SocietyWritings

ถ้าฉันไม่อยากทำการบ้าน: ธุรกิจรับจ้างทำการบ้าน กับช่องว่างของระบบการศึกษาไทย

เรื่อง: สุธิดา วุฒิกร

หากคุณเคยมีความรู้สึกว่าไม่สามารถทำงานหรือ ‘การบ้าน’ ที่คุณได้รับมอบหมายได้ คุณจะแก้ปัญหาอย่างไร

ก. ไม่ส่งงานชิ้นนั้น

ข. ขอให้เพื่อนคนที่ทำได้ช่วย หรือขอลอก

ค. จ้างคนอื่นทำให้

แน่นอนว่าแต่ละคนย่อมมีวิธีการจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้แตกต่างกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะจัดการกับสถานการณ์นี้ด้วยวิธี ค. 

การตัดสินใจจ้างย่อมมีเหตุผลที่หลากหลาย แต่ไม่ว่าจะด้วยอะไร การที่คนยอมจ่ายเงินเพื่อบางสิ่งบางอย่าง ย่อมไปกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายตามหลักอุปสงค์-อุปทานทางเศรษฐศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีข้อกังขาด้านศีลธรรมว่าการจ้างทำการบ้านนั้นอาจจะเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่ชีวิตของคนเราก็มีบริบทและแนวคิดที่แตกต่างกัน และในบางครั้งมันอาจจะเป็นมากกว่าเรื่องของคำว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ก็เป็นได้

และนี่คือเรื่องราวของธุรกิจรับจ้างทำการบ้าน

เหตุที่คนเลือกใช้บริการธุรกิจนี้

จากการสอบถามบุคคลผู้ไม่ประสงค์จะออกนามจำนวน 57 คน ผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ พบว่า 54 คนทราบว่าธุรกิจรับจ้างทำการบ้านนั้นมีอยู่จริง นอกจากนี้ เมื่อถามเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดของธุรกิจ คำตอบที่มีคนเห็นด้วยมากที่สุดถึงร้อยละ 82.5 คือ การบ้านที่นักเรียนได้รับนั้นมากเกินไป ขณะที่ นักเรียนได้รับการบ้านที่ยากเกินความสามารถของตัวเอง นั้นมีคนเห็นด้วยร้อยละ  80.7 และ ผู้ว่าจ้างมีความเกียจคร้าน มีคนเห็นด้วยร้อยละ 77.2

กว่าหนึ่งในสามของผู้ทำแบบสำรวจ มองว่าธุรกิจรับจ้างทำการบ้านยังควรจะมีอยู่ในสังคม โดยหนึ่งในผู้ที่เห็นด้วยระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาอะไรที่ต้องแก้กับการรับทำการบ้าน ถ้าจะแก้ก็แก้ที่ระบบการศึกษาให้เลิกสั่งการบ้านที่ไม่ได้พัฒนาความรู้ แค่มีจำนวนที่เยอะเฉยๆ ได้แล้ว ไม่ได้ประโยชน์อะไร เหนื่อยเปล่าๆ เพราะส่วนมากที่รับทำการบ้านที่เห็นก็ทำงานพวกนี้ทั้งนั้น”

นอกจากนี้ ความคิดเห็นในอีกมุมหนึ่งจากการทำแบบสำรวจระบุไว้ว่า “ไม่คิดว่าเป็นปัญหา เพราะเมื่อเรียกว่าเป็นธุรกิจ ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างก็จำเป็นต้องมีทักษะหรือข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างที่อีกฝ่ายพึงพอใจ” ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่น่าสนใจเช่นกัน

ความคิดเห็นทั้งสองมุมมีความน่าสนใจ และพาให้เราตั้งคำถามว่าเส้นแบ่งระหว่างความถูกผิดของธุรกิจนี้อยู่ที่ไหนกันแน่

แต่เราจะยังไม่ตอบคำถามเหล่านี้ จนกว่าจะได้ฟังความคิดเห็นของคนที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้เสียก่อน

