Art & CultureArticlesSocietyWritings

The substance: การฉายซ้ำของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการติดหล่มความงาม มองข้ามความจริง และ Ageism ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี

ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร

“You were amazing”

“เธอ ‘เคย’ ยอดเยี่ยม” คือคำเขียนในการ์ดที่ถูกแนบมาพร้อมดอกไม้ช่อโต เพื่อมอบให้แก่ ‘Elisabeth Sparkle’ อดีตดาราดาวรุ่งวัย 50 ปี  ที่ถูกธรรมชาติของร่างกายพรากสิ่งที่อาชีพของเธอจำเป็นต้องใช้มากที่สุดคือ ‘ความสวย’ (ตามมาตรฐานสังคม) เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าเวลาและพื้นที่บนจอแก้วของเธอนั้นได้หมดลงแล้ว 

‘The Substance สวยสลับร่าง’ (2024) ภาพยนตร์แนว satirical body horror (หนังสยองทางร่างกาย) การันตีด้วยรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด ผลงานการเขียนบทและกำกับโดย ‘Coralie Fargeat’ ผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส เจ้าของผลงานภาพยนตร์ action thriller บ้าระห่ำ อย่าง ‘Revenge’ (2017) ที่ได้นักแสดงหญิงแห่งยุค 90 ที่เคยฝากฝีมือในภาพยนตร์สุดคลาสสิกหลายเรื่อง อาทิ ‘Ghost’ (1990), ‘G.I Jane’ (1996) อย่าง Demi Moore มารับบท Elisabeth Sparkle อดีตดาราและพิธีกรรายการสอนเต้นแอโรบิกชื่อดัง ที่ปัจจุบันเส้นทางอาชีพกำลังจะจบลง จนต้องยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้กลับมาโลดแล่นในวงการอีกครั้ง และ Magaret Qualley นักแสดงหญิงดาวรุ่งจาก ‘Once upon a time… in Hollywood’ (2019), ‘Poor Thing’ (2023) มารับบท Sue สาวสวยสะพรั่งที่ถูกสร้างขึ้นจากความเจ็บปวดของ Elisabeth ร่วมด้วย Dennise Quaid นักแสดงชายเจ้าของบทคุณพ่อผู้อบอุ่นจากเรื่อง ‘The Parent Trap’ (1998) ที่ครั้งนี้พลิกมารับบท Harvey ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ที่มองผู้หญิงเป็นเพียงแค่เครื่องมือทำเงิน

ขอบคุณภาพจาก Gerardo Cedillo

‘The Substance’ บอกเล่าผ่านตัวละคร Elisabeth Sparkle อดีตดาราสาวดาวรุ่งที่กำลังตกอยู่ในสภาวะเสียใจ หลังจากที่ได้ยินว่า Harvey กำลังจะหาสาวหน้าสวยขึ้นกล้องคนใหม่มาแทนที่เธอและรายการสอนเต้นแอโรบิกของเธอด้วยความจริงในปัจจุบันอันปฏิเสธไม่ได้ว่า เธอเป็นเพียงผู้หญิงวัย 50 ที่ไม่เป็นที่ยอมรับในวงการ และเส้นทางอาชีพของเธอกำลังจะถึงทางตันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ไม่ว่าอะไรก็ตาม ที่จะสามารถช่วยให้เธอได้กลับไปอยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลต์และเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมอีกครั้ง ผ่านเข้ามา เธอก็เลือกจะคว้ามันไว้ทันที โดยไม่สนว่าผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอใช้ ‘สารอมฤต’ (The substance) น้ำยาสีเขียวนีออนในหลอดขนาดเล็กที่เคลมว่า “สามารถปลดปล่อยตัวเธอในเวอร์ชันที่ดีกว่าออกมาได้” ภายใต้เงื่อนไขการใช้งานว่า ร่างเก่าและร่างใหม่ต้องผลัดกันใช้ชีวิตคนละ 7 วัน เพื่อรักษาสมดุลร่างกายให้คงอยู่ และอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญของการสร้างร่างใหม่ครั้งนี้เลยก็คือ “พวกคุณเป็นหนึ่งเดียวกัน คุณหนีจากตัวเองไม่ได้”

