Art & CultureWritings

เมื่อความตายพาให้กลับบ้าน: พิธีศพอีสานผ่านสายตาคนรุ่นใหม่

เรื่องและภาพประกอบ: ภัชราพรรณ ภูเงิน

เสียงแจ้งเตือนข้อความดังขึ้นท่ามกลางความมืด ฉันหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู หน้าจอเรืองแสงบอกเวลา 05.22 น. ข้อความจากแม่ปรากฏขึ้นพร้อมประโยคสั้นๆ ที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ ‘ยายเสียแล้วนะลูก’

เหมือนเวลาถูกหยุดไว้ ฉันรีบเก็บของใช้ที่จำเป็นก่อนออกเดินทางไปยัง อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ บ้านที่เติบโตมา รถแล่นผ่านเส้นทางที่ดูคุ้นตา แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่การกลับบ้านที่คุ้นเคย

เมื่อห่างกันไกล สายใยรักและผูกพันจะค่อยๆ จางลง ฉันเชื่ออย่างนั้นมาโดยตลอด เพราะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าโทร. หายายครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ แต่ทันทีที่มาถึง และได้เห็นโลงศพตั้งอยู่กลางบ้าน ฉันมองภาพนั้นด้วยความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย น้ำตาพรั่งพรูออกมาโดยไม่อาจห้ามได้ มันเป็นครั้งแรกที่ฉันต้องสูญเสียบุคคลในครอบครัวที่รักและเคารพอย่างสุดหัวใจ

3 วันของการสวดอภิธรรมผ่านไปอย่างรวดเร็ว พิธีกรรมและความเชื่อยิบย่อยหลายอย่างที่ฉันไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินมาก่อนปรากฏขึ้นทีละอย่าง แม้ในใจจะเต็มไปด้วยข้อสงสัยมากมาย แต่ก็เลือกที่จะก้มหน้าทำตามไปโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ เพราะรู้ว่านี่คือสิ่งสุดท้ายที่สามารถทำให้ยายได้

‘หรือบางทีความเชื่อเหล่านี้อาจเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยประคองหัวใจที่แตกสลายให้ผ่านพ้นความเศร้าไปได้กันนะ’

เวลาผ่านไปยังไม่ทันถึง 2 เดือน ข่าวร้ายครั้งใหม่ก็มาเยือน คุณตาของฉันได้จากไปอีกคน ด้วยความที่เป็นการสูญเสียครั้งที่สอง การจัดเตรียมงานศพจึงราบรื่นกว่าครั้งก่อน (นิดหน่อย) ทำให้มีเวลาสังเกตและตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น และพบว่าพิธีกรรมยิบย่อยบางอย่างช่างดู ‘ไม่จำเป็น’ เอาเสียเลย

ความรู้สึกไม่จำเป็นนี้ทำให้เกิดความสงสัย จนต้องหาคำตอบให้ได้ มันมีอะไรซ่อนอยู่ในความคิดของคนรุ่นก่อนกันแน่

บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจพิธีกรรมและความเชื่อในงานศพของคนอีสาน ผ่านสายตาของคน Gen Z ที่สงสัยในความหมายของมัน มาดูกันว่าทำไมคนรุ่นก่อนถึงเชื่ออย่างสุดหัวใจ และบางที มันอาจช่วยให้คนรุ่นใหม่อย่างเราได้เข้าใจความหมายของการกระทำเหล่านี้ในมุมที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน

ให้ธูปเทียนคอยนำทาง หวังส่งวิญญาณถึงสวรรค์

การจุดธูปเทียนในงานศพเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในทุกภูมิภาค แต่สำหรับคนอีสานแล้ว การจุดธูปเทียนมีความหมายลึกซึ้งและเคร่งครัดเป็นพิเศษ ธูปและเทียนต้องส่องสว่างตลอดเวลา ห้ามดับโดยเด็ดขาด จนถึงขั้นที่ต้องจัดเวรยามเฝ้าเวียนกันทั้งวันทั้งคืน เพราะคนอีสานเชื่อว่า เส้นทางสู่สวรรค์นั้นยากลำบาก เต็มไปด้วยอุปสรรคและขวากหนาม ไม่ได้ราบเรียบและสะดวกสบายเช่นทางสู่นรก จึงไม่แปลกที่ผู้ไปสวรรค์จะมีจำนวนน้อยกว่าผู้ตกนรกอยู่มาก

