เรื่อง จักษณา อุตราศรี
นักศึกษา มธ. เผยจำนวนเงินสำหรับโควตาการพิมพ์ใหม่ที่ปรับลดลงเหลือเพียง 100 บาท จากเดิม 200 บาท ไม่เพียงพอต่อการพิมพ์เอกสารการเรียน ขณะที่ไอซีที-ทียูแจงมหาวิทยาลัยจัดสรรงบประมาณจากโควตาพรินต์มาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโปรแกรม Adobe ที่นักศึกษามีความต้องการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงปัญหาการปรับลดโควตาการพิมพ์สำหรับนักศึกษาในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ว่า จากเดิมที่นักศึกษาแต่ละคนจะได้รับโควตาการพิมพ์เป็นจำนวนเงิน 200 บาทต่อภาคการศึกษา แต่มธ. ได้ปรับให้เหลือเพียง 100 บาทนั้น ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งจำเป็นต้องใช้โควตาการพิมพ์สำหรับการพิมพ์งานในรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัย (กลุ่มวิชา TU)
น.ส.พนิดา ปัญจวัฒนางกูร นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มธ. กล่าวว่า โควตาการพิมพ์ 100 บาท ไม่เพียงพอต่อการใช้งานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิมพ์เอกสารการเรียน ทั้งนี้ในปัจจุบันจำนวนเงินในโควตาเหลืออยู่ประมาณ 10 บาทเท่านั้น อีกทั้งยังพบปัญหาการสั่งพิมพ์แล้วกระดาษไม่ออก แต่ถูกตัดเงินในโควตา และไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ในบริเวณศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ศกร. ชั้นสอง ทำให้ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
น.ส.พนิดา เปิดเผยเพิ่มเติมว่าอยากให้มหาวิทยาลัยปรับโควตาการพิมพ์กลับมาเป็น 200 บาทเหมือนเดิม เพราะโควตา 100 บาทนั้นไม่เพียงพอ เมื่อโควตาหมดก็ต้องหาร้านถ่ายเอกสารเพื่อพิมพ์งาน ซึ่งในมหาวิทยาลัยมีอยู่เพียงไม่กี่ร้าน หรือหากต้องออกไปหาร้านถ่ายเอกสารนอกมหาวิทยาลัยก็จะเสียเวลาเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากอาศัยอยุู่ในหอพักเอเชี่ยนเกมส์ โซนบี (หอใน)
ส่วน น.ส.สุมีนา พรมนัส นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มธ. กล่าวว่า การที่โควตาการพิมพ์เหลือเพียง 100 บาทไม่เพียงพอต่อการใช้งานในหนึ่งภาคการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาบางคนที่อาจจะเรียน 6 ถึง 7 วิชา ก็มีความจำเป็นต้องพิมพ์งานหรือหนังสืออ่านเสริม (Reading list) ซึ่งบางวิชามีหนังสืออ่านเสริมจำนวนมาก ดังนั้นจำนวนเงินควรมากกว่า 100 บาท
นอกจากนี้ น.ส.สุมีนา กล่าวว่า ระบบเติมเงินเข้าโควตาช่วยแบ่งเบาภาระได้ในระดับหนึ่ง เพราะไม่มีเงินซื้อไอแพดเพื่อมาทดแทนการใช้กระดาษ และบางวิชายังจำเป็นต้องใช้กระดาษ เช่น การเขียนเค้าโครงรายงาน ที่อาจารย์สะดวกให้ส่งงานเป็นกระดาษมากกว่า
“มันน่าเศร้าที่สภาพแวดล้อมบีบบังคับให้เราต้องใช้ไอแพด ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เรากลับไปใช้ชีวิตแบบใช้กระดาษเหมือนเดิมได้ไหม จะได้สะดวกขึ้น คือบางทีเราก็ไม่ได้มีเวลาไปร้านถ่ายเอกสาร เรารู้สึกว่ามาที่จุดบริการนักศึกษาแล้วสะดวกกว่า โควตาพรินต์สะดวกกว่าจริง ๆ” น.ส.สุมีนา กล่าว

ขณะที่นายศุภกาญจน์ ประดุจกาญจนา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ สำนักงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มธ. (ICT-TU) กล่าวว่า จำนวนเงินที่ลดลงในโควตาการพิมพ์สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนดังกล่าวมาเป็นค่าใบอนุญาตการใช้งาน (License) สำหรับโปรแกรม Adobe เนื่องจากนักศึกษามีความต้องการใช้โปรแกรมนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา
