เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง
ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์
‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพบในสักวัน ทั้งของครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ความตายของตัวเองที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาทุกวินาที โดยเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะมาถึงตัวของเราเมื่อไหร่ จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวที่ทำให้ไม่อยากจะใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้อีกต่อไป
แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่ง ชายผู้แม้ความตายจะมาเคาะประตูหน้าห้อง แต่เขาก็ยังไม่ละทิ้งปณิธานที่จะสร้างสรรค์ผลงานทิ้งทวนให้ชาวโลกได้สดับรับฟังก่อนที่เขาจะกลับสู่ที่ของตัวเอง จนถึงขนาดเปิดประตูต้อนรับความตายให้เข้ามาร่วมสร้างบทเพลงไปด้วยกัน
ศิลปินเดี่ยวจากดินแดนผู้ดี ผู้ใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่บนโลกของเสียงดนตรีมาตั้งแต่ยุค 70s จนถึง 00s ด้วยความโดดเด่นทั้งด้านแนวดนตรีที่หลากหลาย เนื้อเพลงที่คมคาย และการสร้างตัวตนพิเศษมากมาย เพื่อรองรับเรื่องราวภายในบทเพลงรวมถึงชีวิตของตัวเอง
นามของชายจากต่างดาว ผู้มีเอกลักษณ์คือตาสองสีอันน่าหลงใหล ‘เดวิด โบวี’ (David Bowie) และอัลบั้มสุดท้ายในชีวิตของเขา ‘Blackstar’
.
เดวิด โบวี หรือ เดวิด โรเบิร์ต โจนส์ (David Robert Jones) เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1947 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงวัยเด็ก เขามีความสนใจในศิลปะหลายแขนง ทั้งดนตรี งานศิลปะ ไปจนถึงการแสดง ชีวิตของเขาจึงพัวพันอยู่กับเรื่องราวเหล่านี้จนกระทั่งได้เข้าสู่วงการดนตรีครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 ด้วยการปล่อยอัลบั้มแรกในชีวิตอย่าง ‘David Bowie’ ซึ่งตั้งตามชื่อของเขาเอง กับบทเพลงป็อป (Pop) ฟังสบายอย่าง ‘Love You till Tuesday’
ต่อมา โบวีได้ปล่อยเพลงที่แจ้งเกิดชื่อของเขาให้ดินแดนผู้ดีรับรู้ถึงคลื่นลูกใหม่ที่กำลังจะมาสั่นคลอนวงการดนตรีในช่วงเวลานั้น กับอัลบั้ม ‘David Bowie (Space Oddity)’ ในบทเพลงชื่อเดียวกันอย่าง ‘Space Oddity’ เมื่อปี ค.ศ. 1969 ซึ่งเขาปรับเปลี่ยนแนวดนตรีจากป็อปให้กลายเป็นโฟล์ค ร็อค (Folk Rock) พร้อมเนื้อเพลงเสียดสีการแข่งขันกันระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ต้องการจะส่งมนุษย์ไปยังอวกาศ และการปรากฏตัวครั้งแรกของตัวตนซึ่งเป็นที่จดจำของผู้คนเป็นจำนวนมากอย่าง ‘Major Tom’
หลังจากที่เพลง ‘Space Oddity’ สร้างความโด่งดังไปทั่วดินแดนผู้ดี ด้วยเอกลักษณ์ทางดนตรีของโบวีที่สามารถดิ้นไปในแนวไหนก็ได้ ทั้งแกลม ร็อก (Glam Rock), อาร์แอนด์บี (R&B), ฟังก์ (Funk) ไปจนถึงอิเล็กโทรนิกส์ (Electronic) ชื่อของโบวีก็แทบไม่เคยหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีของประเทศอังกฤษเลย เพราะไม่ว่าดนตรีจะเปลี่ยนไปในแนวไหน เขาก็สามารถที่จะปรับตัวตามไปได้ แถมยังทำได้ดีอีกด้วย
นอกจากเพลง อีกสิ่งที่โดดเด่นของตัวโบวีคือการเปลี่ยนแปลงตัวตน (persona) ของเขาขณะแสดงคอนเสิร์ต ที่บางครั้งก็สอดคล้องกับแนวเพลงในช่วงนั้น หรือบางครั้งก็เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงชีวิตและสิ่งต่างๆ ที่เขาได้พบเจอ เช่น ต่อจาก Major Tom โบวีกลายเป็น ‘Ziggy Stardust’ ตัวแทนของมนุษย์ต่างดาวผู้มาช่วยเหลือโลกที่กำลังจะสูญสลาย ซึ่งเป็นบทบาทที่คนน่าจะจดจำได้มากที่สุด และเขายังเคยเป็น ‘The Thin White Duke’ ดยุกชุดขาวที่ปรากฏตัวขึ้นมาในช่วงที่โบวีติดยาอย่างหนัก
แต่ดวงดาวที่ส่องสว่างเกินไป มักต้องพบเจอจุดจบเร็วกว่าที่ควรเสมอ เมื่อโรคมะเร็งตับเริ่มคุกคามชีวิตของโบวีในวัย 67 ปี จนไม่สามารถแสดงดนตรีที่ตนรักได้อีกต่อไป เขาต่อสู้กับโรคร้ายดังกล่าวอยู่ 18 เดือนก่อนจะถูกยานแม่พากลับไปยังที่ที่เขาจากมา
อย่างไรก็ตาม ในวันเกิดปีที่ 69 โบวีได้ปล่อยอัลบั้มลำดับที่ 26 ออกมา หลังจากทิ้งช่วงไปกว่า 3 ปี โดยภายในอัลบั้มนี้มีเพลงทั้งหมด 7 เพลง แต่จะมีอยู่ 3 เพลงที่กล่าวถึงความตายที่ขยับเข้าใกล้ตัวโบวีมากขึ้น ได้แก่ ‘Blackstar’ ‘Lazarus’ และ ‘I Can’t Give Everything Away’
.