หลังจาก Elisabeth ได้ฉีดสารอมฤตเข้าไป ภาพก็ตัดไปเล่าที่ตัวละคร Sue มนุษย์เพศหญิงที่เพิ่งเกิดใหม่แต่ร่างกายโตเต็มวัยแบบสาว 20 ต้นๆ ที่มาพร้อมความงามตามมาตรฐาน ซึ่งสังคมกำหนดไว้อย่างตื้นเขิน หน้าสวยใสไร้ตีนกา หุ่นผอมเพรียวเรียวบางราวกับไม่มีชั้นไขมันหลงเหลืออยู่ภายใต้ผิวหนังที่เนียนนุ่มปราศจากริ้วรอย

อย่างไรก็ตาม เมื่อ Sue ได้ออกมาใช้ชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยความต้องการของ Elisabeth ผู้ซึ่งไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกครั้งแน่หากไม่ใช้ร่างของ Sue ทำให้เราได้เห็นชีวิตในร่างใหม่ของเธอที่เต็มไปด้วยความอิสระ และความสุขที่ได้เป็นที่ยอมรับอีกครั้ง จนผลักให้เธอยอมทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตแบบนี้เอาไว้ให้นานที่สุด ถึงขั้นท้าทายกฎการแบ่งเวลาและหลงลืมไปว่าทั้งสองร่างควรจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ขอบคุณภาพจาก Vanityfairfrance

Elisabeth และ Sue กับความหดหู่ในชีวิตผู้หญิง

หลังได้ใช้เวลา 140 นาที ไปกับภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ่งที่ผู้เขียนได้เห็นนอกเหนือจากความดิบ ความเรียล และความสยดสยองระดับที่ดูไปปิดตาไป คือความพยายามในการถ่ายทอดความเป็นจริงที่น่าเจ็บปวดของสังคม ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานความงามที่บังคับให้มนุษย์ธรรมดาโดยเฉพาะเพศหญิง ตกเป็นเหยื่อที่ต้องหาทางเอาตัวรอด จากการตราหน้าว่าไร้คุณค่าและถูกปฏิเสธการยอมรับเพียงเพราะไม่ตรงตามกรอบบางอย่างที่สังคมกำหนด

จากความพยายามของ Elisabeth ในการบีบตัวเองให้เข้าไปอยู่ในกรอบมาตรฐานความงามที่ฝืนธรรมชาติของวงการบันเทิง ด้วยการใช้สารอมฤตสร้าง Sue ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนให้เธอฝากความหวังในการกลับไปมีชีวิตแบบที่เคยเป็นได้อีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน หนังเรื่องนี้ก็ชวนให้ฉุกคิดว่า มาตรฐานความงามส่งผลต่อการยอมรับตัวตนของผู้หญิงอยู่ไม่น้อย อย่างช่วงต้นเรื่องที่ฉายภาพ Elisabeth ในวัย 50 ปี ในชุดผ้าสแปนเด็กซ์รัดรูป กำลังสอนเต้นแอโรบิกด้วยเรี่ยวแรงเหลือล้น นั่นก็แทบจะไม่เหมือนภาพจำของผู้หญิงอายุครึ่งร้อยธรรมดาทั่วไปอยู่แล้ว เพราะภาพของผู้หญิงวัยเลขห้าในวงการที่ถูกเสนอให้เห็นส่วนใหญ่ ไม่รับบทแม่ไปเลย ก็รับงานโฆษณาน้ำยาปิดหงอกไปแล้ว  แต่เธอกลับไม่ได้เห็นตัวเองเป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากที่เธอได้เห็น Sue ซึ่งเป็นเหมือนภาพแทนความงามแบบที่สังคมปัจจุบันนิยม เธอก็รู้ทันทีว่า ต่อให้เธอพยายามแต่งตัวสวยมากแค่ไหน หุ่นดีมากเท่าไหร่ เธอก็จะไม่มีวันเป็นเหมือน Sue ได้ จนทำให้เราได้เห็นฉากที่เธอมองตัวเองในกระจก ด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความรังเกียจ ดูถูก และด้อยค่าชีวิตตัวเอง

ขอบคุณภาพจาก filminquiry

ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า ในชีวิตผู้หญิงหลายคน อย่างน้อยต้องมีสักหนึ่งครั้ง ที่มองภาพตัวเองสะท้อนผ่านกระจกด้วยสายตาใจร้ายเช่นนั้น เพียงเพราะรู้สึกว่าคุณไม่ใช่สิ่งที่คุณอยากเป็น และไม่ใช่สิ่งที่สังคมบอกให้คุณเป็น

