เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์
ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี
ในเมืองกรุงอันแสนกว้างใหญ่ แม้จะเป็นเวลากลางคืนที่ฟ้ามืดสนิท แสงจากไฟถนนและตึกยังคงส่องสว่างเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญ และในเมืองที่ไม่มีวันดับแสงนี้ การจะเห็นดาวที่ลอยอยู่เต็มผืนฟ้าช่างยากเหลือเกิน
แม้แสงไฟจะเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ แต่ไม่ใช่ทุกที่จะเหมาะสมกับความสว่างไสวนี้ เราจึงจำเป็นต้องมี ‘เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด’
.
มลภาวะจากแสงไฟ ภัยร้ายที่คุกคามธรรมชาติ
การที่เราจะอนุรักษ์อะไรสักอย่าง นั่นหมายความว่าสิ่งนั้นมีอยู่น้อยหรือว่าเป็นสิ่งที่ควรสงวนไว้ เพราะมีความสำคัญ ‘ท้องฟ้ามืด’ เองก็เช่นกัน แต่มันก็ชวนให้นึกสงสัยว่าทำไมเราต้องอนุรักษ์ท้องฟ้ายามค่ำคืนตามวัฏจักรของการหมุนรอบตัวเองของโลก ที่วนมาทุกวันและไม่มีทางจะแปรเปลี่ยนไป
แท้จริงแล้วสิ่งที่เราจะต้องอนุรักษ์ไม่ใช่ชั้นบรรยากาศบนท้องฟ้า ทว่าเป็นพื้นโลกในเขตที่ไร้ซึ่งแสงไฟสังเคราะห์จากมนุษย์ เพราะไฟสังเคราะห์หรือแสงจากหลอดไฟนับเป็นมลภาวะชนิดหนึ่ง หรือเรียกง่ายๆ ว่า มลภาวะทางแสง (light pollution) ที่กระทบต่อระบบนิเวศและเพื่อนร่วมโลกชนิดอื่นด้วยเช่นเดียวกัน
ข้อมูลจากหน่วยงานอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่า ฟลอริดา (FWC) ได้บอกเอาไว้ว่าแสงไฟที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือแสงที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนอาจจะทำให้ชีวิตของสัตว์ป่าเกิดความผันผวนและผิดเพี้ยนไปจากวิถีชีวิตเดิมได้ บ้างก็สับสนว่าเวลาไหนเป็นกลางวันหรือกลางคืน และออกหากินผิดเวลา บ้างก็ถูกแสงไฟดึงดูดให้ออกมาจากแหล่งอาศัยที่ควรอยู่ จนบางครั้งก็ตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าเอาได้ง่ายๆ บ้างก็ถูกไล่ออกจากแหล่งอาศัยเดิมจนทำให้สูญเสียบ้านไป นอกจากนี้ผลกระทบจากแสงก็อาจส่งผลต่อสัตว์แต่ละชนิดต่างกันไปอีก
ไม่ว่าจะเป็นแมลงที่โดนความร้อนจากดวงไฟแผดเผาโดยตรง นกอพยพที่สับสนว่าตัวเองควรจะหยุดพักได้เมื่อไหร่เพราะฟ้าไม่มืดเสียที ทำให้พวกมันต้องบินไปจนหมดแรง เวลาของหาอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ผิดเพี้ยนไป หรือแม้กระทั่งมนุษย์เองที่ยังต้องพึ่งพาความมืดมิดให้ตัวเองหลับได้สนิทเพื่อฟื้นฟูร่างกายอย่างเต็มที่ และนี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างความเสียหายไม่กี่อย่างที่้เกิดขึ้นจากแสงไฟประดิษฐ์ของมนุษย์
.
