เรื่อง: พิชญา ณ วาโย
การอภิปรายไม่ไว้วางใจนับว่าเป็นกลไกสำคัญของรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การอภิปรายฯ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลอย่างรอบด้าน ทว่าสิ่งที่มักปรากฏให้เห็นในการอภิปรายคือ ‘ตรรกะวิบัติ’ หรือที่เรียกว่า ‘Logical fallacy’ หมายถึงการบิดเบือนของตรรกะในการชี้แจงข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับรัฐมนตรีทั้งหลายที่มีหน้าที่ต้องอธิบายทุกประเด็นที่ถูกฝ่ายค้านซักฟอก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 24 ถึง 25 มีนาคม ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่เหมาะสมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งในด้านความสามารถในการบริหารประเทศ ภาวะความเป็นผู้นำ วุฒิภาวะ และเจตจำนงทางการเมือง แต่ในที่สุดสภาผู้แทนฯ ก็มีมติไว้วางใจให้นางสาวแพทองธารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ด้วยคะแนนเสียง 319 เสียง ต่อ 161 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง
การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ฝ่ายค้านได้หยิบยกหลายประเด็นมาอภิปราย ตัวอย่างเช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) หรือตั๋ว PN มูลค่า 4,400 ล้านบาท ตั๋วดังกล่าวคือเอกสารทางการเงินที่ใช้ในการกู้ยืมเงินอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งปรากฏอยู่ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่นางสาวแพทองธารได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ จากกรณีที่นางสาวแพทองธารได้รับการโอนหุ้นจากสมาชิกในครอบครัว โดยผู้รับโอนควรจะต้องเสียภาษีรับให้ (ภาษีที่เรียกเก็บเงินบุคคลธรรมดาที่ได้รับทรัพย์สินจากครอบครัวหรือบุคคลอื่น) แต่นายกฯ กลับใช้ตั๋ว PN ในการทำธุรกรรมแทน ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี
อีกกรณีหนึ่งที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายฯ คือ ข้อกังขาเกี่ยวกับความเป็นอิสระของนายกรัฐมนตรีในการบริหารประเทศ โดยตั้งข้อสังเกตว่านางสาวแพทองธารอาจถูกครอบงำจากบุคคลภายในครอบครัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทางการเมืองและการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า นายกฯ เห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง บิดา ครอบครัว มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทย และได้รับการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีดีลปีศาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบิดาของนายกฯ ทำให้ได้รับสิทธิเหนือบุคคลอื่นจนนำไปสู่การทำลายหลักนิติรัฐ
รวมถึงนายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม อภิปรายกรณีรัฐบาลผลักดันชาวอุยกูร์ 40 คนกลับประเทศจีน ซึ่งขัดต่อสิ่งที่เคยแถลงต่อสภา โดยเฉพาะการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศไทยบนเวทีโลก อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของชาติ ทั้งในแง่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านกำแพงภาษีจากต่างประเทศ
แม้ว่าเนื้อหาการอภิปรายจะมีหลายประเด็นที่น่าจับตามอง แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันคือแนวทางการชี้แจงของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้าน
เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด สามารถสังเกตเห็นได้ว่า คำชี้แจงของนายกฯ เต็มไปด้วยตรรกะวิบัติ