ส่วนกรณีที่นักศึกษาต้องการให้เพิ่มระบบเติมเงินกับโควตาการพิมพ์นั้น นายศุภกาญจน์อธิบายว่าระบบจะมีปัญหาเรื่องเงินที่อาจจะเข้าหรือไม่เข้าระบบก็ได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยต้องไปเจรจากับผู้ได้รับสัมปทานเครื่องพิมพ์ว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้
สำหรับปัญหาที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 บางส่วนยังไม่ได้รับโควตาการพิมพ์สำหรับนักศึกษานั้น นายรุ่งศักดิ์ พรหมแย้ม นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานวิเคราะห์และพัฒนาระบบ ICT-TU ชี้แจงว่า ไอซีทีจะต้องรอข้อมูลจากสำนักงานทะเบียนนักศึกษา มธ.ที่จะส่งข้อมูลรายชื่อนักศึกษามาให้เป็นรอบ ๆ จากนั้นจึงจะสามารถเพิ่มโควตาการพิมพ์สำหรับนักศึกษาให้สอดคล้องกับรายชื่อที่ได้รับมา
ทั้งนี้ นายรุ่งศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่ากลุ่มที่จะมีปัญหารายชื่อตกหล่นในเรื่องโควตาการพิมพ์มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักศึกษาที่สำนักงานทะเบียนนักศึกษายังไม่ส่งรายชื่อมาให้ เพราะนักศึกษาลงทะเบียนเรียนล่าช้า กับกลุ่มนักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ซึ่งจะต้องรอให้ทางสถาบันฯ ส่งรายชื่อมาให้สำนักงานทะเบียนนักศึกษาก่อน จากนั้นสำนักงานทะเบียนนักศึกษาจึงจะส่งรายชื่อให้ไอซีที
นอกจากนี้ น.ส. สุภารัตน์ ลิจุติภูมิ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารองค์กร สำนักงานทะเบียนนักศึกษา กล่าวว่าข้อมูลรายชื่อนักศึกษาจะมีหลายล็อตตามวันเวลาการลงทะเบียนเรียนของแต่ละชั้นปี โดยจะจัดส่งไปให้กับฝ่ายไอซีทีในรูปแบบเอกสาร Excel ที่มีชื่อนักศึกษา เลขทะเบียน และสถานภาพของนักศึกษา
น.ส.สุภารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในลำดับแรกจะส่งรายชื่อนักศึกษาชั้นปีที่ 2-4 ก่อน จากนั้นจะส่งรายชื่อนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนล่าช้าและเพิ่มถอนวิชาเรียน ทั้งนี้สำนักงานทะเบียนนักศึกษาจะทยอยส่งข้อมูลให้ฝ่ายไอซีทีเมื่อมีรายชื่อเพิ่มเติม แต่ไม่ได้ส่งทุกวัน จึงอาจเกิดช่องว่างที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนแล้วแต่ข้อมูลรายชื่อยังไม่ได้ถูกส่งไป จึงทำให้นักศึกษายังไม่ได้รับโควตาการพิมพ์
ส่วนกลุ่มนักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) นั้น น.ส. สุภารัตน์ กล่าวว่า เนื่องจาก SIIT มีระบบเป็นของตัวเอง และเกี่ยวข้องกับสำนักงานทะเบียนนักศึกษาเฉพาะการขอใบรับรองการสำเร็จการศึกษาเท่านั้น ขณะที่การลงทะเบียนเรียนหรือการออกผลการศึกษา ทาง SIIT จะเป็นผู้จัดการดูแลเอง จากนั้นจึงจะส่งข้อมูลให้ทางสำนักงานทะเบียนนักศึกษาเป็นคนเก็บข้อมูลเท่านั้น
น.ส. สุภารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกกรณีที่นอกเหนือจากนี้คือกลุ่มนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนล่าช้าเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งรายชื่อจะเข้ามาค่อนข้างล่าช้า จึงทำให้ไม่สามารถส่งข้อมูลให้ฝ่ายไอซีทีได้ตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ของการเปิดภาคการศึกษา
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้จัดทำแบบสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับปัญหาโควตาการพิมพ์จากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาใน มธ. จำนวน 108 คน พบว่าร้อยละ 22.2 ของนักศึกษาต้องการให้สามารถเติมเงินเข้าระบบได้ และร้อยละ 20.4 คิดว่าควรปรับวงเงินเป็น 200 บาทเท่าเดิม ทั้งนี้ยังพบว่านักศึกษาอีกร้อยละ 1.8 ยังไม่ได้รับโควตาการพิมพ์ในภาคการศึกษานี้