เรื่อง จักษณา อุตราศรี
ชุมนุม ชมรมและกลุ่มกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อกับทางกองกิจการนักศึกษา จากกรณีการก่อสร้างตึกกิจกรรมนักศึกษาแห่งใหม่ที่ล่าช้า จนส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมของกลุ่มชุมนุมชมรม ฟากอมธ. สัญญาจะคอยติดตามเรื่อง ส่วนกองกิจฯ ชี้อาจเป็นเรื่องเข้าใจผิด เหตุก่อสร้างตึกมีสัญญาหลายต่อ
เมื่อวันที่ 10 พ.ย ที่ผ่านมา กองสันทนาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (RCATU) ในฐานะตัวแทนชุมนุม ชมรมและกลุ่มกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ได้ประชุมและยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับ นาง เกศิณี วิฑูรย์ชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านกองกิจการนักศึกษา มธ. เรื่องความล่าช้าในการดำเนินการก่อสร้างตึกกิจกรรมนักศึกษาแห่งใหม่ใน มธ. ศูนย์รังสิต
โดยกองสันทนาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โพสต์ข้อความและข้อเรียกร้อง 3 ข้อลงบนเพจเฟซบุ๊ก คือ ให้ทางมหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงการดำเนินการก่อสร้างตึกกิจกรรมนักศึกษาและออกกำหนดการเข้าใช้ให้ชัดเจนและเร็วที่สุด ชดเชยค่าเสียหายอุปกรณ์ของชุมนุม ชมรมที่ได้รับผลกระทบระหว่างตึกกิจกรรมนักศึกษาแห่งใหม่ยังไม่เปิดให้ใช้งาน รวมถึงเปิดเผยงบประมาณดำเนินการก่อสร้างโดยละเอียด
นายพัสกร ชัดเจนกิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ตัวแทนชุมนุม ชมรม และกลุ่มกิจกรรมนักศึกษา กล่าวว่า เดิมทีตึกกิจกรรมนักศึกษาจะต้องก่อสร้างเสร็จภายในปีพ.ศ. 2561 ซึ่งในระหว่างนี้ชุมนุมชมรมต่างๆ จะถูกจัดสรรให้ย้ายไปทำกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ แต่เกิดปัญหาในเรื่องการจัดสรรที่ไม่เหมาะสมในแต่ละชุมนุมชมรม
“บางห้องถูกจัดสรรอยู่ใต้ห้องน้ำ หลายๆ ครั้งมีปัญหาฝ้ารั่ว น้ำเสียจากห้องน้ำไหลรั่วลงมา ทำให้อุปกรณ์ของชุมนุมชมรมเสียหาย โดยเฉพาะชุมนุมชมรมที่มีเครื่องดนตรีอย่างเช่นชุมนุมชมรมดนตรีไทยซึ่งฝ้าพังถล่มลงมา ทำให้เครื่องดนตรีซึ่งสัมผัสความชื้นไม่ได้ เจอกับน้ำ” นายพัสกร กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องสุขอนามัยจากห้องน้ำและสัตว์ที่ตายภายในห้องชมรมจนเกิดกลิ่นเน่าเหม็น
นายพัสกร อธิบายต่อว่าการจัดสรรพื้นที่ทำกิจกรรมโดยให้ชมรมที่ต้องใช้เสียงอยู่ในพื้นที่ใกล้หอพักนักศึกษา เป็นการผลักภาระให้ชุมนุมชมรมต้องดิ้นรนกันในการหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำกิจกรรม อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยยังบอกให้ทางชุมนุมชมรมที่เสียงดังกระทบบุคคลที่อาศัยในหอพัก ให้ลดเสียงลง แทนที่ทางมหาวิทยาลัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหานี้
ส่วนความเป็นมาของ 3 ข้อเรียกร้อง นายพัสกรกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ทางกลุ่มชุมนุมชมรมรอและติดตามการก่อสร้างตึกกิจกรรมนักศึกษา มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยกล่าวว่าจะได้ย้ายเข้าอย่างแน่นอน แต่ก็จะถูกเลื่อนออกไปอยู่หลายครั้ง และเมื่อสอบถามไปยังสภานักศึกษาและองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับไม่ได้รับคำตอบและไม่มีการลงมือแก้ไชปัญหา
“เราเลยเปลี่ยนรูปแบบการออกมาเรียกร้อง โดยแสดงออกทั้งทำป้ายเรียกร้องและโพสทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องตึกกิจกรรมนักศึกษาใหม่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่มีหลักฐานจริงตามที่แนบในโพสต์ทุกอย่าง” นายพัสกรกล่าว
นายพัสกรกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ทางชุมนุมชมรมยังได้พยายามทำให้เรื่องนี้ให้ใกล้ตัวผู้บริหารโดยตรงมากที่สุด โดยแท็กทั้งเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มธ. และเพจเฟซบุ๊กของนางเกศินี แต่ไม่มีการตอบรับ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับตึกกิจกรรมนักศึกษา โดยทั้งหมดนี้เกิดจากการที่กลุ่มผู้บริหารไม่ออกมาชี้แจงประเด็นที่เกิดขึ้น
นายญาณวิช ไข่มุกด์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มธ. ตัวแทนตัวแทนชุมนุม ชมรม และกลุ่มกิจกรรมนักศึกษา กล่าวว่า ที่ตั้งของตึกกิจกรรมนักศึกษาใหม่อยู่ใกล้กับหอพักนักศึกษา ซึ่งไม่เหมาะสมเนื่องจากชุมนุมชมรมส่วนใหญ่ต้องใช้เสียงเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดละอ่อน ที่อาจกระทบต่อผู้พักอาศัยในหอพัก
“แน่นอนว่าเราขออนุญาตใช้อย่างถูกต้องแล้ว แล้วทางมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้ใช้ แต่ประเด็นคือเรื่องความเหมาะสมและมารยาท เรื่องนี้เลยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก จากการพูดคุยกับเพื่อนชุมนุมอื่น เลยได้ข้อสรุปว่า ควรจะให้มีการบุผนังเพื่อเก็บเสียงทุกห้อง ไม่เร็วก็ช้า แต่ว่าก็ควรมีในอนาคต ไม่งั้นแล้วมันจะกลายเป็นปัญหาสะสม” นายญาณวิชกล่าว
น.ส. พร้อมพร พันธุ์โชติ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กล่าวว่า เธอได้ดำรงตำแหน่งนายกอมธ. ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งสิ่งแรกที่เธอผลักดันคือให้ตึกกิจกรรมนักศึกษาสามารถใช้งานได้
“ทางกองกิจการนักศึกษาเคยบอกกับทางเราว่าในช่วงปลายสิงหาก็จะสามารถเข้าใช้งานได้ ซึ่งพอเราทราบเช่นนั้น เราก็มีการประชาสัมพันธ์ลงในเพจ แต่ว่าพอเราประชาสัมพันธ์ลงไปแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะปล่อยปะละเลยตึกกิจกรรมนักศึกษาไปเลย” น.ส. พร้อมพร กล่าวและว่า ทางอมธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจและติดตามเรื่องตึกกิจกรรมนักศึกษาตลอด รวมถึงติดตามความคืบหน้าจากกองกิจการนักศึกษาตลอด หากมีการเลื่อนวันเปิดเข้าใช้งาน จะถามถึงเหตุผลตลอด เพราะทราบถึงปัญหานี้ ว่าควรที่จะมีตึกกิจกรรมนักศึกษาให้นักศึกษาได้ใช้งานแล้ว
ส่วนกระบวนการติดตามการก่อสร้างตึกกิจกรรมนักศึกษาภายหลังจากที่ชุมนุม ชมรมและกลุ่มกิจกรรมนักศึกษา มธ. ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกแล้ว น.ส. พร้อมพร อธิบายว่า ทางอมธ. จะจัดตั้งทีมงานเพื่อตรวจสอบตึกกิจกรรมนักศึกษาในทุกๆ วันว่ามีการดำเนินการทำงานถึงขั้นตอนไหน ก่อนจะรายงานให้กับชุมนุมชมรมทราบทุกสัปดาห์ ให้ชุมนุมชมรมรู้สึกว่าทาง อมธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจและคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ
นายคเณศ สัตตานุสรณ์ นักวิชาการศึกษา กองกิจการนักศึกษา มธ. กล่าวว่า เรื่องที่ว่าตึกกิจกรรมนักศึกษาจะก่อสร้างเสร็จสิ้นในปีพ.ศ. 2561 น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันมากกว่า เนื่องจากการก่อสร้างตึกกิจกรรมนักศึกษาไม่ได้มีสัญญาระยะเดียว โดยสัญญาระยะแรกคือการรื้อถอนบางส่วนของตัวอาคาร เนื่องจากตึกกิจกรรมนักศึกษาถูกปรับปรุงมาจากหอพัก ก่อนปรับปรุงโครงสร้างสถาปัตยกรรมและระบบต่างๆ เช่นไฟฟ้า การสื่อสาร สุขาภิบาล ซึ่งสัญญาระยะนี้จะกำหนดแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีพ.ศ.2560 ถึงเดือนมีนาคม ปีพ.ศ.2561
