เรื่องและภาพประภาพ: สิทธิเดช สายพัทลุง
Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘ลาก่อน เอริ’ หรือ ‘Goodbye Eri’
‘ภาพยนตร์’ สื่อบันเทิงภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเล่าเรื่องราวได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องราวความสุขจนต้องยิ้มตาม หรือเรื่องราวการจากลาที่ทำให้กลั้นน้ำตาแทบไม่ไหว ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีสิ่งสำคัญที่อยากจะสื่อฝังไว้ในเรื่องราวเหล่านั้นอยู่เสมอ
ในนัยหนึ่ง เราที่เป็นผู้รับชมภาพยนตร์จะได้ซึมซับเรื่องราวต่างๆ ของตัวละครภายในเรื่องอย่างเต็มที่ ชนิดที่ว่าเราอาจจะรู้จักตัวเขาดีกว่าเขาเองเสียอีก ซึ่งมันทำให้เราสามารถดื่มด่ำและรู้สึกร่วมไปกับตัวละครตัวนั้นได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ราวกับเราได้ใช้ชีวิตร่วมกันกับเขา หรือบางครั้งอาจจะเหมือนเราเป็นเขาเลยเสียด้วยซ้ำ
แต่ในอีกนัยหนึ่ง มันก็สามารถเปลี่ยนสถานะของตัวละครเหล่านั้น จากผู้ประสบเหตุและมีความเกี่ยวข้องให้กลายเป็นผู้ชมที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องราวที่อยู่ตรงหน้าได้ อย่างในเรื่องราวของ ‘ลาก่อน เอริ’ หรือ ‘Goodbye Eri’ การ์ตูนสั้นที่เล่าเรื่องราวของเด็กชายที่ถูกแม่ไหว้วานให้ถ่ายคลิปช่วงเวลาสุดท้ายของเธอ จนนำไปสู่ปมปัญหาในใจที่ไม่อาจแก้ไขได้ของเขา
การเปลี่ยนไปเป็นผู้ชมทำให้เด็กชายสามารถทนรับความรู้สึกเสียใจได้ในระดับหนึ่ง แต่มันก็ไม่มากพอที่จะทำให้เขาอยากจะใช้ชีวิตต่อ และในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่เขาจะปลิดชีพตัวเอง ก็ได้มีการปรากฏตัวของเด็กสาวจากโรงเรียนเดียวกัน ผู้ที่จะมาทำให้ชีวิตของเด็กชาย ‘ยูตะ’ เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
ภาพประกอบจาก : https://www.viz.com/goodbye-eri
‘ลาก่อน เอริ’ หรือ ‘Goodbye Eri’ คือหนังสือการ์ตูนเรื่องสั้นเล่มเดียวจบ (One-shot) โดยนักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่น ‘ทัตสึกิ ฟูจิโมโตะ’ (Tatsuki Fujimoto) ซึ่งมีผลงานที่กำลังโด่งดังแบบหยุดไม่อยู่ในช่วงเวลานี้อย่าง ‘Chainsaw Man’ โดยเจ้าตัวได้เริ่มเขียนเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ปี 2018 และได้หยุดเขียนไปในช่วงปี 2020 ก่อนที่จะกลับมาดำเนินเรื่องต่อในปี 2022 ซึ่งในระหว่างที่หยุดไปนั้น เขาก็ได้เขียน One-shot ขึ้นมาสามเรื่อง คือ ‘Just Listen to the Song’ ‘Look Back’ และ ‘Goodbye Eri’
ซ้ายบน : Look Back ซ้ายล่าง : Goodbye Eri ขวา : Just listen to the song
เรื่องราวของ ‘อิโต้ ยูตะ’ (Ito Uta) เด็กนักเรียนม. 1 ที่ได้รับมือถือเครื่องใหม่จากแม่ของเขา เพื่อให้เขาถ่ายวิดีโอของแม่ที่ต้องต่อสู้กับโรคร้ายในช่วงบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่เขาจะนำวิดีโอทั้งหมดมาตัดต่อให้กลายเป็นหนังแล้วนำไปเปิดแสดงที่งานโรงเรียน
ซึ่งผลลัพธ์นั้นก็ออกมาดีอย่างไม่น่าเชื่อ…ที่ไหนกันล่ะ
แม้แม่ในเรื่องจะออกมาดูดีขนาดไหน แต่ทุกคนก็บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าหนังของยูตะนั้นเรียกได้ว่าเข้าขั้น ‘ห่วยแตก’ ถึงขนาดที่อยากจะลบความทรงจำเกี่ยวกับหนังที่พึ่งดูไปเสียตั้งแต่ตอนนั้น อย่างฉากจบ ที่ยูตะวิ่งหนีออกมาจากโรงพยาบาลที่แม่รักษาตัวอยู่ แล้วหลังจากนั้นโรงพยาบาลก็ได้ระเบิดกลายเป็นจุล มันยิ่งทำให้ถูกพูดถึงในแง่ที่ว่า ‘เอาความตายของแม่มาเล่นตลกแบบนี้ได้ยังไง’
“ทำไมต้องเอามาทำเป็นหนังด้วย? มันไม่ควรหรือเปล่า? เพราะอะไร?”
