SocietyWritings

‘วงศาคณาธิปไตย’ ระบอบการปกครองที่เลือดเนื้อของวงศ์ตระกูลข้นกว่าความเป็นอยู่ของประชาชน

เรื่อง : กวินทัต สวัสดิ์นพรัตน์

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

การปกครองของประเทศไทยในแบบเรียนระดับประถมศึกษาถูกนิยามว่าเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ทว่าคำนิยามในแบบเรียนดูเหมือนไม่ค่อยตรงกับลักษณะการปกครองที่ปรากฏมากเท่าไรนัก

รัฐไทยเชื่อว่ากิจกรรมต่างๆ ทางการเมือง เช่น การมีเสรีในแสดงความคิดเห็น หรือการจัดการเลือกตั้ง คือสิ่งที่ประเทศประชาธิปไตยควรมี แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่รัฐไทยสนใจเหล่านั้นเป็นเพียงเปลือกนอก แก่นภายในของประชาธิปไตยไทยยังคงอยู่ใต้ร่มเงาของกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะพี่น้องหรือเครือญาติ ระบอบการปกครองของไทยจึงไม่ควรนิยามว่า ‘ประชาธิปไตย’

แต่ควรใช้คำว่า ‘วงศาคณาธิปไตย’ แทน

วงศาคณาธิปไตยหมายถึง รูปแบบการปกครองที่กลุ่มตระกูลหรือเครือญาติมีความสำคัญเหนือกว่าประชาชน องค์ประกอบสองอย่างสำคัญในระบอบการปกครองวงศาคณาธิปไตยคือ การสนใจผลประโยชน์ของเครือญาติมากกว่าประชาชน และผลประโยชน์เหล่านี้หากอยากได้มาต้องอาศัยอำนาจของตัวเองเข้าแทรกแซงองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เราสามารถเห็นภาพที่ชัดเจนของการปกครองระบอบวงศาคณาธิปไตยจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กล่าวคือ การหลีกเลี่ยงการจ่าย ‘ภาษีรับให้’ ที่เป็นผลมาจากการ ‘โอนหุ้น’ โดยเสน่หาภายในครอบครัวของนายกรัฐมนตรีมูลค่า 218.7 ล้านบาท โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน Promissory Note หรือตั๋ว PN ซึ่งเป็นเอกสารสัญญากู้ยืมระยะสั้นที่ควรมีการระบุจำนวนเงินกู้ยืมและกำหนดชำระที่ชัดเจน

นายกรัฐมนตรีมีพฤติการณ์การใช้ตั๋ว PN ที่ดูผิดแปลกจากคนทั่วไป โดยตั๋ว PN ของนายกฯ ใช้สำหรับการ  ‘ซื้อขาย’ หุ้นระหว่างคนในครอบครัวชินวัตร เพื่อแสดงให้เห็นว่าหุ้นที่ได้มาเกิดจากการซื้อและไม่ต้องเสียภาษีรับให้ ภาษีดังกล่าวคือภาษีที่เกิดขึ้นเมื่อมีการ ‘ให้’ ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์โดยไม่มีสิ่งตอบแทน เช่น พ่อแม่ให้ที่ดินแก่ลูก หรือการได้รับมรดก โดยในกรณีของแพทองธาร เธอควรต้องเสียภาษีรับให้อัตรา 5% เพราะเธอเป็นผู้รับหุ้นจากพ่อแม่รวมทั้งคนในวงศ์ตระกูลเดียวกัน

การ ‘ซื้อหุ้น’ โดยตั๋ว PN ของแพทองธารดูเหมือนจะเป็นพฤติกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงภาษี เพราะแพทองธารมอบตั๋ว PN ทั้งหมด 9 ใบมูลค่ารวมกว่า 4,434.5 ล้านบาท ให้กับคนในตระกูลชินวัตรอันได้แก่ พี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แต่ในตั๋ว PN กลับเขียนกำหนดการชำระหนี้ว่า ‘ชำระเมื่อทวงถาม’ และไม่มีการคิดคำนวณดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นจากหนี้สินก้อนนี้เลย

ภายหลังถูกฝ่ายค้านอภิปรายในประเด็นตั๋ว PN ข้างต้น แพทองธารอธิบายว่า กำลังจะมีกำหนดชำระหนี้สินที่ติดค้างมาตั้งแต่ปี 2559 ในปี 2569 การให้คำตอบของเธอในประเด็นนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรือแท้จริงแล้วแพทองธารอาจไม่ได้อยากที่จะชำระหนี้ก้อนนี้เลยตั้งแต่แรก แต่เมื่อถูกพาดพิงในสภา จึงทำให้บอกว่ามีแผนที่จะจ่าย โดยกำหนดชำระงวดแรกในปีหน้า