คุยกับผู้รับจ้างทำการบ้าน

พู่กัน (นามสมมติ) ผู้รับจ้างทำการบ้านประเภทแต่งบทร้อยกรองวิชาภาษาไทย เล่าให้ฟังว่า เธอเริ่มต้นทำธุรกิจนี้ตั้งแต่ตอนเริ่มเรียนชั้นมัธยมต้น ในตอนนั้นเป็นการรับจ้างที่ไม่ได้จริงจังมากนัก โดยเธอเริ่มเข้าเรียนชั้นมัธยมต้นในโปรแกรมภาษาอังกฤษ ซึ่งเพื่อนร่วมชั้นนั้นส่วนใหญ่ไม่ถนัดวิชาภาษาไทย ซึ่งรวมไปถึงการแต่งร้อยกรองด้วย แต่สำหรับเธอ การแต่งร้อยกรองเป็นสิ่งที่ชอบและถนัดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เธอจึงถูกเพื่อนขอร้องให้ช่วยแต่งร้อยกรองให้ เพื่อที่จะได้มีงานส่งอาจารย์ โดยเริ่มแรก เธอคิดราคาอยู่ที่ 15 บาทต่อหนึ่งบทคำประพันธ์ ซึ่งเพื่อนก็ยินดีจ่าย

ต่อมาเรื่องราวการรับจ้างแต่งร้อยกรองของเธอถูกบอกเล่าปากต่อปากไปเรื่อยๆ กลุ่มลูกค้าจึงขยายออกจากเพียงแค่ในห้องเรียนของเธอ เป็นการจ้างโดยเพื่อนต่างห้อง และเมื่อเรียนจบมัธยมต้น เมื่อเพื่อนร่วมชั้นได้แยกย้ายไปอยู่ต่างโรงเรียน เพื่อนของเธอเหล่านั้นก็ยังมักส่งข้อความมาขอจ้างงานเธออยู่เสมอๆ 

อย่างไรก็ตาม พู่กันกล่าวว่าการรับจ้างทำการบ้านอย่างจริงจังนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอเรียนอยู่ในระดับชั้นม.5 เนื่องจากในหลักสูตรมีการเรียนการสอนแต่งร้อยกรองในฉันทลักษณ์ที่ไม่คุ้นตา ซึ่งนั่นทำให้เพื่อนรอบตัวมาบ่นกับเธอว่า ถึงแม้จะพยายามแล้วแต่ก็ไม่สามารถทำได้ ด้วยความที่เธอรับจ้างแต่งกลอนมานาน เธอจึงมีคลังคำศัพท์ในสมองอยู่มาก การแต่งคำประพันธ์ในฉันทลักษณ์ที่ไม่คุ้นตาจึงไม่ใช่เรื่องลำบากสำหรับเธอมากนัก เห็นดังนั้น เธอจึงได้เปิดธุรกิจรับจ้างแต่งร้อยกรองอีกครั้ง คราวนี้ขึ้นราคาเป็น 30 บาทต่อหนึ่งบทคำประพันธ์ แต่เธอก็ลดราคาให้กับลูกค้าบางคนที่ไม่มีเงินมากพอจะจ่ายด้วย เนื่องจากเข้าใจความลำบากด้านการเงินของแต่ละคนที่มีไม่เท่ากัน

“เขาไหวแค่ไหนก็เอาแค่นั้น” พู่กันกล่าว

พู่กันเล่าเพิ่มเติมว่า ช่วงที่เธอได้รับงานมากที่สุดคือช่วงที่เธอเรียนอยู่ในระดับชั้น ม.6 ในตอนนั้นครูวิชาภาษาไทยได้สั่งงานกลุ่มเป็นการแต่งกลอนกลุ่มละ 10-15 บท ในขณะนั้นลูกค้าของเธอคือเพื่อนร่วมสายชั้นทุกห้องเรียน ซึ่งในช่วงที่มีคนว่าจ้างมากที่สุดนั้น เธอมีคิวว่าจ้างรอให้ทำถึงประมาณ 20 คิว และได้รับค่าจ้างรวมแล้วกว่าหกพันบาท