“ผมถ่ายไปประมาณ 100 ชั่วโมงได้…เลยพยายามตัดให้คนดูง่ายๆ แล้วพอใส่เพลงดีๆ เข้าไป…มันก็กลายเป็นหนังไปซะแล้วครับ”
“แล้วฉายหนังแบบนี้ไม่รู้สึกผิดกับคุณแม่ที่เสียไปบ้างรึไง?”
“ครับ ไม่ครับ…เอ่อ เปล่าครับ”
“แล้วตอนสุดท้าย…ทำไมต้องระเบิดด้วย?”
“…ก็เจ๋งดีออกนี่ครับ?”
บทสนทนาระหว่างยูตะและอาจารย์ประจำชั้น ก่อนที่จะถูกดุว่ามองความตายเป็นเรื่องที่เจ๋งได้ยังไง
หลังจากเรื่องราวทั้งหมด ยูตะเลือกที่จะถ่ายคลิปสั่งลา ก่อนที่จะไปปลิดชีพตัวเองลงด้วยการกระโดดลงมาจากดาดฟ้าโรงพยาบาลที่คุณแม่เคยรักษาตัว ทว่าก็ถูกขัดจังหวะด้วยหญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกันที่เหมือนจะไม่ได้มาช่วยสักเท่าไร
“จะโดดเหรอ”
“เอ๋…”
“ถ้าอยากตายก็อย่ามาทำที่โรงพยาบาลนี้เลย เครดิตเขาเสียหมด…ไม่จริงน่า? หรือว่านายคืออิโต้ ยูตะ เจ้าของหนัง Dead Explosion Mother เหรอ?”
“อา…อื้ม..”
“ตามฉันมานี่”
บทสนทนาแรกระหว่างยูตะ และเด็กสาวที่เขาได้รู้จักชื่อเธอในภายหลังว่าคือ ‘เอริ’
เธอจูงยูตะออกมาเพื่อให้เขามานั่งดูหนังกับเธอที่ตึกร้างแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงเอ่ยไปว่าหนังของเขานั้นมัน ‘โคตรเจ๋ง!’ และรู้สึกแย่มากที่คนทั้งโรงเรียนหัวเราะเยาะมัน ทั้งที่เธอนั่งร้องไห้อยู่คนเดียว เพราะงั้นเธอเลยอยากให้ยูตะทำหนังขึ้นมาอีกหนึ่งเรื่อง โดยต้องการให้คนทั้งโรงเรียนน้ำตาแตกไปกับมันให้ได้
ภาพประกอบจาก : https://theanimeview.tumblr.com/post/685453180706914304/goodbye-eri-analysis-part-two
ทั้งยูตะและเอริได้ใช้เวลาด้วยกันเพื่อดูหนังและปรึกษากันเกี่ยวกับหนังที่อยากถ่ายอยู่ตลอด จนได้หนังเรื่องใหม่ที่เป็นเรื่องราวของนักเรียนที่ถูกแม่ไหว้วานให้ถ่ายคลิปก่อนที่ตัวเองจะตาย เขาได้นำมันไปฉายในงานโรงเรียนจนโดนหัวเราะเยาะ และได้พบกับ ‘แวมไพร์’ ที่ชอบหนังเรื่องนี้ จนมาชวนเขาทำหนัง
ใช่…มันคือเรื่องราวของยูตะนั่นแหละ
เอริถูกใจเรื่องราวและปมของตัวละครที่ยูตะเล่า จากนั้นเรื่องราวจึงถูกเพิ่มเติมมิติของตัวละครแวมไพร์สาวเข้าไปอีก ด้วยการบอกว่าเธอนั้นกำลังจะตาย และเหตุผลที่รั้งนักเรียนคนนี้ไว้ก็เพื่อต้องการทำหนังเกี่ยวกับเรื่องราวของตัวเองขึ้นมา เพราะแม้จะอยู่มาหลายร้อยปี แต่ในตอนที่กำลังจะตาย… เธอกลับกลัวที่จะถูกลืม
