เรื่อง พิชญา ใจสุยะ, ตติยา ตราชู
คณบดีสังคมสงเคราะห์ฯ ขอโทษสื่อสารผิดพลาด และใช้คำไม่เหมาะสม หลังนักศึกษารวมตัวประท้วงกรณีแชตฝึกงาน ยืนยันการแสดงออกทางการเมืองไม่กระทบการฝึกงานของนักศึกษา
จากกรณีเมื่อวันที่ 2 พ.ย. นายพศวัต เขียวเหมือน นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โพสต์ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้ ศ.ระพีพรรณ คำหอม คณบดี และ รศ.กมลทิพย์ แจ่มกระจ่าง รองคณบดีฝ่ายการศึกษาฝึกภาคปฏิบัติ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ชี้แจงประเด็นการฝึกภาคปฏิบัติให้ชัดเจน ออกมาขอโทษและรับผิดชอบด้วยการลาออก รวมถึงคณะต้องพิจารณาการใช้คำของคณบดี หลังคณบดีได้ส่งข้อความกล่าวเตือนพฤติกรรมของนักศึกษาที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งฝึกงานเข้าไปในกลุ่มไลน์ของฝ่ายการนักศึกษา ซึ่งมีคณาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์บางท่านอยู่ในกลุ่มด้วย (https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3401774959907551&id=100002252410353)
ภาพข้อความแชตที่แนบมา ปรากฏข้อความที่คณบดีกล่าวถึงพฤติกรรมที่ ‘ไม่มีวุฒิภาวะ’ ของนักศึกษาและการใช้คำว่า ‘เพื่อนๆ นักร้อง’ ซึ่งทำให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่พอใจเป็นอย่างมาก
ศ.ระพีพรรณ กล่าวว่า การนัดหยุดเรียนของนักศึกษาเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แต่ขอความร่วมมือนักศึกษาให้เข้าเรียนตามปกติ เนื่องจากอาจารย์บางส่วนไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ จึงไม่ควรได้รับผลกระทบในการจัดการเรียนการสอน หากนักศึกษามีข้อสงสัยหรือความคิดเห็นต่างๆ ก็พร้อมรับฟัง อย่างไรก็ตามศ.ระพีพรรณปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อ 3 ข้อเรียกร้องของเหล่านักศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
“การแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาไม่มีผลต่อการฝึกงาน ทางคณะไม่ปิดกั้นทั้งยังส่งเสริมให้นักศึกษาแสดงออกทางความคิดเห็น คิดวิเคราะห์ มีมุมมองที่หลากหลาย เพราะวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ต้องทำงานกับคนทุกกลุ่ม เพียงแต่ต้องทำในขอบเขต รู้หน้าที่” ศ.ระพีพรรณกล่าวและว่า ในการรับหรือไม่รับนักศึกษาฝึกงานขึ้นอยู่กับหน่วยงานต่างๆ ที่นักศึกษาเลือก ซึ่งแต่ละองค์กรย่อมอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญและคำนึงถึงชื่อเสียงจึงเชื่อว่าจะไม่เกิดการไม่รับหรือส่งนักศึกษาฝึกงานกลับด้วยสาเหตุด้านความคิดเห็นทางการเมือง
ศ.ระพีพรรณ กล่าวถึงข้อความในภาพแชตที่ถูกเปิดเผยอีกว่า พูดด้วยความห่วงใยนักศึกษา ไม่ใช่การตำหนิหรือดูถูก โดยอาจใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม แต่ไม่ได้จะสื่อไปในเชิงลบ อย่างการใช้คำว่าวุฒิภาวะ ก็เพียงต้องการให้นักศึกษาเห็นความสำคัญในการทำงานสังคมสงเคราะห์ตามหลักจรรยาบรรณ 6 ข้อในพ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2556 ที่ต้องมีวุฒิภาวะในการรับมือเหตุการณ์ต่างๆ ส่วนคำว่า ‘นักร้อง’ จะแทนคำว่าการพิทักษ์สิทธิ์ หรือนักพิทักษ์สิทธิ์ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ในกรณีที่ปกป้องสิทธิ์ คุ้มครองสิทธิ์กลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจการตัดสินใจในตัวเอง แต่ครั้งนี้ก็อาจใช้คำที่ไม่ถูกต้อง “ส่วนประเด็นข้อที่ 2 ในแชตไลน์ หมายถึงการสื่อสารต่างๆ ที่อาจสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีให้องค์กร ไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย”
