ArticlesSocietyWritings

ย้อนเหตุการณ์ ‘ตากใบ’ 25 ตุลา เดดไลน์ก่อนคดีหมดอายุความ ไร้สิ้นความยุติธรรม สานต่อวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

เรื่อง และภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร

เหลือเวลาเพียงไม่ถึงสองวัน ก่อน ‘คดีตากใบ’ จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ หากตำรวจไม่สามารถนำผู้ต้องหามาขึ้นศาลได้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องเผชิญมาเกือบ 20 ปี ทั้งความสูญเสียและบาดแผลทางจิตใจคงสูญเปล่า และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้คงไม่มีใครถูกลงโทษเช่นเคย

เหตุการณ์ตากใบเป็นหนึ่งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทยที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 85 คน ส่วนผู้รอดชีวิตได้รับบาดแผลทั้งทางจิตใจและร่างกาย จนถึงกลายเป็นคนพิการ เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่สะท้อนภาพความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่า ประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ไม่เคยได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งยังสานต่อวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย 

เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ตากใบ 25 ตุลาคม 2547

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 ที่ สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หรือราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่จำนวน 6 คน ในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการยักยอกอาวุธปืนลูกซองของราชการไปมอบให้กับผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งพวกเขาถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานกว่าสัปดาห์

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 25 ตุลาคม ชาวบ้านจำนวน 200 กว่าคน ได้รวมตัวเพื่อชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว เนื่องจากเชื่อในความบริสุทธิ์ของกลุ่มชรบ. ซึ่งในขณะนั้นมีทั้งชาวบ้านที่ไปร่วมชุมนุม บางส่วนที่ไปละหมาดฮายัตเพื่อขอพรให้ผู้ถูกคุมขัง บางส่วนที่ไปเป็นไทยมุงธรรมดา และบางส่วนที่เป็นเพียงคนเดินผ่านเท่านั้น จนทำให้มีประชาชนเพิ่มขึ้นราว 2,000 คน

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามสลายการชุมนุม แต่ชาวบ้านบางส่วนได้มีการปาสิ่งของ ก้อนหิน เศษไม้ และใช้กำลังเพื่อพยายามเข้าไปใน สภ.อ.ตากใบ เพื่อเจรจา จนตำรวจได้ยิงปืนขึ้นฟ้านัดแรกเพื่อควบคุมเหตุการณ์ แต่กลับทำให้สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น

พล.ท.พิศาล วัตนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 สมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตรในขณะนั้น ได้สั่งการให้สลายการชุมนุม ตำรวจจึงได้ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา และมีการใช้กระสุนจริงเพื่อสลายชุมนุม ซึ่งใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงเหตุการณ์จึงสงบลง แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าแค่ยิงปืนขู่ขึ้นฟ้า แต่กลับมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตทั้งหมด 7 คน โดย 5 ศพถูกพบกระสุนปืนที่ศีรษะ แต่ไม่มีการชันสูตรพลิกศพ ในเวลาต่อมาอัยการลงในสำนวนคดีว่าไม่มีผู้กระทำความผิด เนื่องจากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม จึงไม่สามารถสืบหาผู้กระทำผิดได้ และจากการชุมนุมมีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 14 คน เย็นวันนั้นทางการได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุม 1,370 คน เพื่อนำตัวไปสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างจาก สภ.อ.ตากใบ ราว 150 กิโลเมตร

ในการควบคุมตัวเพื่อเคลื่อนย้าย เจ้าหน้าที่ได้สั่งแยกชาย-หญิง ผู้หญิงถูกรวมตัวที่อาคารใกล้ๆ โรงพัก ส่วนผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อและมัดมือไพล่หลัง จากนั้นจึงจับขึ้นรถ GMC จำนวน 24-28 คัน (จำนวนไม่แน่ชัด) โดยสั่งให้นอนคว่ำหน้าทับซ้อนกัน 4-5 ชั้น เฉลี่ยคันละ 50-60 คน

การเดินทางใช้เวลาราว 5-6 ชั่วโมง และด้วยการขาดความพร้อมในการขนย้ายของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิต 78 คน ซึ่งผลการชันสูตรพลิกศพในปี 2552 ระบุว่าผู้ตายทั้ง 78 คนขาดอากาศหายใจ นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บ และผู้ทุพพลภาพอีกจำนวนมากระหว่างการเดินทาง

เหตุการณ์วันที่ 25 ต.ค. ปี 2547 มีจำนวนผู้ชุมนุมเสียชีวิตทั้งสิ้น 85 คน เจ้าหน้าที่รัฐ 0 คน  นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เป็นบาดแผลลึกในใจของผู้สูญเสียยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ

ใครรับผิดชอบ? 

หลังเหตุการณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ในขณะนั้น ได้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ อ.ตากใบ โดยมี พิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นประธานกมธ.

วันที่ 17 ธ.ค. ปี 2547 ได้ผลการสอบสวนออกมาว่า เป็นการใช้ทหารที่มีวุฒิภาวะไม่สูงพอในการจัดการสถานการณ์ ใช้วิธีที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามแบบแผน โดยชี้ว่า 

  • พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา
  • พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ได้รับคำสั่งจากแม่ทัพภาคที่ 4 ให้จัดเตรียมน้ำ อาหาร และพื้นที่รองรับผู้ถูกควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ปฏิบัติงานไม่ครบถ้วนตามสั่ง เมื่อพบว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิตในค่ายก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ
  • พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.พล.ร.5 ผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ และการควบคุมตัวผู้ชุมนุมลำเลียงไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร โดย พล.ต.เฉลิมชัย ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เพื่อรับผิดชอบเหตุการณ์จึงมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกฯ ที่ อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น

ตามข้อเท็จจริง แม้หลักฐานทุกอย่างจะบ่งชี้ผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน แต่กลับไม่มีการลงโทษผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตแม้แต่ผู้เดียว

ศาลยกฟ้อง

วันที่ 29 พ.ค. ปี 2552 ศาลจังหวัดสงขลา มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพกรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุม โดยมีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 78 คน เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 34 คน ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ปี 2552 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา ไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์ที่แท้จริงที่นำมาซึ่งความตาย ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม โดนบังคับให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และให้นอนคว่ำหน้านอนทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีการทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร 

ต่อมาศาลอาญาสั่งยกคำร้องด้วยเหตุผลว่า เมื่อศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นเช่นเดียวกับศาลอาญารับคดีไว้ และมีการพิจารณาทำคำสั่งไปแล้ว ศาลอาญาจึงรับคดีไว้พิจารณาไม่ได้อีก  

ญาติจึงยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ญาติจึงได้ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ปี 2555 แต่ศาลฎีกาพิพากษายังยืนยันไม่รับคำร้องญาติผู้เสียชีวิต ที่ขอให้ศาลพิจารณาทำคำสั่งใหม่ในคดีไต่สวนการเสียชีวิตเช่นกัน

เห็นได้ว่าญาติของผู้เสียชีวิตพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิต แต่ด้วยช่องโหว่ทางกฎหมายทำให้คดีต้องถูกยกฟ้องไป แม้จะเห็นได้ชัด (จากดาวอังคาร) ว่าสาเหตุการเสียชีวิตคืออะไร  

คำขอโทษและการเยียวยา

แม้ภายหลังเหตุการณ์จะมีคำขอโทษอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2549 จาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ ในขณะนั้น ตอนได้เดินทางมาที่โรงแรม ซี.เอส. จ.ปัตตานี เพื่อร่วมเลี้ยงฉลองวันอีดิลฟิฏร์ (วันสิ้นสุดช่วงเทศกาลถือศีลอดเดือนรอมฎอน) ของชาวมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมพบปะข้าราชการ ผู้นำศาสนา องค์กรปกครองท้องถิ่น 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 2,000 คน เมื่อ 2 พ.ย. ปี 2549 

นอกจากนี้ยังมีคำขอโทษจากปากของทักษิณ ในรายการ CareTalk X CareClubhouse หลังผ่านมา 18 ปี (ปี 2565) รวมถึงเงินเยียวยาจากสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2555 ที่มอบให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตครอบครัวละ 7.5 ล้านบาท ตามมติของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ชาวบ้านจะได้รับคำขอโทษ (จากใจจริง?) และเงินเยียวยา แต่ชีวิตของคนเทียบไม่ได้กับเงินล้าน และการให้เงินก็ไม่ได้แปลว่าผู้เกี่ยวข้องควรจะหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องรับผิด คือการเข้าสู่กระบวนการความยุติธรรมตามกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นธรรมที่แท้จริง

การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของครอบครัวผู้เสียชีวิต

เริ่มต้นจากการจัดเวทีวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบปี 2566 ทำให้ญาติได้ตั้งคำถามถึงความคืบหน้าในคดีตากใบกับทนาย ซึ่งต่อมา สาโรจน์ มะมิง ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สำนักงานประจำ จ.ยะลา ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนและติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบ

ต่อมาวันที่ 13 ธ.ค. ปี 2566 ที่ประชุมกมธ. การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งมี กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เป็นประธาน โดยมีตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจ.ชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), สำนักงานอัยการภาค 9, ตำรวจภูธรภาค 9, สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี เข้าร่วมการประชุม สรุปได้ว่าไม่พบสำนวนการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ก่อเหตุ จึงไม่สามารถดำเนินการทางคดีได้ ญาติจึงเพิ่งทราบว่าไม่เคยมีการตั้งคดีอาญาเลยตั้งแต่ปี 2547-2566 

วันที่ 25 เม.ย. ปี 2567 ญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด 48 คนได้รวบรวมความกล้ารวมตัวกันยื่นฟ้องอีกครั้งเนื่องจากเห็นว่ายุครัฐบาลทหารหมดอำนาจ

ในที่สุดวันที่ 23 ส.ค. ศาลจังหวัดนราธิวาส ได้รับฟ้อง โดยการฟ้องครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยื่นฟ้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน แต่ศาลรับฟ้องเพียง 7 คนโดยเห็นว่า จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น และจำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับ สภ.อ.ตากใบ ในขณะนั้น คำฟ้องยังไม่มีน้ำหนักพอจึงหลุดคำฟ้อง 

ข้อหาในการยื่นฟ้อง

  • ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ 289 (5)
  • ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ตามมาตรา 309
  • หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310

รายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 7 ที่ศาลรับฟ้อง 

  • พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 
  • พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 
  • พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
  • พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 
  • พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับ สภ.อ.ตากใบ 
  • ศิวะ แสงมณี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 
  • วิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจ.นราธิวาส

ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 7 ครั้งแรก วันที่ 12 ก.ย. โดยออกหมายจับผู้ต้องหา 6 คน ต่อมาวันที่ 1 ต.ค. ออกหมายจับอีก 1 คน คือ พล.อ. พิศาล โดยอายุความในคดีนี้มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 25 ต.ค. ตามมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดอายุความของความผิดทางอาญาไว้ 20 ปี 

การสานต่อวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด

ไม่เพียงกรณีตากใบเท่านั้นที่ผู้สูญเสียไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ แต่วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ตั้งแต่การใช้กำลังปราบปรามนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 หรือการสังหารหมู่กลางเมืองวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนได้รับโทษ แต่เหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 นั้น ยังส่งผลกระทบต่อปัจจุบันทั้งในมิติการเมืองและความมั่นคง เนื่องจากบรรดาผู้ต้องหามีทั้ง (อดีต) นักการเมือง และอดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

 

เหตุการณ์วันที่ 25 ตุลาคม ปี 2547 ที่ตากใบ มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 85 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เป็นบาดแผลลึกในใจของผู้สูญเสีย ซึ่งนำไปสู่คดีทางกฎหมายที่รอผู้กระทำผิดได้รับโทษ ซึ่งขณะนี้ผู้ต้องหาได้หนีคดีจนใกล้จะหมดอายุความ

หากชาวบ้าน อ.ตากใบ ไม่ได้รับความยุติธรรม จะยิ่งตอกย้ำว่ารัฐมีอำนาจเหนือประชาชนมาโดยตลอด เนื่องจากในพื้นที่ 3 จังชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อัยการศึก พ.ศ.2457 ที่ทหารมีอำนาจเหนือพลเรือน และการที่เหตุการณ์ตากใบมีผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้ หากคดีถูกปล่อยผ่านก็จะยิ่งตอกย้ำความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น