ทั้งคู่ตกลงที่จะทำหนังเรื่องนี้ให้ออกมาสมบูรณ์ให้ได้ แต่ก่อนอื่นใด ยูตะนั้นอยากชวนเอริไปกินข้าวร่วมกับพ่อของเขาสักครั้ง ทั้งได้เจอหน้ากัน รวมถึงจะได้ถ่ายฉากในหนังไปด้วยเสียเลย
“อันนี้ไม่ใช่บทที่พูดนะคะ… แต่จะดีจริงๆ เหรอคะ? ที่จะให้ยูตะคุงถ่ายหนัง
ถ้าหนังออกมาไม่ดีก็จะถูกล้ออีกแน่ ถูกทำเหมือนเป็นของเล่นนะคะ ทั้งหนู ทั้งยูตะ…
หรือแม้กระทั่งคุณพ่อเองก็อาจจะได้รับความเจ็บปวดไปด้วยกันนะคะ?”
“อืม…อันนี้เพื่อนพ่อเป็นคนพูดนะ งานประพันธ์น่ะ
มันคือสิ่งที่เข้าไปสะกิดปมของผู้เสพจึงทำให้เขาทั้งหัวเราะและร้องไห้ได้ใช่มั้ยล่ะ?
ดังนั้นถ้าผู้สร้างไม่เจ็บปวดอะไรเลยมันก็ไม่ยุติธรรมสิ”
บทสนทนาระหว่างคุณพ่อและเอริ ก่อนที่จะถามลูกชายว่าประโยคที่เล่าให้ฟังนั้นเท่พอจะใส่เข้าไปในหนังของเขาด้วยมั้ย
การถ่ายหนังของทั้งคู่เป็นไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งอาการป่วยที่เอริเผชิญมาตลอดกำเริบและไม่สามารถแอบซ่อนมันไว้ได้อีก สุดท้ายสิ่งที่เธอขอให้ยูตะทำนั้น ไม่ต่างอะไรกับแม่ของเขาเมื่อครั้งที่ซื้อโทรศัพท์เครื่องที่ใช้อยู่นี้ให้
“ช่วยถ่ายคลิปฉันไปเรื่อยๆ? จนกว่าจะตายได้ไหม เหมือนในเรื่องที่ยูตะคิดไว้”
ยูตะที่ยอมรับความจริงไม่ได้เลือกที่จะวิ่งหนีจากโรงพยาบาลและขังตัวเองอยู่ในห้อง และถูกขัดจังหวะโดยพ่อที่รับรู้เรื่องอาการป่วยของเอริแล้วเช่นกัน พ่อของเขาจึงได้เฉลยเรื่องราวอีกด้านของการถ่ายทำคลิปคุณแม่ที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในหนังของยูตะมาก่อน…
แม่ของยูตะนั้นเป็นโปรดิวเซอร์รายการทีวี เพราะอย่างนั้นเธอจึงต้องการที่จะถ่ายเรื่องราวของเธอที่ต้องต่อสู้กับโรคร้ายให้กลายมาเป็นสารคดี แต่ด้วยความไม่สะดวกของพ่อ หน้าที่ตากล้องก็ต้องตกไปเป็นของยูตะแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแม่ของเขานั้นทำร้ายเขาสารพัด ทั้งดุด่าเรื่องคุณภาพของคลิปที่ถ่าย ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายด้วยการต่อยและตบตีที่ใบหน้าของยูตะ
ทว่าสิ่งที่ทำให้พ่อตกใจจริงๆ ก็คือเมื่อถึงคราวที่คลิปถูกเผยแพร่ออกไป มันกลับมีแต่ภาพของคุณแม่ในมุมที่สวยงามและใจดีอยู่ภายในนั้น เหมือนกับว่ายูตะตั้งใจตัดเรื่องราวด้านร้ายๆ ของคุณแม่ออกไปจนหมด ซึ่งพ่อคิดว่าเอริก็คงต้องการสิ่งนี้จากยูตะเหมือนกัน…การเหลือแต่สิ่งดีๆ เอาไว้