ท่ามกลางความมืดมิดของโลกหลังความตาย แสงเทียนที่ส่องสว่างอยู่เสมอเปรียบเสมือนแสงนำทาง ช่วยให้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับมองเห็นหนทางไปสู่สวรรค์ได้ชัดเจน ส่วนควันธูปที่ค่อยๆ ลอยขึ้นสู่เบื้องบนนั้น เปรียบดังเส้นทางนำวิญญาณ เป็นเสมือน ‘จีพีเอส’ ให้กับดวงวิญญาณ ที่คอยชี้นำให้ผู้ล่วงลับเดินทางไปถึงสวรรค์ได้โดยไม่หลงทาง

อย่างไรก็ดี หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและกุศโลบายของคนโบราณในการป้องกันเหตุไฟไหม้ บ้านเรือนทางภาคอีสานในอดีตมักสร้างจากไม้ ซึ่งติดไฟได้ง่าย การจุดเทียนและธูปไว้ตลอดเวลาจึงมีความเสี่ยงสูง การให้คนคอยเฝ้าดูตลอดวันตลอดคืน จึงไม่เพียงแต่เป็นการส่องทางให้ผู้ล่วงลับ แต่ยังเป็นการป้องกันไฟไหม้บ้านได้อย่างแยบยล

ความเชื่อเรื่องธูปเทียนในงานศพของคนอีสานนี้ จึงไม่ใช่เพียงพิธีกรรมทางศาสนา หากแต่สะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง และภูมิปัญญาในการดูแลทั้งโลกของคนเป็นและคนตายได้อย่างงดงาม

พาข้าวสุดท้ายด้วยรักและอาลัย

การแต่งพาข้าว ในงานศพของคนอีสานเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่เต็มไปด้วยความหมาย ‘พาข้าว’ เป็นการจัดสำรับอาหารให้ผู้ล่วงลับได้กินอิ่มหนำสำราญเตรียมพร้อมสำหรับการออกเดินทางสู่ภพภูมิใหม่ แม้ร่างกายจะจากไปแล้ว แต่ญาติพี่น้องก็ยังคงส่งความรักความห่วงใยผ่านการตั้งใจจัดเตรียมสำรับนี้ให้ผู้ล่วงลับ

พาข้าวนี้ประกอบด้วยอาหารคาว หวาน น้ำดื่ม ยาสูบ และหมากพลู โดยอาหารมักเป็นอาหารดั้งเดิมของคนอีสาน เช่น ลาบ ส้มตำ ป่น โดยจะจัดให้ครบ 3 มื้อในทุกวันที่มีการสวดอภิธรรม เช่นเดียวกับตอนยังมีชีวิต 

ครั้งหนึ่ง ฉันเคยถามคุณยายผู้เป็นผู้นำในการจัดพิธีต่างๆ ว่า ทำไมไม่ใส่อาหารสมัยใหม่ที่คนรุ่นหลังนิยม เพราะผู้ล่วงลับก็ไม่ได้เคี้ยวหมากพลูอยู่แล้ว คุณยายตอบว่า ‘ต้องใส่ให้ครบ ของที่ชอบใส่เพิ่มได้ แต่ของดั้งเดิมต้องมี เพราะถึงผู้ล่วงลับไม่ได้กิน ก็เอาไปฝากคนอื่นได้’ คำตอบนี้สะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนและความผูกพันที่ไม่ขาดสายระหว่างผู้ล่วงลับ ว่าต่อให้ตายไปแล้ว ก็ยังคงมีการแบ่งปันและคิดถึงกันไม่ขาดสาย

บอกกล่าวตัดสัมพันธ์ ไม่เกี่ยวกันอีกต่อไป

ในบรรดาพิธีกรรมอันลึกซึ้งของงานศพคนอีสาน พิธี ‘ตัดสายสัมพันธ์’ นับเป็นพิธีที่สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตายได้อย่างชัดเจนที่สุด เป็นการ บอกลาครั้งสุดท้าย ที่ไม่ใช่แค่การลาจากของร่างกาย แต่เป็นการตัดสายสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณผู้ล่วงลับกับญาติพี่น้อง รวมไปถึงบ้านและทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เคยมีอย่างสิ้นเชิง

