News

ช้างเลี้ยงพึ่งพากลไกธุรกิจท่องเที่ยว ปิดประเทศทำควาญ-ปางลำบาก แนะรัฐไทยปรับระบบดูแลให้ครบวงจร

เรื่อง: ตติยา ตราชู

นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ชี้ช้างเลี้ยงพึ่งพากลไกธุรกิจการท่องเที่ยว เมื่อปิดประเทศเพราะโควิด ทำให้ควาญขาดรายได้-ปางปิดตัว แนะรัฐไทยปรับระบบดูแลช้างให้ครบวงจร 

นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าวว่า จากช้างเลี้ยงจำนวนทั้งหมด 3,800 เชือกในประเทศไทย มีเพียง 300-400 เชือกเท่านั้น ที่ช้างได้รับการดูแลจากรัฐหรือควาญช้างมีรายได้ประจำ เช่น ช้างของสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ โรงพยาบาลช้างต่าง ๆ องค์การสวนสัตว์ และช้างสำคัญของพระเจ้าอยู่หัว

“ช้างเลี้ยงเกินกว่าร้อยละ 90 ผูกแขวนอยู่กับภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในภาวะปกติ ถูกดูแลโดยกลไกของธุรกิจคือปางช้างและควาญช้าง แต่เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จนต้องปิดประเทศ ทำให้ปางช้างและควาญช้างอ่อนแอลงจากการขาดรายได้ คุณภาพการเลี้ยงดูช้างก็ต่ำลง ทั้งอาหารมีความหลากหลายน้อยลง ถูกมัดอยู่กับที่นาน ๆ ไปจนถึงเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยากขึ้น” นายธีรภัทรกล่าว

นายธีรภัทร กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานรัฐดูแลรับผิดชอบช้างเลี้ยงทั้งหมดโดยตรง มีเพียงกระทรวงมหาดไทยที่รับผิดชอบการจดทะเบียนช้างเลี้ยงเป็นสัตว์พาหนะ ดังนั้นจึงควรเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกด้วยการสร้างหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์รับผิดชอบครบทุกสารบบของช้าง ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน ศึกษาวิจัย ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และปกป้อง 

“ไม่รู้จะหันไปพึ่งใครเพราะไม่มีเจ้าภาพ สิ่งที่ทำได้คือส่งจดหมายขอความช่วยเหลือในรูปแบบของเงินเยียวยาผ่านทางสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องถูกส่งไปที่นู่นทีที่นี่ที ทุกที่ก็บอกว่าไม่ใช่หน่วยงานดูแลโดยตรง” นายธีรภัทรกล่าวและว่า ภาครัฐจะเน้นโครงการช่วยเหลือที่ทำแล้วได้ทั้งประเทศ แต่โครงการโปรยเงินช่วยเหลือแบบต้องลงทะเบียน ควาญช้างส่วนหนึ่งก็เข้าไม่ถึงเพราะข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี

หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ควาญช้างและช้างบางส่วนยังอาศัยอยู่ที่ปางช้างที่ยังไม่ปิดตัวลง เนื่องจากใกล้แหล่งอาหารของช้างมากกว่า (ภาพจากสมาคมสหพันธ์ช้างไทย)

“คำว่าช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติไม่ได้สื่อนัยยะถึงการอนุรักษ์ช้างเลย ทุกคนและรัฐบาลต้องกลับมาตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรกับช้างเลี้ยงในประเทศไทย ยังต้องการให้ประเทศคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างอยู่หรือไม่ ถ้าได้เป้าหมายคนที่เกี่ยวข้องจะได้ทำงานต่อไปได้ ตอนนี้ช้างเลี้ยงที่เคยเป็นสิ่งมีมูลค่า กำลังกลายเป็นภาระ” นายธีรภัทรกล่าว

นายสุรพล ดวงแข รองประธานมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า บทบาทของช้างน้อยลงตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ช้างเลี้ยงเคยมีบทบาทอย่างมากในการขนส่งเมื่อ 100 ปีที่แล้ว หรือธุรกิจค้าไม้ในช่วงเวลาต่อมา แต่ พ.ศ. 2532 ก็มีการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ และป่าที่ควาญเคยนำช้างมาผูกไว้ได้ ก็ถูกรุกรานและใช้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจ จนเริ่มเกิดปัญหาช้างเร่ร่อน เมื่อออกกฎหมายจัดการช้างเร่ร่อน สุดท้ายช้างจึงถูกนำมาผูกอยู่กับการท่องเที่ยวหรือปางช้างเพื่อหารายได้ 

“ปัญหาช้างเลี้ยงสะท้อนปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ระบบบริหารและระบบราชการขาดมิติที่จะรับรู้ว่าสังคมขาดอะไร และจะเข้ามาบริการอย่างไร หน่วยงานราชการไม่บูรณาการการทำงาน แต่ละหน่วยทำเฉพาะภาระหน้าที่ของตัวเอง กลายเป็นว่าไม่มีสถานที่รองรับปัญหาช้างอย่างเป็นทางการ จนปัญหามาถึงทางตัน” นายสุรพลกล่าว 

