SocietyWritings

ส่งต่อลมหายใจ

ผู้เขียน: ชนิสรา หน่ายมี

ภาพประกอบ: นิชดา พูลเพชร

เราเชื่อว่าลมหายใจเป็นสิ่งที่มีค่าและมีความหมายสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร นับถือศาสนาอะไร ฐานะรวยหรือจน เราทุกคนต้องหายใจ เพราะหากเราไม่หายใจความตายจะมาเยือนโดยฉับพลัน หลายคนมักบอกว่า ลมหายใจเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน แต่ถ้าเราสามารถส่งต่อลมหายใจหรือให้ชีวิตใหม่กับใครบางคนได้ ในขณะที่คุณไม่ได้มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้แล้ว ทำให้พวกเขาได้อยู่กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง คนที่เขารักหรือทำให้หายจากโรคร้ายที่เขาเผชิญ ด้วยการส่งต่ออวัยวะเพื่อให้พวกเขามีชีวิตอยู่ต่อไปคงจะดีไม่ใช่น้อย

การบริจาคอวัยวะคือ การส่งต่ออวัยวะของเราให้กับบุคคลที่มีอวัยวะเสื่อมสภาพหรือใช้การไม่ได้ ด้วยวิธีการปลูกถ่ายอวัยวะ  ปัจจุบันอวัยวะที่แพทย์สามารถทำการปลูกถ่าย ได้แก่ ปอดและไตทั้ง 2 ข้าง หัวใจ ตับ ตับอ่อน และส่วนของเนื้อเยื่อ ได้แก่ ผิวหนัง ลิ้นหัวใจ กระจกตา กระดูกและเส้นเอ็น ในขณะที่บางคนคิดว่าการบริจาคอวัยวะกับการบริจาคร่างกายเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ในความเป็นจริง การบริจาคร่างกาย คือ การบริจาคเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ใช้ศึกษาร่างกายมนุษย์

สภากาชาดไทยระบุว่า จากข้อมูลวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ปัจจุบันในประเทศไทย มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะจำนวน 93,709 คน ผู้บริจาคอวัยวะแล้วจำนวน 119 คน ผู้รออวัยวะจำนวน 5,552 คน สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้การบริจาคอวัยวะจะเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว แต่ผู้บริจาคอวัยวะยังคงมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับบุคคลที่รอรับการบริจาคอวัยวะ ทั้ง ๆ ที่ การบริจาคอวัยวะ 1 คน สามารถต่อลมหายใจให้กับคนสูงสุดถึง 8 ราย ซึ่งใน 1 สัปดาห์จะมีผู้เสียชีวิต 3 คน จากการรอรับการบริจาคอวัยวะ

การบริจาคอวัยวะทำได้ 2 กรณี คือ 1. ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่โดยต้องเป็นญาติทางสายเลือด หรือสามีภรรยาเท่านั้นหรือ 2. ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะสมองตาย คือ ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการใส่เครื่องหายใจเท่านั้น หรือในบางครั้งอัตราการเต้นของหัวใจหรือความดันเลือดยังเหลืออยู่ โดยผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ตามหลักกฎหมายถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว แต่สาเหตุที่คนบริจาคอวัยวะน้อยอาจเป็นเพราะบางคนเชื่อว่าคนที่มีอาการเช่นนี้ถือว่ายังไม่เสียชีวิตและการบริจาคอวัยวะเป็นการพรากลมหายใจของคนที่รักไป ถึงแม้คนที่รักจะไม่สามารถหายกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้วก็ตาม รวมถึงมีคนบางส่วนมีความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายและความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน

ตั้งแต่ในอดีตมนุษย์มักมีความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายที่แตกต่างกัน ทำให้ส่งผลมาถึงความเชื่อในการบริจาคอวัยวะ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาไม่ว่าจะเป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์หรือศาสนาอิสลาม ซึ่งถือว่าเป็น 3 ศาสนาที่คนไทยนับถือมากที่สุดในประเทศไทย

คนที่นับถือศาสนาพุทธบางส่วนเชื่อว่าหากบริจาคอวัยวะ ชาติหน้าจะเกิดมาอวัยวะไม่ครบ 32  คนที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายสุขาววดี เชื่อว่าวิญญาณยังคงอาศัยอยู่ในร่างของผู้เสียชีวิต ภายหลังจากการหยุดหายใจห้ามนำอวัยวะส่วนใดออกจากร่างกาย เพราะถือว่าเป็นการรบกวน และทำลายวิญญาณของผู้เสียชีวิต ห้ามสัมผัสร่างผู้เสียชีวิต ในขณะที่ร่างกายยังอุ่นและจะเผาหรือฝังร่างกายภายใน 24 ชั่วโมงหรือ 7 วัน หลังจากเสียชีวิต