Blackstar ฉันกำลังจะดับสูญเพื่อการเกิดใหม่อีกครั้ง
Blackstar คือบทเพลงแรกของอัลบั้มสั่งลานี้ กับความยาวเพลงที่มากถึง 9:57 นาที สอดไส้ด้วยแนวเพลงมากถึง 5 แนวภายในเพลงเดียว ทั้งอาร์ต ร็อก (Art Rock), ฟรีแจ๊ส (Free Jazz), นูแจ๊ส (Nu Jazz), อิเล็กโทรนิกส์ (Electronic) และโปรเกรสซีฟ ร็อก (Progressive rock) กับเนื้อเพลงที่พูดถึงการหยอกล้อกันกับเจ้าแห่งความตาย และสัจธรรมของวัฏจักรชีวิต
I can’t answer why Just go with me
I’ma take you home
Take your passport and shoes
And your sedatives, boo
เปรียบดั่งคำพูดของเจ้าแห่งความตายที่กำลังทำหน้าที่ของตน ในการพาโบวีกลับไปสู่ ‘บ้านของเขา’ พร้อมกับการแกล้งหยอกด้วยการบอกว่า อย่าลืมพกยาระงับประสาทของเขาไปด้วย และทิ้งท้ายด้วยจังหวะการหลอกแบบเด็กๆ “บู”
Something happened on the day he died
Spirit rose a metre and stepped aside
Somebody else took his place, and bravely cried
ท่อนนี้สามารถตีความได้สองความหมายคือ หลังจากที่โบวีจากไป ก็จะมีนักดนตรีฝีมือทัดเทียมหรือดีกว่าขึ้นมายืนในจุดที่เขาเคยอยู่ หรือไม่ก็อาจหมายถึงชีวิตใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งมาแทนที่ตัวของเขาผู้กำลังจะลาจาก
(ในเอ็มวีเพลงนี้ จะมีร่างของนักบินอวกาศที่ถูกนำไปบูชา ซึ่งตัวตนของนักบินอวกาศคนนั้นก็คือ ‘Major Tom’ ตัวตนแรกสุดของโบวีนั่นเอง)
Lazarus มองฉันสิ ตอนนี้ฉันกำลังจะกลายเป็นอิสระ
ลาซารัส (Lazarus) เป็นนักบุญในคริสต์ศาสนา ผู้ที่ถูกปล่อยให้ป่วยตาย ก่อนที่จะถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหลังจากตายไปได้สี่วัน โดยพระเยซูตรัสว่า “โรคนี้จะไม่ถึงตาย แต่เกิดขึ้นเพื่อเชิดชูพระเกียรติของพระเจ้า เพื่อให้พระบุตรของพระองค์ได้รับเกียรติเพราะโรคนี้”
เนื้อเพลงนี้อาจเปรียบได้ทั้งโรคมะเร็งของตัวโบวีเอง หรือไม่ก็หมายถึงการที่เขาอยากจะฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้งหลังจากตายไป
โดยโบวีได้ยกชื่อของนักบุญลาซารัสมาตั้งเป็นชื่อของบทเพลงความยาว 6:22 นาทีนี้ และใส่แนวเพลงร็อกลงไปถึง 3 แบบ ทั้งแจ๊ส-ร็อก (Jazz-rock), โกธิค ร็อก (Gothic Rock) และอาร์ต ร็อก (Art Rock) กับการพูดถึงเรื่องราวในชีวิตที่โบวีได้เผชิญผ่านมา และการเตรียมตัวสู่อิสรภาพที่เฝ้าฝันถึง
Look up here, I’m in heaven
I’ve got scars that can’t be seen
I’ve got drama, can’t be stolen
Everybody knows me now
เนื้อเพลงช่วงนี้กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในชีวิตของโบวี โรคมะเร็งเปรียบดั่งบาดแผลที่มองไม่เห็น เรื่องราวดราม่าที่เกิดขึ้นมาตลอดชีวิตการเป็นนักดนตรีซึ่งไม่มีใครสามารถแอบอ้างเอาไปได้ และตอนนี้ ทุกคนได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของเขาแล้ว
I’m so high, it makes my brain whirl
Dropped my cell phone down below
Ain’t that just like me?
