เรื่อง: ตติยา ตราชู
ภาพ: จุฑารัตน์ พรมมา
เอ๊ะ โพสต์อะไรวะเนี่ย ไม่เห็นจะเข้าท่า
ความเพลิดเพลินระหว่างเล่นสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันต้องชะงัก เมื่อคุณเผอิญเจอกับโพสต์ที่มีเนื้อหาไม่ตรงกับทัศนะส่วนตัวแม้แต่น้อยเข้าให้ และระดับความรับได้ก็เท่ากับศูนย์โดยทันที
คุณจะเลือกทำเช่นไร?
ระหว่างเลื่อนเมาส์ไปกดปุ่มเลิก ‘ติดตาม’ หรือยกเลิกสถานะ ‘เพื่อน’ บนโลกออนไลน์เสีย
หรือ พรมนิ้วมือลงบนแป้นรัวเร็วตามความคิดและอารมณ์ ระดมตัวอักษรใส่ลงในช่องคอมเมนต์ใต้โพสต์ ปิดท้ายด้วยประโยค ไม่น่าเป็นพวก…เลย
แม้ว่าพฤติกรรมหันหลังหนีหรือการบอกกล่าวกับเจ้าของโพสต์พอเป็นพิธีว่าเขาถูกเราตัดสินให้อยู่ในหมวดไหน (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะถูกจัดในหมวดไม่น่ารับฟัง) จะเป็นวิธีการที่ต่าง
แต่กลับสะท้อนถึงความต้องการเดียวกัน นั่นคือต้องการจะเห็น ดู อ่าน เฉพาะสิ่งที่ตรงใจตัวเองเท่านั้น เมื่อไม่ตรงใจ ก็หงุดหงิด อึดอัด เรียกว่าเป็นสภาวะที่มนุษย์เจอกับชุดข้อมูลใหม่ อันขัดแย้งกับชุดความเชื่อเดิม (cognitive dissonance) ซึ่งโดยธรรมชาติ เราถูกสั่งการให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดสภาวะอันไม่สอดคล้องนี้
ด้วยนานาสารพัดวิธีที่สมองจะสรรหา มันจึงสั่งให้หลีกเลี่ยงข้อมูลที่เราเองไม่อยากได้ยิน (information avoidance) หรือเริ่มกระบวนการคิดในลักษณะที่เอนเอียงไปทางเดียวกันกับความเชื่อเดิมที่มีอยู่ (confirmation bias) เพื่อตอกย้ำยืนยัน ‘ธง’ ในหัว
นักวิชาการนาม ณัฐวุฒิ เผ่าทวี กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นกระบวนการตามธรรมชาติเมื่อภูมิต้านทานความผิดหวัง (psychological immune systems) ของมนุษย์เริ่มทำงาน
จึงไม่น่าแปลกใจ หากเราจะเผลอไผลตัดสินด้อยค่าใครสักคนที่เสนอทัศนะไม่น่าพึงใจไปก่อน ต่อให้สิ่งที่เขาพูดจะฟังขึ้น เพื่อลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลซึ่งขัดกับความเชื่อตัวเอง
ลองคิดเล่น ๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อมีใครสักคนโพสต์ข้อความนี้ลงแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์
“Going to Africa. Hope I don’t get AIDS. Just kidding. I’m white!-กำลังบินไปแอฟริกา หวังว่าจะไม่ติดเอดส์ พูดเล่น ฉันเป็นคนขาวนะ!”
