เรื่อง เก็จมณี ทุมมา
สถานการณ์ทางการเมืองที่ดุเดือดในประเทศไทยในตอนนี้มักควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนผ่านโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้แฮชแท็กเข้ามาช่วยให้คนที่สนใจในประเด็นเดียวกันสามารถใช้พูดคุยแสดงความคิดเห็นกันได้
ท่ามกลางแฮชแท็กจำนวนมากเกี่ยวกับการเมืองไทย กลับมีแฮชแท็กที่มีตัวหนังสือไม่คุ้นตาอย่าง #ຖ້າການເມືອງລາວດີ (#ถ้าการเมืองลาวดี) ถูกดันขึ้นมา มันทำให้เราตั้งคำถามทันทีที่เห็น ว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เราขนาดนี้ ทำไมเรากลับไม่รู้ว่าการเมืองบ้านเขาเป็นยังไงบ้าง เขาปกครองด้วยระบอบอะไร และตอนนี้สถานการณ์ในบ้านเขาเป็นอย่างไรบ้าง
ประเทศลาว หรือชื่อเต็มว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หรือที่ทางการลาวใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน มีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรชี้นำประเทศ ซึ่งพรรคนี้เริ่มมีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ลาวเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518
หลังจากมีการพูดถึงแฮชแท็กดังกล่าวขึ้นเพียงแค่ชั่วข้ามคืน เช้าวันที่ 20 ต.ค. #ຖ້າການເມືອງລາວດີ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ในลาว และอันดับ 4 ในไทย
ประเด็นที่คนลาวหยิบยกขึ้นมาพูดคือเรื่องที่พวกเขาไม่สามารเรียกร้องสิทธิจากรัฐบาลได้เลย จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ปัญหาของระบบการศึกษา ปัญหาระบบสาธารณูปโภค ค่าแรงที่น้อยจนทำให้คนลาวต้องอพยพมาทำงานในไทยเป็นจำนวนมาก การทุจริต การเข้ามาลงทุนของจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และอื่นๆ
ชาวลาวหลายๆ คนเริ่มกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงานบางส่วน แต่อาจยังถือเป็นส่วนน้อย เพราะการออกมาเรียกร้องเกิดขึ้นแต่ในโลกออนไลน์เท่านั้น อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังคิดว่าพวกเขาไม่ควรไปยุ่งกับการเมือง
กฎหมายที่ยื่นมือมาปิดปาก
ในเวลาต่อมาไม่นาน สื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ต่างๆ ของลาวเริ่มออกมาโพสต์ถึงความผิดทางกฎหมายหากเข้าไปมีส่วนร่วมกับ #ຖ້າການເມືອງລາວດີ เหมือนกำลังส่งสัญญาณเตือนไม่ให้คนลาวจัดหรือว่ามีส่วนร่วมในการจลาจลเพื่อโค่นล้มหรือลดอำนาจของรัฐบาล
อย่างเพจเฟสบุ๊ก Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz ได้โพสต์ข้อกฎหมายมาตรา 111 ตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการก่อกบฏ ซึ่งบทลงโทษมีตั้งแต่การตัดอิสรภาพเป็นเวลา 10-20 ปี ถูกปรับตั้งแต่ 10 ล้าน – 500 ล้านกีบ (ประมาณ 330,000-1,600,000 บาท) อาจถูกริบทรัพย์ ถูกกักบริเวณตลอดชีวิต ไปจนถึงประหารชีวิตได้
นอกจากนี้ยังเสี่ยงจะโดนอุ้มหาย เพราะก่อนหน้าเคยมีการควบคุมตัวนักกิจกรรม 3 คนที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบหน้าสถานทูตลาวในประเทศไทย และวิจารณ์รัฐบาลลาวทางเฟซบุ๊กกรณีการทุจริตเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้พวกเขาถูกจับกุมในเดือนมีนาคม 2559 และถูกคุมตัวโดยไม่สามารถติดต่อกับผู้อื่นได้กว่า 2 เดือน เทียบเท่ากับการถูกอุ้มหายตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ถ้าการเมืองลาวดี ในสายตาคนลาว