นายรชต เอี่ยมตระบุตร นักศึกษา ชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. หนึ่งในผู้ปราศรัย กล่าวว่า ทางคณะสอนเรื่องการพิทักษ์สิทธิ์ หรือการแสดงออก จรรยาบรรณวิชาชีพก็บอกว่าควรแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่มีการปิดกั้น ตามหลักมนุษยนิยม แต่เมื่อมีนักศึกษาในคณะถูกจับกุมจากการออกมาชุมนุมทางการเมืองและเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม ทางคณะและอาจารย์ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว หรือช่วยเหลือมากเท่าที่ควร
“ในตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อนักศึกษามีปัญหาเรื่องสวัสดิการการฝึกงาน คณะกลับไม่สามารถจัดการปัญหานั้นได้และสุดท้ายคือ คณบดีออกมาบอกว่านักศึกษาไร้วุฒิภาวะ และปิดกั้นไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง หากใครแสดงความคิดเห็นก็อาจส่งผลกระทบต่อการฝึกงาน จึงเห็นได้ว่าสิ่งที่คณะพร่ำสอนมาทั้งหมด เขาทำไม่ได้เลย คณบดีจงลาออกเสียเถิด” นายรชตกล่าวและว่า คณบดีหมดความชอบธรรมในการบริหารกิจการคณะ ส่วนผู้บริหารและคณาจารย์หากไม่ออกมาแสดงจุดยืนกับกรณีภาพข้อความหลุด ก็จะหมดความชอบธรรมในการสอนนักศึกษาเช่นกัน
นายรชต กล่าวอีกว่า หากคณบดีลาออกแล้ว สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ควรจะต้องพิจารณาการกระทำดังกล่าวว่า ผิดจรรยาบรรณ และควรถอดถอนใบประกอบวิชาชีพหรือไม่ อีกประการหนึ่งคือ กระบวนการสรรหาคณบดีคนใหม่ ควรมาจากนักศึกษาโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมานักศึกษามีเพียงสิทธิ์เสนอชื่อแต่ไม่มีสิทธิ์เลือก
จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าว ในวันที่ 3 พ.ย. ทางคณบดีและคณะผู้บริหารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ได้นัดพูดคุยกับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในประเด็นดังกล่าว รวมถึงเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาสอบถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการฝึกงาน อ.เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ กล่าวว่า หากมีกรณีที่องค์กรปฏิเสธไม่รับ หรือส่งนักศึกษากลับ เนื่องจากเหตุผลด้านการเมือง ทางคณะอาจมีวิธีรับมือด้วยการย้ายองค์กร เพื่อให้นักศึกษาได้พื้นที่ปลอดภัย
ส่วน ศ.ระพีพรรณได้กล่าวขอโทษและเสียใจ ที่ทำให้นักศึกษารู้สึกไม่ดีจากการใช้คำพูดเหล่านั้น โดยจะมีแถลงการณ์ชี้แจงในกรณีแชตไลน์ เรื่องฝึกงาน และเสนอแผนงานที่จะพัฒนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ กับบุคลากรและคณาจารย์ในวันที่ 11-12 พ.ย.
นักศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (ไม่ประสงค์ออกนาม) กล่าวภายหลังการพูดคุยว่า การพูดคุยครั้งนี้ยังมีประเด็นที่ไม่ชัดเจน คือ เรื่องสวัสดิการการฝึกงานของนักศึกษาที่คณะผู้บริหารจะให้คำตอบในภายหลัง และไม่แจ้งชื่อสถานที่ฝึกงานที่จะไม่รับนักศึกษาเข้าทำงานหากแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามเนื้อความแชตไลน์ของคณบดี ส่วนการยื่นเรื่องกับกรรมาธิการแรงงาน (กมธ.) ในวันที่ 4 พ.ย.นั้น มีเนื้อความเรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานในกรณีหากถูกที่ฝึกงานยกเลิกการฝึกเนื่องจากแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งการยื่นเรื่องดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยในครั้งนี้