ยูตะกลับไปหาเอริอีกครั้งเพื่อขอเธอถ่ายหนังต่อจนกว่าเรื่องราวทั้งหมดจะจบ มันมีเรื่องราวต่างๆ ที่ทั้งสวยงามและน่าคนึงหา ภาพที่ทั้งคู่ไปเที่ยวด้วยกัน กินของหวาน เล่นกับแมว ทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสายตาของยูตะ จนกระทั่งฉากสุดท้าย เอริที่กำลังนอนซมอยู่บนเตียงโรงพยาบาล แม้ตอนนี้เธอจะอยู่ในสภาพซูบผอมด้วยอาการป่วย…แต่ภาพของเธอที่ถูกถ่ายทอดออกมาก็ยังคงสวยงามไม่เปลี่ยน
ภาพประกอบจาก : https://theanimeview.tumblr.com/post/685453180706914304/goodbye-eri-analysis-part-two
“เอริน่ะ อยากให้ผมทำหนังแบบไหนเหรอ?”
“ก็เหมือนที่บอกไปตอนแรกนั่นแหละ”
“บอกว่าไงนะ?”
“หนังที่ทำให้ทุกคนน้ำตาแตกไง”
บทสนทนาสุดท้ายระหว่างเขากับเอริ ที่สามารถทำให้ทุกคนน้ำตาแตกได้สำเร็จแล้ว
เรื่องราวเหมือนจะจบลงอย่างสวยงาม แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย หลังจบจากงานโรงเรียนครั้งนี้ยูตะเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาตัดหนังของเอริซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น ถึงแม้เขาจะสร้างครอบครัวและมีลูกสาวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงตัดต่อหนังนั้นต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน จนจุดเปลี่ยนได้เกิดขึ้นมาอีกครั้งนึง
เมื่ออุบัติเหตุคร่าชีวิตทั้งพ่อ ภรรยา และลูกสาวของยูตะไป มันทำให้เขาที่เคยเผชิญความตายของคนสำคัญด้วยการมองผ่านเลนส์กล้องมาตลอด ไม่สามารถแบกรับความสูญเสียนี้ได้ จนทำให้เขากลับมาอัดคลิปตัวเองอีกครั้ง และกำลังจะไปปลิดชีพตัวเอง ที่สถานที่แห่งความทรงจำระหว่างเขากับเอริ
แต่ที่น่าแปลกคือในตึกร้างที่ไม่ควรจะมีใครอยู่ ในห้องที่ควรจะมีแต่โปรเจกเตอร์ฉายหนังฝุ่นเขรอะถูกตั้งทิ้งไว้ มันดันกลับถูกเปิดอยู่ พร้อมกับฉายภาพของหนังที่เขาทำ และคนที่นั่งดูมันอยู่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน…เอรินั่นเอง
ภาพประกอบจาก : https://www.cbr.com/goodbye-eri-tatsuki-one-shot-manga/
“จบแบบคนรักตายเนี่ย ธรรมดาจะตาย ครึ่งหลังอยากให้มันอิมแพกต์หน่อยอะ มันยังแฟนตาซีไม่พอ”
“เอริกำลังคุยกับผมเหรอ?”
