เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์
ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร

คุณเข้าร้านโชห่วยครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ?
ร้านค้าท้องถิ่นที่หายไปพร้อมกับ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’
คุณซื้อของจากร้านโชห่วยล่าสุดเมื่อไหร่ ?
ฉันหมายถึง ร้านโชห่วยที่วางซองขนมอยู่บนลวดดัดเป็นตารางและตั้งเครื่องดื่มหลากชนิดไว้ในตู้แช่สีแดงที่มีลายโลโก้น้ำอัดลมชื่อดังแปะอยู่ มีเจ้าของร้านเป็นคุณตาคุณยายที่เห็นกันมาตั้งแต่เรายังละอ่อน หรือบางครั้งก็ตั้งแต่สมัยพ่อแม่เราจีบกัน ไม่ใช่ ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ยุคใหม่ป้ายไฟเส้นสามสีขนาดสะดุดตา ที่พร้อมต้อนรับทุกคนตลอด 24 ชั่วโมง
ครั้งล่าสุดที่เราเห็นร้านโชห่วยนี่มันที่ไหนกัน
หากได้ลองตอบคำถามกันในใจ ก็อาจจะพอได้คำตอบว่าพวกเรานั้นห่างเหินกับร้านโชห่วยและร้านค้าทั่วไปมากเหลือเกิน เพราะทางเลือกแรกที่เรามักจะนึกถึงด้วยความเคยชิน เวลาอยากได้สินค้าอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภค บริโภค ก็คงจะคิดถึง ‘ร้านสะดวกซื้่อ’ มาเป็นอันดับแรก ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะไม่มีทางเลือกอื่นให้เห็น อีกทั้งยังเข้าถึงได้สะดวก ชนิดที่…หิวเมื่อไหร่ก็แวะไปได้เสมอ
ทว่าประตูอัตโนมัติของร้านสะดวกซื้อที่เรามักจะแวะไปนั้น เป็นประตูที่กำลังจะปิดตายทางทำกินของผู้ผลิตตัวเล็กๆ
ที่ผ่านมาฉันไม่เคยเข้าใจว่า ‘การผูกขาด’ นั้นน่ากลัวอย่างไร เพียงแค่คิดว่าใครที่เก่งพอที่จะทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตได้ดี ก็สมควรได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับสมองอันชาญฉลาดนั้น แต่หลังจากที่ฉันได้พูดคุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขานุการมูลนิธิชีววิถี ฉันจึงได้เข้าใจว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ใครทำใครได้’ เพราะมันกระทบถึง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ (food security) ของเราทุกคน หรือที่ พ.ร.บ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ให้นิยามไว้ว่า “การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการตามวัยเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี รวมทั้งการมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติของประเทศ ทั้งในภาวะปกติหรือเกิดภัยพิบัติ สาธารณภัย หรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากอาหาร” นั่นเอง
สายธารอาหาร
ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจว่า ความมั่นคงทางอาหาร การผูกขาด และร้านสะดวกซื้อ มันเกี่ยวข้องกันยังไง ฉันจะต้องขอเล่าเรื่องการเดินทางของวัตถุดิบต่างๆ ว่าก่อนที่มันจะมาอยู่ตรงหน้าคุณ ต้องผ่านอะไรมาก่อนบ้าง สิ่งนี้เรียกง่ายๆ ว่า ‘ห่วงโซ่การผลิตอาหาร’ 5 ทอด