พิธีนี้เริ่มต้นด้วยการให้ ญาติพี่น้องทุกคนจุดธูปคนละ 1 ดอก เพื่อบอกกล่าวผู้ล่วงลับว่า ‘นับจากนี้ เราไม่มีความเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป’ พร้อมทั้งใช้เงินทำพิธีไถ่ถอนบ้านและข้าวของเครื่องใช้ เพื่อประกาศว่า ทุกสิ่งที่เคยเป็นของผู้ล่วงลับนั้นไม่ใช่ของเขาอีกต่อไป และเป็นการบอกกล่าวอย่างชัดเจนว่า ‘ห้ามกลับมาบ้านหลังนี้อีก’

สำหรับคนอีสาน พิธีนี้เป็นการตัดสายใยแห่งความผูกพัน เพื่อให้วิญญาณผู้ล่วงลับได้เดินทางไปสู่ภพภูมิใหม่โดยไม่เหลือความห่วงหาอาวรณ์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง พิธีนี้ก็เป็นกุศโลบายเพื่อช่วยให้ ‘คนกลัวผี’ คลายความกลัวลงเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผู้ล่วงลับเคยอาศัยอยู่เช่นกัน โดยเชื่อว่าพิธีนี้จะทำให้วิญญาณจากไปอย่างสงบและไม่ย้อนกลับมาหลอกหลอนอีก

ฉันได้สอบถามหนึ่งในผู้อาวุโสที่มาร่วมงานฌาปนกิจศพว่า หากเราไม่กลัวผี เราไม่ทำพิธีตัดสายสัมพันธ์ได้หรือไม่ คุณยายตอบกลับมาว่า แม้เราไม่กลัวผี ก็ต้องทำพิธีตัดสายสัมพันธ์อยู่ดี เพื่อให้ผู้ล่วงลับได้จากไปอย่างไม่มีห่วง คุณยายเล่าต่อว่า ตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่กลัวผี และยังคงรอคอยให้สามีผู้ล่วงลับกลับมาหา แต่ตั้งแต่วันที่สามีจากไป ก็ไม่มีวันใดที่เขามาแสดงตัวให้เห็นอีกเลย

เป็นเพราะว่าคุณตาคนนั้นจากไปสู่ภพภูมิใหม่อย่างสบายใจ หรือเพราะโลกหลังความตายไม่มีจริงกันนะ

จากข้าวเปลือกสู่ข้าวตอก การจากตายไม่มีวันหวนคืน

ในงานศพของทางภาคอีสานมีอีกหนึ่งธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน เมื่อขบวนศพเคลื่อนออกจากบ้าน จะมี ‘การโปรยข้าวตอก’ ไปพร้อมกับการหว่านกัลปพฤกษ์ หรือเหรียญโปรยทาน ตลอดเส้นทางที่ขบวนศพผ่านไป ว่ากันว่า เป็นการทำบุญครั้งสุดท้ายในนามของผู้ล่วงลับ เพื่อส่งผลบุญให้ดวงวิญญาณเดินทางไปสู่ภพภูมิใหม่ได้อย่างราบรื่น

การคั่วข้าวตอกเป็นพิธีที่ทำก่อนการเคลื่อนศพออกจากบ้านไปยังป่าช้า โดยจะให้ญาติพี่น้องผู้ใกล้ชิดเป็นคนคั่ว ข้าวเปลือกที่นำมาคั่วจะใส่ในหม้อนึ่ง มือหนึ่งจับเสียมที่ปักลงดิน อีกมือจับไม้คั่วข้าวในหม้อนึ่ง โดยเสียมและหม้อนึ่งนี้จะต้องเป็นของใหม่ทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นของที่จัดเตรียมไว้ให้ผู้ล่วงลับได้ใช้ในภพชาติหน้า หลังจากคั่วเสร็จแล้ว หม้อนึ่งนี้จะถูกนำไปใช้บรรจุกระดูกของผู้ล่วงลับและฝังในป่าช้าต่อไป

มีความเชื่อว่า หากข้าวตอกแตกออกมามากและสวยงาม แสดงว่าผู้ล่วงลับรักและผูกพันกับผู้คั่วเป็นอย่างมาก แต่หากแตกน้อยหรือไม่สวย อาจหมายความว่าผู้ล่วงลับยังมีห่วงอยู่ก็ได้