น่าสนใจว่า 10 ปีผ่านไป เพิ่งจะมาคิดชำระหนี้ 4,434.5 ล้านบาท ถ้าเป็นคนปกติคงค่อยๆ จ่ายคืนนับตั้งแต่เริ่มเป็นหนี้ แต่ในระบอบวงศาคณาธิปไตย นอกจาก (ยัง) ไม่ต้องชำระหนี้แล้ว ยังไม่ต้องจ่ายดอกอีกด้วย

การกระทำของแพทองธารในครั้งนี้ทำให้สนใจที่จะลองหาข้อมูลเพิ่มเติมย้อนกลับไปดูว่า ในช่วงเวลาที่ทักษิณ ชินวัตร บิดาของเธอเป็นนายกฯ มีเหตุการณ์ที่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ไหม เมื่อค้นหาดูแล้วพบว่ามีเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ผลลัพธ์จากเหตุการณ์ครั้งนั้นรุนแรงถึงขั้นทำให้ทักษิณไม่กลับมาเหยียบบ้านเกิดถึง 15 ปีเต็ม เหตุการณ์ที่ว่าคือกรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ชินคอร์ปฯ) ระหว่างคนในตระกูลชินวัตร

เหตุการณ์นี้เริ่มต้นจากการจดทะเบียนตั้งบริษัทแอมเพิลริช (Ample Rich Investments Ltd.) ของทักษิณที่เกาะบริติช เวอร์จิน (BVI) แอมเพิลริชถูกตั้งขึ้นมาโดยที่ไม่มีใครทราบว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทักษิณอาจใช้แอมเพิลริชเพื่อกระจายหุ้นของตัวเองให้กับคนในครอบครัว โดยเหตุผลที่เลือกเกาะบริติช เวอร์จิน เพราะไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน ต่างจากการตั้งบริษัทในประเทศไทย จึงอาจกระทำการบางอย่างที่ ‘นอกเหนือกฎหมาย’ ได้ง่ายขึ้น

การทำธุรกรรมระหว่างแอมเพิลริชและชินคอร์ปฯ มีอยู่หลากหลายครั้ง แต่ครั้งที่เป็นประเด็นและเกิดเป็นข้อถกเถียงกัน คือการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของแอมเพิลริชโดยพานทองแท้และพินทองทา ชินวัตร ลูกชายและลูกสาวของทักษิณในราคาพาร์ (ราคาทุนจดทะเบียนเริ่มต้น) ที่ 1 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดของการซื้อขายหุ้นในเวลานั้นที่ 49.25 บาท

เหตุผลที่ทั้งสองสามารถซื้อได้ในราคาต่ำกว่าตลาด เพราะในช่วงระหว่างที่แอมเพิลริชถือหุ้นชินคอร์ปฯ แอมเพิลริชลดราคาพาร์จากหุ้นละ 10 บาท เหลือเพียงหุ้นละ 1 บาท จึงทำให้จำนวนหุ้นเริ่มต้นของชินคอร์ปฯ ที่แอมเพิลริชซื้อไปเพิ่มเป็น 10 เท่าตัวจาก 32.92 ล้านหุ้นกลายเป็น 392.2 ล้านหุ้น ผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตรก็มากขึ้นตามจำนวนหุ้นนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

 ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของทักษิณได้ทำหนังสือสอบถามถึงกรมสรรพากรในเวลานั้นว่า การซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ ผ่านแอมเพิลริชของพานทองแท้และพินทองทาในครั้งนี้ต้องเสียภาษีหรือไม่

เบญจา หลุยเจริญ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาภาษี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรให้คำตอบว่า การซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ ที่มีราคาต่ำกว่าตลาดของทั้งพานทองแท้ และพินทองทานั้นเป็นเรื่องปกติของการซื้อขายโดยทั่วไปตามมาตรา 453 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (การซื้อขาย คือสัญญาซึ่งผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย)

โดยการซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ ของทั้งสองคนในครั้งนี้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้พึงประเมิน เพราะส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาดไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร (เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี นอกเหนือจากเงินแล้ว ให้หมายรวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน)

ภายหลังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ทำให้เกิดการเสียหายต่อรัฐ (หรือ คตส.ที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ แต่งตั้งเมื่อปี 2549) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเบญจา ว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง โดยวินิจฉัยให้ผู้เสียภาษีไม่ต้องเสียภาษีอากรจากกรณีซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ ของพานทองแท้และพินทองทา ทั้งที่พานทองแท้และพินทองทาถือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร เพราะการซื้อหุ้นของชินคอร์ปฯ จากแอมเพิลริชของทั้งสองคนสามารถประเมินมูลค่าทรัพย์สินและคิดคำนวณเป็นเงินได้ จึงเข้าข่ายต้องนำส่วนต่างของราคาหุ้นคนละ 7,941.95 ล้านบาทมาเสียภาษีเงินได้พึงประเมินกับกรมสรรพากร