คำเฉลยอยู่ในปี 2013 หลังจากชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวคนหนึ่งทำตามโจทย์ข้างต้น ผู้คน (แปลกหน้า) นับล้านก็เฮโลรุมประณามโพสต์ทวิตเตอร์ดังกล่าว จนในที่สุดบริษัทก็ไล่เธอออกจากงาน
เจ้าของประโยคข้างต้นเปิดเผยเบื้องหลังไว้ในหนังสือ So You’ve Been Publicly Shamed ของ Jon Ronson นักข่าวและนักเขียนชาวอังกฤษว่าเธอตั้งใจล้อเลียนทัศนคติเหยียดสีผิวของชาวอเมริกัน
เหตุการณ์นี้ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายถึงอาวุธสำคัญอย่าง ‘ความคลุมเครือ (ambiguity)’ ที่สมองเราหยิบมาใช้เพื่อตีความสถานการณ์เข้าข้างความเชื่อตัวเอง โดยความคลุมเครือในบริบทนี้คือ เจตนา
แต่จะไม่มีแม้แต่สักคนเดียวที่เอะใจเชียวหรือ ว่าความหมายของ ‘เพราะเป็นคนขาว จึงพูดประโยคนั้นออกมาเล่น ๆ’ แท้จริงแล้วต้องการจะสื่ออะไรกันแน่
การถามให้กระจ่าง และเรียกหาความชัดเจน ดูจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการหยุดยั้งเหตุการณ์ก่อนจะบานปลายเป็นการลงโทษทางสังคม (social sanction) เช่นนี้
นักจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมที่กลุ่มคนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าการคิดตามกลุ่ม (groupthink) ซึ่งแท้จริงแล้ว คนในกลุ่มอาจไม่ได้คิดเช่นนั้นกันทุกคน แต่รู้สึกอึดอัดหากจะแสดงความเห็น ‘ทวนกระแส’
นอกจากกลไกระดับจิตใต้สำนึกที่กำลังทำงานตลอดเวลา จนบ่อยครั้งตัวเราเองก็ไล่ตามไม่ทัน
กลไกอัลกอริทึม (algorithm) ของสื่อสังคมออนไลน์ยังช่วยหยิบจับเนื้อหาที่เราสนใจมาวางกองไว้ให้ เพื่อยื้อเวลาเข้าใช้งานในสื่อนั้น ๆ ให้นานที่สุด จนเกิดเป็นอุโมงค์เสียงก้อง (echo chamber) ให้เราอาศัยอยู่ภายใน และเริ่มสูญเสียการมองเห็นความเป็นไปที่หลากหลาย
เมื่อเส้นตีชัดเจนขึ้น สิ่งที่อยู่นอกอุโมงค์จึงเป็นเพียงความขัดแย้ง
เหลือเพียงเสียงของเรา หรืออย่างน้อยก็เป็นเสียงคนอื่นที่มีสำเนียงคล้ายกับของตัว สะท้อนไปมาบนหน้าฟีด
สุดท้าย วิสัยที่มองเห็นจึงไม่พ้นจากตัวเอง จนอาจมองข้ามมุมมองอื่น และพลาดโอกาสที่จะเข้าใจสิ่งที่บางคนต้องการสื่อจริง ๆ ดังกรณีชาวแอฟริกาใต้
หรือต่อให้เราจะไม่ได้เข้าใจผิดเพี้ยนไป การชะลอหรือยับยั้งการตัดสินตามสัญชาตญาณเอาไว้ก่อน ก็ดูจะเป็นวิธีที่ไม่ได้ขาดทุนอะไร นอกจากเปิดทางให้‘ประเด็น’ที่คนอื่นพูดเข้ามาทำงานกับเราได้มากขึ้นอีกหน่อย
เพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้รับรู้ และสัมผัสความแตกต่างที่มีอยู่จริง
แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่อาจเจ็บปวด และโกรธเคืองจากการปล่อยให้ตัวอักษรเหล่านั้นเดินข้ามกำแพงมา ก็มิใช่เรื่องที่ผิดอะไร หากกลไกป้องกันตัวเองตามธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนล้วนมี จะสั่งการให้คุณเบนหน้าหนีอีกครั้ง
แต่ครั้งนี้ คุณจะรู้สึกกับ “ความคิด” มิใช่ “ตัวบุคคล”
การไม่ผลีผลามกระโดดลงสนามแห่งอารมณ์ จะทำให้คุณไม่รีบตะโกนเสียงของตัวเองให้ดังเพื่อกลบเสียงของคนอื่น ๆ ไปเสียก่อน
โลกออนไลน์ที่ครั้งหนึ่งถูกวาดหวังให้เป็นพื้นที่สำหรับการพูดคุยถึงบางเรื่อง อันไร้ซึ่งโอกาสถกเถียงในชีวิตจริง
อาจจะกำลังกลายเป็นสังคมแห่ง ‘ความกลัว’ ในอีกรูปแบบ แทนที่จะเป็นพื้นที่แห่งการสนทนากันด้วยความอดทน
จนเกิดอาการพิมพ์ ๆ ลบ ๆ ไม่กล้ากดโพสต์เพียงเพราะหวั่นว่าจะไม่ ‘ถูกใจ’ ใคร
อ้างอิง
บีบีซี นิวส์ ไทย. (2561). ‘พวกมากลากไป’ เลวร้ายอย่างไร?. สืบค้น 16 ตุลาคม 2564, จาก https://www.bbc.com/thai/international-42765621
ณัฐวุฒิ เผ่าทวี. (2559). วิธีการป้องกันการหาข้อมูลเข้าข้างตัวเองโดยไม่รู้ตัว. สืบค้น 14 ตุลาคม 2564, จาก https://thaipublica.org/2016/11/nattavudh-53/
ณัฐวุฒิ เผ่าทวี. (2562). อคติของการไม่อยากรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เราไม่อยากได้ยิน: Information Avoidance. สืบค้น 12 ตุลาคม 2564, จาก https://thaipublica.org/2019/07/nattavudh-97/
อภิโชค จันทรเสน. (2564). มีอะไรในทัวร์ลง? So You’ve Been Publicly Shamed หนังสือที่ออกตามหาต้นตอดราม่าออนไลน์. สืบค้น 14 ตุลาคม 2564, จาก https://adaymagazine.com/so-youve-been-publicly-shamed/