เรื่อง พิชญา ใจสุยะ
สำหรับผู้เขียน ปัจจุบันภาพยนตร์ไทยกระแสหลักดีๆ นั้นหาดูได้ยาก ยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองก็ยิ่งมีน้อยลงไปอีก คล้ายนายทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์พยายามทำเป็นมองไม่เห็น ทั้งๆ ที่การเมืองสอดแทรกอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิต ไม่นับว่ารัฐไทยก็ดูจะอ่อนไหวกับบางเรื่องราวเสียเหลือเกิน จึงอยากพาย้อนกลับไปดูภาพยนตร์เก่าของไทยที่เพิ่งลง Netflix ซึ่งแทรกการเมืองไว้อย่างโจ่งแจ้งและแยบคาย
ภาพยนตร์ เรื่อง October Sonata รักที่รอคอย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังเอิญพบเจอกันระหว่าง แสงจันทร์ (รัชวิน วงศ์วิริยะ) และ รวี (ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 งานศพของพระเอกชื่อดัง มิตร ชัยบรรชา ค่ำคืนนั้นพวกเขาใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข จนกลายเป็นคำสัญญาที่พวกเขาทั้งสองให้ต่อกันว่าจะกลับมาพบกันที่โรงแรมแสนมุก จ.ชลบุรีในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี
ภาพยนตร์เรื่องนี้ เข้าฉายเมื่อปีพ.ศ. 2552 กำกับโดย สมเกียรติ วิทุรานิช ที่เคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง ไอ้ฟัก (พ.ศ. 2547) ภาพยนตร์สะท้อนสังคมสร้างจากหนังสือซีไรต์เรื่อง คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ และเรื่องมะหมา 4 ขาครับ (พ.ศ. 2550)
ค่ำคืนที่แสงจันทร์ได้พบกับรวี ทำให้ชีวิตของเธอต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล จากผู้หญิงกำพร้าที่ไม่รู้หนังสือ ความรักผลักดันให้เธอพยายามไปเรียนอ่านเขียน เพื่ออ่านหนังสือและจดหมายของเขาที่ทิ้งไว้ให้เธอ
ความคิดและมุมมองของแสงจันทร์เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยมองว่าชีวิตคนมีค่าไม่เท่ากัน ตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใด พระเอกอย่างมิตร ชัยบรรชาถึงต้องตายก่อนพวกตัวร้าย กลับเปลี่ยนเป็นมองว่าชีวิตทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน ด้วยการอ่านหนังสือ ในภาพยนตร์ปรากฏหนังสือชื่อ สงครามชีวิต โดย ศรีบูรพา ที่รวีแนะนำให้เธออ่าน และปีศาจ โดย เสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งทั้งสองเล่มล้วนเป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคม ที่เขียนโดยนักเขียนฝ่ายซ้ายคนสำคัญของไทย แสงจันทร์เริ่มกล้าที่จะเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง อย่างการทักท้วงเรื่องเงินค่าจ้างกับคุณนายที่สอนเธอวาดแบบและตัดเย็บ หลังเธอออกจากการเป็นแรงงานร้านซ่อมเสื้อผ้า
ช่วงเวลาในภาพยนตร์ ผู้หญิงเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น แต่บทบาทของผู้หญิงยังดูจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิม งานเย็บปักถักร้อย หรือการเตรียมอาหารให้สามีหลังเขากลับมาจากการทำงานล้วนเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ทั้งยังถูกคนในสังคมมองในแง่ลบ หากผู้หญิงหลุดกรอบจารีตประเพณี อย่างแสงจันทร์ที่หนีออกจากบ้านป้าของเธอเพราะถูกทารุณกรรม แต่หลังจากนายจ้างร้านซ่อมเสื้อผ้าได้อ่านจดหมายที่รวีให้แสงจันทร์ไว้ กลับบอกว่าเพราะเธอบ้าผู้ชายต่างหากป้าของเธอถึงได้ไล่ออกจากบ้าน
ส่วนรวี ชื่อของเขาแปลว่าพระอาทิตย์ ชายหนุ่มกำพร้าเช่นเดียวกับแสงจันทร์ เพียงแต่เขาได้รับโอกาสในการศึกษา รวีมีความสนใจเหตุการณ์บ้านเมือง เห็นได้ชัดจากหนังสือที่อ่าน และการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหลายเหตุการณ์ เขาเป็นตัวละครที่ยึดโยงกับการเมืองอย่างชัดเจน เช่นในปีพ.ศ. 2516 รวีถูกจับกุมข้อหามั่วสุมชักจูงให้มีการชุมนุมทางการณ์เมือง ปีพ.ศ. 2519 เขาต้องหนีเข้าป่าเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนปีพ.ศ. 2523 ถึงได้กลับออกมาด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/2523 และไม่ถูกจับกุมอีก
อีกคนสำคัญในเรื่องคือลิ้ม คนไทยเชื้อสายจีน ที่รักแสงจันทร์อย่างหมดหัวใจ เขาตั้งใจทำงานหาเงิน และพยายามสร้างครอบครัวที่มั่นคง ลิ้มเป็นเพียงตัวละครเดียวที่มองโลกตามความเป็นจริงมากที่สุด ประโยคบนหลังคาผ้าใบตรงข้ามร้านแสงจันทร์ที่มักปรากฏให้เห็นพร้อมลิ้มเสมอ คือ งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลความสุข คำขวัญรณรงค์ในยุคนายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งต้องการให้คนไทยมุ่งหาเงิน ทำงานให้ได้เงิน แล้วชีวิตจึงจะมีความสุข สนองต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในสมัยนั้น เป็นประโยคที่แทนตัวเขาได้อย่างชัดเจน
แม้จะมีความเชยของรักสามเส้า การเฉียดกันไปมาของรวีและแสงจันทร์จนรู้สึกอึดอัด อีกทั้งยังมีความ ‘ตื๊อ’ ของลิ้มที่มากจนไม่สบายใจแทนแสงจันทร์ แต่ก็พอทนได้ หากพยายามตีความถึงสารที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อผ่านความสัมพันธ์ของทั้งสามคน
การส่งต่ออุดมการณ์ ผ่านรวีผู้เป็นดั่งดวงอาทิตย์ คอยมอบแสงสว่างให้ผู้คน สู่แสงจันทร์ที่ใช้ความรักผลักดันชีวิต จนนำไปสู่งานเขียนเพื่อชนชั้นกรรมาชีพของเธอ สิ่งที่รวีมอบให้เธอ นอกจากการเรียนรู้ที่จะรัก รอคอย และโหยหาแล้ว ยังมีอุดมการณ์บางอย่างที่ถูกทิ้งไว้ด้วย
ทุกอุดมการณ์เมื่อจุดให้สว่างแล้วจะไม่มีวันมอดไป ทุกเหตุการณ์นั้นนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่เพียงใด การต่อสู้ทางการเมืองไทยจึงไม่ได้จบแค่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หากยังมีความไม่เท่าเทียม หรือปัญหาต่างๆ ที่ต้องแก้ไขอยู่ในสังคม อุดมการณ์เหล่านั้นก็ยังจะถูกส่งต่อไปยังกลุ่มคนอีกมากมายต่อไป เช่นเดียวกับการเรียกร้องในปัจจุบัน ที่แม้ว่าอาจดูเหมือนไม่มีความหวัง แต่บางอย่างก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม
อ้างอิง