แต่ก็มีเด็กชายชาวลาวอายุ 15 ปี คนหนึ่งได้ออกมาพูดถึงระบบการศึกษาของลาวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ระบบการศึกษาลาวมักสอนว่าการปกครองของลาวในปัจจุบันซึ่งคือ สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ นั้นดีกว่าระบอบอื่น
การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในโรงเรียนเป็นเรื่องปกติ เช่น มีกฎว่าถ้าไม่ร้องเพลงชาติจะถูกตัดคะแนน ห้ามออกความคิดเห็นในทางที่ไม่ดีเกี่ยวกับรัฐบาลไม่งั้นจะถูกตัด 400 คะแนน และอาจถูกส่งชื่อให้ นายบ้าน (อาจเทียบได้กับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในไทย) เขียนบันทึกประจำวันข้อหาหมิ่นประมาท
เด็กชายเล่าว่าเขามีแม่เป็นคนไทย แต่แม่ของเขาเปลี่ยนสัญชาติเป็นลาวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ตัวเขาอยากให้แม่เปลี่ยนสัญชาติกลับเป็นไทย เผื่อว่าเขาจะได้เปลี่ยนด้วย แต่ตอนนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าแม่เคยเป็นคนไทย เนื่องจากไม่สามารถตามหาญาติที่เป็นคนไทยได้สักคน
“ผมไม่อยากอยู่นี่ ความรู้สึกหมือนคนไทยที่ไม่อยากอยู่ไทย ถึงไทยจะแย่ แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าที่ลาวเยอะ”
เขาแสดงความคิดเห็นอีกว่าถ้าการเมืองลาวดีก็อาจไม่ช่วยอะไร หากประเทศลาวยังคงปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม นอกจากนี้เขายังมองว่า คนลาวควรเริ่มตั้งคำถามว่า ถ้าลาวเปลี่ยนระบอบการปกครองให้อย่างน้อยประชาชนสามารถเลือกพรรคอื่นมาบริหารประเทศได้ ประชาชนลาวจะมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นหรือไม่
เพราะรัฐธรรมนูญลาวได้กำหนดว่าให้พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นผู้ชี้นำ และนำพาประเทศ โดยพรรคจะเป็นผู้กำหนดแนวทาง นโยบาย และแต่งตั้งบุคคลของพรรคไปบริหารในนามรัฐบาลโดยมีการรวมศูนย์อำนาจการปกครองอยู่ที่พรรคประชาชนปฏิวัติเพียงพรรคเดียวมาโดยตลอด
แต่จุดเริ่มต้นการเรียกร้องผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถส่งแแรงกระเพื่อมไปสู่โลกความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนกัน
หญิงชาวลาวอายุ 41 ปี ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว เล่าให้ฟังว่าเธอรับรู้ข่าวการเรียกร้องผ่าน #ຖ້າການເມືອງລາວດີ จากในเฟสบุ๊กและโทรทัศน์ แต่เธอไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไร เนื่องจากกฎหมายที่มีโทษหนัก
“คนลาวไม่ค่อยคุยเรื่องการเมืองกัน คุยกันแต่ในบ้าน กับคนรู้จักหรือคนในครอบครัว ไม่อยากเสี่ยงคุยข้างนอก น้ารู้สึกว่าคนที่สนใจการเมืองเป็นผู้ชายที่มีอายุ นั่งคุยการเมืองกันตอนกินกาแฟ คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองอยู่แล้ว”
ส่วนลูกชายของเธอที่เป็นนักศึกษากำลังเรียนในมหาวิทยาลัยในลาวแห่งหนึ่ง ก็บอกว่าเขาและเพื่อนไม่พูดเรื่องการเมืองลาวกัน แต่พูดเรื่องการเมืองไทย เพราะสามารถพูดได้โดยที่ไม่มีใครมาจับ
ประเทศที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย
ถึงแม้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบจะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งในลาวเองก็มี มาตรา 44 ที่บอกไว้ว่าพลเมืองลาวมีสิทธิ์เสรีภาพในการพูด, เขียน, ชุมนุม จัดตั้ง สมาคม และ เดินขบวน ที่ไม่ขัดกับกฎหมาย แต่กลับมีกฏหมายหลายข้อที่เข้ามาทำให้ประชาชนไม่สามารถพูดสิ่งที่อยากจะพูดได้ โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง
ชาวลาวคนหนึ่งที่ยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เพราะกลัวว่าจะมีหมายจับส่งมาถึงบ้าน เธอพยายามใช้ทวิตเตอร์ชักชวนให้คนลาวออกมาเรียกร้องผ่านโลกออนไลน์ก่อน เพราะเธอเห็นว่าคนลาวหลายคนเริ่มตื่นตัวบ้างแล้วในช่วงที่มีม็อบฮ่องกง แต่ที่ทำให้กล้าออกมาเรียกร้องมากขึ้นขนาดนี้ น่าจะเป็นเพราะม็อบในไทย เนื่องจากการติดตามข่าวทุกวัน ส่วนเรื่องประท้วงในชีวิตจริง เธอได้ปรึกษากับคนอื่นๆ ที่มีแนวคิดแบบเดียวกันแล้วว่าจะยังไม่รีบออกไปประท้วงในตอนนี้ เพราะฝ่ายที่ต้องการเรียกร้องยังมีคนน้อยอยู่มาก เสี่ยงที่จะโดนอุ้มหายแล้วเรื่องเงียบ
หลักจากการติดตามปัญหาในแฮชแท็ก และพูดคุยกับคนลาวหลายคน ทำให้เรารู้ว่าที่คนไทยอาจไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวการเมืองลาว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูด การปลูกฝังความกลัวจนอาจเป็นต้นเหตุให้ประชาชนชาวลาวรู้สึกว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่สิ่งที่ควรเข้าไปยุ่ง ทั้งๆ ที่เรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงทุกคน
พูดที่นี่ไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าพูดที่อื่นไม่ได้
สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลาว หรือบางประเทศโดยรอบก็ยังแทบไม่สามารถเป็นไปได้เลย ด้วยเงื่อนไขที่ถูกกำหนดจากผู้มีอำนาจ แต่ในทางกลับกันด้วยวิธีการใหม่ๆ ของยุคสมัยนี้ อาจเข้ามาทำให้เงื่อนไขที่ว่าใช้งานได้ยากขึ้น
กรณีของพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) ขบวนการในโลกออนไลน์เพื่อความเป็นปึกแผ่นทางประชาธิปไตย ซึ่งได้แก่ ฮ่องกง ไทย และไต้หวัน ได้ใช้โมเดลอาหรับสปริง โดยใช้โซเชียลมีเดียจุดกระแสให้เกิดการชุมนุมขนาดใหญ่เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนผู้นำ นอกจากนี้ยังมีการนำแนวคิดการประท้วงสลับขั้ว (Protest-Swapping) ซึ่งเป็นการประท้วงข้ามพรมแดนประเทศมาใช้ อย่างที่ฮ่องกงมีกฎหมายห้ามร้องเพลง Glory to Hong Kong แต่ไม่ได้ห้ามร้องที่ไทยจึงมีนักเคลื่อนไหวไทยบางส่วนนำมาใช้ หรือบางเรื่องที่ไม่สามารถพูดที่ไทยได้ ก็สามารถพูดที่ฮ่องกงแทนได้ เป็นเทคนิคใหม่ที่กฎหมายไม่สามารเอาผิดได้
การที่ประชาชนทั้งคนลาว คนไทย คนฮ่องกง คนไต้หวัน และอีกหลายๆ ประเทศ เริ่มตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองควรได้รับ และออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ อาจเป็นเพราะปัญหาที่ถูกกดทับมานานจากการเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับเผด็จการ นี่จึงเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราไม่ว่าชาติไหนควรคอยสอดส่อง กระจายข่าวสาร และส่งแรงกระเพื่อมสนับสนุนกันและกัน ทำให้เรื่องนี้ส่งเสียงดังและกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาคมโลก ไม่เงียบหายเหมือนที่ผ่านมา
อ้างอิง
https://www.amnesty.or.th/latest/news/25/
https://www.amnesty.or.th/our-work/assembly/
https://www.naewna.com/politic/columnist/45674
Writer: เก็จมณี ทุมมา
Illustrator: เก็จมณีทุมมา