“เคยโดนจับได้มั้ย”  คงเป็นคำถามที่หลายคนอยากจะรู้ พู่กันจึงได้เล่าเรื่องตลกแกมประหลาดให้ฟังว่า วันหนึ่งขณะที่เธอกำลังเรียนวิชาภาษาไทยอยู่ และเอางานไปให้ครูตรวจ ครูก็ได้เอ่ยปากชมเธอว่า “ทำไมแต่งดีจัง” และเธอก็เผลอหลุดปากพูดไปว่า “เนี่ย หนูแต่งให้กลุ่มอื่นด้วยนะ” แต่ว่าครูก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้พู่กันคิดว่า ที่จริงแล้วครูอาจจะไม่สนใจว่าใครเป็นคนแต่ง แต่สนใจแค่ว่ามีงานมาส่งหรือไม่เท่านั้น

พู่กันเปรียบงานของเธอเหมือนกับการรับจ้างวาดรูปให้คนที่ไม่ถนัด เธอมองว่าการแต่งร้อยกรองเองนั้นก็เป็นงานศิลปะอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความถนัดเหมือนกัน เธอรู้สึกสนุกกับงานที่ทำเหมือนกับคนที่ชอบวาดรูป และเมื่อมองเห็นรายได้จากสิ่งที่ชอบ เธอจึงคว้าโอกาสเอาไว้

คุณครูคิดอย่างไร

อีกหนึ่งผู้ที่ได้มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจรับจ้างทำการบ้านมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นอาชีพครู นางสาวหนึ่งฤทัย ผางดี ครูภาษาญี่ปุ่นโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลที่รู้เกี่ยวกับธุรกิจรับจ้างทำการบ้าน ว่า เธอรู้ว่ามีธุรกิจรับจ้างทำการบ้านอยู่ เพราะคุยกับนักเรียนของตัวเอง บวกกับจับได้จากงานที่นักเรียนส่งมา โดยเธอมองว่าการรับจ้างทำการบ้านนั้นจะมีอยู่สองลักษณะที่แตกต่างกันก็คือ การจ้างเพราะการบ้านเกินความสามารถ และการจ้างเพราะความขี้เกียจ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลจากค่านิยมของตัวนักเรียนเอง โดยสองอย่างนี้จำเป็นจะต้องแยกการตัดสินออกมาคนละแบบ เนื่องจากเจตนาแตกต่างกัน

นางสาวหนึ่งฤทัยมองว่าการบ้านประเภทแบบฝึกหัด เป็นหนึ่งในผลตอบรับที่สำคัญของนักเรียน ซึ่งจะทำให้เธอรู้ว่าควรปรับการสอนไปในลักษณะใด ซึ่งโดยปกติในการตรวจการบ้าน เธอมักถามกับนักเรียนถึงวิธีการได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกเขียนลงไปในการบ้านเสมอ เพื่อตรวจสอบกระบวนการคิดของนักเรียน และธุรกิจรับจ้างทำการบ้านนั้นส่งผลกระทบต่อกระบวนการดังกล่าวโดยตรง

“ครูจะไม่ดูแค่ผลลัพธ์ ครูดูกระบวนการ การจ้างมันตัดกระบวนการตรงนี้ทิ้ง” นางสาวหนึ่งฤทัยกล่าว และเสริมว่าในมุมมองของเธอนั้น ธุรกิจรับจ้างทำการบ้านในลักษณะนี้ไม่ต่างกับการลอกการบ้านสักเท่าไร และการมีอยู่ของธุรกิจนี้ทำให้ต้องพยายามปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนโดยพยายามให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดให้เสร็จในคาบทั้งหมด เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม 

แต่ในการปฏิบัติจริงนั้น เธอก็ไม่สามารถที่จะไม่สั่งการบ้านแก่เด็กนักเรียนได้เลยทีเดียว เนื่องจากคิดว่าเวลาของแต่ละคาบเรียนนั้นสั้นเกินไป “คาบมันสั้นเกินไป ใช่ แล้วยิ่งช่วงโควิดด้วย” นอกเหนือจากเวลาคาบเรียนที่สั้นลงแล้ว การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญ เธอบอกว่า เมื่อมีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ธุรกิจรับจ้างทำการบ้านก็พัฒนากลายเป็นการรับจ้างทำข้อสอบไปด้วย โดยอาศัยช่องว่างทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่สำหรับครูผู้สอนอย่างเธอ อย่างไรก็ตาม เธอก็ได้คิดวิธีการแก้ปัญหานี้ด้วยการยอมเหนื่อยมากขึ้นและจัดสอบเป็นการสนทนาภาษาญี่ปุ่นแบบตัวต่อตัวระหว่างตัวเธอและนักเรียนแทน

