เรื่อง : กัลย์สุดา ทองดี, ฐิตารีย์ ทัดพิทักษ์กุล, ณัฏฐณิชา มาลีวรรณ, ณิชกุล หวังกลุ่มกลาง, เบญจรัตน์ วิรัตรมณี, พิชชาสรรค์ ฉายภมร, สลิลทิพย์ ผันสูงเนิน
ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา
หลังจากเทศกาลปีใหม่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แม้จะมีเรื่องราวอันน่ายินดีเกิดขึ้นมากมาย ทว่าอีกหนึ่งหัวข้อที่ถูกนำมาพูดถึงในวงสนทนาของคนอยากกลับบ้านยังคงเป็นเรื่องเดิม “ก็จองตั๋วล่วงหน้าไปสิ 2 เดือน ได้กลับแน่” คำตอบที่ดูปกติ แต่มองเข้าไปแล้วกลับเป็นเรื่องตลกร้าย สะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีจนชินชา หากมองให้ลึกลงไป เรื่องนี้มันผิดที่เราวางแผนได้ไม่ดี หรือเป็นเพราะระบบขนส่งสาธารณะมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้เรา
เพราะความคิดถึงจึงพาเรากลับบ้าน แต่ระหว่างทางกลับต้องพบเจออุปสรรคมากมาย หนึ่งในปัญหาใหญ่นั้นคือการเดินทางกลับโดยการใช้บริการขนส่งสาธารณะ เสียงสะท้อนจากคนต่างจังหวัดที่อยากกลับบ้าน แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเดินทางกลับด้วยวิธีใดก็มักพบเจอปัญหาอยู่ในนั้นเสมอ
ย้อนกลับไปในช่วงก่อนขึ้นปีใหม่ 2567 บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) คาดการณ์ว่าผู้คนกว่า 70,000 คนต่อวัน
จะออกเดินทางกลับภูมิลำเนาระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึง 1 มกราคม 2567 ด้วยรถโดยสารกว่า 4,000 เที่ยว เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในต้นปี 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้เดินทางประมาณวันละ 50,000-55,000 คน ทำให้ทราบถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้นนับหมื่นคนในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี แม้ตัวเลขดูเหมือนบ่งบอกถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางของผู้คน แต่ในความเป็นจริงปัญหาความแออัดกลับเป็นตัวเลือกที่ผู้เดินทางจำใจต้องยอมรับและเผชิญ
ปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่ระบบขนส่งสาธารณะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณรถสำหรับการให้บริการกลับไม่เป็นเช่นนั้น เห็นได้จากจำนวนรถไฟเส้นทางขาออก กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ ในช่วง 2-3 วันก่อนสิ้นปี มีเพียงวันละ 5 ขบวน ทว่าตั๋วกลับเต็มล่วงหน้านานนับ 2 เดือน แม้จะมีการขยายเวลาการจองล่วงหน้าจาก 30 วัน เป็น 90 วันแล้วก็ตาม หากไม่สามารถจองตั๋วได้ทัน ก็ต้องเลือกรับบริการขนส่งสาธารณะประเภทอื่นที่เป็นตัวเลือกสำรองอย่างรถเสริม หากใครโชคไม่ดีพอ สิ่งที่พบเจออาจมีตั้งแต่สภาพรถที่ไม่น่าไว้ใจ
ไปจนถึงคนขับที่ทำงานล่วงเวลา การเดินทางทั้งที่ในหัวกำลังคิดว่า จะถึงปลายทางไหมหรือจะถึงแบบสภาพไหน เป็นสิ่งน่าวิตกกังวลแต่ต้องยอมจำนน เพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า รวมถึงรถไฟรอบพิเศษที่จัดในวันสิ้นปีซึ่งไม่สามารถระบุเวลากลับที่ชัดเจนได้ รถไฟชั้น 3 จึงอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่นอกจากจะไม่ได้รับความนิยม ยังเป็นทางเลือกที่ใครหลายคนพยายามหลีกเลี่ยง แม้จะมีราคาถูก แต่ความไม่สะดวกสบาย และเป็นรถพัดลม ทำให้ต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศ เพราะใช้เวลาในการเดินทางนานหลายชั่วโมง ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องห่วงทรัพย์สินและความปลอดภัยของตนเอง ที่สำคัญคือรถไฟยังมีความล้าสมัย เนื่องจากระบบรางและจำนวนสถานียังเป็นข้อจำกัด
ชาย ไชยชิต อาจารย์สาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เกิดจากรัฐวางระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ดี อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างไม่สมดุล จึงมีประชากรแฝงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ฯ เป็นจำนวนมาก และรัฐจะต้องลงทุนกับการสร้างพื้นฐานระบบขนส่งสาธารณะให้ทั่วถึงและครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งในปัจจุบันนั้นรถไฟยังมีเวลาเดินรถไม่แน่นอนและครอบคลุมไม่ทั่วทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่านอกจากจะต้องแย่งชิงตั๋วกันแล้ว การเดินทางต่อไปยังบ้านเกิดก็มีความยากลำบากตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง หากเพิ่มจำนวนรถและรอบรถจะแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ การจราจรจะเป็นอย่างไร จะทำให้เกิดอันตรายบนท้องถนนมากขึ้นหรือไม่ สิ่งเหล่านี้นอกจากทำให้เห็นถึงความไม่สมดุลระหว่างความต้องการเดินทางของประชาชนกับความสามารถในการรองรับของระบบขนส่งสาธารณะแล้ว การเพิ่มทางเลือกหรือขยายการรองรับ ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารได้ กลับกลายเป็นการจำยอมจนชินชา แต่ทำไมเราถึงต้องเผชิญกับปัญหาเรื้อรังเหล่านี้ เมื่อพิจารณานอกเหนือจากระบบขนส่งที่มีไม่เพียงพอแล้ว อะไรคือมิติที่เกี่ยวข้อง สิ่งใดคือเบื้องหลังที่ทำให้กรุงเทพฯ
มีระบบขนส่งสาธารณะที่แออัดเช่นนี้