อย่างไรก็ตามในทางพุทธศาสนาไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ เนื่องจากพระคุณเจ้าพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) เคยกล่าวในหนังสือถึงเรื่องนี้ไว้ว่า การบริจาคอวัยวะถือเป็นการเสียสละเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ถือเป็นหนึ่งหลักธรรมที่สำคัญในศาสนาพุทธ คือ หลักทศพิธราชธรรม 10 ประการ กล่าวไว้ว่าการให้ทาน การบริจาคอวัยวะเป็นการทำทานบารมีขั้นสูงสุด เป็นการบริจาคเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น สำหรับผู้ที่เชื่อว่าการบริจาคอวัยวะแล้วเกิดมาชาติหน้าจะไม่ครบ 32 ตามหลักศาสนาไม่ได้หมายความเช่นนั้น แต่หมายถึงการที่มนุษย์คิดจะไปทำร้ายผู้อื่นให้เจ็บปวด หรือ ทำให้ร่างกายขาดหาย เช่น ตัดแขนตัดขา คนที่ชอบทำร้าย ข่มแหง รังแกผู้อื่นจะทำให้ชาติหน้าเกิดมาไม่ครบ 32 แต่สำหรับผู้ที่บริจาคร่างกายเกิดมาชาติหน้าจะมีร่างกายที่สมบูรณ์ รูปร่างหน้าตาดี ตามหลักธรรมกฎแห่งกรรม  จึงสะท้อนให้เห็นว่าการบริจาคอวัยวะไม่ได้ทำให้มนุษย์เกิดชาติหน้าแล้วจะเป็นผู้พิการ

สำหรับความเชื่อทางคริสต์ศาสนา มีชาวคริสต์บางส่วนเชื่อว่าร่างกายเป็นของพระเจ้าและต้องเก็บรักษาไว้อย่างดีจนถึงวันสุดท้าย แต่ในหนังสือความตายตามความเชื่อของคริสต์ชนกล่าวไว้ว่า หลักคำสอนของคริสต์ศาสนาหากมนุษย์เสียชีวิตจะต้องกลับไปพบพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นผู้สร้างมนุษย์ ร่างกายจะสลายไปแต่จิตวิญญาณและร่างกายใหม่ซึ่งพระเจ้าประทานจะยังคงอยู่ถาวร และจิตวิญญาณของผู้ตายจะไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ ไม่หวนกลับมาในโลกใบนี้อีก ดังนั้นในหลักคริสต์ศาสนาไม่มีข้อห้ามสำหรับการบริจาคอวัยวะ จึงสะท้อนให้เห็นว่า สามารถบริจาคอวัยวะได้ทันทีหลังจากที่เสียชีวิต

ในขณะที่ศาสนาอิสลามการบริจาคอวัยวะไม่มีบัญญัติไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอานและหะดีษที่ชัดเจน หะดีษคือการกระทำหรือคำพูดของนบีมูฮัมมัด  ในรวมคำวินิฉัย (ฟัตวา) ของจุฬาราชมนตรี ระบุไว้ว่าตามหลักศาสนาอิสลามเชื่อว่าการใช้ประโยชน์จากร่างกายมนุษย์ไม่ว่ามนุษย์จะมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้วเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และให้เกียรติกับผู้เสียชีวิต ตามความเชื่อของคนมุสลิมชีวิตและร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีค่าที่พระเจ้าประทานให้ มนุษย์ไม่สามารถทำลายหรือเรียกหาความตายได้ การทำลายวิญญาณเปรียบเสมือนการทำลายมนุษย์ทั้งคน 

เมื่อหลายพันปีก่อนมีศัลยแพทย์ชาวมุสลิมปลูกถ่ายอวัยวะขึ้น คือกระดูกและฟัน แต่ถูกคัดค้านจากคนในสังคมบางส่วนที่อ้างหลักคำสอนมากกว่าเหตุผลทางกฎหมาย ทำให้นักวิชาการชาวมุสลิมพิจารณาร่วมกันว่า ถ้าหากเป็นการบริจาคอวัยวะเพื่อการรักษาชีวิตผู้อื่นด้วยวิธีทางการแพทย์สามารถกระทำได้ จึงออกกฎหมายอนุญาตให้รักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายอวัยวะได้โดยไม่ผิดหลักศาสนา แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความหลักคำสอนในพระคัมภีร์อัลกุรอานและหะดีษของแต่ละบุคคล ในหลักคำสอนไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน จึงสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันยังมีชาวมุสลิมจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการบริจาคอวัยวะ ถึงแม้จะถูกต้องตามกฎหมายและถือเป็นการช่วยชีวิตผู้อื่น แต่การบริจาคร่างกายยังคงไม่อนุญาตให้กระทำได้เนื่องจากขัดกับหลักคำสอน