กระบวนการความยุติธรรมที่สูญหายไปเกือบ 20 ปี จะสามารถฟื้นคืนความน่าเชื่อถือได้หรือไม่ หากรัฐไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ ซึ่งข้อหาทั้งหมดต่างเป็นคดีอาญาที่มีโทษร้ายแรง แต่รายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้คงกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ หากรอจนคดีหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 

ความรับผิดชอบที่ชาวบ้านรอมาตลอดทั้ง 20 ปี และชีวิตราคาแพงของเหล่าผู้ชุมนุมที่เสียไป คงสูญเปล่าอย่างไร้ความยุติธรรมและญาติผู้เสียชีวิตคงต้องอยู่กับจิตใจที่บอบช้ำไร้ทางเยียวยา

อ้างอิง

อาทิตย์ ทองอินทร์.(24 ตุลาคม 2566).19 ปี สลายการชุมนุมตากใบ 25 ตุลาคม 2547 โศกนาฏกรรมของมลายูปตานี.วันที่สืบค้น 16 ตุลาคม 2567.https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/102294

iLaw.(8 ตุลาคม 2567).คดีตากใบ 2547 กับวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลด้วยการหมดอายุความ.วันที่สืบค้น 16 ตุลาคม 2567.https://www.ilaw.or.th/articles/45135

Wartani.(24 ตุลาคม 2563).ลำดับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ.วันที่สืบค้น 16 ตุลาคม 2567.https://www.facebook.com/wartanimap/posts/%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8F%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%9Ataba-tragedy-timeline%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%95/2961662637268788/

นาซือเราะ เจะฮะ.(24 ตุลาคม 2555).8 ปีตากใบ (1) เมื่อการเยียวยาไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นธรรม.วันที่สืบค้น 16 ตุลาคม 2567.https://www.isranews.org/content-page/item/17254-8-%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%9A-(1)-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1.html

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ.(12ตุลาคม2565).วัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิดที่ขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ.วันที่สืบค้น 16 ตุลาคม 2567.https://pridi.or.th/th/content/2022/10/1289

ประชาไท.(26 ตุลาคม 2565).’ทักษิณ’ ขอโทษเหตุตากใบหลังผ่านมา 18 ปี – ภาคประชาสังคมย้ำตากใบต้องเป็นปีศาจให้เจ้าหน้าที่ยั้งคิด.วันที่สืบค้น 16 ตุลาคม 2567.https://prachatai.com/journal/2022/10/101137

The People.(23 ก.พ. 2564).ย้อนความทรงจำ ‘กรือเซะ-ตากใบ’ กับบทเรียน ‘กำปั้นเหล็ก’ของทักษิณ.วันที่สืบค้น 16 ตุลาคม 2567.https://www.thepeople.co/read/politics/31387

Springnews.(15 กันยายน 2567).“คดีตากใบ” 20 ปี ที่หายไป มีคนตายแต่ไม่มีคนผิด?.วันที่สืบค้น 16 ตุลาคม 2567.https://www.springnews.co.th/program/spring-conclude/852780

BBC News ไทย.(19 ตุลาคม 2562).ตากใบ : ทำไมไม่มีใครถูกลงโทษจากการตายหมู่ของชาวมุสลิม? – BBC News ไทย.วันที่สืบค้น 16 ตุลาคม 2567.https://www.youtube.com/watch?v=26YA5jxbM8k 

ประชาไท.(1สิงหาคม2556).ศาลฎีกาพิพากษายืน ไม่รับคำร้องไต่สวนการตายคดีตากใบ.วันที่สืบค้น 17 ตุลาคม 2567.https://prachatai.com/journal/2013/08/47956

The Reporters.(21ตุลาคม2567).เปิดใจญาติ-ทีมทนายความ กับเหตุผลการยื่นฟ้องคดีตากใบ และความคาดหวังให้ผู้ต้องหา กล้าเผชิญหน้ามาขึ้นศาลให้ทันอายุความ.วันที่สืบค้น 23 ตุลาคม 2567.https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/pfbid0echeJq8w1RSArhB5r8U83qXMR8BQZEmPvHmLjzTjLa1C14dfFjuyU9GHvj2XLkXVl