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ทุกคนก็เป็นแค่มนุษย์ธรรมดา เกิดมาก็ดับไป จากสวยสาวก็กลายเป็นแห้งเหี่ยวโรยราไปตามธรรมชาติ แต่เพราะมาตรฐานที่น่ากลัวของสังคม ไม่อนุญาตให้คุณเป็นเช่นนั้น คุณจึงทำได้เพียงพยายามฆ่า Elisabeth ในตัวคุณ และแทนที่ด้วย Sue แต่ไม่ว่าปลิดชีพสักกี่ครั้ง คุณก็ไม่มีวันหนีจากความจริงที่ว่า

 “คุณคือหนึ่งเดียวกัน คุณหนีจากตัวเองไม่ได้” ไปได้อยู่ดี

ภาพฉายซ้ำและความชอกช้ำของคนหน้ากล้อง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฮอลลีวูดผลิตภาพยนตร์สไตล์นี้ฉายสู่จอเงิน เพราะเมื่อได้ดูเรื่องนี้ก็ชวนให้ผู้เขียนนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ฉายเมื่อ 32 ปีก่อน อย่าง ‘Death becomes her’ (1992) ภาพยนตร์แนวแฟนตาซีตลกร้าย ผลงานจากผู้กำกับภาพยนตร์คลาสสิกตลอดกาล ‘Forest Gump’ (1994) อย่าง Robert Zemeckis และได้นักแสดงระดับแม่เหล็กอย่าง Meryl Streep ในบท Madeline Ashton และ Goldie Hawn ในบท Helen Sharp

ขอบคุณภาพจาก mythicwall

เนื้อเรื่องว่าด้วย ผู้หญิงสองคนที่ถูกปฏิเสธคุณค่า เพียงเพราะพวกเธอไม่เป็นไปตามความคาดหวังของคนบางกลุ่มในสังคม Helen ผู้หญิงที่ไม่สวยแบบที่คนรักของเธอคาดหวัง จนเขานอกใจไปหาอดีตเพื่อนรักของเธออย่าง Madeline ซึ่งก็เป็นตัวละครที่กำลังมีปัญหาอยู่เช่นกัน เพราะเธอกำลังอยู่ในช่วงขาลงของอาชีพนักแสดง  จนทำให้เธอทั้งคู่ต้องหันหน้าไปพึ่ง ‘น้ำยาอมฤตสีม่วง’ เพื่อให้กลับไปสาวสวยสะพรั่งและเป็นอมตะตลอดไป ด้วยความหวังจะเป็นที่ยอมรับจากสังคมที่ให้คุณค่าผู้หญิงแค่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกอีกครั้ง

แม้เนื้อเรื่องจะคล้ายคลึงกันแต่ความแตกต่างอยู่ที่การเล่าเรื่อง เรื่องเก่าอย่าง Death becomes her พยายามถ่ายทอดความจริงด้วยความขบขัน ในขณะที่เรื่องใหม่อย่าง The substance พยายามถ่ายทอดด้วยเลนส์ที่จริงจังและชวนขนลุก

ทว่าสิ่งที่เหมือนกันอย่างน่ากังวลคือ โครงเรื่องเดิมที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี เรื่องราวของผู้หญิงที่ต้องตะเกียกตะกายจากสังคมที่บูชาความงามเหนือสิ่งใด ยังคงถูกนำกลับมาเล่าซ้ำๆ

จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรือแท้จริงแล้ว สังคมของเราไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักและเรื่อง ageism หรืออคติทางอายุยังคงมีอยู่ในสังคมและวงการบันเทิง

สองนักแสดงหลักจากภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง เคยออกมาพูดถึงประเด็นนี้เช่นกัน แม้เหตุการณ์ของทั้งสองจะต่างช่วงเวลา แต่มันก็มากพอที่จะสะท้อนความจริงที่น่าหดหู่ได้ว่า ไม่ว่าจะยุคไหน เส้นทางอาชีพของพวกเธอไม่ได้โอบรับความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของพวกเธอ และพยายามเขี่ยพวกเธอให้หลุดจากบทตัวหลักทันทีเมื่อถึงเวลาที่ (พวกเขาคิดว่า) สมควร

