เหมือนกับสมาชิกที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ยกเว้นการลงคะแนนเลือกประธานชุมนุม การลงชื่อในที่ประชุมใหญ่ การถอดถอนกรรมการชุมนุม การยุบชุมนุม และการเป็นคณะกรรมการในชุมนุม
ตัวแทนจากชุมนุม TU Folksong กล่าวต่ออีกว่า ในระเบียบชุมนุมนิยามคำว่าชุมนุมไว้ว่าเป็นการรวมตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นมาเป็นสมาชิกของชุมนุมด้วยก็อาจจะถือเป็นความผิดในข้อบังคับนี้ แต่ทางสภานักศึกษาอนุมัติแล้ว ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ที่มาจนถึงตรงนี้ ถือว่าทางชุมนุมได้ดำเนินการตามที่สภาอนุมัติ แต่ถ้าหลังจากนี้มีรองอธิการบดีบอกว่าการทำเช่นนี้ถือเป็นการผิดระเบียบ ก็จะนำไปแก้ไข
“ชุมนุมเรามีสมาชิกในมหาวิทยาลัยที่ยังทำงานอยู่ 213 คน งบที่ได้มาปีที่แล้วประมาณ 520,000 บาท หารรายหัวตกคนละประมาณ 2,400 บาท ตอนเรายื่นของบ เรายื่นแค่จำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่ตอนใช้ เราขอเอางบก้อนนี้ไปใช้กับคนอื่นด้วยได้ไหม คือทุกอย่างมันเสียเท่าเดิมแต่มันมีโอกาสที่จะเกิดประโยชน์มากขึ้น เราไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับสมาชิกจากมหาวิทยาลัยอื่นและพวกเขาก็จะได้เข้ามาช่วยสมาชิกใน มธ. ด้วย” ตัวแทนจากชุมนุม TU Folksong กล่าวและว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นและยังส่งต่อไปยังวงดนตรีอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย
พิมลรัตน์ นันทะหมุด กรรมการฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายในสังกัดองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต (อมธ. รังสิต) และเป็นผู้ประสานงานกับชุมนุม TU Folksong กล่าวว่าในระเบียบของชุมนุม TU Folksong นั้นระบุไว้ว่า สมาชิกชุมนุมนั้นมี 2 ประเภท คือ สมาชิกที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกสมทบอย่างไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ ทาง อมธ. กำลังดำเนินการส่งเรื่องให้รองฝ่ายการนิติการฯ วินิจฉัยในกรณีนี้ ทั้งนี้ สมาชิกนอกมหาวิทยาลัยจะไม่ได้รับสิทธิ์ในการลงมติต่อประเด็นต่างๆ หรือการใช้รายชื่อเบิกจ่ายงบใดๆ แต่อาจทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเสียพื้นที่ในการทำกิจกรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการคัดเลือกรับสมาชิกชุมนุมในปี 2024 ของชุมนุม TU Folksong มีการรับสมาชิกใหม่ทั้งหมด 110 คน เป็นสมาชิกในมหาวิทยาลัย 77 คน คิดเป็นร้อยละ 77 และสมาชิกนอกมหาวิทยาลัย 33 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ทั้งนี้ สมาชิกในชุมนุมที่ยังทำงานมีทั้งหมด 285 คน เป็นสมาชิกในมหาวิทยาลัย 213 คน คิดเป็นร้อยละ 74.7 และเป็นสมาชิกนอกมหาวิทยาลัย 72 คน คิดเป็นร้อยละ 25.2