“เอริก็กำลังคุยกับคุณอยู่นี่ไงคะ”
“…มีสิ แฟนตาซีน่ะ ก็แต่งให้เธอเป็นแวมไพร์แล้วไง”
“นั่นไม่ใช่แฟนตาซีสักหน่อย ในเมื่อฉันเป็นแวมไพร์จริงๆ นี่นา”
เอริบอกว่าตัวเองนั้นเป็นแวมไพร์ ที่แม้ร่างกายจะเป็นอมตะแต่สมองนั้นไม่ มันจะคงอยู่ได้เพียง 200 ปีเท่านั้นก่อนที่จะถูกรีเซ็ต เธอจึงต้องเขียนจดหมายทิ้งไว้ให้เธอคนถัดไปเสมอ ว่าชีวิตก่อนหน้านี้เกิดเรื่องอะไรขึ้นบ้าง และในรอบนี้มันดีกว่าทุกครั้ง ก็เพราะว่ามีหนังของยูตะเพิ่มขึ้นมาให้เธอจำตัวเองได้มากขึ้น
“ทุกครั้งที่ฉันดู ฉันจะได้พบกับนายอีกครั้ง และต่อให้ฉันจะลืมนายไปอีกสักกี่หน
ไม่ว่าจะสักกี่ครั้งก็จะยังนึกถึงนายได้เสมอ นี่มันวิเศษไปเลยไม่ใช่เหรอ?”
“…อื้ม วิเศษไปเลยนะ”
“ฉันไม่อยากดูหนังไปคุยไปหรอกนะ ถ้าไม่ดูก็ช่วยกลับไปทีได้มั้ย?”
“อา…ลาก่อนนะ”
“อื้ม…ลาก่อน”
บทสนทนาสุดท้ายของเขากับเอริ อีกครั้งหนึ่ง
หลังจากคุยจบ ยูตะก็ล้มเลิกสิ่งที่ตัวเองต้องการจะทำ เขาเดินออกมาจากตึกร้างแห่งนั้นพร้อมกับใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้ม และเมื่อเดินออกมาในระยะที่ไกลมากพอ ตึกร้างแห่งนั้นก็กลายเป็นจุลเพราะระเบิด…จบบริบูรณ์
ภาพประกอบจาก : https://www.reddit.com/r/ChainsawMan/comments/16p5rvl/goodbye_asa_goodbye_eri_fujimotos_intertwined/?rdt=49049
จากเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านมา จะทำให้เราเห็นว่ายูตะที่มองความตายในฐานะผู้ชมมาตลอด จนเมื่อถึงคราวที่ต้องเผชิญหน้ากับความตายด้วยตาเนื้อของตัวเอง เขากลับไม่สามารถยอมรับมันได้ และเกือบจะจบชีวิตของตัวเองอีกครั้ง เหมือนตอนที่แม่ของเขาเสียไป คือประเด็นหลักที่เรื่องราวต้องการจะสื่อออกมา การเผชิญหน้ากับความตายและการยอมรับมัน
สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างของการ์ตูนเรื่องนี้นอกจากเนื้อเรื่องและการหักมุมในตอนจบแล้ว คือเทคนิคการวาดที่สร้างอิมแพกต์ต่อคนดูได้มาก ด้วยการจัดช่องภาพให้มีแต่ช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าในจำนวนที่ไม่เกิน 4 ช่อง ทำให้ตลอดการอ่านไม่ต่างกับการดูหนังเรื่องหนึ่งบนจอเลย
บน: ช่องภาพในการ์ตูนทั่วไป ล่าง: ช่องภาพใน ‘ลาก่อน เอริ’
ภาพประกอบจาก : https://www.pinterest.com/pin/903112531499983755/https://www.pinterest.com/pin/903112531499983755/
https://www.tcj.com/reviews/goodbye-eri/
ยิ่งไปกว่านั้น เทคนิคการวาดแบบนี้ยังสอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่สลับระหว่างการถ่ายหนังและเรื่องจริงอยู่ตลอด มันทำให้คนอ่านเกิดความสับสนว่า ช่องไหนคือเรื่องจริง หรือช่องไหนคือการถ่ายหนังกันแน่ แถมการจะทำให้คนดูสับสนได้นั้น จำเป็นต้องใช้เทคนิคในการวาดที่ทั้งแม่นยำและลำดับเรื่องมาอย่างดีเยี่ยม ซึ่งฟูจิโมโตะมาสามารถทำได้
สุดท้ายเรื่องราวจะจบที่ตรงไหนกันแน่ เอริเป็นแวมไพร์จริงมั้ย? หรือเป็นเพียงภาพหลอนของยูตะกันแน่ หรือสุดท้ายตึกร้างนั้นระเบิดจริงๆ หรือมันคือแค่ในจินตนาการของยูตะอีกเหมือนกัน?
เราไม่อาจรู้ได้เลย…
และบางทีอาจไม่จำเป็นต้องรู้มันก็ได้
จบบริบูรณ์