การกระทำดังกล่าวของเบญจาและพวกถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 (ผู้ที่เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด) และมาตรา 83 (กรณีความผิดใดเกิดขึ้น โดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป) ศาลฎีกาจึงสั่งจำคุกเบญจาและพวกคนละ 2 ปีโดยไม่รอลงอาญาเนื่องจากเป็นโทษร้ายแรง

เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้กลายมาเป็นบาดแผลรอยใหญ่ที่ตามหลอกหลอนตระกูลชินวัตรมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างที่กล่าวเอาไว้ในตอนต้นว่า ระบอบการปกครองวงศาคณาธิปไตยมีองค์ประกอบสองด้าน ด้านแรกคือ พวกเขาสนใจผลประโยชน์ของเครือญาติมากกว่าประชาชน และองค์ประกอบที่สองคือ พวกเขาต้องใช้อำนาจเข้าแทรกแซงหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ

ในองค์ประกอบที่สอง หากกรมสรรพากรไม่ปล่อยให้ลูกชายและลูกสาวของทักษิณเลี่ยงภาษีในคราวที่ซื้อชินคอร์ปฯ จากแอมเพิลริช ประเทศไทยจะได้รับเงินกว่า  17,000 ล้านบาทที่สามารถนำไปพัฒนาประเทศต่อได้

ย้อนเวลากลับมาปี 2568 ท่าทีของอธิบดีกรมสรรพากรคนปัจจุบัน ปิ่นสาย สุรัสวดี ผ่านการให้สัมภาษณ์กรณีตั๋ว PN มีว่า การใช้ตั๋ว PN ซื้อขายหุ้นของนายกรัฐมนตรีไม่เข้าข่ายการเลี่ยงภาษี เพราะเขามองว่าเป็นการซื้อขายหุ้นตามปกติ ฉะนั้นภาษีเดียวที่แพทองธารและครอบครัวต้องจ่ายหากได้กำไรจากหุ้นคือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คำตอบของปิ่นสายในกรณีนี้ นอกจากจะเป็นการตอบที่ไม่ตรงประเด็นที่ประชาชนต้องการรู้แล้ว ยังอาจสร้างความคลางแคลงใจต่อตัวอธิบดีคนนี้อีกด้วย กล่าวคือเหตุใดปิ่นสายถึงเลือกสนใจเพียงแค่การต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อมีกำไร ทำไมถึงไม่คิดว่าการซื้อขายหุ้นครั้งนี้มีลักษณะต่างจากการซื้อขายทั่วไป ที่ควรมีกำหนดชำระชัดเจน และควรมีการเก็บดอกเบี้ยของคนที่เป็นลูกหนี้ กรณีเช่นนี้อธิบดีควรที่จะวินิจฉัยให้ชัดเจนออกมาว่า การกระทำของนายกฯ เป็นการทำนิติกรรมอำพรางและผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่ปล่อยให้มีพฤติการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทย

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวในรายการ The Standard Now เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ถึงการทำหน้าที่ของอธิบดีกรมสรรพากรว่า  ‘อธิบดีกรมสรรพากรควรออกระเบียบเป็นลายลักษณ์อักษรว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีทำไม่ใช่นิติกรรมอำพราง เพราะหากไม่ลงเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีลายเซ็นของอธิบดีกรมสรรพากร แสดงว่าอธิบดีกลัวว่าต้องรับผิดชอบหากมีอะไรที่สามารถสาวความไปถึงเรื่องการช่วยเลี่ยงภาษีของนายกรัฐมนตรีได้’

หากไม่มีการระบุว่าสิ่งนี้คือการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงภาษี แพทองธารอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจแล้วอยากโอนหุ้นให้กับคนในครอบครัวใช้ตั๋ว PN ซื้อขายหุ้นกันเองโดยไม่ต้องเสียภาษีรับให้ เช่นนี้แล้วภาษีรับให้อาจเป็นเพียงระเบียบที่ไม่มีผลบังคับใช้ เพราะกลุ่มคนบางกลุ่มทำตัวอยู่เหนือกฎระเบียบและอาศัยช่องโหว่เสียภาษีให้น้อยที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวเอง

อาจกล่าวได้ว่า การปกครองระบอบวงศาคณาธิปไตยอันมีเครือญาติเป็นประมุขจะยังคงฝังรากลึกในสังคมไทยต่อไป  ตราบใดที่คนบางตระกูลยังอยากใช้ความเป็นอภิสิทธิ์ชนเพื่อทำให้น้องสาวที่หนีคดีได้กลับบ้านเกิด ตราบใดที่คนบางตระกูลยอมเพิกเฉยต่อหน้าที่การจ่ายภาษีในฐานะพลเมืองไทยเพียงเพราะสนใจแต่ผลประโยชน์ของครอบครัว และตราบใดที่คนบางตระกูลมีลูกที่สนใจหน้าที่ของความเป็น ‘ลูกสาว’ มากกว่าหน้าที่ของ ‘นายกรัฐมนตรี’