Meryl Streep นักแสดงวัย 75 ปี เจ้าของออสการ์ 3 รางวัล ที่ในช่วงพีคของอาชีพเธอในวัยประมาณ 20 ถึง 30 ปี หรือช่วงปี 1970 ถึง 1980 เธอมักจะได้รับบทนางเอกของเรื่องเสมอ แต่เมื่อนาฬิกาชีวิตเคาะวัย 40 เธอก็ถูกปฏิเสธโอกาสและการยอมรับแบบที่เคยมีจากวงการ ด้วยข้อจำกัดเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่เป็นไปตามที่สังคมต้องการ

“ตอนที่ฉันก้าวเข้าสู่อายุ 40 ฉันถูกเสนอให้รับบทแม่มดถึง 3 ครั้ง ภายในหนึ่งปี และมันเหมือนส่งสัญญาณอะไรบางอย่างให้ฉัน เกี่ยวกับความคิดของวงการฮอลลีวูดที่มีต่อผู้หญิงที่อายุเยอะขึ้น และมันทำให้ฉันรู้สึกแย่มาก และ ใช่ ฉันก็ไม่อยากรับบทพวกนั้น” Meryl Streep ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Graham Norton Show เมื่อปี 2015

การปัดข้อเสนอนั้นทิ้งก็เป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดเอาเสียเลย เมื่อบทอื่นๆ ที่เข้ามาในภายหลัง เป็นบทที่ท้าทายมากขึ้น เข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่บทแม่มดใจร้าย ไม่แน่ว่าถ้าเธอเลือกรับบทเหล่านั้น หรือเลือกหันหลังให้กับวงการ คนดูอย่างเราก็คงไม่ได้มีโอกาสเห็นผู้หญิงในวัย 70 กว่า โลดแล่นอยู่บนจอเหมือนที่เธอกำลังทำอยู่ตอนนี้ 

ขอบคุณภาพจาก i.pinimg

หรืออย่าง Demi Moore เอง ก็เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Interview เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า

“ฮอลลีวูดใจร้ายกับผู้หญิงในวัยนี้มากนะ คุณจะไม่มีทางเจอบทหรือตัวละครที่สะท้อนตัวคุณอีกแล้ว ไม่บทแม่ไปเลย ก็บทที่แก่พอจะไม่เซ็กซี่ในสายตาพวกเขา ทำไมผู้หญิงอายุ 45 50 60 ถึงเซ็กซี่ไม่ได้? และที่น่าสนใจคือ ฉันเริ่มรู้สึกแบบนี้มากขึ้นเมื่อฉันเข้าสู่วัย 40 ปี ตอนนั้นฉันถ่ายหนังเรื่อง Charlie’s Angels และผู้คนก็พูดถึงฉากที่ฉันใส่บิกินี มันถูกพูดถึงอย่างมาก มีการพูดถึงรูปลักษณ์ของฉันเยอะมาก และฉันก็รู้สึกเหมือนกับว่ามันไม่มีที่ทางสำหรับฉัน แต่ฉันไม่ได้รู้สึกว่าฉันไม่เหมาะกับวงการนะ แค่รู้สึกว่าฉันไม่ได้เหมือนตอนอายุ 20 30 แต่ก็ยังไม่เหมาะจะรับบทแม่แบบที่คนอื่นๆ คิด”

ขอบคุณภาพจาก interviewmagazine

แม้ตัวอย่างเหตุการณ์ที่หยิบยกขึ้นมาข้างต้น จะเป็นเพียงปัญหาระดับปัจเจกที่นักแสดงทั้งสองเคยเผชิญ แต่มีงานวิจัยและรายงานหลายชิ้นที่พูดถึงประเด็น ageism และนั่นก็ทำให้ภาพที่ถูกถ่ายทอดในภาพยนตร์ดูเป็นจริงมากขึ้นกว่าเดิม เพราะนอกจากนักแสดงทั้งสองคนแล้ว ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนในวงการที่ได้รับผลกระทบจากอคติทางอายุเหมือนที่ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องพยายามสื่อสาร