สำหรับการแก้ไขปัญหาขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอในการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดที่พบเห็นได้ในช่วงเทศกาล โดยข้อมูลเพิ่มเติมจากบทสัมภาษณ์จะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงคมนาคมมีความพยายามอย่างมากในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ให้ดีขึ้นผ่านการกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานย่อย ไม่ว่าจะเป็นกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของการจราจรบนท้องถนน ซึ่งมีบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ให้บริการแก่ประชาชนในการเดินทางข้ามจังหวัดทั่วประเทศโดยรถบัส กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ที่ทำงานร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการควบคุมดูแล และวางแผนพัฒนามาตรฐานของระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร โดยปัจุบันกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการก่อสร้างรถไฟรางคู่ที่จะทำให้การโดยสารโดยรถไฟนั้นประหยัดเวลามากขึ้น รวมถึงรถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้การเดินทางจากต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกลนั้นใช้เวลาน้อยลง เมื่อการเดินทางมีความสะดวกมากขึ้น การกระจุกตัวของประชากรย่อมเบาบางลง เพราะมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
เราอาจต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปว่าทำไมผู้คนถึงหลั่งไหลเข้ามาในกรุงเทพฯ จนกลายเป็นเมืองที่การจราจรติดขัดที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย หรือเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีประชากรแฝงมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะประชากรแฝงกลางวันที่เข้ามาเรียนและเข้ามาทำงานก็มีมากถึงร้อยละ 55.3 และร้อยละ 52.5 ตามลำดับ ส่วนประชากรแฝงกลางคืนมีร้อยละ 32.8 ในปี 2566 สำหรับสาเหตุที่ทำให้คนต่างจังหวัดต้องเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ อย่างล้นหลาม มาจากโอกาสที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในสาขาที่ต้องการ หรือเพิ่มโอกาสในการทำงานที่หลากหลายพร้อมมาตรฐานรายได้ที่สูงกว่า
ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่การเติบโตและการพัฒนากระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียวจนเสียสมดุล ทำให้มีความแตกต่างกับพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการเป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของแรงงาน ผู้คนจึงหลั่งไหลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยคาดหวังผลตอบแทนและโอกาสที่ดีกว่าเดิม เพราะพื้นที่ต่างจังหวัดยังคงมีข้อจำกัด ตั้งแต่การศึกษาไปจนถึงโอกาสในการทำงาน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่หลายคนตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ความโดดเดี่ยวจากระยะทางจึงเป็นสิ่งที่พ่วงตามมา และการกลับบ้านจึงกลายเป็นแรงใจสำคัญของแรงงานไกลบ้าน
ท้ายที่สุดจากสารตั้งต้นในประเด็นเรื่องการกลับบ้านช่วงเทศกาลต่าง ๆ นอกเหนือจากปีใหม่แล้วนั้น เทศกาลถัดไปอย่างสงกรานต์ก็ยังเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญที่น่าจับตามองและสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการระบบการขนส่งสาธารณะ เพราะเมื่อมองให้ลึกเข้าไปจะเห็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก นำไปสู่คำถามสำคัญว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีการแก้ไขปัญหากันถูกจุดแล้วหรือยัง หรือเป็นเพียงการแก้จากปลายเหตุ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว รัฐบาลควรทำอย่างไร ดำเนินการไปในทิศทางไหน เพื่อให้การรอคอยที่จะกลับบ้านของทุกคน ได้ผลตอบรับที่ดีพอตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
อ้างอิง
กระทรวงคมนาคม [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.mot.go.th/intro
คณะก้าวหน้า. (2 พฤษภาคม 2565). ทำไมใครๆ หลายคนต้องจากบ้านมาเป็นแรงงานในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ? [ออนไลน์]. สืบค้นจากhttps://progressivemovement.in.th/movement/unlock-local-administration/8025/
ชาย ไชยชิต. 28 พฤศจิกายน 2567. สัมภาษณ์. อาจารย์สาขาวิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฐานเศรษฐกิจ. (9 พฤษภาคม 2567). เปิดสถิติ “ประชากรแฝง” ไทย 2566 เกือบ 10 ล้านคน กทม.ครองแชมป์. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/business/economy/595540#google_vignette
โพสต์ทูเดย์. (30 ธันวาคม 2566). บขส. จัดรถโดยสาร 4,000 เที่ยวรองรับประชาชนกลับภูมิลำเนาช่วงปีใหม่ 67[ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/general-news/703858
Jinnapat O. (10เมษายน 2567). ‘เมื่อโอกาสกระจุกตัวอยู่ใน กทม.’ ฟังความเจ็บปวดของเด็กรุ่นใหม่จากต่างจังหวัดที่มาหางานทำเมืองกรุง [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://thematter.co/social/economy/bangkok-pain-workers/224581