สำนักข่าวอิศรา.(14 ธันวาคม 256).19 ปีตากใบ สำนวนคดี 85 ศพหาย! โอกาสสุดท้ายริบหรี่ก่อนขาดอายุความ.วันที่สืบค้น 23 ตุลาคม 2567.https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/124675-takbailost.html

 

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Articles

Articles

Car-Centric City: เมืองที่รถยนต์ใหญ่กว่าคน

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย หากคุณเป็นคนที่ไม่ได้ขับรถ คุณอาจเคยหงุดหงิดเวลาที่ต้องมาเดินหลบรถยนต์เวลาเดินอยู่ในซอยแคบๆ จนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาทนเสี่ยงตายอยู่บนสภาพถนนแบบนี้ หรือหากคุณเป็นคนที่ขับอยู่ตลอด คุณอาจเคยหงุดหงิดที่ต้องมาทนรอคนเดินข้ามทางม้าลาย และไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนจึงออกมาเรียกร้องหาทางเท้า ทางจักรยานที่ดี เพราะจะทำให้คุณใช้เวลาบนรถนานขึ้นเนื่องจากต้องสูญเสียเลนถนนไปเพื่อสร้างทางเท้าเพิ่มเติม ทั้ง 2 เหตุการณ์อาจเป็นมุมมองที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในคนคนเดียวกันแต่ก็มีที่มาไม่ต่างกัน นั่นเป็นเพราะเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่ง ...

Articles

สารภาพบาปนักชอปกระเป๋าแฟบ กับคู่มือไม่ให้ตัวเองต้องกินมาม่าในสิ้นเดือนนี้

เรื่องและภาพประกอบ: จุฑาภัทร ทิวทอง นักช็อปสายบิวตี้อาจเคยสังเกตหลายแบรนด์ที่ออกเครื่องสำอางคอลเลกชันใหม่กันแทบทุกเดือน พร้อมเหล่าอินฟลูมากมายที่โฆษณากันเกรียวกราวว่า ‘ของมันต้องมี’ พ่วงกับโปรโมชันลดราคาที่ดูเหมือนจะจำกัด แบบที่นานๆ ครั้งจะมาที ทั้งที่ในความเป็นจริงก็วนมาอยู่ทุกเดือน หลายคนก็อาจเป็นเหมือนฉัน ที่ตื่นเต้นทุกคราเมื่อได้เห็น ได้ดู และได้ยินปรากฏการณ์ข้างต้น สุดท้ายก็เผลอใจกดสินค้าลงตระกร้าในแอปสั่งของออนไลน์แทบทุกครั้งไป ...

Articles

คุณเข้าร้านโชห่วยครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ?

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร คุณเข้าร้านโชห่วยครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ? ร้านค้าท้องถิ่นที่หายไปพร้อมกับ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ คุณซื้อของจากร้านโชห่วยล่าสุดเมื่อไหร่ ? ฉันหมายถึง ...

Articles

Rick and Morty: ชีวิตไร้ความหมายในจักรวาลไร้จุดหมายของริกและมอร์ตี้

เขียน : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร ขอบคุณภาพจาก https://wall.alphacoders.com/big.php?i=1335145 คำเตือน: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน โปรดอ่านอย่างระมัดระวัง “Nobody exists ...

Articles

Indie but not independent: การเติบโตของเพลงอินดี้ในไทย จากอัลเทอร์เนทีฟร็อกจุดประกายสู่ทางเลือกที่หลากหลาย

เขียน: ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ: ศิรประภา จารุจิตร “รออยู่ตรงนี้แล้วเธออยู่ไหน เธอจะยังคิดถึงฉันบ้างไหม หรือไม่ใช่ กลับมากอดฉันสักทีได้ไหม ขอแค่ครั้งเดียว แม้แค่ครั้งเดียว ก่อนเธอลบฉันไป” เสียงที่เย็นแต่นุ่มของนักร้องพร้อมเมโลดี้ดรีมป๊อป ดนตรีฟังง่าย ให้ความเพลิดเพลิน ผสมกับเสียงกีตาร์และเสียงซินธิไซเซอร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save