SocialWritings

หากศาสนาจะเป็นเรื่องการเมือง?

เรื่อง: สุธิดา วุฒิกร

ในความคิดของ หลายคนอาจจะมองศาสนาเป็นสิ่งที่ถูกแยกออกจากการเมืองโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะหากมองไปที่นักบวชของศาสนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ บาทหลวง พราหมณ์ หรือว่าอิหม่าม เป็นต้น หลายคนย่อมมีภาพในใจว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ควรที่จะมาข้องเกี่ยวกับการเมืองเนื่องจากเป็นเรื่องของทางโลกซึ่งนักบวชควรจะละทิ้งเพื่อปฏิบัติตนตามครรลองของศาสนาต่างๆ อย่างจริงจัง

แต่จริงหรือ ที่ศาสนากับการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน

ในวันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจในคำสอนของศาสนาต่างๆ โดยผ่านคำบอกเล่าของตัวแทนผู้เชี่ยวชาญของศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนานั้นๆ กับประเด็นด้านการเมือง ว่ามีความเกี่ยวข้องหรือไม่ และหากเกี่ยวข้อง จะเกี่ยวข้องในรูปแบบใด

คุยกับอิหม่ามและอนุกรรมการมัสยิด

หากพูดถึงผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลาม สิ่งแรกที่เรานึกถึงก็คืออิหม่าม หรือผู้สอนศาสนาอิสลาม ผู้เขียนได้มีโอกาสได้คุยกับอิหม่ามสุธี เกตุประสิทธิ์ และเหล่าคณะอนุกรรมการสตรีประจำมัสยิดยามีอุลอิสลามรามคำแหง ถึงความเกี่ยวข้องของศาสนาอิสลามและการเมือง และได้ทราบว่าในคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอ่านเอง ก็ได้มีการหยิบยกกรณีศึกษาที่เกี่ยวพันกับการเมืองในสมัยนั้นโดยตรงมากล่าวถึงเอาไว้ด้วย

อิหม่ามได้เล่าให้ฟังว่า ศาสนาอิสลามนั้นให้ความสำคัญกับความสามัคคีและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และได้กล่าวเสริมว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง สำหรับศาสนาอิสลามนั้นสามารถทำได้ หากว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ดี และเป็นการช่วยเหลือให้ไม่ให้ผู้คนแตกแยกกัน

“ก็เกิดการให้ อะตีอุลลอฮ วะอะตีอุรรอซูลุ วะอุลิลอัมริมินกุม นั่นก็หมายถึงว่า ให้เชื่อฟังอัลเลาะห์ ให้เชื่อฟังศาสนฑูต แล้วก็ผู้นำของท่าน และก็ผู้นำก็หมายถึงบรรดาผู้นำทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำที่เขาไม่ ซอเล็ม ก็หมายถึงว่าเขาไม่คิดร้ายกับเรา” อิหม่ามสุธีกล่าว และได้เสริมว่า แต่หากผู้นำนั้นเป็นผู้นำที่ไม่ดี ไร้ซึ่งความยุติธรรม การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมุสลิมนั้น ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของศาสนาแต่อย่างใด

นอกจากนี้เหล่าคณะอนุกรรมการสตรีประจำมัสยิดก็ได้กล่าวเสริมอีกว่า มุมมองทางด้านการเมืองนั้นถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีความเปิดกว้างในเรื่องการนับถือศาสนาและความเท่าเทียมทางเพศ แต่หากจะมองในมุมของศาสนาอิสลามแล้ว แนวคิดที่สำคัญของศาสนานั้นก็ได้แสดงออกโดยผ่านคำทักทายของชาวมุสลิมที่แปลได้ว่า ‘ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน’ ซึ่งการที่ศาสนามอิสลามได้รับการยอมรับในประเทศไทยเท่าเทียมกับทุกศาสนา ชาวมุสลิมจึงได้ให้เกียรติกับผู้นับถือศาสนาอื่นๆ อย่างเท่าเทียมด้วย

“ตอนนี้พี่ว่ามันมองกันคนละมุม คือนักศึกษาอายุ 21-22 แต่พวกป้านี่ 50 60 เพราะฉะนั้นมันหายไป 30 ปี” เหล่าคณะอนุกรรมการสตรีต่างลงความเห็นไปในทางเดียวกัน พร้อมทั้งเสนอว่าการหันมาปรับความเข้าใจในช่วงเวลา 30 ปีที่หายไปจากทั้งสองฝ่าย คือทางออกที่ดีที่สุดของความขัดแย้ง