เริ่มต้นจาก ทรัพยากร สิ่งพื้นฐานในการผลิตวัตถุดิบ ทั้งสินค้าการเกษตร หรือปศุสัตว์ ตัวอย่างเช่น ที่ดิน เกษตรกร คนงาน ส่วนที่สอง คือ การผลิต อย่างการปลูกพืชผัก ผลไม้ รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ เมื่อมีวัตถุดิบขั้นต้นแล้ว ถัดมาก็เข้าสู่ขั้นตอน แปรรูป เป็นอาหารที่สะดวกขาย สะดวกกิน จากนั้นก็เข้าสู่ การกระจายสินค้า ไปยังหน้าร้านค้าปลีก เช่น ร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ หรือตลาดต่างๆ ให้ ผู้บริโภค ซื้อสินค้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย
ห่วงโซ่ทั้ง 5 ทอดนี้ แต่ละทอดก็จะมีผู้เล่นในสนามมากหน้าหลายตา หลั่งไหลเข้าสู่ธารน้ำสายใหญ่ที่กำลังไหลไปสู่มือผู้บริโภค ทว่าในตอนนี้กลับมีผู้เล่นบางรายที่ล็อคประตู ปิดทางน้ำไม่ให้สายน้ำเล็กๆ ได้เข้ามา และปัญหาหลักในตอนนี้ก็คือ… ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ที่อยู่ในขั้นตอนการกระจายสินค้า ซึ่งเป็นสะพานให้สินค้าเดินทางไปหาลูกค้าได้ง่ายๆ
เมื่อไม่มีสายน้ำหล่อเลี้ยงอาหาร
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ว่านี่ไม่ใช่เพียงเรื่องที่ใครทำใครได้ แต่มันคือเรื่องของ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’
ความมั่นคงทางอาหาร หมายถึง การที่คนทุกระดับ ทุกช่วงอายุ สามารถเข้าถึงอาหารที่ดี มีประโยชน์ และเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ มีเกณฑ์วัดด้วย 4 ด้านด้วยกันคือ การมีอาหารที่เพียงพอ การเข้าถึงอาหาร การใช้ประโยชน์จากอาหาร และด้านสุดท้าย คือการมีเสถียรภาพด้านอาหาร
แต่สำหรับวิฑูรย์แล้ว ความหมายของความมั่นคงทางอาหารไม่ได้หมดเพียงเท่านั้น เขาให้นิยามไปถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนในห่วงโซ่การผลิตอาหารด้วย ทั้งในเรื่องของรายได้ที่เป็นธรรม และความไม่เสี่ยงด้านสุขภาพ ไปจนถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
และการผูกขาดที่ฆ่ารายย่อยทั้งหลาย นั่นก็นับเป็นส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารด้วย เพราะเมื่อลองนึกภาพในระยะยาว หากว่าห่วงโซ่รายย่อยตายไปเสียหมด และเหลือผู้ที่เราจะพึ่งพิงอยู่ไม่กี่คน วงการอาหารกลายเป็นตลาดผู้เล่นน้อยราย เราคงไร้หนทางที่จะต่อรองอะไร อาจจะทำได้เพียงก้มหน้ารับชะตากรรม จำใจซื้ออาหารราคาสูงลิ่วอย่างไร้ทางเลือก
ปิดทางน้ำ ตัดคู่แข่ง
สินค้าในร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหาร ถ้าแบ่งชั้นวางสินค้าทั้งหมด 4 แถว อาหารก็อาจจะกินพื้นที่ 3 ใน 4 ของร้านไปแล้ว และด้วยจำนวนสาขาของร้านสะดวกซื้อโดยทั่วไป ก็คงสามารถเรียกได้ว่านับไม่ถ้วน ฉะนั้นแล้วอาหารที่ถูกนำมาวางอยู่บนแถวต่างๆ จึงต้องมาจากแหล่งที่มีกำลังการผลิตสูงพอจะส่งสินค้าไปให้ทุกสาขาทั่วไทยได้ และตัวเลือกแรกที่จะได้รับการพิจารณา ก็มักจะเป็นสินค้าในเครือเจ้าของร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นผู้เล่นที่อยู่ตั้งแต่ต้นน้ำจนเกือบสุดสายปลายน้ำ ต่างจากร้านค้าทั่วไป ที่เราจะเห็นว่าสินค้าหลายอย่างก็เป็นสินค้าจากคนในพื้นที่ อย่างร้านวินเทจรุ่นเก๋าที่มาพร้อมเก๊กฮวยทำเองแช่เย็นอยู่ในตู้เหล็กบานเลื่อน และโดนัทชิ้นจิ๋วคลุกน้ำตาลเกล็ดกรุบกรอบที่รับมาจากเพื่อนบ้านในท้องที่ หรือไม่ก็ร้านเบเกอรี่ที่อยู่ไม่ไกลกันมาก
สาขาเยอะ แล้วยังไง ?
ใช้เฮาส์แบรนด์ แล้วยังไง ?
มีส่วนแบ่งตลาดเยอะ แล้วยังไง ?