แม้ฉันจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากอุณหภูมิและวิธีการคั่วมากกว่าความเชื่อที่พิสูจน์ได้ยากเหล่านั้น แต่สำหรับคนรุ่นก่อน ความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน และสายใยอันลึกซึ้งระหว่างญาติพี่น้องกับผู้ล่วงลับ พวกเขาต่างเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ แม้ต้องห่างเหินกันเพราะภาระหน้าที่และวิถีชีวิตที่แตกต่าง แต่ในวาระสุดท้าย ทุกคนต่างมารวมตัวกัน เพื่อร่วมกันส่งดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่ภพภูมิใหม่เป็นครั้งสุดท้าย

ด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยความอาลัยและเคารพรัก พวกเขาตั้งจิตอธิษฐานและมุ่งมั่นทำทุกขั้นตอนอย่างสุดความสามารถ หวังให้ข้าวเปลือกแตกตัวเป็นข้าวตอกที่สวยงาม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความรักและความผูกพันที่มีระหว่างกัน

ในอดีต คนอีสานจะเคลื่อนศพไปยังป่าช้าด้วยวิธีการแบกหาม โดยอาศัยแรงจากคนในหมู่บ้าน การโปรยข้าวตอกเป็นเสมือนการช่วยให้ดวงวิญญาณได้เดินทางอย่างราบรื่น สิ่งนี้จะเป็นทานแก่ดวงวิญญาณสัมภเวสีที่เร่ร่อนอยู่ตามทาง ให้ดวงวิญญาณเหล่านี้ไปเก็บกินข้าวตอกที่ถูกโปรยไว้ตามพื้นดิน ไม่ให้มารบกวนดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับ ไม่มานั่งบนโลง จนทำให้รู้สึกหนักและเป็นภาระแก่ผู้แบกหาม

แม้ปัจจุบันจะใช้รถขนย้ายศพแทนการแบกหามแล้ว แต่การโปรยข้าวตอกก็ยังคงทำต่อไป เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาดีและความเมตตาต่อทุกชีวิต แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ตาม

นอกจากนี้ พิธีกรรมนี้ยังแฝงปริศนาธรรมอันลึกซึ้ง ที่เตือนสติให้คนเป็นได้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ข้าวเปลือกที่ถูกคั่วด้วยความร้อนจนกลายไปเป็นข้าวตอก แม้จะโปรยลงดินก็ไม่สามารถงอกกลับมาเป็นต้นข้าวได้อีก เปรียบได้กับชีวิตมนุษย์ เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่อาจฟื้นกลับมาได้อีกเช่นกัน

ดังปริศนาธรรมที่ว่า ‘ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น’ จึงเป็นคำสอนที่สะท้อนความเป็นจริงของชีวิตว่า ทุกชีวิตล้วนมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร การระลึกถึงความไม่เที่ยงนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการอำลาผู้ที่จากไป หากยังเป็นการเตือนใจให้ผู้ที่ยังอยู่ได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และรู้คุณค่าของเวลาที่เหลืออยู่

เมื่อรากแก้วสลายไป ต้องใช้ไม้ช่วยค้ำจุน

ความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคนเป็นและคนตาย ผ่านพิธีกรรมที่แฝงไปด้วยความหมาย โดยเมื่อยกศพออกจากบ้านไปแล้ว คนอีสานจะนำ ‘ไม้ที’ มาค้ำไว้ที่คานบ้าน และจะนำไม้ออกก็ต่อเมื่อพิธีฌาปนกิจเสร็จสิ้นเรียบร้อย ความเชื่อนี้มีที่มาจากการเปรียบเทียบอันงดงามว่า พ่อแม่เปรียบเสมือนรากแก้ว ที่ค้ำจุนให้ครอบครัวมั่นคงแข็งแรง ต้นไม้ที่รากแก้วหายไปย่อมไร้ความมั่นคง ไหวเอนได้ง่าย และอาจล้มลงได้ฉันใด การสูญเสียพ่อแม่หรือผู้อาวุโสในบ้าน ก็คือการสูญเสียหลักยึดที่มั่นคงของลูกหลานฉันนั้น