แต่ก็ใช่ว่าเธอจะมองการจ้างทำการบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ดีไปเสียทีเดียว นางสาวหนึ่งฤทัยกล่าวว่า สำหรับกรณีที่นักเรียนได้รับมอบหมายงานที่เกินความสามารถ เช่น การตัดวิดีโอ หรือการวาดรูป นั้น เธอมองว่าการว่าจ้างทำงานในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ร้ายแรงเท่ากับการรับจ้างทำแบบฝึกหัด เธอเข้าใจว่านักเรียนบางคนก็มีความคาดหวังที่จะได้คะแนนที่ดี เนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ความกดดันจากพ่อแม่ หรือจากตัวเอง อีกทั้งจุดประสงค์ของวิชาก็ไม่ได้ต้องการที่จะพัฒนาทักษะในจุดนั้น แต่สำหรับเธอ หากเทียบกับคนที่ตั้งใจทำงานด้วยตัวเองทั้งหมด เธอก็ยังคงให้คะแนนคนที่ทำงานเองมากกว่าคนที่ไปว่าจ้างคนอื่นอยู่ดี เนื่องจากเห็นคุณค่าของความพยายาม

“การจ้างไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ควรจ้าง” เธอสรุป

นักวิชาการมองอย่างไร

ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับธุรกิจรับจ้างทำการบ้านเอาไว้อย่างสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต นั่นก็คือ การบ้านมีความยากเกินไป นักเรียนไม่สามารถทำการบ้านได้ทันเวลา และ ไม่มีแรงจูงใจในการทำการบ้าน 

ส่วนในแง่ของการจัดการกับปัญหา ดร.พลรพีแนะนำว่าจำเป็นต้องดูที่สาเหตุที่เด็กเลือกที่จะใช้บริการธุรกิจนี้ก่อน โดยสาเหตุทั้งสามอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็จำเป็นจะต้องใช้วิธีการจัดการที่แตกต่างกัน

สำหรับวิธีจัดการกับการบ้านที่ยากเกินไป ดร.พลรพีบอกว่าสิ่งแรกที่ต้องทำ คือการย้อนกลับไปดูว่าการบ้านที่สั่งให้เด็กนักเรียนทำนั้นเหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียนแล้วหรือยัง และจะต้องไม่ลืมว่าเด็กแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกันไป ดังนั้นครูผู้สอนเองก็สามารถพิจารณาให้การบ้านที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลได้

แต่ถ้าการบ้านที่ได้รับมอบหมายนั้นต้องการทักษะที่นอกเหนือไปจากข้อกำหนดของหลักสูตรการเรียนในวิชานั้น เขามองว่าครูไม่ควรที่จะมองให้เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งกระทบกับเกณฑ์การให้คะแนนมากนัก แต่อย่างไรก็ตามต้องให้ความยุติธรรมกับนักเรียนที่พยายามทำงานทุกส่วนด้วยตัวเองเช่นกัน 

สาเหตุต่อมา คือการที่นักเรียนไม่สามารถทำการบ้านได้ทันเวลา ดร.พลรพีแนะนำให้ครูผู้สอนเพิ่มการเรียนการสอนเรื่องการจัดการเวลาลงไปในหลักสูตรการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย เนื่องจากสาเหตุนี้มักเกิดจากการทำงานในนาทีสุดท้ายก่อนถึงกำหนดส่ง

และสาเหตุสุดท้าย คือการขาดแรงจูงใจในการทำการบ้าน เขากล่าวว่าการจัดการกับสาเหตุนี้ จำเป็นจะต้องจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ไม่ง่ายหรือไม่ยากมากเกินไป และอีกสิ่งสำคัญก็คือการจัดการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน

“ถ้าผู้เรียนสามารถที่จะตัดสินใจและออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวเองได้พอสมควร สิ่งที่เขาเรียนรู้จะนำมาซึ่งการบ้าน” ดร.พลรพีกล่าว และเสริมว่าการจัดหลักสูตรการศึกษาลักษณะนี้ เรียกว่าการจัดการหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Approach) ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบยึดตามความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก โดยการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้จะสามารถชักจูงให้เด็กที่ไม่สนใจในการเรียนกลับมามีความตั้งใจได้อีกครั้ง ซึ่งมีหลายกรณีที่เด็กที่กลับมาตั้งใจเรียนสามารถทำผลการเรียนได้ในระดับดี

นอกจากการแก้ปัญหาโดยอิงจากสาเหตุข้างต้นทั้งสามข้อ ดร.พลรพียังเสริมอีกว่า สิ่งหนึ่งที่สามารถทำเพื่อจัดการกับปัญหาการรับจ้างทำการบ้านก็คือความเข้มงวดทางระเบียบวินัย เขากล่าวว่าหากสังคมทั้งภายนอกและภายในโรงเรียนมีความเข้มงวดด้านระเบียบวินัย ก็จะทำให้นักเรียนระมัดระวัง หรือไม่กล้าที่จะออกมาใช้บริการธุรกิจรับจ้างทำการบ้าน ซึ่งอาจเป็นอีกทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้ 

ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร

ปัญหาธุรกิจรับจ้างทำการบ้านที่ทุกฝ่ายมองเห็นนั้นดูเหมือนจะอยู่ในภาพรวมที่สอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการปล่อยปละละเลยระเบียบวินัย การได้รับงานที่ไม่ใช่นักเรียนทุกคนสามารถจะทำได้ งานที่ได้รับมีปริมาณมากเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารเวลา และการขาดแรงจูงใจในการทำการบ้านเพราะมองไม่เห็นความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครสามารถเขียนบทสรุปของวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้ได้อย่างแน่นอนเป็นตำราเอาไว้ได้ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการพูดคุยเปิดใจกับความคิดเห็นของทุกฝ่ายนั้นเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการระดมความคิดเพื่อหาทางออกของปัญหาที่เหมาะสมกับทุกคน การหันมาทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน มองหาจุดร่วมและจุดต่างของความคิดแต่ละฝ่าย และสังเคราะห์ออกมาเป็นแนวคิดใหม่ อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่ตำราเล่มใดได้เขียนเอาไว้ก็เป็นได้ ถึงแม้ว่าธุรกิจรับจ้างทำการบ้านอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องอย่างขาวสะอาด แต่สิ่งที่สามารถทำให้ระบบการศึกษาขยับแยกออกจากธุรกิจนี้ได้โดยสมบูรณ์ ก็ยังคงเป็นไปได้ด้วยการปรับแก้ปัญหาในระบบการศึกษาไปทีละจุดร่วมกัน 

“Strong minds discuss ideas, average minds discuss events, weak minds discuss people.”Socrates

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Features

AD เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดในสื่อไทย มาไกลพอแล้วหรือยัง ?

เขียน : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ หากลองหลับตาดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง สิ่งที่เห็นตรงหน้าตรงหน้าคงเป็นสีดำ มืดสนิท ได้ยินเพียงเสียงตัวละครพูดคุยกัน แต่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักแสดงบนจอกำลังแสดงสีหน้า ขยับตัวยังไง หรือกำลังจะเกิดอะไรในช่วงไคลแม็กซ์ ...

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

News

อ.รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากระบบราชการไทย รัฐต้องกำหนดบทบาทให้แต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน

เรื่อง : จุฑาภัทร ทิวทอง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากความไม่เป็นเอกภาพกันของหน่วยงานรัฐ แนะรัฐบาล การเตรียมพร้อม แจ้งเตือนและรับมือภัยพิบัติต้องแก้ไขด้วยการกำหนดบทบาทและภารกิจที่ชัดเจนให้แต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างความชัดเจนในระบบเตือนภัยแห่งชาติ ...

Articles

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save