ระบอบวงศาคณาธิปไตยจะยังคงอยู่ต่อไปเช่นนั้นเหมือนที่เคยเป็นมา


บรรณานุกรม

มติชนออนไลน์. (2568). สรรพากรแจงนายกอิ๊งค์ ออกตั๋ว P/N ซื้อขายหุ้น 4.4 พันล้านบาท ไม่ถือว่าเลี่ยงภาษี. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_5108663

ประชาชาติ. (2566). “ย้อนตำนานครอบครัวชินวัตรขายหุ้น “ชินคอร์ป” 7.3 หมื่นล้าน จุดชนวน “ทักษิณ” พลัดถิ่น”.  สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/finance/news-1376078

ประชาชาติ. (2568). วิโรจน์อภิปรายนายกฯ ออกตั๋ว PN เลี่ยงภาษี 9 ปี รวม 218 ล้าน. สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-1778650

ไทยพับลิก้า. (2562). ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก ‘เบญจา หลุยเจริญ’ คดีวินิจฉัยภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ 2 ปี. สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2019/12/benja-louischaroen-shin-corp-25-12-2562/

ไทยรัฐมันนี่. (2568). “ตั๋ว P/N” คืออะไร เป็นเครื่องมือการเงิน เลี่ยงภาษีจริงหรือ?. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/money/personal_finance/financial_planning/2848982

MGR Online. (2549). “อาจารย์มธ.ฟันธงดีลชิน ฉีกกฎหมาย-ใช้กลโกง”. สืบค้นจาก https://mgronline.com/daily/detail/9490000022287

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Writings

ตรรกะวิบัติของนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เรื่อง: พิชญา ณ วาโย การอภิปรายไม่ไว้วางใจนับว่าเป็นกลไกสำคัญของรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การอภิปรายฯ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลอย่างรอบด้าน ทว่าสิ่งที่มักปรากฏให้เห็นในการอภิปรายคือ ‘ตรรกะวิบัติ’ หรือที่เรียกว่า ‘Logical fallacy’ หมายถึงการบิดเบือนของตรรกะในการชี้แจงข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับรัฐมนตรีทั้งหลายที่มีหน้าที่ต้องอธิบายทุกประเด็นที่ถูกฝ่ายค้านซักฟอก การอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ ...

Articles

ภัยพิบัติในไทยกับความสนใจ ‘แค่กรุงเทพ’

เรื่อง: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ ภาพ: Wiroj Sidhisoradej จาก Freepik 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ...

Writings

การส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 40 คน “กลับบ้าน” กับ ฉากหลังสิทธิมนุษยชนไทย

เรื่อง: พิชญา ณ วาโย “ดิฉันยืนยันว่ากลับโดยสมัครใจ ไม่เช่นนั้นก็มีการลากสิ ไม่มีการลาก เดินขึ้นไปปกติ ไม่มีอะไรทั้งนั้น สมัครใจค่ะ” คำกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งในถ้อยแถลงของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ...

Writings

บ้านที่กลับไม่ได้ เพราะไม่มี “ตั๋ว”

เรื่อง : กัลย์สุดา ทองดี, ฐิตารีย์ ทัดพิทักษ์กุล, ณัฏฐณิชา มาลีวรรณ, ณิชกุล หวังกลุ่มกลาง, เบญจรัตน์ วิรัตรมณี, พิชชาสรรค์ ฉายภมร, สลิลทิพย์ ...

Writings

ในยุคแห่งความไม่แน่นอนนี้ หรือการบนบาน….จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่แสดงตัวตนของคน Gen Z?

เรื่อง : สมิตานันท์ จันสุวงษ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “ถ้าผลสอบไฟนอลได้ A ล้วนจะงดกินน้ำหวานหนึ่งเดือน” “ถ้ากดบัตรคอนเสิร์ตได้โซนที่ต้องการ เดี๋ยวจะมาแจกเงินให้ follower” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ...

Writings

อคติสู่มุมมองใหม่: การเปลี่ยนแปลงของสื่อไทยกับภาพลักษณ์ของเมียฝรั่งในเพลงลูกทุ่ง

เรื่อง : โอปอล ศิริภัสษร พลอยชมพู วงศ์ยาไชย ศิรภัสษร ศิริพานิช อภิวัฒน์ สุชลพานิช ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ลักษณะของเมียฝรั่ง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save