คุยกับตัวแทนคริสตชน

นอกจากศาสนาอิสลามแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสนาคริสต์เองก็เป็นหนึ่งในศาสนาที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังมีผู้นับถืออยู่ในทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลกับเราในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านคริสตศาสนาในครั้งนี้คือ ราฟาแอล สิทธินันท์ จิรบุษบกุล อดีตประธานสภานิสิตนักศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย 

สิทธินันท์ได้เริ่มต้นเกริ่นว่า ศาสนาคริสต์แต่เดิมแล้วมีรากฐานมาจากศาสนายิวซึ่งเป็นศาสนาที่ใช้ในการปกครองบ้านเมืองเป็นทุนเดิม ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าตัวของศาสนานั้นมีความผูกพันกับการเมืองในสมัยโบราณโดยตรง และนอกจากนี้ในพระคัมภีร์ยังบอกเล่าถึงปัญหาด้านการเมืองในสมัยก่อนซึ่งปุโรหิตเป็นผู้ผูกขาดอำนาจทางศาสนาเอาไว้ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระเยซูต้องเสียชีวิตจากการถูกตรึงกางเขน

สิทธินันท์ได้เล่าให้ฟังว่าคำสอนของศาสนาคริสต์พื้นฐานนั้นมีอยู่สองข้อหลักๆ นั่นคือรักพระเจ้าสุดหัวใจ และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง และกล่าวว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นก็ถือเป็นการปฏิบัติตนในแนวคิดการรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผิดจากหลักศาสนา แต่เป็นสิ่งที่ควรกระทำเสียด้วยซ้ำไป

“คริสตชนทุกคนควรจะต้องใส่ใจกับปัญหาทางการเมือง ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ควรที่จะ take action ทางการเมืองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเสนอความเห็น หรือยิ่งเป็นนักการเมืองได้ก็ยิ่งดี” สิทธินันท์กล่าว

ทว่าถึงแม้ศาสนาคริสต์จะดูเหมือนสนับสนุนให้ศาสนิกชนออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ในบริบทของประเทศไทย สิทธินันท์ได้กล่าวว่าความขัดแย้งในด้านความคิดเห็นของชาวคริสต์เองก็มีไม่ต่างจากผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ ทั้งในด้านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะนำศาสนาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งบ้างก็ว่าทั้งสองสิ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน และบ้างก็ว่าการเอาศาสนาไปเกี่ยวข้องกับการเมืองจะทำให้ศาสนากลายเป็นสิ่งที่มัวหมอง เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว สิทธินันท์ยังได้ทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยการแนะนำหนังสือและชื่อของนักบุญสำหรับศึกษาเพิ่มเติมในหัวข้อคริสตศาสนากับการเมืองไว้ด้วย โดยหนังสือที่เขาแนะนำนั้นมีชื่อว่า ‘Jesus Before Christianity’ และชื่อของนักบุญก็คือ Óscar Romero

คุยกับหลวงพี่ Activist

สำหรับศาสนาพุทธ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านหลักคำสอนของศาสนาก็คือพระสงฆ์ซึ่งอุทิศชีวิตให้กับทางธรรม ทว่าในเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง ประชาชนก็จะได้เห็นพระสงฆ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเหล่านั้นด้วย สิ่งนี้อาจจะทำให้หลายคนสงสัยว่า แท้จริงแล้วพระสงฆ์สามารถออกมาร่วมกิจกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่ คำตอบเหล่านี้ได้รับการตอบโดยพระชาย​ วรธัมโม พระสงฆ์นักคิดที่สนใจในประเด็นรัฐศาสตร์​ในพุทธศาสนา

หลวงพี่ได้วิเคราะห์บริบทการถือกำเนิดของศาสนาพุทธให้ฟังโดยย้อนไปตั้งแต่สมัยพุทธกาล ณ ขณะนั้นในบริเวณอารยธรรมอินเดีย ศาสนาพราหมณ์ฮินดูถือว่าเป็นศาสนาที่ได้รับการนับถืออย่างแพร่หลายโดยประชาชนและกษัตริย์ของเมืองต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้รวมไปถึงความเชื่อด้านการแบ่งชนชั้นวรรณะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการปกครองในสมัยพุทธกาลด้วย

“จริงๆ แล้วศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ได้เกิดมาเพื่อทำลายล้างระบบวรรณะ” หลวงพี่กล่าว และด้วยสาเหตุนี้ การเกิดขึ้นของศาสนาพุทธจึงมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการเมืองในสมัยก่อนโดยตรง เนื่องจากเมื่อเข้ามาบวชเป็นภิกษุนั้น หมายถึงการหลุดออกมาจากระบบวรรณะทั้ง 4 ของศาสนาพราหมณ์