เพื่อแก้เคล็ดและเสริมสร้างกำลังใจไม่ให้ครอบครัวรู้สึกโอนเอนไร้ที่พึ่งพิง จึงมีการนำไม้มาค้ำคานบ้านไว้ เสมือนการใช้ไม้ค้ำยันต้นไม้ไม่ให้ล้ม เพื่อแทนที่รากแก้วที่สูญเสียไป แม้จะเป็นเพียงไม้ค้ำ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความหมายอันลึกซึ้งและเป็นสัญลักษณ์แห่งการสืบทอดความมั่นคงของครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น

นับให้ครบ 32 บาท ห้ามขาด ห้ามเกิน

‘เกิดมาครบ 32’ วลีนี้คงเคยผ่านหูใครหลายคนมาบ้าง ฉันอยากให้ทุกคนลองก้มลงไปพิจารณาร่างกายของตัวเอง แล้วนับเล่น ๆ ดู เชื่อเถอะว่าต้องนับได้มากกว่า 32 อวัยวะแน่นอน แล้วตัวเลขนี้มีที่มาอย่างไร?

ในพิธีเก็บกระดูกของคนอีสาน โดยเฉพาะใน ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ มีส่วนหนึ่งของพิธีที่น่าสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือ ‘การใช้เงิน 32 บาทซื้ออวัยวะให้ผู้ล่วงลับ’

หลังจากร่างของผู้ล่วงลับถูกเผาจนเหลือเพียงเถ้าธุลี เช้าวันรุ่งขึ้น ญาติพี่น้องจะเดินทางไปยังป่าช้าเพื่อประกอบพิธีเก็บกระดูก โดยทั่วไปแล้ว คนอีสานมักนิยมลอยอังคารในแม่น้ำเพื่อส่งดวงวิญญาณให้ล่องลอยไปสู่ภพภูมิใหม่ ทว่าที่ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ แห่งนี้ มีประเพณีที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ พวกเขาไม่นิยมลอยอังคาร แต่เลือกที่จะฝังอัฐิแทน

เมื่อพิธีกรรมทางศาสนาสิ้นสุดลง ญาติพี่น้องจะเก็บกระดูกจำนวน 32 ชิ้น บรรจุลงในโกศ เพื่อเตรียมนำไปประดิษฐานไว้ที่วัด จากนั้นจะนำเถ้ากระดูกที่เหลือมาจัดเรียงเป็นรูปร่างกายมนุษย์ แล้วจึงนำเหรียญบาทจำนวน 32 เหรียญ วางลงบนรูปร่างที่สร้างขึ้น ตามตำแหน่งของอวัยวะ 32 ประการ

อ้างอิงตามหลักทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ถ้านับกระดูกทั้งร่างกายและฟันเป็นอย่างละ 1 ชิ้นร่างกายมนุษย์จะมีอวัยวะทั้งหมด 78 ชิ้น แต่ถ้านับกระดูกและฟันทุกชิ้นแยกกัน รวมกับอวัยวะอื่นๆ จะมีจำนวนอวัยวะมากถึง 315 ชิ้น ซึ่งยังไม่รวมเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ อีกมากมาย

แล้วตัวเลข 32 มาจากไหน?

‘เกิดมาครบ 32’ เป็นแนวคิดที่พบได้ในหลายศาสตร์และความเชื่อ แม้จะมีจุดร่วมในตัวเลขเดียวกัน แต่รายละเอียดในการจำแนกอวัยวะแตกต่างกันไป

ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาและตำราแพทย์แผนไทย ร่างกายมนุษย์ถูกแบ่งออกเป็น 32 ส่วน หรือที่เรียกว่า ‘อาการ 32’ ซึ่งเกิดจากการแบ่งร่างกายออกเป็น 4 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ ในการนับอวัยวะจะนับเฉพาะธาตุที่สามารถจับต้องได้ ได้แก่ ธาตุดิน (20 ประการ) เป็นส่วนประกอบของร่างกายที่มีลักษณะแข็ง และธาตุน้ำ (12 ประการ) เป็นของเหลวที่ไหลเวียนภายในร่างกาย เมื่อรวมกันแล้วจึงเป็น ‘อาการ 32’