นายสุรพล กล่าวว่า ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือไม่รู้ว่าจะเอาช้างไปไว้ที่ไหน และภาระของช้างตกอยู่ที่เจ้าของช้างเพียงผู้เดียว รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุน อาจเปิดมิติการให้การศึกษาแก่สังคมของช้างเลี้ยง ปางช้างควรหันมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาวิถีชีวิตช้างแทนการใช้ช้างเพื่อให้ความรื่นรมย์แก่นักท่องเที่ยว และรัฐอาจส่งเสริมสถานที่พักพิงช้างอย่างเป็นทางการตามพื้นที่ตาบอด หรือที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่สาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยมีสัตวแพทย์คอยดูแล มีการให้ความรู้ในแต่ละจุด เป็นพื้นที่ให้บริการแก่สังคม หรือสร้างระบบช้างเร่ร่อนที่มีการกำหนดเส้นทางเดินและมีข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย 

น.ส.วิมลวรรณ แสนดี ควาญช้างที่ปางช้างหมู่บ้านชาวเขาพัทยา จ.ชลบุรี กล่าวว่า ช้างแต่ละตัวต้องกินอาหารวันละไม่ต่ำกว่า 400 กก. เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 400-500 บาท โดยมีช้างเลี้ยงที่ดูแลอยู่ 2 เชือก และยังไม่รวมค่าครองชีพของควาญ การไลฟ์ขายอาหารช้างในสื่อออนไลน์ พอจะช่วยบรรเทาภาระได้บ้างแต่ก็ไม่เพียงพอ ต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม และออกไปหาหญ้าเนเปียร์ธรรมชาติที่ยังพอมีขึ้นในช่วงฤดูฝน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย 

“ระยะเวลาเกือบ 2 ปีตั้งแต่ปิดประเทศ ไม่มีโอกาสได้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นรายได้หลัก เราเป็นส่วนหนึ่งของภาคการท่องเที่ยว เคยหารายได้ในจุดนี้ให้กับประเทศพอสมควร อยากได้รับการเยียวยาดูแล มาวางโครงการระยะยาวกับพวกเราบ้าง อยากให้เห็นว่ากำลังลำบากจริง ๆ” น.ส.วิมลวรรณกล่าว

น.ส.วิมลวรรณ กล่าวว่า เคยได้เงินช่วยเหลือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำนวน 9,500 บาทต่อเชือก เมื่อปีที่แล้วเพียงครั้งเดียว โดยจะได้เฉพาะช้างเลี้ยงที่อยู่ในระบบปางเท่านั้น ช้างเชือกไหนที่ควาญพากลับบ้านเกิด หรือหากปางไหนไม่ทราบข้อมูล และไม่ได้ทำเรื่องก็จะไม่ได้รับเช่นกัน “เคยรวบรวม 200 รายชื่อช้างตกงานยื่นหนังสือถึงสภา แต่ก็ไม่มีอะไรตอบกลับมา”

น.ส.วิมลวรรณ แสนดี ไลฟ์ขายอาหารช้างผ่านทางแอปพลิเคชัน TikTok เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายอาหารช้าง (ภาพจากแอ็กเคาน์ของ น.ส. วิมลวรรณ แสนดี)

นายกิตติศักดิ์ ศาลางาม ควาญช้างที่ปางช้างสวนช้างไทยทัพพระยาซาฟารี จ.ชลบุรี กล่าวว่า พยายามหาอาหารให้ช้าง 2 เชือกที่ดูแลอยู่ ได้กินในปริมาณเท่าเดิมก่อนช่วงโควิด-19 โดยราคาสับปะรดที่เป็นอาหารหลักอยู่ที่ประมาณ 800-900 บาท ต่อเชือกต่อสัปดาห์ มีออกไปเกี่ยวหญ้ามาเสริม จะได้ไม่สิ้นเปลืองค่าสับปะรดมากเกินไป

“เงินช่วยเหลือจาก ททท. จำนวน 9,500 บาท แม้ปางยื่นดำเนินเรื่องไปแล้ว ก็ไม่ได้รับ ไม่ทราบเช่นกันว่าเพราะอะไร เคยได้รับหญ้าแห้งแพงโกล่าจากกรมปศุสัตว์ครั้งเดียว นอกนั้นได้ความเมตตาจากชาวทวิตเตอร์ที่โอนเข้ามาตอนไลฟ์สด มูลนิธิต่าง ๆ หรือประชาชนรวมทุนกันมาบริจาค อยากให้รัฐลงมาช่วยเหลือเยียวยาเป็นการเร่งด่วน เพราะหวังพึ่งประชาชนที่มาชมไลฟ์สด ก็เริ่มร่อยหรอลงไปแล้ว ” นายกิตติศักดิ์กล่าว 