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงอาการจากการใช้ยาระงับประสาท ที่มักทำให้ผู้ใช้มีอาการหลอนและเวียนหัวเล็กน้อย รวมถึงการเล่นมุกตลกร้ายอย่างการเปรียบโทรศัพท์ในมือที่ร่วงหล่นลงไป เหมือนกับตัวเขาที่กำลังจะเป็นแบบเดียวกัน
This way or no way,
you know I’ll be free
Just like that bluebird
now, ain’t that just like me?
การที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับอาการป่วยมาอย่างยาวนาน ไม่ต่างอะไรกับนกที่ถูกขังอยู่ในกรง ไม่สามารถออกไปแตะขอบฟ้าเช่นเมื่อก่อนที่เคยทำได้อีกต่อไป แต่หลังจากนี้ โบวีกำลังจะเป็นอิสระจากอาการป่วยโดยสมบูรณ์แล้ว แม้จะด้วยวิธีการจากลาโลกใบนี้ก็ตาม
I Can’t Give Everything Away ฉันยังไม่อยากทิ้งทุกอย่างไปเลย
I Can’t Give Everything Away คือบทเพลงสุดท้ายในอัลบั้มท้ายสุดของตัวโบวี กับความยาว 5:47 นาที ด้วยแนวเพลงที่แตกต่างกันถึง 3 แบบ ทั้งอาร์ต ป็อป (Art pop), อัลเทอร์เนทีฟ แดนซ์ (Alternative Dance) และแจ๊ส (Jazz) โบวีเปรียบเทียบตัวเองที่กำลังจะลอยออกไปจากโลก กลับสู่ดินแดนที่ส่งเขามา และการที่เขาไม่สามารถมอบตัวตนทุกอย่างของเขาให้กับผู้ฟังได้รับรู้ได้อีกแล้ว
I know something’s very wrong
The pulse returns the prodigal sons
‘Prodigal sons’ คือเรื่องราวของเด็กผู้หนีออกจากบ้านเพื่อเผชิญเรื่องราวต่างๆ ก่อนที่สุดท้ายจะกลับไปสู่บ้านของตนที่เคยจากมา เปรียบกับบางตัวตนของโบวีที่เป็นสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก และตอนนี้มันถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเตรียมตัวกลับบ้าน
I can’t give everything
I can’t give everything away
I can’t give everything away
เมื่อเปรียบตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก การตายจากก็คงไม่ต่างอะไรกับการทิ้งทุกอย่างเพื่อเดินทางไปสู่พื้นที่ที่เหนือกว่า แต่ตัวเขาตอนนี้กลับไม่พร้อมที่จะละทิ้งทุกอย่างอย่างสมบูรณ์ หรือในอีกความหมายหนึ่ง อาจหมายถึงการที่เขาไม่สามารถนำเสนอตัวตนของเขาทั้งหมดให้ทุกคนรับรู้ได้ เพราะเขานั้นมีตัวตนมากมายเสียเหลือเกิน
Seeing more and feeling less
Saying no but meaning yes
This is all I ever meant
That’s the message that I sent
ช่วงเวลาที่โบวีต้องเผชิญอาการป่วยนั้น มันทำให้เขาได้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในชีวิตมากยิ่งขึ้น ทว่ายิ่งรับรู้มากเท่าไร ยิ่งกลับทำให้เขารู้สึกกับมันน้อยลงเท่านั้น และถึงแม้จะพยายามปฏิเสธตัวตนที่สร้างขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา แต่ในใจลึกๆ โบวีก็ยังยอมรับการมีอยู่ของพวกเขาทุกคน และสุดท้ายก็ยอมรับได้ว่า นั่นแหละ คือทุกอย่างที่เขาอยากจะบอกแก่ชาวโลกแล้ว
.
หลังปล่อยอัลบั้มได้เพียง 2 วัน โบวีก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งตับโดยที่ยังไม่ได้รับฟังเสียงตอบรับจากแฟนๆ ที่ได้ฟังอัลบั้มล่าสุดของเขา
แต่นั่นก็คงไม่สลักสำคัญอะไรอีกต่อไปแล้ว เพราะอย่างน้อย ก่อนที่จะกลับสู่ ‘บ้าน’ ของเขาอีกครั้ง โบวีก็ได้ถ่ายทอดสิ่งที่อยากจะพูดออกไปผ่านทางชีวิต ตัวตน ดนตรี และเนื้อเพลงทั้งหมดของเขาแล้ว
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าตัวตนของโบวีจะเป็นใคร จะเป็น Ziggy Stardust มนุษย์ต่างดาวผู้กอบกู้โลก จะเป็น The Thin White Duke ดยุกในชุดขาวสะอาดตา จะเป็น Major Tom นักบินอวกาศในจินตนาการ หรือจะเป็น David Bowie ศิลปินชื่อก้องโลก ทุกคนต่างทำภารกิจที่สำคัญที่สุดได้สำเร็จลุล่วงแล้ว