นอกเหนือจากแนวคิดที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งทฤษฎีที่อธิบายว่า ‘เกิดมาครบ 32’ หมายถึง การมีอวัยวะภายนอกครบถ้วนสมบูรณ์ ได้แก่ ตา 2 ข้าง หู 2 ข้าง จมูก 1 ปาก 1 แขน 2 ข้าง ขา 2 ข้าง มือ 2 ข้าง นิ้วมือ 10 นิ้ว และนิ้วเท้า 10 นิ้ว เมื่อนับรวมกันแล้วได้ 32 ชิ้นพอดี

แนวคิดนี้สอดคล้องกับพิธีกรรมของคนอีสานบางพื้นที่ ที่มีการวางเหรียญหนึ่งบาทจำนวน 32 เหรียญลงบนอัฐิของผู้ล่วงลับ โดยยึดตามตำแหน่งของอวัยวะภายนอก 32 อวัยวะ ว่ากันว่า การซื้ออวัยวะให้ผู้ล่วงลับ เปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมให้ชีวิตในภพหน้าเป็นไปอย่างราบรื่น ให้ได้มีร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์ ไม่พิกลพิการ

การใช้เงิน 32 บาทซื้ออวัยวะให้แก่ผู้ล่วงลับ ไม่เพียงแต่เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อ แต่ยังสะท้อนถึง ความรักและปรารถนาดีของญาติพี่น้องที่มีต่อผู้ล่วงลับ แม้ความเชื่อเรื่องภพหน้าจะพิสูจน์ไม่ได้ แต่การกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าชาติหน้าจะมีจริงหรือไม่ หรือผู้ล่วงลับจะเกิดเป็นอะไร ญาติพี่น้องก็ยังคงหวังให้เขาเกิดมาสมบูรณ์ แข็งแรง และมีชีวิตที่ดี

ปล่อยธุงดีดส่งขึ้นสวรรค์

การขึ้นทางด่วนต้องเสียค่าผ่านทางฉันใด การใช้ธุงเพื่อส่งดวงวิญญาณไปสวรรค์ก็ต้องใช้ทรัพย์ฉันนั้น เช่นเดียวกับการเดินทางที่เลือกได้ว่าจะไปทางธรรมดาหรือขึ้นทางด่วน หากต้องการความรวดเร็วและราบรื่น การเลือกทางด่วนย่อมสะดวกกว่า การเดินทางของดวงวิญญาณก็เช่นกัน หากปรารถนาให้ผู้ล่วงลับไปสู่สรวงสวรรค์โดยสวัสดิภาพ ญาติพี่น้องจึงต้องทำพิธี ‘ปล่อยธุง’ เพื่อเปิดเส้นทางพิเศษให้ดวงวิญญาณได้เดินทางอย่างราบรื่น

ธุงที่ใช้ในงานศพนั้นแตกต่างจากธุงในงานมงคลทั่วไป โดยทำจากโครงไม้ไผ่และผ้าดิบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลายผ้าประดับระบายอย่างงดงาม ในพิธี ญาติพี่น้องจะปักธุงลงในหลุมที่เตรียมไว้ และนำเงินใส่ลงไป ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการ ‘ซื้อทางขึ้นสวรรค์’ ให้กับผู้ล่วงลับ จากนั้นจะพรมน้ำหอมตั้งแต่โคนไม้ไผ่จนถึงปลายผ้า ลูกหลานจะช่วยกันดึงผ้าให้ตึง ก่อนจะปล่อยให้ผ้าดีดลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นสัญลักษณ์ของการส่งดวงวิญญาณไปสู่สวรรค์

พิธีนี้สะท้อนความเชื่อในพุทธศาสนาที่มองว่าสวรรค์เป็นดินแดนแห่งความสุขและความสงบ การทำพิธีเช่นนี้ช่วยให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่มั่นใจว่า ดวงวิญญาณของผู้จากไปจะได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี จึงเป็นการปลอบประโลมใจของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างหนึ่ง

คุณยายปัน ผู้อาวุโสผู้เป็นผู้นำในการจัดพิธีศพ กล่าวว่า ‘ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เราทำจะส่งผลดีกับผู้ล่วงลับจริงหรือไม่ แต่ที่เรารู้แน่ๆ เลยคือ มันสร้างความสบายใจให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะเรารักเขา จึงหวังให้เขาไปสบาย เมื่อเขาไปสบาย เราก็จะสบายใจตามไปด้วย’

ดังนั้น การเลือกจะปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามพิธีกรรมเหล่านี้ จึงไม่มีคำว่าผิดหรือถูก เพราะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจและยึดเหนี่ยวจิตใจ 

เราบันทึกและเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจที่มาและตัวตนของเรา เพื่อไม่ให้เรื่องราวและบทเรียนในอดีตสูญหายไปพร้อมกับผู้ที่เคยรู้

เช่นกัน การเรียนรู้และบันทึกพิธีกรรมและความเชื่อที่ปรากฏในงานศพของคนอีสาน ที่เมื่อเวลาผ่าน ค่อยๆ เลือนหาย เพราะผู้คนละเลยหรือหลงลืมไปทีละน้อย จึงเป็นไปเพื่อเป็นการระลึกถึงรากเหง้าและความผูกพันที่เชื่อมโยงเรากับผู้คนในอดีต ผ่านรายละเอียดเล็กๆ ที่สะท้อนความคิด ความรู้สึก และวิถีชีวิตของผู้คนในยุคหนึ่ง ซึ่งนั่น คือสิ่งที่ควรค่าแก่การจดจำอย่างแท้จริง


รายการอ้างอิง

ปัน ภูผาบาง. (2568, กุมภาพันธ์ 13). สัมภาษณ์

ไพวัลย์ วงษ์ละคร. (2568, กุมภาพันธ์ 13). สัมภาษณ์

เสาร์ มหาโคตร. (2568, กุมภาพันธ์ 13). สัมภาษณ์

sanook. (2567, ธันวาคม 27). “เกิดมาครบ 32” : ไขข้อข้องใจ 32 ที่ว่ามันมีอะไรบ้าง?. https://www.sanook.com/news/9675914/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
10
Love รักเลย
4
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Writings

จนกว่าเราจะพบกันอีก

เรื่อง : วีรนันท์ กมลแมน ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา มองวรรณกรรมเพื่อชีวิตไทยและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยผ่านแนวคิดอัตถิภาวนิยม ศรีบูรพาแต่งเรื่องสั้น “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ขึ้นราว ๆ ปี พ.ศ. ...

Writings

ศิลปินหญิงหายไปไหนจากหน้าประวัติศาสตร์

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี ท่ามกลางหมู่คนชนผู้ดีฝรั่งเศสที่เดินกันขวักไขว่ในซาลอง (Salon) ‘Marianne’ จิตรกรหญิงในชุดเสื้อคลุมสีน้ำเงินเดินเข้าไปหากรอบรูปสีทองนับสิบตรงหน้า หนึ่งในนั้นคือภาพวาดของเธอ มาเรียนน์หยุดยืนแล้วหันหลังให้ภาพวาด ตอนนี้เธอเป็นเหมือนผู้รักษาความปลอดภัยที่คอยสังเกตการณ์สิ่งต่างๆ ...

Articles

 I’m cringe but I’m free สะเหล่อแล้วไง ไม่แคร์แล้วกัน

เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี “โอ้ยยย ทำไมตอนนั้นสะเหล่อจัง” ความคิดที่โผล่เข้ามาในหัวขณะที่ล้มตัวลงนอนหลับตาเตรียมฝันดี แต่สมองไม่รักดีกลับขุดภาพความทรงจำอันน่าอับอายขึ้นมาฉาย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เล่นมุกแล้วคนทั้งห้องกริบ ทักคนผิดเพราะนึกว่าเป็นเพื่อนตัวเอง ส่งข้อความหาคนที่ชอบเขาอ่านแต่ไม่ตอบ ...

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

มองความตายผ่านเลนส์กล้อง ใน ‘ลาก่อน เอริ’

เรื่องและภาพประภาพ: สิทธิเดช สายพัทลุง Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘ลาก่อน เอริ’ หรือ ‘Goodbye Eri’ ‘ภาพยนตร์’ สื่อบันเทิงภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเล่าเรื่องราวได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องราวความสุขจนต้องยิ้มตาม หรือเรื่องราวการจากลาที่ทำให้กลั้นน้ำตาแทบไม่ไหว ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ...

Articles

Rick and Morty: ชีวิตไร้ความหมายในจักรวาลไร้จุดหมายของริกและมอร์ตี้

เขียน : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร ขอบคุณภาพจาก https://wall.alphacoders.com/big.php?i=1335145 คำเตือน: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน โปรดอ่านอย่างระมัดระวัง “Nobody exists ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save