แม้ว่าการกำเนิดขึ้นของพุทธศาสนาจะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัจจัยทางการเมือง ทว่าหลวงพี่ก็ได้เสริมว่าศาสนาพุทธเองนั้นก็ได้มองการเมืองว่าเป็นสิ่งที่ต้องระวังในการเข้าไปข้องเกี่ยวด้วยเช่นกัน 

“การเมืองเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะว่าการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ” หลวงพี่กล่าว พร้อมยกกรณีศึกษาเป็นเหตุการณ์ที่พระเทวทัตทูลขอพระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์งดเว้นการทานเนื้อสัตว์ แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ เนื่องจากพระพุทธเจ้าเล็งเห็นว่าพระเทวทัตต้องการใช้ศาสนาของพระองค์ในการแผ่ขยายอำนาจของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่อยากให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้พระพุทธเจ้านั้นยังได้ทำให้พระธรรมเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนยึดถือ โดยถือว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่ท่านลงรากปักฐานไว้เรียบร้อยแล้ว และไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพาบุคคลใดๆ ในการเป็นศูนย์กลางเพื่อบรรลุธรรม หรือหมายความอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกคนสามารถบรรลุธรรมได้โดยการศึกษาพระธรรมด้วยตนเอง

แตกต่างแต่เหมือนกัน

แม้ว่าในแต่ละศาสนาจะมีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันไปตามบริบทของคำสอนและประวัติศาสตร์ ทว่าก็ไม่มีศาสนาใดได้ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง การจะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของศาสนิกชนรวมถึงนักบวชของแต่ละศาสนาที่ได้รับการยอมรับตามคำสอน ล้วนมีหลักสำคัญอยู่ที่ความต้องการให้คนในสังคมได้รับการปกครองด้วยความถูกต้อง ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการแสวงหาอำนาจของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือสถานการณ์ปัจจุบันของการเมืองในประเทศไทยนั้นกำลังมีการต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์ทางความคิดที่ไม่ตรงกัน ซึ่งการตีตราว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดหรือถูกนั้นไม่ใช่สิ่งจะนำไปสู่บทสรุปของปัญหา การยอมรับการมีอยู่ของความคิดเห็นอีกฝ่ายและออกมาทำความเข้าใจซึ่งกันและกันน่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่อาจสามารถลดช่องว่างของความแตกต่างลง และพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าได้

เพราะพวกเราทุกคนคือมนุษย์เช่นเดียวกัน

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Social

Shot By Shot

แผงขายอาหารริมทาง (เท้า) ยามเช้า แผงเสบียงสีเทาราคาย่อมเยาของชาวออฟฟิศ

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ในเช้าวันเร่งรีบของ ‘มนุษย์เงินเดือน’ เหล่ามดงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แทบจะไม่มีแม้แต่เวลาหยุดพักกินข้าวหรือมีเงินเดือนพอจะแวะกินร้านอาหารดีๆ ได้ตลอด สิ่งที่พอจะช่วยชีวิตให้ยังคงมีเงินเก็บอยู่ ก็คงเป็นอาหารประเภทที่สามารถซื้อและพกพาไปได้ในราคาที่ไม่สูงนัก ซึ่งก็คืออาหารจากรถเข็น หาบเร่ แผงลอยอาหาร หรือที่เรียกรวมกันว่า ‘หาบเร่แผงลอย’ ...

Writings

นายหมายเลขสอง

เรื่อง : Amphea ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกคนเคยมีฉายากันไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาตามลักษณะภายนอก หรือฉายาที่เกิดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ผมก็เคยมีฉายาแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งแบบน่ารักๆ อย่าง ‘น้องเหนียง’ ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนในห้องเรียนคนหนึ่งเรียกผม ...

Writings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน ...

Writings

‘SLAPP’ วิธีการปิดปากสื่อรูปแบบใหม่ ไม่เจ็บกาย แต่ร้ายไม่ต่างกัน

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นว่ามีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย โดยหนึ่งประเด็นที่เรียกได้ว่า ‘สั่นสะเทือน’ วงการสื่อจนหลายองค์กรต้องออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือ ประเด็นที่นักข่าวประชาไทและช่างภาพถูกจับกุม ...

Writings

ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 60 กับคำถามประชามติที่ไร้ทางแก้ปัญหา

เรื่อง : ศศณัฐ ปรีดาศักดิ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้งตามข้อเสนอของ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save