ตรรกะวิบัติ คือรูปแบบการให้เหตุผลที่อาจฟังดูเหมือนมีเหตุผล แต่ที่จริงเป็นการให้เหตุผลที่ผิดพลาด มักเกิดขึ้นในกระบวนการสรุปหรือโต้แย้งที่ไม่เป็นไปตามตรรกะ อาจกล่าวได้ว่าท่ามกลาง ‘เนื้อหา’ ที่ถูกนำเสนออย่างสวยหรูนั้น แท้จริงแล้วกลับมีช่องโหว่ที่ทำให้คำตอบไร้แก่นสาร
ตัวอย่างของตรรกะวิบัติของนายกฯ เช่น นายกฯ กล่าวถึงเรื่องการใช้ตั๋ว PN เพื่อเลี่ยงภาษี ว่า “การที่กล่าวหาว่าหนีภาษีไม่เป็นความจริง เป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม ถึงแม้ดิฉันจะอายุน้อยกว่าท่าน (หมายถึงนายวิโรจน์) แต่ดิฉันมั่นใจว่าเสียภาษีให้รัฐมากกว่าท่านแน่นอน”
คำกล่าวข้างต้นเป็นการใช้ตรรกะวิบัติแบบ “โจมตีคู่ต่อสู้นอกประเด็นที่ถกเถียง” (Ad Hominem) กล่าวคือแทนที่จะให้คำอธิบายอย่างละเอียดว่า นายกฯ ไม่ได้ใช้ตั๋ว PN เลี่ยงภาษีเพราะอะไร แต่นายกฯ กลับเลือกพูดไปนอกประเด็น ซึ่งไม่ได้หักล้างข้อสงสัยที่ว่ามีการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในการเลี่ยงภาษีหรือไม่
อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ตรรกะวิบัติของนายกฯ สังเกตได้จากการตอบกลับข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านเกี่ยวกับภาวะผู้นำและการถูกครอบงำที่ว่า “ผู้นำฝ่ายค้านได้ย้ำเรื่องของภาวะผู้นำ และเรื่องของการถูกครอบงำอยู่บ่อยครั้ง คนที่ย้ำเรื่องเดิมๆ คงเป็นคนที่ขาดสิ่งนั้น และที่จริงไม่ใช่แค่ดิฉันที่ถูกกล่าวหาเรื่องการถูกครอบงำ แต่ฝ่ายค้านเองก็ถูกกล่าวหา ต่างกันแค่ดิฉันถูกกล่าวหาว่าถูกครอบงำโดยคุณพ่อ แต่ท่านถูกครอบงำโดยบุคคลที่ไม่ใช่พ่อ”
การตอบโต้ในลักษณะนี้สะท้อนถึงตรรกะวิบัติแบบ “แต่คุณก็เป็นเสียเอง” (Tu Quoque) แทนที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาโดยตรง นายกรัฐมนตรีกลับเลือกโต้กลับว่าฝ่ายค้านเองก็ถูกกล่าวหาว่าถูกครอบงำเช่นกัน ซึ่งไม่ได้เป็นการหักล้างข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นอิสระของตน แต่เป็นการเบี่ยงประเด็นโดยพยายามกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าก็มีพฤติกรรมลักษณะเดียวกัน
อีกทั้งคำกล่าวที่ว่า “ผู้นำฝ่ายค้านได้ย้ำเรื่องของภาวะผู้นำ และเรื่องของการถูกครอบงำอยู่บ่อยครั้ง คนที่ย้ำเรื่องเดิมๆ คงเป็นคนที่ขาดสิ่งนั้น” ยังสะท้อนถึงตรรกะวิบัติแบบ “ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันหรือต่อเนื่องกันไม่ได้หมายความว่าจะต้องสัมพันธ์กันในเชิงสาเหตุและผลลัพธ์” (Correlation not Causation)
กล่าวคือ แทนที่จะให้เหตุผลสนับสนุนว่าตนเองมีภาวะผู้นำเต็มเปี่ยม กลับเลือกใช้วิธีการกล่าวหาแบบทึกทักไปเองว่า เนื่องจากผู้นำฝ่ายค้านชอบพูดเรื่องการขาดภาวะผู้นำของนายกฯ บ่อยๆ แสดงว่าผู้นำฝ่ายค้านขาดความเป็นผู้นำ ทั้งๆ ที่การที่ใครพูดถึงสิ่งใดบ่อยๆ ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการที่ผู้นั้นต้องขาดในสิ่งนั้นๆ แต่อย่างใด
รวมถึงการตอบกลับของนายกฯ ต่อประเด็นที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่ามีการทำข้อตกลงทางการเมืองเพื่อพานายทักษิณ หรือบิดาของนายกฯ กลับประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ตรรกะวิบัติแบบ “การอ้างเมตตาธรรม” (Appeal to Pity) โดยนายกฯ กล่าวว่า “ตลอดการอภิปราย ท่านสมาชิกเรียกร้องให้ดิฉันลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสิทธิที่ทุกท่านในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ทำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านทำไม่ได้ คือขอให้ดิฉันลาออกจากความเป็นลูกสาวหรือความเป็นแม่ สิ่งนี้ดิฉันลาออกไม่ได้”
คำกล่าวของนางสาวแพทองธารสะท้อนให้เห็นถึงวิธีโน้มน้าวโดยอาศัยความรู้สึกสงสารหรือเห็นใจ โดยกล่าวถึงบทบาทของตนในฐานะ ‘ลูกสาว’ และ ‘แม่’ แทนที่จะโต้แย้งด้วยเหตุผลว่าทำไมบิดาซึ่งมีคดีติดตัวกลับไม่ถูกติดคุกเลยสักวันเดียว แถมยังพากันปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจทั้งๆ ที่หลายฝ่ายสงสัยว่านายทักษิณ ‘ป่วยทิพย์’