ต่อมาในสัญญาระยะที่ 2 จะยังคงปรับปรุงโครงสร้างสถาปัตยกรรมและระบบต่างๆ และเริ่มทำตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีพ.ศ. 2561 ถึงเดือนมีนาคม ปีพ.ศ 2562 หลังจากนั้นจะเป็นสัญญาระยะที่ 3 จะเป็นเรื่องของเครื่องปรับอากาศบางส่วน การสร้างลานกิจกรรมตรงกลาง และการจัดซื้อลิฟต์โดยสาร เริ่มเดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2562 ถึงเดือนเมษา ปีพ.ศ. 2563
และในตอนนี้สัญญาการก่อสร้างตึกกิจกรรมนักศึกษอยู่ระยะที่ 4 เป็นเรื่องของลิฟต์โดยสาร 2 ตัว เครื่องปรับอากาศประมาณ 34 ตัว และพื้นห้อง ซึ่งเป็นประเด็นที่เพิ่มเติมขึ้นมา โดยเริ่มทำสัญญาเดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2563 ถึงเดือนมีนาคม ปีพ.ศ. 2564 จึงจะเสร็จ ส่วนสัญญาระยะสุดท้ายที่จะทำ คือเรื่องการติดตั้งเครื่องปรับอากาศบางส่วน ป้ายห้องและป้ายอาคาร รวมไปถึงครุภัณฑ์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต และสำนักงานต่างๆ โดยสัญญาทุกระยะจะมีการประมูล แล้วแต่ว่าจะได้บริษัทเดิมหรือบริษัทใหม่
ส่วนเรื่องงบประมาณการก่อสร้างตึกกิจกรรมนักศึกษา นายคเณศอธิบายว่า งบประมาณจะมาตามรอบปีที่จัดสรรไว้ หากเป็นก้อนเดียวก็จะเป็นงบประมาณต่อปีที่ค่อนข้างเยอะ
สำหรับเรื่องค่าชดเชยอุปกรณ์ที่เสียหาย นายคเณศชี้แจงว่า กองกิจการนักศึกษาจะมีงบกลางที่ตั้งไว้อยู่คือ งบกองทุนอุดหนุนกิจกรรมนักศึกษา และจากการประชุมกับชุมนุมชมรมได้พูดคุยตกลงแล้วว่าครุภัณฑ์และอุปการณ์ต่างๆ ที่เสียหาย ให้รวบรวมแล้วแจ้งกับทางกองกิจการนักศึกษา เพื่อจำหน่ายตามระบบพัสดุและตั้งงบประมาณจัดซื้อทดแทนสิ่งเดิมที่เสียหายไป ส่วนเรื่องการเลือกพื้นที่ก่อสร้างตึกกิจกรรมนักศึกษานั้น ทางมหาวิทยาลัยต้องการให้ตึกกิจกรรมเป็นเสมือนตึกศูนย์กลางของนักศึกษา ไม่อยากให้อยู่ไกลจากตึกเรียนและหอพักมากเกินไป จึงตั้งตึกกิจกรรมนักศึกษาอยู่ระหว่างทางไปหอพักและตึกเรียน
นายคเณศกล่าวว่า ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับหอพักจากกลุ่มกิจกรรมที่ใช้เสียง เดิมที่กองกิจการนักศึกษามีแนวคิดจะทำเป็นห้องเก็บเสียง แล้วให้กลุ่มกิจกรรมซ้อมในห้อง ส่วนกลุ่มกิจกรรมไหนที่ซ้อมในห้องไม่ได้ ก็จะหาวิธีแก้ไข เช่น อาจกันบางส่วนเป็นพื้นที่เก็บเสียง แต่อาจจะยังไม่ได้รวมอยู่ในส่วนของการก่อสร้างตึกกิจกรรมนักศึกษาในช่วงแรก
“พอเข้าไปใช้งานแล้วมีฟังก์ชันอะไรขาด ก็จะพยายามทำตามคำขอไปทีละประเด็น คือโครงสร้างต้องเสร็จก่อน ต่อมาคือต้องให้สามารถเข้าใช้งานได้ ส่วนโครงการอะไรที่ต้องทำเพิ่มเติมต่อ ก็เดี๋ยวมาคุยกัน” นายคเณศกล่าว
จากการที่กลุ่มชุมนุมเรียกร้องให้อธิการบดีออกมาชี้แจงเรื่องตึกกิจกรรมนักศึกษาโดยตรง นายคเณศอธิบายว่า กองกิจการนักศึกษานั้นเป็นเจ้าของตึกกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งต้องคอยควบคุมและเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการก่อสร้างตึก ดังนั้นคำตอบจากกองกิจการนักศึกษาจะชัดเจนกว่าเนื่องจากสามารถรวบรวมข้อมูลได้ง่ายและมากกว่าข้อมูลที่อธิบการบดีมี ซึ่งเป็นผู้ออกนโยบายเท่านั้น
นายคเณศกล่าวเพิ่มเติมว่า ในอีกไม่นานจะมีประกาศให้รับทราบ โดยส่งให้กับทางอมธ. เป็นผู้ชี้แจงในประเด็นต่างๆ เนื่องจาก อมธ. เป็นผู้ประสานกับกองกิจการนักศึกษาในเรื่องของตึกกิจกรรมนักศึกษาอยู่แล้ว