น.ส.ศุภิสรา วงศ์สุทธาวาส นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ ผู้รับผิดชอบโครงการปันอาหารช้างฝ่าวิกฤติโควิด-19 กล่าวว่า โครงการช่วยเหลืออาหารช้างมีทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เดือน มี.ค.-ก.ย. พ.ศ. 2564 แบ่งหญ้าแห้งและหญ้าสดจากศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ 27 ศูนย์ทั่วประเทศ ช่วยเหลือช้างได้จำนวน 2,545 เชือก ระยะที่ 2 เดือน ก.ค.-ก.ย. พ.ศ. 2564 แจกเมล็ดพันธุ์หญ้าเนเปียร์ให้ควาญช้างที่มีพื้นที่ปลูกเพียงพอ จำนวน 144 ราย คนละไม่เกิน 10 กก. ให้แบ่งปลูก 2 กก. ต่อพื้นที่ 1 ไร่ และระยะที่ 3 จะเริ่ม พ.ศ. 2565 คือการสร้างแปลงหญ้าส่วนกลางในแต่ละพื้นที่  

“หญ้าที่แจกในโครงการปันอาหารช้างมีปริมาณจำกัด ไม่ได้เพียงพอจะเลี้ยงตลอดหรือเลี้ยงได้มากกว่านี้ เพราะต้องแบ่งไปช่วยเหลือสัตว์อื่น ช้างกินเยอะ จึงช่วยได้แค่ปริมาณหนึ่ง บรรเทาปัญหาในเบื้องต้น ” น.ส. ศุภิสรากล่าวและว่า หากจะนำเงินไปจัดซื้อหญ้าเพิ่ม จะมีข้อจำกัดที่อาจทำให้เกิดความล่าช้า คือเรื่องการตีความขอเบิกงบประมาณตามระเบียบเกี่ยวกับสภาวะฉุกเฉินที่กระทบต่อสัตว์ เช่น น้ำท่วม โรคระบาด ซึ่งในภาวะโควิด-19 ช้างไม่ได้รับผลกระทบทางตรง จึงจำเป็นต้องดำเนินโครงการโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่มี 

น.ส. ศุภิสรา กล่าวว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติงานมองว่าสิ่งที่ควรทำเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อวงการช้างเลี้ยง คือการสร้างระบบที่ไม่ได้มองแค่เรื่องการดูแลช้างเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลคน ทั้งควาญช้างและเจ้าของปางช้าง โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อการดูแลที่ครบวงจร

ช้างเลี้ยงกำลังจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหารหนักขึ้น เพราะหญ้าเนเปียร์มีน้อยลงในช่วงหน้าแล้ง (ภาพจากสมาคมสหพันธ์ช้างไทย)

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
4
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
0

More in:News

News

สมาชิกองค์กรทำไรท์ ชี้ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่มัดรวม ม.112 อาจไม่ผ่านสภา เหตุขัดกับจุดยืนพรรคร่วม

เขียน : ปานชีวา ถนอมวงศ์ ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร องค์กรทำไรท์ เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิทางการเมืองชี้ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมมัดรวมมาตรา 112 อาจไม่ผ่านสภา เพราะขัดกับจุดยืนของพรรคร่วมรัฐบาล แนะหากต้องการแก้ไขปัญหามาตรา 112 ควรแก้ตัวบทกฎหมายของมาตรา 112 ให้มีความสมเหตุสมผลและชัดเจนขึ้น ...

News

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. คาดรัฐบาลเพื่อไทยอาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่สำเร็จ

เขียน : ณัฐกานต์ บุตรคาม ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. คาดรัฐบาลเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2560 ทั้งฉบับไม่สำเร็จ หลังพรบ.ประชามติฯ ...

News

ผช.อธิการฯ แจง ใช้ AI สร้างโปสเตอร์งาน TU Open House จริง

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง ผู้ช่วยอธิการฯ ฝ่ายวิชาการแจง โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม Thammasat Open House ใช้ ...

News

อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ระบุ หากรัฐบาลทรัมป์จะขับไล่ผู้อพยพ ต้องเพิ่มงบประมาณหลายล้าน และอาจทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงาน

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง อาจารย์รัฐศาสตร์มธ.ชี้ รัฐบาลอเมริกาสามารถออกคำสั่งนโยบายเนรเทศผู้อพยพได้ทันที แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับผู้อพยพยังขาดความสามารถในการดำเนินการตามนโยบายนี้ อีกทั้งหากขับไล่ผู้อพยพออกจากประเทศจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจขาดแรงงาน พร้อมเสริมว่าในบางเมืองนั้น รัฐบาลกลางไม่สามารถแทรกแซงหน่วยงานท้องถิ่นในการดำเนินการกับผู้อพยพได้ . ...

News

อาจารย์รัฐศาสตร์มธ. แนะนักธุรกิจไทยเตรียมหาตลาดเสริม-รัฐฯ เตรียมรับมือสินค้าทะลักจากจีน หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้งสหรัฐฯ

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ อาจารย์รัฐศาสตร์มธ. ชี้ไทยอาจส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ยากขึ้น เนื่องจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ พร้อมแนะนักธุรกิจไทยเตรียมตัวหาตลาดเสริม ด้านรัฐฯ ต้องเตรียมนโยบายตั้งรับสินค้าทะลักจากจีน จากกรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ...

%

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save