นอกจากนี้ นายกฯ มีการใช้ตรรกะวิบัติแบบ ‘บทปิดประตู’ (False Dilemma) ที่เป็นการอ้างเหตุผลบกพร่อง เนื่องจากทำให้ดูเหมือนว่ามีเพียงสองทางเลือกเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง อาจมีตัวเลือกอื่นๆ อีกหลายทาง ดังเช่นกรณีการตอบคำถามเกี่ยวกับการส่งกลับชาวอุยกูร์ที่ว่า “ที่ท่านกล่าวหารัฐบาลว่าทำผิดเรื่องนี้ ต้องถามจริงๆ ว่าท่านพูดโดยการเปิดตามองโลกทั้งใบหรือไม่ ท่านเป็นนักสิทธิมนุษยชนมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก หรือสองมาตรฐานเฉพาะกับรัฐบาลนี้”
ประโยคที่ตั้งคำถามว่าฝ่ายค้านใช้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนเดียวกันทั่วโลกหรือมีสองมาตรฐานกับรัฐบาลนี้ เป็นการทำให้ฝ่ายค้านดูเหมือนมีอคติหรือเลือกปฏิบัติ ทั้งที่ในความเป็นจริง การหยิบยกประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาอภิปราย มิได้หมายความว่าพวกเขาเพิกเฉยต่อกรณีอื่นๆ การใช้ตรรกะวิบัติในลักษณะนี้ไม่ได้ตอบคำถามที่แท้จริง และอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดเกี่ยวกับเจตนาของฝ่ายค้าน
การอธิบายของนางสาวแพทองธารทั้งสองวัน อาจกล่าวได้ว่า ตรรกะวิบัติได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางคุณภาพของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
แถมยังเผยให้เห็นคุณภาพของผู้นำไปพร้อมๆ กัน
บรรณานุกรม
ลักษณวัต ปาละรัตน์. ตรรกวิทยาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2554
BBC News. (2025). แพทองธาร ชินวัตร อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2568. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2568 จาก https://www.bbc.com/thai/articles/cpd9447v1pdo
BBC News. (2025). แพทองธารโต้ปมทำนิติกรรมอำพราง-หนีภาษี 218 ล้านบาท ในศึกซักฟอกวันแรก. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2568 จาก https://www.bbc.com/thai/articles/cwynzk7jj36o
PPTV HD 36. (2025). สรุปประเด็น “อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2568” วันที่สอง ซักฟอก “แพทองธาร ชินวัตร”. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2568 จาก https://www.pptvhd36.com/news/การเมือง/245413
PPTVHD36. (2025). เพื่อไทย สรุปอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2568 “นายกฯ” ตอบทุกประเด็น!. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2568, จาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8% %B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/245511
Thairath. (2025). ผ่านฉลุย 319 เสียง ที่ประชุม สส.ไว้วางใจ “แพทองธาร” นั่งนายกฯ ต่อ.
สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2568 จาก https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2848973
Thai PBS. (2025). สรุปประเด็นเดือด ซักฟอก “นายกฯ” วันที่ 2. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2568 จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/350571
Thai PBS News. (2025). กัณวีร์ยกไทม์ไลน์ 73 วันรัฐบาลโกหก เปิดคลิปเสียงอุยกูร์ไม่ขอกลับจีน. สืบค้น เมื่อ 27 มีนาคม 2568, จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/350516
Thai PBS. (2025). บทเรียนนายกฯ ปมจ่ายภาษี “พีเอ็น”. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2568 จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/350552