การศึกษาเรื่องนักแสดงสูงวัย เมื่อปี 2021 ของ Amica Senior lifestyle บริษัทให้บริการบ้านพักคนชรา พบว่า จากจำนวนภาพยนตร์ระดับฟอร์มยักษ์ในปี 2021 มีนักแสดงสูงอายุเพียง 2% เท่านั้น ที่ได้รับบทหลัก

รายงานจาก The Geena Davis Institute องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและสถาบันวิจัยที่มุ่งเน้นศึกษาความไม่เท่าเทียมทางเพศภายในวงการสื่อ ในหัวข้อ ‘เพศในสื่อ’ เมื่อปี 2021 ระบุว่า อคติทางอายุยังคงมีอยู่ในวงการบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากพวกเธอมักได้รับบทบาทรองหรือมีช่วงเวลาบนจอเพียงเล็กน้อย และมีโอกาสสูงที่จะไม่ได้รับการพัฒนาบทเป็นตัวละครที่น่าสนใจ

ในที่สุดเราก็หยุดให้ค่ามาตรฐานความงาม…ไม่ได้?

ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น อาจจะดูขัดแย้งกับนักแสดงสองช่วงวัยในเรื่อง The substance เพราะเชื่อว่าใครๆ ก็เห็นว่าในเรื่องมีทั้งนักแสดงวัยรุ่นหน้าใหม่ และนักแสดงวัยเก๋าที่อยู่มานาน ราวกับว่าอคติทางอายุไม่ได้มีอยู่จริงแล้ว เพราะขนาดภาพยนตร์​ฟอร์มใหญ่ ทุนสร้างเยอะขนาดนี้ ยังมีนักแสดงที่อายุเกินเกณฑ์มาตรฐานร่วมอยู่ด้วย 

ทั้งนี้ ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าภาพยนตร์ก็เปรียบเสมือนกับผ้าใบที่สะท้อนสังคม คนที่รับบทตัวละครก็เหมือนวัตถุที่ถูกวาดให้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด เหตุการณ์และฉากต่างๆ ก็เหมือนภาพความจริงของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ดังนั้น แม้ว่านักแสดงหญิงอายุมากจะมีบทในหนัง แต่ก็ใช่ว่าจะได้บทเด่น หรือต่อให้ได้บทเด่น ก็ต้องมาพิจารณากันอีกว่าบทเหล่านั้น มีจุดประสงค์เพื่อสื่อประเด็นอะไรของหนัง ซึ่งในครั้งนี้การมีอยู่ของบทที่ Demi moore แสดงก็เพื่อถ่ายทอดภาพผู้หญิงอายุ 50 ที่แตกสลายจากมาตรฐานความงามของสังคม ซึ่งการใช้นักแสดงที่อายุมาก ก็เพื่อให้ตัวละครดูสมจริงที่สุดเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า อคติทางอายุนั้นไม่มีอยู่จริงในสังคม

อาจจะพอสรุปได้ว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่หนังกำลังฉายให้เราดู เป็นการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เพียงแต่คนดูอย่างเราอาจจะมองข้าม เพราะเราก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างค่านิยมนั้นขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

เมื่อค่านิยมถูกกำหนดขึ้นจากความสนใจของสังคม ทั้งนายทุนหนัง ค่ายดัง และสตูดิโอใหญ่ก็แห่วิ่งตามกระแสเหล่านั้น และเมื่อความสนใจของคนดู ไม่ใช่ผู้หญิงสูงวัยบนหน้าจอ สื่อที่ถูกผลิตออกมาจากเจ้าของทุนก็ไม่พ้นภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่มาพร้อมนักแสดงรุ่นใหม่ และนักแสดงที่เริ่มหมดวัยสาวก็ถูกลดความสำคัญลง จนบทที่พวกเธอได้รับเหลือน้อยลงเรื่อยๆ 

ท้ายที่สุด ทุกสิบยี่สิบปีก็จะมีภาพยนตร์แนวๆ เดียวกับทั้งสองเรื่องออกมาเหมือนเดิม เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติสังคมว่าเรากำลังให้ค่ามาตรฐานความงามมากเกิน จนลืมความเป็นจริงว่าสังขารไม่เที่ยง ที่ไม่ว่าจะฉายอีกกี่ร้อยครั้ง สังคมก็ไม่ได้ถอดบทเรียนจากสิ่งที่ภาพยนตร์พยายามถ่ายทอดเลย

อ้างอิง

Bevan, T., Fellner, E. (Producer), & Fargeat, C. (Director). (2024).