ตอบ เพราะวิธีการกินรวบตั้งแต่ห่วงโซ่ขั้นแรกอย่างทรัพยากรไปจนถึงการกระจายสินค้าขั้นเกือบสุดท้าย กำลังสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘การผูกขาดแบบรวมศูนย์’ ซึ่งทำให้ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้กระจายสินค้า รายเล็กๆ ไม่สามารถเข้ามาลงเล่นด้วยในสายธารนี้ได้ เหมือนเป็นการปิดประตูกั้นสินค้าของพวกเขา
เมื่อสินค้าไม่มีทางออก ก็ไม่มีทางเข้าสำหรับเงินเช่นเดียวกัน ผู้เล่นรายเล็กค่อยๆ เหี่ยวเฉาและตายลงไปในที่สุด จึงทำให้ผูัเล่นในตลาดเหลือน้อยลงเรื่อยๆ และกินส่วนแบ่งการตลาดกันอยู่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น
น้ำแก้วนี้ยังไม่เต็มร้อย
จากวิจัยของธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์ พบว่า ในปี 2566 กลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ มีผู้เล่นหลักทั้งหมดเพียง 4 รายเท่านั้น โดยร้าน 7 Eleven มีส่วนแบ่งมากถึงร้อยละ 70.8 และ เพื่อนร่วมชายคาอย่าง Lotus’s ก็ได้รับส่วนแบ่งไปอีกร้อยละ 10.6 นอกจากนั้นยังมีร้าน mini Big C ร้อยละ 4.5 และ CJ more ร้อยละ 4.2 รวมถึงร้านทั่วไปอีก ร้อยละ 9.9 แต่รวมๆ แล้วเราก็จะเห็นได้ว่าบริษัท ‘เครือ’ ใหญ่กำลังครองส่วนแบ่งตลาดร้านสะดวกซื้อมากกว่าร้อยละ 80 อยู่ และร้านรวงที่กล่าวมานี้ หากลองพลอตแผนที่ก็คงมีจุดแดงอยู่ทั่วไทย เว้นแต่เพียงบนเขาและในน้ำ แต่ถึงกระนั้นในร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ กลับแทบไม่มีสินค้าท้องถิ่นอยู่เลย
ตัวเลขร้อยละ 80 นี้ ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ อย่างน้อยในประเทศอื่น อย่าง สหรัฐอเมริกาก็คงทำไม่ได้แน่ เพราะเขามีกฎหมายที่ควบคุมการผูกขาด และมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ถึงขนาดที่บริษัทยักษ์อย่างไมโครซอฟท์ ก็ยังต่อกรไม่ได้
แต่ของไทยน่ะหรือ…ก็ทำแค่เพียงบอกว่าการควบรวมกิจการของร้านสะดวกซื้อใน ปี 2563 เป็นการ ‘มีอิทธิพลเหนือตลาด แต่ไม่ผูกขาด’ เท่านั้น
เรื่องนี้ต้องมี…กขค.
เมื่อมีการแข่งขัน ก็ต้องมีกรรมการ และ กขค. ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถีงก้างขวางคอแต่อย่างใด ทว่าหมายถึง ‘คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า’ (กขค.) ที่แม้จะมีบทบาทสำคัญตามชื่อ แต่กลับทำหน้าที่ได้ไม่สมศักดิ์ และคล้ายว่าผลประโยชน์ที่ควรจะเป็นของคนส่วนรวม กลับเทไปทางผลประโยชน์ของคนส่วน (ทุน) ใหญ่ ทั้งที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจ (มั้ง) หรืออาจเป็นฉันเองที่มองไม่เห็นความพยายามในการผดุงประโยชน์ของประชาชน
แม้ว่าในตอนนี้เราจะย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ใช่ว่าข้างหน้าจะไร้หนทาง การบังคับให้บริษัทที่ได้สัดส่วนตลาดมากถึงร้อยละ 84 ขายหุ้นหรือขายกิจการบางส่วนออกไป คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ฉันคิดว่ามันน่าจะพอเป็นทางออกที่ทำให้รายย่อยในห่วงโซ่ได้พอมีที่ทางในการดำเนินธุรกิจ โดยมีกขค. เป็นผู้นำทีมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการร่วมมือกับภาคประชาชนร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อลดความผูกขาดที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย ไม่เป็น ‘เสือกระดาษ’ อย่างที่เคยถูกครหา และสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้หากมนุษย์ กขค. ตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกภาคส่วนและทุกระดับ
ทั้งหมดนั้นก็เพื่อรักษาช่องทางทำกินของประชาชนทุนเล็กๆ รักษาชีวิตรายย่อย รักษาทางเลือก และความมั่นคงทางอาหารของประชาชนให้ยั่งยืนต่อไป
อ้างอิง
ศรีอำไพ อิงคกิตต. (6 สิงหาคม 2567). LH Bank. เข้าถึงได้จาก https://www.lhbank.co.th/getattachment/9612b5da-59cd-4b8c-b17f-558609400208/economic-analysis-Industry-Outlook-2024-Convenience-Stores-2024
Thiraphon Singlor. (3 มกราคม 2565). SDG Vocab | 04 – Food Security – ความมั่นคงทางอาหาร