เมืองใหญ่ไร้ทิศทาง
แน่นอนว่าแสงไฟที่เป็นภัยต่อธรรมชาติไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หากแต่มาจากหลอดไฟที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้อำนวยความสะดวกสบาย ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ฉันคงพูดไม่ได้เต็มปากว่าหลอดไฟแอลอีดีมันเป็นตัวร้ายที่ทำลายเพื่อนร่วมโลก เพราะฉันยังใช้ประโยชน์จากมันอยู่แทบจะทุกนาที ฉะนั้นแล้วฉันจะขอพุ่งเป้าไปที่ ‘แสงไฟส่วนเกิน’ ตัวการใหญ่ที่ทำให้เกิดมลภาวะทางแสง ซึ่งมาจากการติดตั้งสาธารณูปโภคประเภทดังกล่าวอย่างไร้แบบแผน จนทำให้ระบบนิเวศดั้งเดิมทรุดลงในแบบที่เราอาจจะมองไม่เห็น
อย่างที่บอกไปว่า แม้แสงไฟคือสัญลักษณ์ของความเจริญ แต่แสงไฟที่ส่องสุ่มสี่สุ่มห้าแบบลืมโลกนั้นแสดงถึงความล้าหลังอย่างมาก ในยุคสมัยที่ความยั่งยืนและความกรีนนนนนเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงยิ่งกว่าสิ่งใด การขยายเขตเมืองก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะละเว้นจิตสำนึกในข้อนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
มลภาวะทางแสงที่เกิดขึ้นจากแสงไฟส่วนเกินที่มากกว่าความต้องการการใช้งาน มีอยู่ 3 ประเภทหลักๆ ด้วยกัน เริ่มด้วยแสงเรืองบนท้องฟ้า แสงจากไฟที่ส่องไปยังพื้นโลกและสะท้อนขึ้นไปบนท้องฟ้า
แถมกระเจิงผ่านฝุ่นละอองและมวลเมฆ ทำให้ความสว่างนี้กระจายเป็นวงกว้างเข้าไปอีก เหมือนแสงไฟที่ส่องถนนแล้วสะท้อนขึ้นตรงสู่ท้องฟ้า ต่อมาเป็นแสงเจิดจ้าที่พุ่งเข้ามาในดวงตาของเราโดยตรง อย่างเช่นไฟรถคุกกี้จากค่ายโตโยต้า (ฟอร์จูน (เนอร์) คุกกี้) ที่มีไฟสูงแรงแยงตารถคันหน้าแบบไม่เว้นว่าใคร จนทำให้เรามองไม่เห็นสิ่งอื่นๆ โดยรอบ ส่วนสุดท้ายก็คือแสงรุกล้ำ หรือแสงที่เราไม่ต้องการ อย่างไฟจากถนนสายหลักที่ลอดผ่านม่านเข้ามาในตอนที่เรากำลังจะนอน จนเราไม่อาจหลับได้ลง
มลภาวะทางแสงเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์นานาชนิด ฉะนั้นหากว่าจังหวัดไหนในประเทศไทยกำลังมีแผนจะขยายเมืองให้กว้างขึ้น สิ่งนี้ก็ควรจะถูกบรรจุไว้ในการประเมินโครงการด้วย เพราะการขยายเมืองโดยปราศจากแผนก็อาจจะทำให้มนุษย์กลายเป็นตัวร้ายในระบบนิเวศไปอีกก็ได้
ถึงแม้ว่าในส่วนที่เป็นเมืองไปแล้วเราก็คงจะย้อนกลับไปแก้อะไรไม่ได้ (และความเป็นเมืองก็ไม่ได้ผิดอะไร) แต่เราควรจะมีพื้นที่ที่สามารถรักษาความเป็นธรรมชาติเอาไว้ได้ด้วย
.
‘เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด’
หากว่าแสงไฟเป็นสัญญะของเมืองใหญ่ ผืนดาวที่สกาวเต็มนภาก็คงหมายความถึงความสงบของระบบนิเวศได้เหมือนกัน
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสามารถเป็นพื้นที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบ้านคน ในป่า หรืออุทยานใดๆ ขอแค่ในบริเวณนั้นสามารถเห็นดาวด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน และมีการใช้แสงไฟสังเคราะห์ในปริมาณที่ไม่รบกวนระบบนิเวศ และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยตารางเมตร เพียงเท่านี้หลังบ้านสวนของคุณก็สามารถเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดหนึ่งในไม่ถึงห้าสิบที่ในไทยได้แล้ว
อ้างอิง
Florida Fish and Wild Life Commission. (ไม่ปรากฎวันที่เผยแพร่). About Lighting Pollution. สืบค้นได้จาก https://myfwc.com/conservation/you-conserve/lighting/pollution/
BBC NEWS THAI. (7 มากราคม 60). พบเมืองใหญ่ขยายตัวกระทบต่อวิวัฒนาการพืชและสัตว์นับพันชนิด. สืบค้นได้จากhttps://www.bbc.com/thai/features-38540746#:~:text=%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%9A,%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87
ณภัทรดนัย. (11 มกราคม 66). มลภาวะทางแสง มีอะไรบ้าง และส่งผลต่อชีวิตอย่างไร. สืบค้นได้จาก https://ngthai.com/science/46187/light-pollution/
Dark Sky. (ไม่ปรากฎวันที่เผยแพร่). มลภาวะทางแสง. สืบค้นได้จาก https://darksky.narit.or.th/%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87/
วริษฐา จงวิสุทธิ์. (5 เมษายน 66). ความมืดมิดที่ควรรักษา: เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด. สืบค้นได้จาก https://www.onep.go.th/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2-%E0%B9%80/