The substance [Motion picture]. United States of America: Working Title Films.

Magnusson, J. (Producer), & Smith, S. (Director). (2015).

The Graham Norton Show [Television show]. United Kingdom: So Television.

Michelle Yeoh. (27 กันยายน 2565). Demi Moore’s Gory Glory. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก Interview: https://www.interviewmagazine.com/film/demi-moores-gory-glory

Richard Eisenberg. (3 กันยายน 2565). Ageism in Hollywood: ‘The Worst I’ve Ever Seen It’. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก nextavenue: https://www.nextavenue.org/ageism-in-hollywood-the-worst-ive-ever-seen-it/?__cf_chl_tk=UCXT14499HnzzdsdA8PjDygnhDvQoZ0hZmjK7YH2tY8-1729285014-1.0.1.1-QSaDk3lH_U8uzXue8g2ZUz7DK1vGftJjiOW0qRus8ZY

The Geena Davis Institute. (2021). Women Over 50: The Right to be Seen on Screen. สืบค้นจาก https://geenadavisinstitute.org/research/women-over-50-the-right-to-be-seen-on-screen/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Writings

เมื่อความตายพาให้กลับบ้าน: พิธีศพอีสานผ่านสายตาคนรุ่นใหม่

เรื่องและภาพประกอบ: ภัชราพรรณ ภูเงิน เสียงแจ้งเตือนข้อความดังขึ้นท่ามกลางความมืด ฉันหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู หน้าจอเรืองแสงบอกเวลา 05.22 น. ข้อความจากแม่ปรากฏขึ้นพร้อมประโยคสั้นๆ ที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ ‘ยายเสียแล้วนะลูก’ เหมือนเวลาถูกหยุดไว้ ฉันรีบเก็บของใช้ที่จำเป็นก่อนออกเดินทางไปยัง อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ...

Writings

จนกว่าเราจะพบกันอีก

เรื่อง : วีรนันท์ กมลแมน ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา มองวรรณกรรมเพื่อชีวิตไทยและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยผ่านแนวคิดอัตถิภาวนิยม ศรีบูรพาแต่งเรื่องสั้น “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ขึ้นราว ๆ ปี พ.ศ. ...

Writings

ศิลปินหญิงหายไปไหนจากหน้าประวัติศาสตร์

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี ท่ามกลางหมู่คนชนผู้ดีฝรั่งเศสที่เดินกันขวักไขว่ในซาลอง (Salon) ‘Marianne’ จิตรกรหญิงในชุดเสื้อคลุมสีน้ำเงินเดินเข้าไปหากรอบรูปสีทองนับสิบตรงหน้า หนึ่งในนั้นคือภาพวาดของเธอ มาเรียนน์หยุดยืนแล้วหันหลังให้ภาพวาด ตอนนี้เธอเป็นเหมือนผู้รักษาความปลอดภัยที่คอยสังเกตการณ์สิ่งต่างๆ ...

Articles

 I’m cringe but I’m free สะเหล่อแล้วไง ไม่แคร์แล้วกัน

เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี “โอ้ยยย ทำไมตอนนั้นสะเหล่อจัง” ความคิดที่โผล่เข้ามาในหัวขณะที่ล้มตัวลงนอนหลับตาเตรียมฝันดี แต่สมองไม่รักดีกลับขุดภาพความทรงจำอันน่าอับอายขึ้นมาฉาย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เล่นมุกแล้วคนทั้งห้องกริบ ทักคนผิดเพราะนึกว่าเป็นเพื่อนตัวเอง ส่งข้อความหาคนที่ชอบเขาอ่านแต่ไม่ตอบ ...

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

มองความตายผ่านเลนส์กล้อง ใน ‘ลาก่อน เอริ’

เรื่องและภาพประภาพ: สิทธิเดช สายพัทลุง Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘ลาก่อน เอริ’ หรือ ‘Goodbye Eri’ ‘ภาพยนตร์’ สื่อบันเทิงภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเล่าเรื่องราวได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องราวความสุขจนต้องยิ้มตาม หรือเรื่องราวการจากลาที่ทำให้กลั้นน้ำตาแทบไม่ไหว ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save