แม้ว่าวันนี้คนบางกลุ่มยังมีความเชื่อว่าการบริจาคอวัยวะชาติหน้าจะเกิดมาเป็นผู้พิการ ผิดหลักศาสนาหรือส่งผลกับชีวิตหลังความตาย แต่ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นว่า การบริจาคอวัยวะด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากความตาย หายจากความทุกข์ทรมาน เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด จะสังเกตเห็นได้ว่าทุกศาสนาไม่ได้ปฏิเสธการบริจาคอวัยวะ เพราะทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเมตตาและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร แต่ถ้าจิตใจของคุณเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใด คุณจะพบเจอแต่สิ่งงดงาม ในวันที่คุณไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้แล้ว คุณยังสามารถส่งต่อลมหายใจให้ใครบางคนได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง

อ้างอิง

  • https://www.organdonate.in.th
  • https://mgronline.com/live/detail/9520000143392
  • วิจัยการให้คุณค่าและความเชื่อของครอบครัวมุสลิมเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ : การศึกษาเบี้องต้น
  • วิจัยการให้คุณค่าและความเชื่อเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ และบทบาทพยาบาล ในการส่งเสริมการตัดสินใจของครอบครัวผู้ป่วยที่มีโอกาสบริจาคอวัยวะตามการรับรู้ของครอบครัวและพยาบาล
  • รวมคำวินิฉัย (ฟัตวา) ของจุฬาราชมนตรี
  • เรียนพระคัมภีร์ออนไลน์กับ พี่ซัน
  • พระคุณเจ้าพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
22
Love รักเลย
10
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Writings

ตรรกะวิบัติของนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เรื่อง: พิชญา ณ วาโย การอภิปรายไม่ไว้วางใจนับว่าเป็นกลไกสำคัญของรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การอภิปรายฯ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลอย่างรอบด้าน ทว่าสิ่งที่มักปรากฏให้เห็นในการอภิปรายคือ ‘ตรรกะวิบัติ’ หรือที่เรียกว่า ‘Logical fallacy’ หมายถึงการบิดเบือนของตรรกะในการชี้แจงข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับรัฐมนตรีทั้งหลายที่มีหน้าที่ต้องอธิบายทุกประเด็นที่ถูกฝ่ายค้านซักฟอก การอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ ...

Articles

ภัยพิบัติในไทยกับความสนใจ ‘แค่กรุงเทพ’

เรื่อง: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ ภาพ: Wiroj Sidhisoradej จาก Freepik 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ...

Writings

การส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 40 คน “กลับบ้าน” กับ ฉากหลังสิทธิมนุษยชนไทย

เรื่อง: พิชญา ณ วาโย “ดิฉันยืนยันว่ากลับโดยสมัครใจ ไม่เช่นนั้นก็มีการลากสิ ไม่มีการลาก เดินขึ้นไปปกติ ไม่มีอะไรทั้งนั้น สมัครใจค่ะ” คำกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งในถ้อยแถลงของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ...

Writings

บ้านที่กลับไม่ได้ เพราะไม่มี “ตั๋ว”

เรื่อง : กัลย์สุดา ทองดี, ฐิตารีย์ ทัดพิทักษ์กุล, ณัฏฐณิชา มาลีวรรณ, ณิชกุล หวังกลุ่มกลาง, เบญจรัตน์ วิรัตรมณี, พิชชาสรรค์ ฉายภมร, สลิลทิพย์ ...

Writings

ในยุคแห่งความไม่แน่นอนนี้ หรือการบนบาน….จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่แสดงตัวตนของคน Gen Z?

เรื่อง : สมิตานันท์ จันสุวงษ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “ถ้าผลสอบไฟนอลได้ A ล้วนจะงดกินน้ำหวานหนึ่งเดือน” “ถ้ากดบัตรคอนเสิร์ตได้โซนที่ต้องการ เดี๋ยวจะมาแจกเงินให้ follower” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ...

Writings

อคติสู่มุมมองใหม่: การเปลี่ยนแปลงของสื่อไทยกับภาพลักษณ์ของเมียฝรั่งในเพลงลูกทุ่ง

เรื่อง : โอปอล ศิริภัสษร พลอยชมพู วงศ์ยาไชย ศิรภัสษร ศิริพานิช อภิวัฒน์ สุชลพานิช ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ลักษณะของเมียฝรั่ง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save